เปิดกึ๋น Aireen Omar ซีอีโอ AirAsia อะไรคือความท้าทายของสายการบินโลว์คอสต์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงาน 2Baht มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา AEC Plus 3 ของธนาคารกสิกรไทย โดยได้นักธุรกิจชื่อดังของอาเซียนอย่าง Aireen Omar ซีอีโอของ AirAsia ต้นฉบับจากมาเลเซียมาร่วมเสวนาด้วย

AirAsia ถือเป็นสายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ของเอเชีย เป็นสายการบินที่เติบโตรวดเร็วมาก จากตอนแรกเริ่มมีเครื่องบินเพียง 2 ลำ ตอนนี้มีเครื่องบินมากถึง 200 ลำแล้ว

เราทราบกันดีว่าผู้ก่อตั้ง AirAsia คือ Tony Fernandes นักธุรกิจชาวมาเลเซียที่ตอนนี้ขยับขึ้นเป็น Group CEO ดูแลกิจการของทั้งเครือ (และทำทีมฟุตบอล Queens Park Rangers) ส่วนธุรกิจหลัก AirAsia สาขามาเลเซีย ก็เป็นคุณ Aireen คนนี้ที่ดูแลกิจการทั้งหมด พูดง่ายๆ ว่าจะเรียกเธอเป็น “เบอร์สอง” แห่งอาณาจักร AirAsia ก็ว่าได้

ภาพจาก Instagram Aireen Omar
ภาพจาก Instagram Aireen Omar

AirAsia มองธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์เอเชีย ยังโตได้อีกเยอะ

คุณ Aireen บอกว่าตอนที่ AirAsia เริ่มกิจการนั้นได้โมเดลสายการบินโลว์คอสต์มาจากยุโรป ถึงแม้ AirAsia จะเริ่มเปิดบริการในมาเลเซียก็จริง แต่บริษัทก็มองเห็นตลาดอาเซียนมาตั้งแต่แรก เลยรีบขยายกิจการไปยังประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย

AirAsia มองว่าประเทศแถบอาเซียน มีทะเลเยอะ และการคมนาคมทางบกไม่ดีนัก สุดท้ายแล้วการเดินทางในอาเซียนจึงจำเป็นต้องใช้การขนส่งทางอากาศ

ศักยภาพการเติบโตของธุรกิจการบินในเอเชียยังเติบโตได้อีกมาก ปัจจุบันคนยุโรป 60% เดินทางไปมาด้วยเครื่องบิน ซึ่งสัดส่วนตรงนี้ของเอเชียยังน้อยกว่ากันมาก เมื่อคนชั้นกลางของเอเชียมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น

ตอนนี้ AirAsia ขยายเส้นทางบินจากอาเซียน มาเป็นอาเซียน + 3 โดยเพิ่มเส้นทางบินไปยังญี่ปุ่น จีน และอินเดียแล้ว ทาง AirAsia มีธุรกิจร่วมในญี่ปุ่นแล้ว แต่ยังไม่มีในจีน ยุทธศาสตร์ช่วงนี้ยังเน้นการขนนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวอาเซียนเป็นหลัก

เส้นทางบินของ AirAsia (บางส่วน) ครอบคลุมเอเชียแปซิฟิกตอนล่างเกือบทุกประเทศ
เส้นทางบินของ AirAsia (บางส่วน) ครอบคลุมเอเชียแปซิฟิกตอนล่างเกือบทุกประเทศ

อุปสรรคธุรกิจ: กฎเกณฑ์ภาครัฐในอาเซียน

ปัญหาของ AirAsia ในการทำธุรกิจแถบอาเซียนคือ ประเทศแถบนี้ไม่มีนโยบาย Open Sky ที่เปิดให้สายการบินสัญชาติใดๆ ก็ได้สามารถบินในประเทศได้แบบไม่จำกัดจำนวน

ทางออกของ AirAsia จึงต้องเป็นการตั้งบริษัทร่วมทุนกับทุนท้องถิ่น ซึ่งก็ออกมาเป็น Thai AirAsia แบบที่เราเห็นๆ กันนั่นเอง ตอนนี้ AirAsia มีที่หมายปลายทาง (destinations) กว่า 200 แห่ง และมีเส้นทางบิน (routes) ประมาณ 250 เส้นทาง

คุณ Aireen บอกว่าถ้ามัวแต่รอให้ภาครัฐของอาเซียนเปิดนโยบาย Open Sky ก็ไม่รู้จะรออีกนานแค่ไหน ดังนั้นทางออกของ AirAsia จึงต้องหาวิธี Open Sky ของตัวเองผ่านการร่วมทุนแทน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ AirAsia จะตั้งบริษัทลูกทำธุรกิจการบินในหลายๆ ประเทศ อยู่ภายใต้เครือใหญ่ AirAsia Berhad ก็ตาม แต่ในการทำงานจริงก็ไม่ง่าย เพราะตัวกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ การย้ายเครื่องบินข้ามไปใช้ในอีกประเทศ ระหว่างบริษัทในเครือด้วยกัน จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางเอกสารทั้งประเทศตั้งต้น และประเทศที่ย้ายเครื่องบินไป ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 1-3 เดือน

Aireen Omar ซีอีโอ AirAsia ที่งานสัมมนาของธนาคารกสิกรไทย
Aireen Omar ซีอีโอ AirAsia ที่งานสัมมนาของธนาคารกสิกรไทย

การบริหารงานสายการบินข้ามชาติ มีบริษัทลูกในหลายประเทศ

คุณ Aireen มองว่า AirAsia เป็นบริษัทข้ามชาติก็จริง แต่ไม่มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน เพราะพนักงานทุกคนเข้าใจเป้าหมายขององค์กรว่าต้องการมุ่งไปในทางใด

ส่วนในแง่การบริหารจัดการ เนื่องจากเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ การจัดการต้นทุน (cost management) จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และการที่ AirAsia มีขนาดใหญ่พอ การบริหารต้นทุนด้วยหลัก economy of scale จึงทำได้

ตัวอย่างคือการซื้อเครื่องบิน เครื่องบินทุกลำจะมีบริษัทแม่ AirAsia Berhad เป็นเจ้าของ แล้วใช้วิธีให้บริษัทลูกในแต่ละประเทศเช่าช่วงต่อ (sub-lease) อีกทอดหนึ่ง

การบริหารต้นทุนทางการเงิน ก็ทำที่ส่วนกลางคือ AirAsia Berhad เลย การซื้อน้ำมันล่วงหน้า (hedging) ก็ทำทีเดียวทั้งเครือ ช่วยให้ต้นทุนถูกกว่าบริษัทลูกแต่ละรายแยกกัน

AirAsia X
ภาพจาก Wikipedia

ทิศทางธุรกิจการบินของอาเซียนในอนาคต

คุณ Aireen มองว่าตอนนี้ตลาดแยกกันชัดเจน ระหว่างสายการบินโลว์คอสต์ กับสายการบินแบบฟูลเซอร์วิส

ในส่วนของโลว์คอสต์นั้นแข่งที่ราคาอยู่แล้ว ผู้บริโภคเลยไม่มีกำแพงในการแข่งขันเท่าไรนัก สายการบินไหนราคาถูกกว่า สะดวกกว่าก็บินกับรายนั้น

แต่กรณีของฟูลเซอร์วิส สายการบินแถบเอเชีย โดยเฉพาะสายการบินแห่งชาติ (national carriers) มีพฤติกรรมคล้ายๆ กันคือรัฐบาลมักอุ้มหรือช่วยสนับสนุนบางอย่าง ผลคือสายการบินเหล่านี้มีประสิทธิภาพและโครงสร้างต้นทุนไม่ดีเท่าไรนัก

พอสายการบินแห่งชาติ ต้องมาแข่งขันกับสายการบินยักษ์ใหญ่จากตะวันออกกลาง รวมถึงสายการบินโลว์คอสต์ที่ทำราคาได้ดีกว่า จึงเกิดปัญหาขึ้นมา

ในยุโรป สายการบินฟูลเซอร์วิส ตอบโต้โลว์คอสต์ด้วยราคา ซึ่งสายการบินเอเชียก็พยายามทำแบบเดียวกันบ้าง แต่ผลกลับไม่เวิร์ค เราจึงเห็นสายการบินอย่าง Malaysia Airlines ต้องฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้าง

คุณ Aireen มองว่ารัฐบาลมาเลเซียต้องเลิกอุ้ม Malaysia Airlines ได้แล้ว และสายการบินควรปรับตัวโดยลดเส้นทางบินบางเส้นลง ส่วนโครงสร้างต้นทุนของฟูลเซอร์วิสแตกต่างกันมาก ไม่ควรลงมาแข่งราคากับโลว์คอสต์ แต่ตลาดบนยังมีความต้องการสายการบินลักษณะนี้อยู่ Malaysia Airlines ยังมีโอกาสกลับมาเติบโตได้

อ่านเพิ่มเติม: 9 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ Thai AirAsia จากผลประกอบการปี 2015

ขอบคุณ ธนาคารกสิกรไทย ที่ชวนไปร่วมงานสัมมนาครั้งนี้