วิเคราะห์ผลกระทบจาก Brexit ต่อการเดินทางท่องเที่ยวในอังกฤษของคนไทย

Brexit หรือการลงคะแนนประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายโหวตออกจาก EU คำถามที่ตามมาทันทีต่อแวดวงการท่องเที่ยวคือ Brexit ส่งผลกระทบต่อการเที่ยวอังกฤษอย่างไรบ้าง

2Baht.com ขอสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Brexit ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้

Big Ben ยามค่ำคืน (ภาพโดย Paul Gravestock)
Big Ben ยามค่ำคืน (ภาพโดย Paul Gravestock)

ระยะสั้น: 1-3 เดือนแรก

สิ่งแรกที่ควรทราบคือการลงประชามติเพิ่งเสร็จสิ้น และยังไม่มีผลใช้บังคับใดๆ ดังนั้นในระยะสั้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เรายังต้องขอวีซ่าเข้าอังกฤษแยกเหมือนเดิม (เพราะอังกฤษไม่ได้อยู่ในเขตเชงเก้นตั้งแต่แรก) และใช้เงินปอนด์เหมือนเดิม

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดในระยะสั้นคือ ค่าเงินปอนด์ถูกลงเมื่อเทียบกับเงินบาท (ขณะที่เขียนอยู่ที่ ปอนด์ละ 48 บาท) ผลคือ คนไทยไปเที่ยวอังกฤษได้ในราคาถูกลงประมาณ 10% (ดังนั้นถ้าจะไปเที่ยวก็ควรรีบๆ แลกเปลี่ยนเงินปอนด์ไว้)

แต่ในมุมกลับ ลูกค้านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่จะเดินทางเข้ามายังไทย ก็จะมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้น อาจกระทบต่อตลาดผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศบ้าง ทั้งเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากอังกฤษ แต่ก็คงไม่เยอะนักเมื่อเทียบกับสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้าไทย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก และไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตค่าเงินปอนด์จะเสถียรอยู่ที่ระดับนี้ หรือจะอ่อนลงไปอีก หรือจะกลับมาแข็งค่าขึ้น เป็นไปได้ทั้งนั้น

คนไทยที่มีแผนซื้อตั๋วเครื่องบินหรือจองโรงแรมในอังกฤษ ควรรีบฉวยโอกาสนี้จองตั๋วทันที แต่ต้องไม่ลืมเปลี่ยนประเทศในหน้าเว็บไซต์ให้เป็นอังกฤษ เพื่อเลือกจ่ายเงินเป็นสกุลปอนด์โดยตรง แทนการจ่ายเป็นเงินสกุลอื่น

ภาพจากเว็บไซต์ British Airways
ภาพจากเว็บไซต์ British Airways

ระยะกลาง: 1-2 ปีแรก

ผลกระทบจาก Brexit ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือสร้างสภาวะ “ความไม่แน่นอน” และอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าอังกฤษน้อยลง (โดยเฉพาะคนจากยุโรป ที่อาจรู้สึกว่าอังกฤษออกจาก EU ให้ความรู้สึกว่าไม่ต้อนรับชาวยุโรป)

ผลคือผู้ประกอบการโรงแรมและสายการบิน น่าจะปรับลดราคาห้องพักและตั๋วเครื่องบินให้ถูกลง หรือไม่ก็มีโปรโมชั่นต่างๆ มากระตุ้นตลาดมากขึ้น

สิ่งที่น่าจับตาคงเป็นตั๋วเครื่องบินจากสายการบินของอังกฤษเอง เช่น British Airways ว่าจะออกโปรโมชั่นใดมากระตุ้นตลาดบ้าง

สำหรับคนที่สนใจไปเที่ยวอังกฤษในช่วงนี้ เราขอแนะนำบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอังกฤษของ 2Baht.com ดังนี้

Edinburgh-Castle
Edinburgh Castle ในสกอตแลนด์ ภาพจาก www.edinburghcastle.gov.uk

ระยะยาว: หลัง 2 ปีแรก

คาดว่ากระบวนการถอนตัวออกจาก EU อย่างเป็นทางการของอังกฤษ น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าจะเริ่มเห็นผล และน่าจะใช้เวลาอีก 5-10 ปีกว่าจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ให้พ้นจากกรอบกฎหมายเดิมของ EU

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะคนจากยุโรปเดินทางเข้าหรือออกอังกฤษ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

แต่สำหรับคนไทยที่ยังไงต้องถือวีซ่าเข้าอังกฤษ แยกจากวีซ่าเชงเก้นเข้า EU อยู่แล้ว ก็คงไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะยังไงก็ต้องขอวีซ่าอยู่ดี

จุดข้ามแดนที่อาจได้รับผลกระทบเยอะที่สุดคงเป็นพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์ (อยู่ใน EU) และไอร์แลนด์เหนือ (ซึ่งจะออกนอก EU) ปัจจุบันทั้งสองประเทศอนุญาตให้ข้ามพรมแดนกันได้ แต่อนาคตหลังสหราชอาณาจักรออกนอก EU ไปแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าพรมแดนจุดนี้จะเป็นอย่างไร (ส่วนตัวเกาะหลักของอังกฤษต้องใช้วิธีบินเข้า-ออกอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม)

ส่วนประเด็นเรื่อง สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ จะถอนตัวออกจากสหราชอาณาจักร (UK) เพื่อกลับไปเข้าร่วมใน EU หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ในตอนนี้ว่าจะเป็นเช่นไร ถ้าเกิดขึ้นจริง ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถไปเที่ยวสกอตแลนด์ด้วยวีซ่าเชงเก้นได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องอนาคตที่ไกลมากๆ ถ้ามองจากตอนนี้

ประเด็นอื่นๆ อาจเป็นเรื่องยิบย่อย เช่น การนำสินค้าฟุ่มเฟือยข้ามพรมแดนเข้าหรือออกอังกฤษกับ EU อาจโดนภาษี จากเดิมที่เป็น Duty Free หรือการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินของสายการบินบางราย (โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ในยุโรปอย่าง EasyJet หรือ Ryanair) เพราะกฎระเบียบด้านการบินที่เปลี่ยนไป

ข้อมูลอ้างอิง: