แม้กระทั่ง Emirates ก็ได้รับผลกระทบจากโลว์คอสต์ กำไรหดหาย 64%

สภาพการณ์ของสายการบินยักษ์ใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม flag carriers หรือสายการบินแห่งชาติเดิมในฝั่งยุโรปและเอเชีย กำลังเผชิญกับการแข่งขันอย่างหนักหน่วง ทั้งจากสายการบินโลว์คอสต์ที่เข้ามาตัดราคาในตลาดล่าง และสายการบินตะวันออกกลางที่มาตัดราคาในเส้นทางบินข้ามทวีป

ตัวอย่างสายการบินที่ได้รับผลกระทบ มีทั้งการบินไทย, Cathay Pacific, Air France KLM หรือแม้กระทั่งสายการบินสุดแกร่งอย่าง Singapore Airlines ก็ต้องออกอาการเป๋เช่นกัน

แต่สายการบินอีกแห่งที่คงไม่มีใครคิดว่าจะได้รับผลกระทบจากโลว์คอสต์กับเขาด้วยคือ พี่ใหญ่แห่งตะวันออกกลาง Emirates

emirates logo

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2016 Emirates Group เผยผลประกอบการประจำครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2016-2017 (1 เมษายน-30 กันยายน 2016) ผลปรากฏว่ารายได้โตขึ้น 1% แต่กำไรกลับหดหายไปถึง 64%

รายได้ครึ่งปีแรกของ Emirates โตขึ้นเล็กน้อย 1% เป็น 12.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรลดลง 64% เหลือเพียง 364 พันล้านดอลลาร์

Emirates ให้เหตุผลว่าเหตุที่กำไรลดลง เกิดจากสองปัจจัยหลักคือ สกุลเงินดอลลาร์แข็งขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ทำให้ค่าโดยสารลดลง รวมถึงปัจจัยเสริมเรื่องสภาพเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ไม่เสถียรด้วย

Emirates ยืนยันว่าธุรกิจสายการบินหลักยังแข็งแกร่ง ยังมีกำไร (แม้ลดลงเยอะ) แต่ก็ยังเสริมทัพฝูงบินอีกต่อเนื่อง ช่วงครึ่งปีแรกมีเครื่องบินเพิ่ม 16 ลำ และจะเพิ่มอีก 20 ลำในครึ่งปีงบประมาณครึ่งหลัง ปัจจุบัน Emirates มีเส้นทางบินไปลง 155 เมืองใน 82 ประเทศ

ตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา Emirates ขนส่งผู้โดยสาร 28 ล้านคน ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (seat factor หรือ load factor) อยู่ที่ 75.3% ลดลงจากปีที่แล้ว 78.3%

ประเด็นที่น่าสนใจคือ Emirates มุ่งขยายฝูงบินด้วยเงินลงทุนมหาศาลรวม 1.1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อหวังว่าตลาดการเดินทางด้วยเครื่องบินโตขึ้น จะได้มีเครื่องบินปริมาณมากพอรองรับผู้โดยสาร แต่เมื่อสภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป ก็เป็นงานยากของ Emirates ที่จะต้องหาผู้โดยสารมาให้เยอะพอสำหรับที่นั่งโดยสารที่ตัวเองมีอยู่ (ปัจจุบันมีประมาณ 250 ลำ)

ยุทธศาสตร์ที่ Emirates ใช้งานคือลดจำนวนรุ่นของเครื่องบินที่ใช้ลง ให้เหลือเพียง 2 รุ่นคือ Airbus A380 และ Boeing 777 เพื่อลดภาระการซ่อมบำรุง กรณีของ A380 ยังถือเป็นการเสี่ยงของ Emirates โดยใช้หลักว่าเน้นเครื่องบินลำใหญ่ เพื่อกดต้นทุนของผู้โดยสารต่อที่นั่งให้ถูกลง แต่ข้อเสียของเครื่องลำใหญ่ก็คือเมื่อความต้องการเดินทางมีน้อยกว่าที่ประเมิน ก็ไม่สามารถลดขนาดเครื่องบินลงได้โดยง่าย

ข้อมูลจาก Emirates และ Skift