ซื้อกระเป๋าเดินทางแบบไหนดี? แนะนำ 5 ปัจจัยสำหรับเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางแบบถือขึ้นเครื่อง (Carry-on bag)

วิธีการเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางแบบถือขึ้นเครื่อง (Carry-on bag)

ในยุคที่สายการบินแข่งขันด้านราคามากขึ้นเรื่อยๆ กฎระเบียบการพกพากระเป๋าเดินทางก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะสายการบินโลวคอสต์ที่ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง ผู้โดยสารอาจถูกชาร์จเพิ่มถ้าต้องโหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่อง บางครั้งการจัดสัมภาระให้ลงตัวในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง (carry-on) จึงอาจเหมาะสมกว่า ทั้งในแง่ความคล่องตัวและค่าใช้จ่าย

ทีมงาน 2Baht ทำงานด้านไอที จึงจำเป็นต้องพกโน้ตบุ๊กติดตัวอยู่เสมอ เมื่อรวมกับแบตเตอรี่ สายชาร์จ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็หนักร่วม 2-3 กิโลกรัมได้ จากที่เคยแบกเป้ ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนมาใช้กระเป๋าล้อลากแบบหิ้วขึ้นเครื่องกันแทน นอกจากเรื่องสุขภาพของหลังแล้ว ยังเอาของจุกจิกแบบเสื้อกันหนาว เสื้อสำรองยามกระเป๋าหาย และอุปกรณ์ส่วนตัวเล็กน้อยขึ้นเครื่องได้มากขึ้น

หลังจากผ่านมาหลายทริป มีโอกาสเปลี่ยนกระเป๋ามาหลายใบ พวกเราเลยอยากแชร์ประสบการณ์การเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางล้อลากสำหรับขึ้นเครื่องมาฝากกันค่ะ ปัจจัยที่ควรพิจารณามีด้วยกันหลายข้อดังนี้

ซื้อกระเป๋าเดินทางแบบไหนดี? แนะนำ 5 ปัจจัยสำหรับเลือกซื้อ 'กระเป๋าเดินทางแบบถือขึ้นเครื่อง' (Carry-on bag)

1. ‘ขนาด’ เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง

ขนาดของกระเป๋าเดินทางที่อนุญาตให้ถือขึ้นเครื่อง ขึ้นกับกฎของสายการบินแต่ละแห่ง แต่ละสายการบินกำหนดขนาดกระเป๋าไม่เท่ากัน และมีความเข้มงวดของการตรวจขนาดกระเป๋าแตกต่างกัน (โลว์คอสต์มักจะเข้มงวดหน่อย) ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากกระเป๋า carry-on ของเราใหญ่เกินขนาดที่สายการบินกำหนด เราอาจต้องโหลดกระเป๋าใบนั้นแทน มิฉะนั้นจะไม่ได้ขึ้นเครื่อง เสียทั้งเงินและเวลา ดังนั้นควรเตรียมตัวเรื่องนี้ให้พร้อม

ทางที่ดีหากจะซื้อกระเป๋าใบใหม่ เราขอแนะนำให้พกสายวัดไปด้วย และอย่าลืมวัดให้ถึงตรงส่วนล้อด้วยนะคะ เพราะในใบสเปกกระเป๋าเดินทางอาจวัดเฉพาะตัวกระเป๋า แต่เวลาเดินทางจริง สายการบินอาจให้ทดสอบใส่กระเป๋าเข้ากรอบเหล็กสี่เหลี่ยม ซึ่งถ้ารวมล้อแล้วขนาดอาจเกินได้ วัดด้วยตัวเองชัวร์กว่า

เพื่อให้เหมาะกับผู้อ่านที่อยู่ในเมืองไทย เราก็รวบรวมขนาดสัมภาระขึ้นเครื่องของสายการบินโลว์คอสต์ยอดนิยมมาให้ด้วยเลย (ข้อมูล ณ 20 ม.ค. 59)

  • AirAsia – ขนาดไม่เกิน 56 x 36 x 23 ซม.
  • Nok Air – ขนาดไม่เกิน 56 x 36 x 23 ซม.
  • Thai Smiles – ขนาดไม่เกิน 56 x 45 x 25 ซม.
  • Thai Lion Air – ขนาดไม่เกิน 40 x 30 x 20 ซม.

จะเห็นว่าแค่สายการบินในไทยก็มีขนาดกระเป๋าแตกต่างกันอย่างมากแล้ว Thai Smiles ใจดีที่สุด ส่วน Thai Lion Air ให้ขนาดกระเป๋าเล็กที่สุดเลย

2. ‘น้ำหนัก’ ยิ่งเบายิ่งดี จุของได้เยอะขึ้น

เดี๋ยวนี้หลายสายการบินไม่ได้จำกัดแค่ “ขนาด” กระเป๋าเพียงอย่างเดียว แต่ยังจำกัด “น้ำหนัก” ของกระเป๋าที่หิ้วขึ้นเครื่องด้วย (มีเครื่องชั่งพร้อมสรรพ) สายการบินส่วนใหญ่อนุญาตให้ถือสัมภาระขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 7 กิโลกรัม ซึ่งลำพังแค่น้ำหนักของตัวกระเป๋าก็อาจกินไปเยอะแล้ว

ในยุคสมัยนี้ กระเป๋ารุ่นใหม่ๆ ใช้วัสดุสังเคราะห์แบบใหม่ การออกแบบแนวใหม่ที่ช่วยให้น้ำหนักของตัวกระเป๋าเบาขึ้นมาก กระเป๋าพวกนี้มักลงท้ายชื่อรุ่นว่า Lite ตรงนี้เราสามารถตรวจสอบสเปกได้ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละแบรนด์ เพราะมีข้อมูลน้ำหนักให้พร้อมเลย

ตัวอย่างกระเป๋าสุดเบา ได้แก่ กระเป๋าแบรนด์ IT Luggage ที่เคลมว่าเป็นกระเป๋าที่เบาที่สุดในโลก รุ่น Word’s Lightest หนักเพียง 1.5 กก. หรือ Samsonite รุ่น 72H Spinner หนัก 1.8 กก. กระเป๋าพวกนี้เผลอๆ เบากว่า Notebook บางรุ่นด้วยซ้ำ (แนะนำให้หาโอกาสไปลองยกของจริงดูแล้วจะตกใจ)

 

IT Luggage รุ่น World's Lightest - ภาพจาก IT Luggage
IT Luggage รุ่น World’s Lightest

หลายคนอาจสงสัยว่ากระเป๋าที่เบาขนาดนี้จะทนทานแค่ไหน ส่วนมากกระเป๋าแบรนด์ดังๆ มักมาตรฐานการผลิตที่ดีอยู่แล้ว และทดสอบจริงจังว่ากระเป๋าไม่พังแน่ๆ อย่างแบรนด์ Samsonite ด้านล่างนี้ค่ะ

3. ‘ล้อลาก’ เลือกแบบไหนดี 2 หรือ 4 ล้อ

กระเป๋ายุคนี้มักมี “ล้อ” เพื่อให้เราสามารถลากกระเป๋าไปบนสนามบินอันกว้างใหญ่ได้ โดยไม่ต้องแบกของกันหลังแอ่นก่อนวัยอันควร

ถ้าแยกประเภทกระเป๋าตามจำนวนล้อ สามารถแยกได้คร่าวๆ ดังนี้

  • กระเป๋าหิ้ว แบบไม่มีล้อ เหมาะกับคนของน้อย น้ำหนักเบา แต่ปัจจุบันอาจหาคนใช้กระเป๋าแบบนี้ได้น้อยลง
  • กระเป๋าล้อลากแบบ 2 ล้อ เหมาะแก่การลากแบบเฉียง แต่อาจลากลำบากหน่อย เมื่อต้องเดินในที่คับแคบ ต้องหมุนกระเป๋าตามช่องทางที่มี เช่น การนำกระเป๋าขึ้นเครื่องที่ผู้โดยสารมักแออัดตามทางเดิน ข้อดีของกระเป๋าประเภทนี้คือวางบนพื้นแล้วไม่ไหลไปเอง โดยเฉพาะพื้นเอียง
  • กระเป๋าล้อลากแบบ 4 ล้อ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะลากกระเป๋าง่ายกว่าแบบ 2 ล้อมาก ลื่นกว่า หมุนได้รอบทิศทาง เข็นจากด้านหลังได้ด้วย สะดวกต่อการเข็นในที่แคบอย่างทางเดินบนเครื่องบิน แต่ข้อเสียคือมีโอกาสไถลได้สูง ในบางสถานการณ์ เช่น ตอนขึ้นรถบัสจากเกตเพื่อขึ้นเครื่อง คนแน่นพื้นที่น้อย อาจต้องใช้ขาหนีบเอาค่ะ – -’

นอกจากนี้ กระเป๋าแบบ 4 ล้อ ยังมีล้อคู่แบบที่เรียกว่า “Double-wheels” หรือแต่ละมุม มีล้อ 2 ล้อ (ให้นึกภาพรถบรรทุก) ช่วยให้การลากกระเป๋าสะดวกสบายมากขึ้นไปอีก สำหรับกระเป๋าขนาดเล็กที่นำขึ้นเครื่องอาจจะยังไม่จำเป็นเท่าไหร่ แต่กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ควรมีเป็นอย่างยิ่งค่ะ

ส่วนล้อกระเป๋า TUMI รุ่น Int'l Expandable Carry-On
ส่วนล้อกระเป๋า TUMI รุ่น Int’l Expandable Carry-On

4. ‘ช่องเก็บของภายใน’ ใครว่าไม่สำคัญ

เรื่องช่องเก็บของภายในกระเป๋า เป็นอีกเรื่องที่คนมักมองข้าม แต่จริงๆ ก็มีความสำคัญเพราะช่วยให้การจัดของเป็นระเบียบและการหยิบของสะดวกขึ้นมาก กระเป๋าเดินทางทั่วไปมักมีสายรัดสำหรับช่องขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันสัมภาระกระเด็นไปมาในกรณีของไม่เต็มกระเป๋า ส่วนที่ฝามักมีช่องซิปไว้ใส่ของจุกจิก หยิบง่ายฉวยสะดวก สุดท้ายคือช่องเก็บของที่ด้านหน้ากระเป๋า ที่ช่วยให้เราหยิบของบางอย่าง เช่น นิตยสาร เอกสาร ได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดซิปใหญ่ของกระเป๋าเลย

ตัวอย่างด้านล่างคือกระเป๋าแบรนด์ TUMI ซึ่งโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่น ตรงที่มีช่องเก็บของจำนวนมาก เป็นสัดเป็นส่วนดี

ด้านในกระเป๋า TUMI รุ่น Int'l Expandable Carry-On - ภาพจาก TUMI
ด้านในกระเป๋า TUMI รุ่น Int’l Expandable Carry-On

นอกจากนี้ กระเป๋าบางรุ่นยังมีซิปสำหรับ “ขยายขนาดกระเป๋า” เพื่อให้เราสามารถเพิ่มพื้นที่บรรจุภายในได้อีกสักหน่อย ถ้ากระเป๋าไม่เต็มก็แล้วกันไป แต่ถ้ามีของเพิ่มเข้ามาแบบไม่คาดฝัน (เช่น มีของฝาก) ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้ในวันกลับ ตรงนี้ถือเป็นลูกเล่นเล็กๆ อีกประการหนึ่งที่อาจต้องพิจารณาด้วย

5. ‘วัสดุกระเป๋า’ เลือกให้เหมาะกับสภาพการใช้งาน

โดยทั่วไปแล้ว วัสดุของกระเป๋าแยกได้ 2 แบบกว้างๆ คือ แบบซอฟต์เคส (Soft Case) ส่วนใหญ่มักใช้ผ้าไนล่อน และแบบฮาร์ดเคส (Hard Case)

ความแตกต่างขึ้นกับการใช้งาน ความชอบและสภาพอากาศเลยค่ะ

  • ซอฟต์เคส (Soft Case) มีข้อดีตรงความยืดหยุ่นของตัวกระเป๋า เวลากระแทกจะเป็นรอยได้ยากกว่า แถมกระเป๋าสมัยใหม่มักใช้ผ้าสังเคราะห์ที่ทนทาน น้ำหนักก็เบากว่า แต่อาจมีปัญหาเวลาลุยฝนหรือลุยหิมะ เพราะของข้างในอาจเปียกได้
  • ฮาร์ดเคส (Hard Case) มักใช้วัสดุจำพวกโพลีพลาสติก ความยืดหยุ่นอาจน้อยกว่าแบบซอฟต์เคส เวลากระทบอะไรเยอะๆ (เช่น ไหลไปตามสายพาน) อาจมีรอยขีดข่วนได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะเวลาใช้ไปนานๆ  ส่วนในแง่ความทนทานคงไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะวัสดุรุ่นใหม่ๆ ทนทานกว่าเดิม น้ำหนักเบาขึ้น แถมข้อดีของฮาร์ดเคสคือกันน้ำได้ดีกว่า และทำความสะอาดได้ง่ายกว่า

เงื่อนไขพิเศษ: ‘ตัวล็อคกระเป๋า’ สิ่งสำคัญถ้าต้องโหลดใต้ท้องเครื่อง

ถึงแม้บทความนี้จะเน้นไปที่กระเป๋าแบบถือขึ้นเครื่อง (carry-on) แต่เราเชื่อว่าอาจมีบางกรณีที่เราต้องนำกระเป๋าใบเดียวกันนี่ล่ะ โหลดใต้ท้องเครื่องแทน ตรงนี้ขอแนะนำว่าควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของสัมภาระในกระเป๋า โดยมีตัวล็อคกระเป๋าที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบบใช้รหัสที่ฝังมากับตัวกระเป๋า หรือซื้อแม่กุญแจมาล็อคซิปเพิ่มเอง

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 สายการบินก็หันมาสนใจตรวจสอบสัมภาระในกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่องมากขึ้น โดยเฉพาะการบินเข้า-ออกสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นมีกฎว่าเจ้าหน้าที่สามารถปลดล็อคกระเป๋าได้ถ้าต้องสงสัย และถ้ามีล็อคก็สามารถทำลายระบบล็อคนั้นได้ (เจ้าของกระเป๋าบ่นอะไรไม่ได้ด้วย)

ทางออกของเจ้าของกระเป๋าคือซื้อกระเป๋าที่มีล็อคระบบ TSA (Transportation Security Agency) ระบบนี้เราสามารถล็อคกระเป๋าได้ตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่ TSA ของแต่ละสนามบินจะมีเครื่องมือปลดล็อคพิเศษ ที่สามารถไขล็อค TSA ได้โดยไม่ต้องทราบรหัสกระเป๋าของเรา ช่วยป้องกันไม่ให้กระเป๋าของเราเสียหายได้

ตัวอย่างล็อคที่ผ่านมาตรฐาน TSA จะมีโลโก้สีแดงกำกับ (ภาพจาก Samsonite)
ตัวอย่างล็อคที่ผ่านมาตรฐาน TSA จะมีโลโก้สีแดงกำกับ (ภาพจาก Samsonite)

แนะนำตัวอย่างกระเป๋าเดินทางที่น่าสนใจ

มาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วควรเลือกกระเป๋าแบบไหนดี? ทีมงาน 2baht.com จึงเลือกกระเป๋าเดินทางจาก King Power Online มานำเสนอพอให้เห็นภาพสัก 3 รุ่น โดยดูตามฟังก์ชันการใช้งาน งบประมาณ และความสวยงามกันค่ะ

1) TUMI Int’l Expandable Carry-On

TUMI Int'l Expandable Carry-On
TUMI รุ่น Int’l Expandable Carry-On

ขึ้นชื่อว่าแบรนด์ดังอย่าง TUMI ย่อมมั่นใจได้เรื่องวัสดุที่ทนทาน มีช่องเก็บของเยอะ กระเป๋าฮาร์ดเคสรุ่นนี้สามารถใส่โน้ตบุ๊กในช่องด้านหน้าได้ ส่วนช่องด้านในจะมีที่เก็บสูท กระเป๋าสามารถหมุน 360 องศา มี 4 ล้อ แบบ Double-Wheels แข็งแรงเป็นพิเศษ ใช้ตัวล็อคแบบ TSA และยังสามารถขยายความจุได้อีกด้วย

ขนาด H: 22 x W: 14 x D: 9 นิ้ว และเมื่อขยายจะมีความลึกถึง 11 นิ้ว

น้ำหนัก 8.3 ปอนด์

ราคา Shop Online ของ TUMI 595 USD / King Power Online 18,940 บาท

2) Samsonite 72H Spinner 55CM

Samsonite 475509-L1
Samsonite รุ่น 72H Spinner 55CM

แบรนด์กระเป๋า Samsonite น่าจะคุ้นหูกันดีที่สุดในบ้านเรา Samsonite ถือเป็นแบรนด์ราคาระดับกลางค่อนไปทางสูง ส่วนกระเป๋าที่คัดมาคือรุ่น 72H Spinner เป็นกระเป๋า Carry-on แบบซอฟต์เคส ตัวโครงสร้างทำจากไฟเบอร์กลาส มี 4 ล้อ ช่องเก็บของเป็นสัดส่วนพอสมควร

ขนาด 55 X 35.5 X 23 ซม.

น้ำหนัก 1.8 กก.

ราคา King Power Online 9,350 บาท

3) Kipling Teagan XS

Kipling Teagan XS (Shop Online Kipling ราคา 109.9 Euro / King Power Online ราคา 3,880 บาท)
Kipling รุ่น Teagan XS

กระเป๋า Carry-on แบบ 2 ล้อ ที่ดีไซน์ดูเรียบง่ายตามสไตล์ Kipling เหมาะสำหรับสาวๆ ใส่ของจุกจิกไว้ติดตัวยามเดินทาง มีให้เลือกหลายสี อาทิ สีดำ สีเทา สีเดนิม (Dazz True Blue)

ขนาด 50.5 x 36.5 x 21 ซม.

น้ำหนัก 1.9 กก.

ราคา Shop Online ของ Kipling 109.9 Euro / King Power Online 3,880 บาท

คำแนะนำการซื้อกระเป๋าและสินค้าจาก King Power Online

ที่จริงยังมีกระเป๋าเดินทางรุ่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ และหลากหลายราคาตามแต่ความพึงพอใจ ผู้สนใจสามารถเข้าไปเลือกช้อปได้ที่ King Power Online (www.kingpoweronline.com/th/กระเป๋าเดินทาง) และเนื่องจากเป็นสินค้าปลอดภาษี ราคาจึงค่อนข้างถูกกว่าที่อื่นในไทย

ซื้อกระเป๋าเดินทางแบบไหนดี? แนะนำ 5 ปัจจัยสำหรับเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางแบบถือขึ้นเครื่อง (Carry-on bag)

ทั้งนี้หากสินค้าใดที่มี “โลโก้เครื่องบิน” อยู่ด้านมุมขวาบน แปลว่าผู้ซื้อจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ ถึงจะมีสิทธิซื้อได้ โดยสามารถช้อปปิ้งออนไลน์ล่วงหน้าก่อนเดินทางได้ 24 ชั่วโมง – มากสุด 60 วัน จากนั้นพิมพ์สลิปการสั่งซื้อสินค้า ไปแสดงที่เคาเตอร์ King Power ที่สนามบินขาออกเพื่อรับสินค้าในวันเดินทาง (แปลว่าต้องหิ้วกระเป๋าใบใหม่ไปช้อปปิ้งที่เมืองนอกด้วยกันนะ)

King Power ขาออกฝั่ง East
หน้าตาเคาเตอร์ King Power ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขาออกต่างประเทศ

สำหรับใครที่กำลังมองหา กระเป๋าเดินทางแบบถือขึ้นเครื่อง (Carry-on bag) ขอแนะนำ King Power Online คลิ๊กได้ที่นี่เลย

ที่มาบางส่วนจาก Forbes