ศาลารอยพระบาท ค่ายเม็งราย

พาชม ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9 ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย

2Baht.com ขอพาชมแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งใน จ.เชียงรายที่คนอาจรู้จักไม่มากนัก นั่นคือ “ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9” ในค่ายทหารค่ายเม็งรายมหาราช

ศาลาแห่งนี้เป็นที่เก็บรักษา “รอยพระบาท” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรที่ จ.เชียงราย ใน พ.ศ. 2525 ช่วงที่เผชิญภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารและประชาชน เมื่อภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์หมดไป รอยพระบาทจึงถูกนำมาเก็บไว้ที่ค่ายเม็งราย ใน อ.เมืองเชียงราย โดยสร้างเป็น “ศาลารอยพระบาท” อยู่บนเนินเขา “ดอยโหยด” ที่ทิวทิศน์สวยงาม และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้

ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

ประวัติความเป็นมาของศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

ที่มาของ “ศาลารอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9” นั้น เริ่มจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ปลุกระดมชาวไทยภูเขาในเขตชายแดน จ.เชียงราย และ จ. พะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2521 พคท. สามารถยึดพื้นที่และจัดตั้งฐานที่มั่นได้ 9 ฐาน มีฐานที่สำคัญคือฐานที่มั่นดอยยาว-ดอยผาหม่น และได้เกิดการสู้รบกันหลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ.2524 กองทัพภาคที่ 3 และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สามารถปฏิบัติการกว้างล้างและปราบปราบ พทค. ซึ่งเรียกว่ายุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยพญาพิภักดิ์ และมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2525

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยือนทหารและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการ ดอยพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว เขต อ.เทิง จ.เชียงราย (ปัจจุบันอยู่ในเขต  อ.ขุนตาล) และในครานั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ประทับรอยพระบาทของพระองค์ ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าทั้งปวง และเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันรอยพระบาทได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลารอยพระบาท บนยอดดอยโหยด ค่ายเม็งรายมหาราช (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์กองทัพภาคที่ 3)

ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

ยอดดอยโหยด ค่ายเม็งรายมหาราช

ยอดดอยโหยดตั้งอยู่ในพื้นที่ของค่ายเม็งรายมหาราช บริเวณตัวอำเภอเมือง จ.เชียงราย ภูมิประเทศโซนใกล้ๆ นี้จะมีม่อนดอย (แปลว่าดอยเตี้ยๆ) 6-7 ม่อนดอยใกล้กัน ไม่ได้สูงชันมากเป็นทางปูนอย่างดี สามารถขับรถเก๋งเกียร์ออโต้ขึ้นไปจอดด้านหน้าศาลารอยพระบาทได้สบายๆ

ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

ก่อนบันไดทางขึ้น จะเห็นสถาปัตยกรรมปูนปั้นสีขาวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติที่สร้างชื่อให้ จ.เชียงราย

ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

ศาลารอยพระบาท ค่ายเม็งราย

ด้านหน้าของศาลารอยพระบาทจะมีระเบียงยื่นออกไปเป็นจุดชมวิว บริเวณด้านหน้าจะเป็นพื้นที่สนามกอล์ฟในเขตค่ายเม็งรายมหาราช มองไปไกลๆ อีกหน่อยทางด้านซ้ายมือจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำกก ส่วนทางด้านขวามือจะเป็นเขตเทศบาลเมืองเชียงราย

ศาลารอยพระบาท ค่ายเม็งราย

ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

เนื่องจากช่วงปี 2557 มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ จ.เชียงราย ทำให้ทางค่ายเม็งรายมหาราช อัญเชิญรอยพระบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปประดิษฐาน ณ ด้านข้าง บก.พัน. เป็นการชั่วคราว (เสียดายที่เรามีเวลาน้อยและไม่รู้ว่าอยู่ ณ จุดใด จึงไม่ได้ไปสักการะต่อ)

ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

แผนที่และข้อมูลรายละเอียดการเดินทาง

ศาลารอยพระบาทอยู่ในค่ายเม็งรายมหาราช วิธีเดินทางที่ง่ายที่สุดคือให้เข้าทางประตูสนามกอล์ฟแม่กกซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระแก้ว อ.เมือง จ.เชียงราย จากวัดพระแก้วให้เลี้ยวซ้ายตรงตามทางมาเรื่อยๆ ประมาณ 100 ม. จะเลี้ยวซ้ายเข้า ถ.ไกรสรสิทธิ์ให้ตรงไปอีกเกือบ 800 ม. จากนั้นจะเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.วินิจฉัยกุล ตรงไปอีก 300 ม. จากนั้นจะเจอซุ้มประตูทางเข้าฝั่งสนามกอล์ฟแม่กกซึ่งอยู่ในเขตของค่ายเม็งรายมหาราชอยู่ทางขวามือ

ทางเข้าค่ายเม็งราย

ประตูทางเข้าด้านนี้จะมีซุ้มและป้ายแสดงอย่างชัดเจน ตามรูปใน Google Street View ด้านล่าง

ประตูทางเข้าศาลารอยพระบาท

เมื่อเข้าประตูไปแล้วจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ อย่างชัดเจน ไม่ต้องกลัวหลงค่ะ

ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9

พิกัด GPS : 19.912676, 99.809238

เปิดทำการ : ทุกวันเวลา 8.00 – 16.30 น.

เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ : 053-711-202

เว็บไซต์ : ค่ายเม็งรายมหาราช

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : พิพิธภัณฑ์จังหวัดทหารบกเชียงราย บ้านพักจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งอยู่อีกม่อนดอยหนึ่งใกล้ๆ ดอยโหยด และมีจุดชมวิวที่เห็นศาลารอยพระบาทจากระยะไกล