A380-800 Flight Simulator Suvarnabhumi Airport

กว่าจะเป็นนักบินไม่ใช่เรื่องง่าย พาไปลองขับ Flight Simulator จากการบินไทย

ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมการบิน ดังนั้นกว่าจะได้เป็นนักบิน หรือ ผู้ช่วยนักบิน ต้องผ่านมาตรฐานการฝึกอบรมที่เข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่านักบินจะสามารถพาผู้โดยสารทุกท่านไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างนุ่มนวล ปลอดภัย

ทีมงาน 2Baht มีโอกาสเข้าฟังบรรยายเรื่อง “การฝึกนักบินของการบินไทยในเครื่องบินฝึกจำลอง (Flight Simulator)” จึงอยากจะมาแชร์ให้ฟังกันว่ากว่าจะเป็นนักบินได้นั้น ต้องผ่านการฝึกอะไรมาบ้างค่ะ

กว่าจะเป็นนักบินไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กับเส้นทางการอบรมที่เข้มข้น

Thai Airways Flight Deck Training

กัปตันปริญญา อุ่นเรือน ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมนักบิน และทีมงาน อธิบายให้ฟังว่าเส้นทางการเป็นนักบินการบินไทย มีอยู่ 2 แบบ

  1. Qualified Pilot หรือ ผู้ถือใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ ที่มีชั่วโมงบินไม่ต่ำกว่า 255 ชั่วโมง อาจจะเคยเป็นนักบินจากสายการบินอื่นมาก่อนก็ได้
  2. Student Pilot หรือ ผู้ที่จบปริญญาตรี มีความสนใจอยากเป็นนักบิน

ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางแบบใด ผู้สมัครจะต้องผ่านการสัมภาษณ์ การทดสอบความรู้ สมรรถนะร่างกาย และจิตวิทยา

สำหรับคนที่เลือกสาย นักเรียนการบิน (Student Pilot) จะต้องเข้าคอร์สอบรมนักบิน (Flight Training) ก่อนเป็นเวลา 1 ปี หรือ 250 ชั่วโมง จากนั้นถึงเข้าสู่โปรแกรมการอบรมที่เรียกว่า Airline Transition Training เรียกสั้นๆ ว่า ATT ซึ่งก็จะมีความเข้มข้นของเนื้อหาแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ ใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนเป็นอย่างน้อย

หลักสููตร ATT เป็นการอบรมพื้นฐานการบิน ความรู้ด้านเทคนิคของเครื่องบิน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงการใช้เครื่องฝึกบินจำลอง หรือ Flight Simulator เพื่อฝึกซ้อมการขับเครื่องบินทั้งสถานการณ์ปกติและไม่ปกติจนเกิดความชำนาญ ก่อนขับเครื่องบินจริง

เมื่อจบหลักสูตร ATT แล้ว นักเรียนการบินยังต้องอบรมเป็นผู้ช่วยนักบิน หรือ Co-Pilot ใช้เวลาต่ออีก 5-6 เดือน เพื่อให้คุ้นชินกับเครื่องบินในแต่ละรุ่น และจะจบหลักสูตรก็ต่อเมื่อผ่านการประเมินจากกัปตันอาวุโส (Supervisory Pilot) แล้วเท่านั้น

รวมแล้ว คนที่เดินเส้นทางนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี กว่าจะได้เริ่มประจำการบนเครื่องบินกันจริงๆ ค่ะ

เส้นทางนักบินก็ยังไม่ได้จบแค่ผู้ช่วยนักบินเท่านั้น ยังต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปอีกประมาณ 8 ปี ถึงสามารถเข้าสู่การประเมินเพื่อเป็น “กัปตัน (Commander)” ต่อไป

รู้จักกับเครื่องฝึกบินจำลอง Flight Simulator

ทีนี้เรามาดูว่าเจ้าเครื่องฝึกบินจำลองหรือที่เรียกกันว่า Flight Simulator มีหน้าตาเป็นอย่างไร

Flight Simulator A380 การบินไทย
Flight Simulator เครื่องจำลองการขับเครื่องบิน Airbus A380-800 ของ CAE Series 7000

หลายๆ คนที่ทำงานออฟฟิศคงเคยซ้อมหนีไฟกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะได้ไม่ตื่นตระหนกและรับมือได้ทัน นักบินก็เช่นเดียวกัน ต้องฝึกซ้อมการบินในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยใช้เครื่องที่เรียกว่า Flight Simulator ให้เสมือนจริงให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดทักษะและทัศนคติที่ดีในการบินนั่นเอง

Flight Simulator ใช้ข้อมูล 2 ส่วนหลักๆ ในการประมวลผล ได้แก่

  1. ข้อมูลจริง เช่น แผนผังต่างๆ ในสนามบินทั่วโลก ข้อมูลภูมิศาสตร์บนโลก เพื่อให้เหมือนกับการขับเครื่องบินจริงให้มากที่สุด
  2. ข้อมูลจำลอง เช่น สภาวะอากาศจำลอง เช่น หิมะตก หมอกลง, สภาพการบินที่ไม่ปกติ เช่น บินแบบ 90 องศา หรือแม้แต่จำลองเหตุการณ์ไฟไหม้  โดยอ้างอิงจากสมการคณิตศาสตร์

การฝึกของนักบินด้วย Flight Simulator จึงเป็นการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ บนพื้นฐานของการขับเครื่องบินจริง ภายใต้การประมวลผลด้วยเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 10 ตัว และควบคุมการเคลื่อนไหวให้เสมือนการบินด้วยเครื่องบินจริงๆ ไปยังฮาร์ดแวร์ที่เป็นขา 6 ขา (Motion 6 Degrees of Freedom) โดยใช้ระบบไฮโดรลิกหรือไฟฟ้า

Full Flight Simulator : Motion 6 Degree of Freedoms

อย่างไรก็ตามเครื่องบินแต่ละรุ่น มีแผงควบคุม หน้าจอ หน้าปัดที่แตกต่างกัน ดังนั้นการบินไทยจึงมีเครื่อง Flight Simulator ที่แตกต่างกันไปตามอินเทอร์เฟซของเครื่องแต่ละรุ่น

ปัจจุบันเครื่อง Flight Simulator ของการบินไทยมีทั้งหมด 8 รุ่น ทั้งหมดเป็น Level D หรือ มาตรฐานขั้นสูงสุดของ Flight Simulator

ตอนนี้ถือว่าการบินไทยมีเครื่องซ้อมจำนวนเยอะรุ่นที่สุดในไทย ส่งผลให้สายการบินอื่นทั้งของไทยและต่างประเทศ ต้องมาขอเช่าชั่วโมงบินจาก Flight Simulator ของการบินไทยอีกด้วย

Thai Airways Flight Simulator

ทดลองขับ Flight Simulator ความเสมือนจริงที่สัมผัสได้

นอกจากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว Flight Simulator ยังต้องสร้างความเสมือนจริงกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่นักบินใช้งาน เช่น แผงควบคุมอุปกรณ์ เก้าอี้ หน้าต่าง ที่ต้องทำให้เหมือนได้ลองขับเครื่องบินจริงๆ

เรามีโอกาสลองใช้ Flight Simulator รุ่นที่จำลองเครื่องบิน A380-800 ของ CAE Series 7000 กันค่ะ

Flight Simulator A380 การบินไทย

A380-800 (CAE 7000 Series) Flight Simulator Console
หน้าจอควบคุม แนวตั้ง-แนวดิ่ง (ฝั่งซ้าย) และทิศทางแบบ 360 องศา (ฝั่งขวา)
A380-800 (CAE 7000 Series) Flight Simulator Console
ตัวควบคุมความเร็ว ทิศทางองศาการบิน

องค์ประกอบหลักของ Flight Simulator คือคอมพิวเตอร์อยู่ด้านหลังที่นั่งนักบิน คอมพิวเตอร์ตัวนี้มีไว้ให้ครูฝึก หรือ กัปตันอาวุโสใช้เพื่อจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อฝึกนักบินให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านี้

ระบบคอมพิวเตอร์ของ Simulator สามารถสั่งวาร์ปเราไปยังสถานที่ใดๆ ในโลกก็ได้ (Position Set) หรือ เสกขอฟ้าขอฝน (Environment Set) ได้ทันที

A380-800 Flight Simulator - Position Set

A380-800 Flight Simulator - Environment Set

หน้าจอการแสดงผลที่จำลองมาจากเครื่องบินจริง ผนวกกับฐานข้อมูลการบินและภูมิศาสตร์ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อทะยานขึ้นฟ้าไป ก็จะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เบื้องล่าง

A380-800 Flight Simulator Suvarnabhumi Airport

A380-800 Flight Simulator Chao Phraya River

จากนั้นเรารีเควสกัปตันขอบินไปดู “ภูเขาไฟฟูจิ” สักหน่อย ก็เห็นภูเขาไฟโผล่มาตรงหน้าเลยทันที กัปตันเค้าเสกได้นะ (เกือบหลบไม่ทันแน่ะ)

Flight Simulator Mt.Fuji Japan

ถ้าต้องการขอให้กัปตันเสกหิมะลงมา ตกเบา-หนัก ก็ทำได้ทันที หรือจะบินในช่วงเวลาเช้า กลางคืน หรือตอนโพล้เพล้ ก็จำลองมาได้หมด

Flight Simulator Snow at Suvarnbhumi Airport
เมื่อหิมะตกที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เรามีโอกาสลองควบคุมเครื่องบินนิดหน่อยค่ะ การบินจะต้องระบุทิศทางเป็นองศาการบิน มีหน้าจอช่วย Monitor การบินของเราอยู่ แต่ด้วยความอยากรู้เลยขอกัปตันใช้โหมด Auto Pilot ดูว่าเป็นอย่างไร

ไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี…มันเท่มากเลยหล่ะ โหมดนี้สามารถล็อกรันเวย์เพื่อลงจอดที่สนามบินโกเบที่ตั้งอยู่กลางทะเลได้อย่างนุ่มนวล และก็เพิ่งรู้ว่าสนามบินโกเบเค้ามีไฟส่องกันกลางทะเลให้เห็นแนวรันเวย์ด้วย ส่วนแอร์บัส A380 จะมีโหมดควบคุมที่ดีกว่ารุ่นอื่นคือ สามารถเลือกทางออกให้กับเครื่องบินได้ด้วย

เพื่อให้เห็นภาพเราเลยอัดคลิปประกอบ ทั้งขาขึ้นจากสนามบินสุวรรณภูมิ และลงจอดที่สนามบินโกเบกันค่ะ

ปิดท้ายด้วยการถาม-ตอบ (Q&A) เล็กน้อยเกี่ยวกับ Flight Simulator

Q: การบินไทยมี Flight Simulator ครบทุกรุ่นหรือเปล่า? ถ้าไม่ครบทำอย่างไร?

มีไม่ครบ แต่เครื่องบินบางรุ่นมีอุปกรณ์ควบคุมที่คล้ายคลึงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้

Q: เวลาสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ ที่ยังไม่มี Flight Simulator การบินไทยจะฝึกนักบินอย่างไร?

ตามปกติ เครื่องบินรุ่นใหม่ มีคอร์สฝึกนักบินรวมไปกับค่าเครื่องบินอยู่แล้ว โดยการบินไทยจะจัดสรรเวลาให้นักบินที่ต้องขับเครื่องบินรุ่นดังกล่าวไปเก็บชั่วโมงบินกับ Flight Simulator จนกว่าจะชำนาญพร้อมบินจริง

Q: เวลาที่ฝึกจริง ครูฝึกจำลองสถานการณ์และประเมินผลอย่างไรบ้าง?

ครูฝึกจะแจ้งเราว่าการซ้อมแต่ละครั้ง เน้นฝึกสถานการณ์ใดบ้าง แต่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดแบบสุ่มตามแต่ครูฝึกจะพิจารณาเลย ดังนั้นนักบินต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ จนชำนาญ ส่วนการประเมินผลจะมีหน้าจอที่ช่วย Monitor เส้นทางการบินทั้งแนวราบและแนวดิ่ง

หน้าจอ Monitor การบินของครูฝึกอาวุโส เพื่อใช้ประเมินผลนักบิน
หน้าจอ Monitor การบินของครูฝึก เพื่อใช้ประเมินผลนักบิน

Q: ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ บุคคลทั่วไปสามารถมาฝึกบินได้มั้ย?

ผู้สนใจสามารถจองใช้ Flight Simulator ได้ ค่าใช้จ่ายชั่วโมงละ 15,000 บาท หากต้องการครูฝึกมาประกบด้วยก็แจ้งได้

กรณีที่น่าสนใจอย่างเช่น มีลูกค้าวัยเกษียณท่านหนึ่งมาเช่าชั่วโมงเพื่อเติมเต็มความฝันที่ขาดหายไป ส่วนอีกท่านเป็นคุณหมอที่ยังอยากเป็นนักบินก็มาฝึกซ้อมแทบจะทุกรุ่นเพื่อสอบนักบินจนผ่าน เรียกว่าเป็นที่ๆ สร้างความฝันให้กับใครอีกหลายๆ คนเลยทีเดียวค่ะ 🙂

ขอขอบคุณการบินไทยที่เอื้อเฟื้อทีมงาน 2Baht ได้ลองมาเป็นนักบินชั่วคราว และตระหนักถึงบทบาทของนักบินกับ Flight Simulator ตัวแปรสำคัญที่เสริมสร้างความปลอดภัยแก่อุตสาหกรรมการบิน มา ณ ที่นี้ค่ะ