รวม 10 เทคนิคขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศอย่างมีความสุข

การขึ้นเครื่องบินไปยังต่างประเทศถือว่าประหยัดเวลาการเดินทางได้มากที่สุด และด้วยการแข่งขันทางการตลาดของสายการบินที่มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการตัดราคาระหว่างสายการบิน low cost airline ด้วยกันเอง หรือ สายการบินระดับชาติที่หันมาทำโปรโมชั่นค่าตั๋วแข่งกับ low cost บางครั้งก็ช่างยั่วยวนใจเหลือเกิน มารู้ตัวอีกทีก็กดซื้อตั๋วกันไปแล้ว!!

2baht.com ขอรวบรวมทิปและเทคนิค “การขึ้นเครื่องบินไปเมืองต่างประเทศ” จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง มาแชร์ให้กับนักเดินทางทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่จะบินไปต่างประเทศไปเป็นครั้งแรกก็สามารถเดินทางได้อย่างมีความสุขค่ะ

ภาพจาก Flickr โดย BVStarr
ภาพจาก Flickr โดย BVStarr

1. ตรวจสอบ Passport และ VISA ก่อนเดินทางทุกครั้ง

อย่างแรกที่สุดเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ ต้องเช็ค Passport และ Visa เสมอ เรื่องง่ายๆ เบสิกแบบนี้ ตกม้าตายกันมาเยอะแล้ว เพื่อให้การเที่ยวสนุกราบรื่น ก็อย่าพลาดตรงนี้กันนะ

สิ่งที่ต้องทำเสมอคือ ตรวจสอบว่าประเทศที่จะเดินทางไปต้องขอวีซ่าเพิ่มเติมหรือไม่ (รายชื่อประเทศที่คนไทยเข้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แค่มีพาสปอร์ตก็พอ) และตรวจสอบว่าพาสปอร์ตที่ถืออยู่มีอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนวันเดินทาง (บางประเทศอาจจะยอมให้น้อยกว่านี้ ควรตรวจสอบกับสถานเอกอัครราชทูต/กงสุลของประเทศที่กำลังจะเดินทางไปจะให้คำตอบได้ดีที่สุด สถานทูตทุกแห่งมีเว็บไซต์และหมายเลขโทรศัพท์ ถ้าสงสัยอะไรก็โทรไปถามที่สถานทูตได้ โดยฝ่ายที่เราต้องติดต่อคือฝ่ายกงสุลหรือ Consular)

Passport Thai

2. ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง จงเลือกที่นั่งให้เหมาะสม

เทคนิคการนั่งเครื่องบินให้สบาย ต้องเริ่มตั้งแต่การจองตั๋วเลย เพราะเราต้องเลือกที่นั่งให้เหมาะสมกับความต้องการของเราที่สุด ซึ่งความต้องการของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป เช่น บางคนชอบนั่งชิดใน บางคนชอบใกล้ห้องน้ำ บางคนชอบนั่งท้ายเครื่อง ฯลฯ

เครื่องบินสมัยนี้มีหลากหลายรุ่น ที่ได้ยินบ่อยๆ ก็เช่น Airbus A380, Boeing 777 แล้วมันวางตำแหน่งที่นั่งกันอย่างไร? นั่งตรงไหนถึงจะดีหล่ะ? เดี๋ยวนี้มีผู้ช่วยง่ายๆ อย่างเว็บ seatguru.com เว็บในเครือ TripAdvisor เพียงแค่เราป้อนหมายเลขเที่ยวบินลงไป เว็บไซต์จะแสดงผังที่นั่งของเครื่องบินเที่ยวบินนั้น พร้อมแนะนำที่นั่งทำเลทองที่นั่งแล้วได้เปรียบกว่าผู้โดยสารคนอื่น  ช่วยทำให้การเล็งที่นั่งก่อน check-in online เป็นเรื่องง่ายๆ แถมยังบอกความกว้างของแต่ละที่นั่งในเที่ยวบินด้วย

หาก flight ใดที่บินยาวเกิน 3 ชั่วโมง บางครั้งการเลือกที่นั่งติดทางเดิน (Aisle seat) เผื่อลุกเข้าห้องน้ำง่ายอาจดีกว่าการเลือกที่นั่งข้างหน้าต่าง (Window seat) เพราะเราไม่ทราบได้เลยว่าคนที่นั่งตรงทางเดินของแถวเรานั้นเค้าลุกเข้าห้องน้ำถี่ขนาดไหน หรืออาจนอนลึกยาวๆ เลย (ผู้เขียนเคยเจอฝรั่งคนนึง ไม่เคยลุกเข้าห้องน้ำตลอดไฟลท์ที่ยาวเกือบ 6 ชั่วโมงแน่ะ!)

seatguru
ตัวอย่างข้อมูลที่นั่งบนเครื่องบิน (จากเว็บไซต์ seatguru)

3. น้ำหนักและขนาดกระเป๋าพกติดตัว (Carry-on Baggage)

เมื่อจองตั๋วเรียบร้อยแล้ว ก็นับถอยหลังรอวันเดินทาง แล้วเตรียมจัดของขึ้นเครื่องบินกัน แต่การนำสัมภาระขึ้นเครื่องบินไม่ใช่เอาอะไรขึ้นไปก็ได้ เพราะแต่ละสายการบินก็มีกฎระเบียบของตัวเองอยู่

สัมภาระที่ให้นำขึ้นเครื่องจะมีจำกัดทั้งในเรื่องขนาดและน้ำหนัก โดยส่วนใหญ่จะใช้ตามกฎของสมาคมการขนส่งทางอากาศนานาชาติ หรือ International Air Transport Association (IATA) 22 x 14 x 9 นิ้ว (หรือ 56 x 35 x 22 ซม.) และมีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม

สำหรับขนาดกระเป๋า Carry-on ถือขึ้นเครื่องที่การบินไทยอนุญาตคือ 22 x 18 x 10 นิ้ว (56 x 45 x 25 ซม.) โดยมีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม และควรตรวจสอบข้อมูลกับสายการบินก่อนบินทุกครั้ง

jetstar baggage
ตัวอย่างขนาดสัมภาระขึ้นเครื่องของสายการบิน Jetstar (จากเว็บไซต์ Jetstar)

4. สิ่งของที่ควรระวังในการพกขึ้นเครื่องบิน

เรื่องสิ่งของที่ห้ามนำขึ้นเครื่องก็ตกม้าตายกันมาเยอะแล้ว เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวนายตำรวจใหญ่ของไทยถูกจับที่ญี่ปุ่น เนื่องจากพกปืนพกขนาดจิ๋วขึ้นเครื่องไปด้วย เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาดง่ายๆ เพราะหลายครั้งเราอาจต้องทิ้งของชิ้นนั้นไปเลย มิฉะนั้นจะไม่สามารถขึ้นเครื่องบินกลับได้

สิ่งของที่ห้ามพกขึ้นเครื่องบิน หรือ ต้องโหลดใต้เครื่องบินเท่านั้น ได้แก่ อาวุธ ของมีคม อุปกรณ์กีฬา เครื่องมือช่าง วัตถุไวไฟ (อันหลังสุดห้ามโหลดด้วยนะ) นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่พกขึ้นเครื่องได้ (carry-on) แต่จำกัดขนาดด้วย นั่นก็คือ

  • ของเหลว เจล หรือแม้กระทั่งลิปสติค ดูตามขนาดบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร/ชิ้น (เคยเจอเพื่อนเอาโฟมล้างหน้ายี่ห้อ Kose ติดตัวไป แม้ของเหลวจะเหลือแค่ปลายหลอด แต่ฉลากของขนาดบรรจุภัณฑ์เกิน 100 มิลลิลิตรก็โดนทิ้งกันตรงเครื่อง X-ray เลยหล่ะ)
  • ทั้งหมดให้รวมกันได้ไม่เกิน 1 ลิตร และบรรจุในอยู่ในถุง zip lock แบบใสขนาดไม่เกิน 20 x 20 ซม.
Restricted articles forbidden
ตัวอย่างสิ่งของห้ามนำขึ้นเครื่อง

5. สิ่งของที่ต้องพกขึ้นเครื่องบินเท่านั้น

ไม่ใช่มีแต่สิ่งที่ต้องระวังในการนำขึ้นเครื่องบิน ยังมีสิ่งที่เราต้องพกขึ้นเครื่องสถานเดียวด้วย (ห้ามโหลดไว้ใต้ท้องเครื่องเด็ดขาด) นั่นก็คือพวกแบตเตอรีตระกูล Lithium (ลิเทียม) ซึ่งใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างเช่น กล้องถ่ายรูป โน้ตบุ๊ค power bank

กฎนี้มีเงื่อนไขค่อนข้างซับซ้อน เพราะมองทั้งเรื่องปริมาตรบรรจุไฟ และพิจารณาอีกว่าแบตเตอรีนั้นติดตั้งกับอุปกรณ์หรือไว้ใช้สำรอง

  • กรณีเป็นแบตสำรอง หรือ แบตเตอรี่ที่ไม่ได้ติดอยู่ในอุปกรณ์ไฟฟ้า ต้องพกขึ้นเครื่องเท่านั้น
  • คำนวณปริมาตรบรรจุไฟของแบตเตอรี่ที่พก โดยดูหน่วย Wh (Watt-hour)
    • ขนาดเล็ก (<= 100 Wh)  : พกได้ไม่จำก้ด
    • ขนาดกลาง (> 100 – 160 Wh)  : พกสำรองได้ไม่เกิน 2 ชิ้น (แต่ถ้าเป็นแบตที่อยู่รวมกับอุปกรณ์เลยไม่เป็นไร)
    • ขนาดใหญ่ (> 160 Wh)  : ต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูและส่งเป็น cargo ตามกฎ IATA

วิธีการคำนวณ Wh ได้จากการนำค่า Amp-hours (Ah) x Voltage (V)

เช่น แบต Li-ion 1500mAh (1,000 mAh = 1 Ah), 3.6 V  ก็จะได้ 1.5 Ah x 3.6 V = 5.4 Wh

ถ้าสรุปสั้นๆ ตามค่ามาตรฐานแบตเตอรีส่วนใหญ่ แบตสำรองกล้องมักจะเป็นแบตเตอรีขนาดเล็ก ดังนั้นพกขึ้นเครื่องได้ไม่จำกัด แต่โดยทั่วไปอนุญาตให้ไม่เกิน 20 ก้อน ส่วน power bank มักจะเป็นแบตเตอรีขนาดกลางจึงควรพกขึ้นเครื่องไม่เกิน 2 ชิ้น ส่วนโน้ตบุ๊คก็เช่นเดียวกันพกทั้งเครื่องและแบต หิ้วขึ้นเครื่องไปด้วยเลยจะดีกว่า

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกฎของสายการบิน และประเทศที่เดินทางเป็นหลักด้วย อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาก็จะมีกฎของตัวเองโดยเฉพาะ (รายละเอียด) หากไม่แน่ใจควรสอบถามกับ call center สายการบินก่อนเดินทางจะให้คำตอบได้ดีที่สุดค่ะ

หมายเหตุ ไหนๆ เค้าบังคับให้เอา power bank ขึ้นเครื่องแล้ว ก็อย่าลืมพกสาย USB เอาไปชาร์จกันต่อบนเครื่องด้วยนะ เดี๋ยวนี้สายการบินหลายๆ เจ้ามักจะมีช่อง USB ให้ชาร์จไฟกันระหว่างบินด้วย ลงเครื่องแบบแบตมือถือเต็ม เที่ยวต่อได้อีกทั้งวันเป็นอะไรที่ฟินมาก!

อ้างอิงข้อมูลจาก IATA

Powerbank Thai Airways
ตัวอย่างการอนุญาตให้พกแบตเตอรีสำรองของการบินไทย (จากเว็บไซต์ thaiairways)

6. สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Jet Lag และวิธีการป้องกัน

ปัญหา Jet Lag เป็นปัญหาสามัญเมื่อต้องบินข้ามทวีปที่เขตเวลาต่างกันมากๆ เมื่อเราปรับตัวเข้ากับเขตเวลาปลายทางไม่ได้ ก็จะพลอยให้เที่ยวในวันต่อๆ ไปไม่สนุกไปด้วย

การเตรียมตัวรับมือ Jet Lag สามารถเตรียมได้ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องบินด้วยซ้ำ จากผลวิจัยโดย Dr. Smith L. Johnston แห่งนาซ่าพบว่า โดยปกติการปรับตัวให้เข้ากับ time zone ที่เปลี่ยนไป 1 ชั่วโมง มักใช้เวลา 1 วัน หากต่าง time zone กันมากเท่าไหร่ ยิ่งใช้จำนวนวันมากเท่านั้น

อันที่จริงแล้วกลไกการทำงานในร่างกายมนุษย์จะตื่นและเข้านอนตามแสงอาทิตย์เป็นหลัก แต่ก็ยังมีโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อ SIK1 ที่คอย “ขัดการสั่งการของสมอง” ในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับ time zone ใหม่ แต่อย่างไรก็ตามได้มีการสรุปผลทดลองว่า วิธีแก้ jet lag ที่เกิดจาก SIK1 ได้ดีที่สุดคือ ‘ต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตตาม time zone ใหม่อย่างฉับพลัน’

ดังนั้นวิธีที่ช่วยลดอาการ Jet Lag ที่ได้ผลที่สุด คือ การปรับตัวการนอนหรือการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับเวลาปลายทาง โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนการเดินทาง

  • หากเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก ซึ่งเวลาปลายทางจะช้าลงกว่าเดิม ก็พยายามปรับการนอนให้ดึกกว่าเดิม ซึ่งมักทำได้ง่ายกว่า
  • หากเดินทางจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งเวลาจะเร็วขึ้นกว่าเวลาต้นทาง ก็พยายามปรับการนอนให้เร็วขึ้น กระตุ้นให้ร่างกายปรับตัวโดยเจอแสงอาทิตย์เฉพาะยามเช้า หลีกเลี่ยงการเจอแสงอาทิตย์ในช่วงบ่าย  และอาจจะพึ่งพาสาร melatonin ในกรณีที่หลับยาก

อ้างอิงจาก The truth about jet lag and how to overcome it

[ the waiting ]
ภาพจาก Flickr โดย Riccardo Romano

7. สดชื่นดับกระหาย พกขวดเปล่าไปเติมน้ำในสนามบิน

ปกติแล้วเราต้องไปเช็คอินก่อนขึ้นเครื่องไปต่างประเทศเป็นเวลา 3 ชั่วโมง หลังเช็คอินแล้วต้องตรวจสัมภาระ ซึ่งห้ามนำของเหลวเข้าไปด้วย ถ้ามีน้ำเปล่าก็ต้องกินให้หมด มิฉะนั้นต้องทิ้ง

ปัญหาคือระยะเวลาหลังจากตรวจสัมภาระ ไปจนถึงขึ้นเครื่อง พนักงานเริ่มเสิร์ฟอาหาร อาจกินเวลาถึง 3-4 ชั่วโมง (ยิ่งถ้าเจอเครื่องดีเลย์ยิ่งแล้วใหญ่) ผู้โดยสารอย่างเราๆ ย่อมมีปัญหาเรื่องการกระหายน้ำได้ (ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ)

เทคนิคที่เราแนะนำคือให้พกขวดเปล่าติดกระเป๋าไปด้วย กินน้ำให้หมดที่หน้าจุดตรวจสัมภาระ แต่ไม่ต้องทิ้งขวด เมื่อผ่านจุดตรวจไปได้แล้ว สนามบินส่วนใหญ่มีก๊อกน้ำดื่มบริการ ซึ่งมักอยู่ใกล้กับห้องน้ำ เราสามารถใช้ขวดเปล่านี้รองน้ำดื่มของสนามบินเพื่อไปใช้งานในภายภาคหน้าได้ สนามบินบางแห่งอาจมีทั้งน้ำเย็นและน้ำอุ่นให้เลือกด้วย

การพกขวดเปล่ายังมีประโยชน์แม้กระทั่งตอนเครื่องลง เพราะพนักงานต้อนรับต้องเสิร์ฟอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเครื่องลงประมาณ 1-2 ชั่วโมง กว่าเครื่องจะลง กว่าจะตรวจคนเข้าเมือง รอกระเป๋าออกมาจากสายพาน ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงเช่นกัน การรองน้ำเปล่าใส่ขวดติดไปด้วยย่อมช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกระหายน้ำได้ สายการบินบางแห่งมีก๊อกให้กดน้ำที่เคาเตอร์ของพนักงานเลย เราสามารถเดินไปกดน้ำเตรียมไว้ได้ ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเคยลงเครื่องแล้วต้องต่อคิวรอตรวจคนเข้าเมืองนานถึง 2 ชั่วโมง ถ้าคราวนั้นไม่ได้รองน้ำไปคงแย่แน่ๆ

Bottle allow
สนามบินมักอนุญาตให้พกขวดเปล่าเข้าไปโซนผู้โดยสารขาออกได้คนละ 1 ขวด

8. ไม่ได้อาบน้ำไม่เป็นไร แก้ปัญหาตัวเหนียวเหนอะหนะก่อนบินกลับ

เพื่อความคุ้มค่าในการเดินทางต่างประเทศที่ค่าโรงแรมค่อนข้างแพง วันสุดท้ายก่อนบินกลับ เราจึงมักใช้เวลาตอนกลางวันเที่ยวให้คุ้มค่า แล้วไปสนามบินช่วงหัวค่ำเพื่อขึ้นเครื่องเที่ยวดึกกลับเมืองไทย นอนบนเครื่องเลยไม่ต้องเสียค่าโรงแรม

อย่างไรก็ตาม การนอนบนเครื่องบินโดยไม่อาบน้ำอาจไม่สบายเท่าไรนัก ยิ่งถ้าไปประเทศเขตร้อนที่เหงื่อออกเหนอะหนะมาทั้งวัน แบบนี้ทำอย่างไรดี

เทคนิคที่เราแนะนำคือพก “ทิชชู่เปียก” ติดไปด้วย เมื่อถึงสนามบิน เช็คอินและตรวจคนเข้าเมืองแล้ว พอมีเวลาก็สามารถเข้าห้องน้ำไปเช็ดตัวบริเวณที่เหงื่อออกเยอะๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ จะให้ดีก็ควรพกเสื้อหรือชุดชั้นในสะอาดไปเปลี่ยนด้วย ล้างหน้าแปรงฟันให้พร้อม เราก็จะเดินทางกลับได้อย่างสดชื่นและสบายขึ้นเยอะ

คำแนะนำ เนื่องจากห้องน้ำในสนามบินจะแออัดกันโซนต้นทาง และปลายทาง ดังนั้น พยายามเข้าโซนกลางๆ คนจะน้อยหน่อย จะได้ไม่รู้สึกต้องเร่งรีบอะไร และมักจะสะอาดกว่าด้วย

ห้องน้ำในเลาจ์สนามบิน มักมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไดร์เป่าผม ให้ด้วย
ห้องน้ำในเลาจ์สนามบิน มักมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไดร์เป่าผม ให้ด้วย

9. ถ้าต้องนอนค้างในสนามบิน ทำอย่างไรดี?

บางครั้งเราอาจต้องนอนค้างในสนามบิน ด้วยเหตุผลหรือข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ต้องต่อเครื่องระหว่างทาง หรือบินไฟลท์เช้ามากที่รถไฟฟ้ายังไม่เปิดให้บริการ สำหรับผู้ที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ เราขอแนะนำเว็บไซต์ Sleeping in Airports ที่รวบรวมข้อมูลในการเตรียมนอนค้างสนามบินทั่วโลก ทั้งการนอนแบบเสียเงินอย่างเข้าเลาจน์ต่างๆ หรือการนอนแบบฟรีและดีก็ยังมีในโลก

ตัวอย่างสนามบิน Changi สิงคโปร์ ที่หลายๆ คนอาจจะชอบใจไฟล์ทกลางคืน เพราะมักมีโปรราคาถูก แต่ก็จะมีปัญหาติดสนามบินตามมา เพราะว่ารถไฟหยุดเดินในช่วงเที่ยงคืน ถึงตีห้าครึ่ง ใน sleepinginairports ก็มีรีวิว Snooze Lounge หรือโซนเก้าอี้ให้นอนพักฟรีไว้ด้วย

sleepinginairports Singapore
ตัวอย่างรีวิวสนามบินสิงคโปร์ (จากเว็บไซต์ sleepinginairports)

10. เทคนิคการดูแลร่างกายเมื่ออยู่บนเครื่องนานๆ

การเดินทางที่บินไกลๆ หากนั่งชั้นประหยัดอาจทำให้เมื่อยล้าได้ง่าย ด้วยเนื้อที่จำกัด เรามีเทคนิคที่ใช้บ่อยๆ

  • เดินยืดเส้นยืดสายบ้าง และจิบน้ำเป็นระยะ โดยสามารถเดินไปหยิบจากเคาเตอร์ตรงกลาง หรือบางเครื่องจะมีตู้กดน้ำข้างๆ ห้องน้ำ
  • หลังกินอาหารเสร็จให้รีบเข้าห้องน้ำ ช่วงก่อนแอร์โฮสเตสจะเดินมาเก็บถาดอาหาร เพื่อไม่ต้องรอคิวนาน เพราะหลังเก็บถาดแล้ว ผู้โดยสารจำนวนมากจะลุกมาแย่งกันเข้าห้องน้ำ
  • ปิดจอทีวีและหน้าต่างเวลานอน ลดแสงรบกวนจากหน้าจอ ไม่รบกวนทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมไฟล์ท
  • พกหมอนรองคอช่วยให้นอนสบายขึ้นอีกเยอะ แบบเป่าลมพกพาง่าย แต่ถ้าให้สบายเลือกแบบผ้าที่ยัดวัสดุที่ชอบจะดีกว่า
  • พกที่อุดหู ผ้าปิดตา ผ้าปิดปากไปด้วย เผื่อเจอสภาพแวดล้อมที่แย่ๆ เช่น คนข้างๆ คุยกันเสียงดัง อย่างน้อยก็พอช่วยบรรเทาไปได้
  • พกแบงค์ดอลลาร์ หรือยูโร ติดตัวไว้นิดหน่อย เผื่อแวะ transit จะได้มีใช้ซื้อของจุกจิก
Sleeping in Plane
ภาพประกอบจาก Flickr โดย Daniel Goodwin

หวังว่าเทคนิคเหล่านี้คงจะช่วยให้เดินทางด้วยเครื่องบินกันอย่างมีความสุขมากขึ้น มีแรงไปเที่ยวกันต่อได้นานๆ นะคะ

ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยว เทคนิคการเดินทาง ได้จาก Facebook 2baht.com อีกช่องทางหนึ่งค่ะ