Air France-KLM ประกาศแผนปฏิรูป เตรียมรุกตลาดด้วยสายการบิน Startup

2Baht.com เคยนำเสนอข่าว สภาพปัญหาของกลุ่มธุรกิจการบิน Air France-KLM ที่เกิดจากการรวมตัวของ Air France กับ KLM ในปี 2004 จนต้องเปลี่ยนตัวซีอีโอคนใหม่ Jean-Marc Janaillac เมื่อไม่นานมานี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2016 ซีอีโอ Janaillac ก็ประกาศแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท โดยใช้ชื่อแผนว่า Trust Together

Air France KLM

อะไรคือปัญหาของ Air France-KLM

Air France-KLM คือหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ของกลุ่มทุนสายการบินยุโรป (อีกสองรายคือ Lufthansa Group ของเยอรมนี และ IAG ที่ควบรวมระหว่างอังกฤษ-สเปน)

ปัญหาของ Air France-KLM ก็คล้ายกับอีก 2 กลุ่มทุนการบิน (แต่ระดับความรุนแรงอาจแตกต่างกัน) นั่นคือสายการบิน full-service แบบดั้งเดิม ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจาก 2 ฝั่ง

ทางหนึ่งคือการรุกเข้ามาของสายการบินจากตะวันออกกลาง (ที่เรียกรวมๆ ว่า Gulf Carriers ซึ่งหมายถึงสามสหาย Emirates, Qatar, Etihad) ที่เน้นเส้นทางบินไกล โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-ยุโรป แต่ทำราคาเร้าใจกว่ากันมาก (สายการบินในเอเชียก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น การบินไทย, Cathay Pacific หรือ Singapore Airlines)

ในอีกทางหนึ่ง Air France-KLM และสายการบินใหญ่ในยุโรป ก็ต้องแข่งกับสายการบินโลว์คอสต์อย่าง Ryanair, EasyJet, Airberlin ที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเที่ยวบินระยะสั้นอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้กลุ่ม Air France-KLM มีสายการบินโลว์คอสต์แบรนด์ Transavia ก็ไม่สามารถต่อกรได้มากนัก

ภาพจาก Facebook Transavia
ภาพจาก Facebook Transavia

แผนการฟื้นฟู Air France-KLM ให้กลับมายิ่งใหญ่

แผนการฟื้นฟูกิจการที่เรียกว่า Trust Together (เอกสารฉบับเต็มเป็น PDF) มียุทธศาสตร์ทั้งหมด 9 ข้อ แต่ทาง 2Baht ขอสุรปเนื้อหาที่สำคัญมาดังนี้

กลับมาลุยตลาดเที่ยวบินไกล (Long Haul) ด้วยสายการบิน Startup

Air France KLM เพลี่ยงพล้ำในตลาดเที่ยวบินระยะไกลหรือ Long Haul ที่ตัวเองเข้มแข็งที่สุด บริษัทจึงประกาศยุทธศาสตร์ที่จะกลับมาเป็นเจ้าแห่งตลาดนี้ ทางหนึ่งคือกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร Delta Air Line ของสหรัฐ (ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตร SkyTeam เหมือนกัน)

แต่ที่น่าสนใจคือ Air France KLM จะต่อกรกับสายการบินตะวันออกกลาง ที่มีจุดเด่นเรื่องการทำต้นทุนได้ถูกกว่า โดยเปิดสายการบินใหม่หรือที่เรียกว่าเป็น Startup ขึ้นมาแข่ง แทนการใช้แบรนด์ Air France หรือ KLM โดยตรง เพราะมีโครงสร้างอุ้ยอ้ายกว่า

สายการบินแห่งใหม่ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่มีโค้ดเนมภายในว่า “Boost” รูปแบบคือบริษัทแม่ Air France KLM จะจัดสรรเครื่องบินระยะไกลให้ 10 เครื่อง และประกาศรับสมัครนักบินของ Air France ที่สนใจมาทำงานด้วย แล้วให้ Boost ลองลุยตลาดดูเอง

Boost จะมีอิสระในการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ หรือกลับไปทำตลาดเส้นทางบินเดิมที่ Air France KLM เคยทำแล้วยกเลิกไปเพราะแข่งขันไม่ได้หรือไม่มีกำไร จุดเด่นของ Boost คือความคล่องตัวที่มากกว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ใช้พนักงานแอร์โฮสเตสชุดเดิม แต่จะรับสมัครใหม่แทน ระบบเงินเดือนแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม (แก้ปัญหาการประท้วงและสไตรค์) แต่ก็ยังใช้นักบินของ Air France, ใช้พนักงานกราวนด์ของ Air France และมีฐานบินอยู่ที่สนามบิน Charles de Gaulle ที่ปารีส

Boost จะมีสถานะเป็นเหมือน “ห้องแล็บ” สำหรับทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบห้องโดยสาร บริการ อาหาร เทคโนโลยี กระบวนการทำงานภายในบริษัท ฯลฯ อะไรที่ทำแล้วเกิดเวิร์คขึ้นมา ก็จะถูกส่งกลับมายังบริษัทแม่เพื่อนำไปขยายลต่อด้วย

ภาพจาก Air France
ภาพจาก Air France

ปรับทัพสายการบินโลว์คอสต์

กลุ่มบริษัท Air France-KLM มีสายการบินโลว์คอสต์อยู่ 2 สายคือ Transavia และ Hop!

ยุทธศาสตร์ใหม่ของ Transavia คือเน้นตลาดในบ้านของตัวเอง (ฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์) โดยจะแข่งขันกับทั้งสายการบินโลว์คอสต์อื่น และแข่งกับการเดินทางชนิดอื่นอย่างรถไฟความเร็วสูง TGV ด้วย โดย Transavia จะใช้ฐานบินที่สนามบิน Paris Orly เป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัทยังจะเน้นเส้นทางบินแบบ point-to-point หรือเส้นทางบินระยะสั้นที่ไม่ต้องต่อเชื่อมไฟลต์อื่น โดยปรับมาให้บริการเฉพาะแบรนด์ Hop! และ Transavia เท่านั้น แล้วยกระดับ Air France และ KLM ไปเน้นการบินระยะไกลผ่านฮับการบินเพียงอย่างเดียว

ภาพจาก KLM
ภาพจาก KLM

หารายได้จากธุรกิจซ่อมบำรุงและคาร์โก

นอกเหนือจากสายการบินผู้โดยสารปกติ (Passenger Airline) กลุ่ม Air France KLM ยังมีธุรกิจการซ่อมบำรุงเครื่องบิน และธุรกิจขนส่งสินค้า (คาร์โก) ที่ยังทำรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งบริษัทก็ประกาศว่าจะรีวิวธุรกิจเหล่านี้ใหม่หมด เพื่อปรับปรุงคุณภาพและระดับการทำกำไรให้มากขึ้น

ปรับปรุงโครงสร้างต้นทุน การให้บริการ เทคโนโลยี

สุดท้าย Air France KLM ยังจะทำเรื่องโครงสร้างต้นทุนให้แข่งขันได้มากขึ้น ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) เพื่อแก้ปัญหาพนักงานประท้วงหยุดงาน และค่าตอบแทนที่อาจสูงจนทำให้ต้นทุนบานปลาย รวมถึงนำเครื่องมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวม

Air France KLM ตั้งเป้าว่าจะลดต้นทุนให้ได้ 1.5% ต่อปี ระหว่างปี 2017-2020 ด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด

ภาพจาก Air France
ภาพจาก Air France

ข้อมูลบางส่วนจาก Skift