บทความนี้เป็นภาคต่อของ แชร์ประสบการณ์ วิธีการเช่ารถขับท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกา โดยบทความนี้จะเล่าเฉพาะส่วนของการขับรถเท่านั้น
การเป็นคนไทยที่คุ้นกับการขับรถพวงมาลัยขวา วิ่งถนนเลนซ้าย ทำให้เวลาต้องขับรถในหลายประเทศที่ขับรถพวงมาลัยซ้าย ขับรถเลนขวา จะชวนให้สับสนงงงวยอยู่พอสมควร (ซึ่งประเทศในโลกเกือบทั้งหมดยกเว้นอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และแถบอาเซียนที่ยังใช้ระบบนี้)
กรณีของสหรัฐอเมริกาก็ใช้ระบบขับรถชิดเลนด้านขวาเหมือนกัน ดังนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องไปขับรถครั้งแรก ก็อาจต้องปรับตัวพอสมควร ผู้เขียนมีเหตุให้ต้องไปเช่ารถขับก็ประสบปัญหาเดียวกัน ก่อนเดินทางจึงหาข้อมูลอย่างละเอียด และเมื่อกลับมาแล้วก็นำมาเล่าผ่านเว็บ 2Baht.com เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับนักเดินทางชาวไทยท่านอื่นๆ ที่อยากไปเช่ารถขับในสหรัฐอเมริกาบ้าง
โดยสรุปแล้วคือการขับรถที่สหรัฐอเมริกานั้นง่ายกว่าการขับรถในเมืองไทยมาก เพราะทุกอย่างเป็นระบบไปหมด เพียงแต่ตอนแรกเรายังไม่คุ้นกับระบบถนนและการจราจรเท่านั้น เชื่อว่าทุกคนที่ขับรถในเมืองไทยแข็งพอสมควร สามารถไปขับรถในอเมริกาได้อย่างสบายๆ เลย
หมายเหตุ: กฎจราจรในแต่ละรัฐมีรายละเอียดแตกต่างกันไป บทความนี้ใช้ประสบการณ์จากการขับในรัฐแคลิฟอร์เนีย ย่าน Bay Area ครับ ดังนั้นถ้าไปรัฐอื่นควรเช็คข้อมูลอีกรอบ
คำแนะนำเบื้องต้น เริ่มแรกควรทำอะไร
จากประสบการณ์ที่ลองขับมา มีคำแนะนำเรื่องสิ่งที่ควรทำ ในช่วงที่ยังไม่คุ้นกับรถ ดังนี้
- ควรมีอุปกรณ์นำทาง GPS ติดหน้ารถ เพราะจะช่วยได้มากในการตัดสินใจเลือกเส้นทาง และตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าถึงแยกแล้วควรทำอย่างไร
- การขึ้นขับรถครั้งแรก ควรซ้อมในถนนขนาดเล็กที่รถไม่พลุกพล่าน (ถ้าทำได้) เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบจราจรก่อน
- การขึ้นขับรถครั้งแรก ควรมีคนรู้จักที่เคยมีประสบการณ์ขับรถในสหรัฐอเมริกานั่งไปด้วย เพื่อให้คำแนะนำได้ในตอนแรก
เริ่มจากขึ้นรถ ควบคุมรถอย่างไร
อย่างแรกเลยเมื่อขึ้นรถไปแล้ว สิ่งที่จะสับสนจากการขับรถในเมืองไทยมี 2 อย่างคือ
- เกียร์ เปลี่ยนจากตำแหน่งมือซ้ายไปเป็นมือขวา
- ไฟเลี้ยว จะอยู่ด้านซ้ายมือ ซึ่งกลับข้างกับรถญี่ปุ่นในบ้านเรา (แต่ถ้าใครขับรถยุโรปอยู่แล้วก็อาจไม่มีปัญหา)
ส่วนเรื่องพวงมาลัยนั้น การขับรถพวงมาลัยซ้ายจะถือพวงมาลัยด้านซ้ายโดยธรรมชาติ (ในขณะที่บ้านเราส่วนใหญ่ใช้มือขวาจับพวงมาลัยกัน) แต่เท่าที่ลองขับมาพบว่าไม่มีปัญหาอะไรมาก ต่างจากเกียร์ที่บางทีก็หลงลืม เอามือซ้ายไปควานหาเกียร์อยู่บ้างครับ ซึ่งหลังๆ เราใช้เกียร์ออโต้กันหมด ก็จะไม่มีผลกระทบเท่าไร จะใช้จริงๆ แค่ตอนถอยรถหรือตอนจอดเท่านั้นเอง
เรื่องนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ค่อยๆ ตั้งสติแล้วจำว่ามันอยู่สลับข้างกันก็พอ ขับไปสักพักหนึ่งจะเริ่มคุ้นเคยเอง
การขับรถในอเมริกามักเห็นรถคันอื่นๆ เปิดไฟหน้ากันแม้แต่ในตอนกลางวัน อันนี้เผื่อเจอแล้วจะงง
ไมล์ vs กิโลเมตร
อีกประเด็นที่อาจเป็นปัญหาบ้างเล็กน้อยคือ เข็มไมล์ ระบบวัดระยะ-วัดความเร็วของอเมริกานั้นนับหน่วยเป็น “ไมล์” (ซึ่งเป็นไม่กี่ประเทศที่ใช้ระบบนี้) คนขับรถบ้านเราที่คุ้นเคยกับหน่วยกิโลเมตรอาจจะสับสนอยู่บ้าง
รถยนต์บางคันอาจมีเข็มไมล์ทั้งสองแบบคือ ระบุตัวเลขเป็นไมล์และกิโลเมตรเลย ถ้าเจอแบบนี้ก็ง่ายหน่อย แต่ถ้าเจอรถที่มีแต่ตัวเลขไมล์อย่างเดียว ก็สามารถแปลงหน่วยได้ง่ายๆ คือคูณ 1.5 เข้าไป (เท่าครึ่ง) จริงๆ แล้ว 1 ไมล์ = 1.6 กิโลเมตร แต่ไปคูณตอนระหว่างขับรถอาจคูณยากหน่อย คูณ 1.5 ง่ายกว่า
ในแง่การควบคุมความเร็วไม่มีปัญหามากนัก เพราะคนขับรถจะรู้คร่าวๆ อยู่แล้วว่าเราขับรถเร็วประมาณไหน (เมื่อเทียบความเร็วเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่วนเรื่องการควบคุมความเร็วไม่ให้เกินกำหนด ป้ายเตือนทั้งประเทศใช้หน่วยเป็นไมล์หมดอยู่แล้ว เราก็แค่ระวังจากเข็มไมล์ของรถเราไม่ให้เกินก็พอ
เลน: ขับชิดขวาเสมอ
ประเด็นที่ต้องอาศัยความคุ้นเคยหน่อยคือ “เลน” ที่กลับกันกับบ้านเรา ตอนขับไปตามถนนตรงๆ นั้นไม่มีปัญหา เพราะขับตรงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนเลนบ่อยนัก
ปัญหาจะเริ่มเกิดเมื่อต้องเลี้ยวครับ เพราะทุกอย่างจะกลับข้างกันไปหมด ต้องตั้งสติพอสมควร เริ่มจากเลี้ยวขวาผ่านตลอด แต่ถ้าเลี้ยวตัดจะต้องเลี้ยวซ้ายแทน เมื่อเลี้ยวซ้ายที่แยก เราต้องบังคับตัวเองให้เลี้ยวเข้าเลนขวาของช่องจราจรด้วย (ผู้เขียนตอนแรกก็งงๆ เกือบเลี้ยวเข้าเลนซ้ายตามความเคยชิน)
ตรงนี้ถ้ามีเวลาซ้อมในถนนที่ไม่ใหญ่นัก การจราจรไม่พลุกพล่านนัก จะช่วยให้มั่นใจขึ้นมาก
การขับรถโดยทั่วไปควรอยู่เลนขวาแต่ไม่ใช่ขวาสุด (ที่สองจากขวา) เพราะเลนขวาสุดมักถูกบังคับให้เลี้ยวขวาอยู่บ่อยๆ ยึดเลนตรงกลางๆ ไว้จะดีที่สุด เพราะถ้าเข้าผิดเลนแล้วจะเปลี่ยนเลนไม่ได้ จะมีป้ายพวก RIGHT LANE MUST TURN RIGHT หรือ EXIT ONLY ซึ่งถ้าเจอแล้วเราจะต้องไปตามนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่ทางที่เราอยากไปก็ตาม เลี้ยวไปก่อนแล้วค่อยหาวิธีวกกลับมาทีหลัง
อีกจุดที่ต้องอาศัยความคุ้นเคยคือการรักษาระยะด้านขวาครับ เพราะเราย้ายมานั่งขับฝั่งซ้ายมือ ดังนั้นระยะซ้ายเราจะเห็นหมดว่าห่างจากขอบเลนหรือขอบถนนแค่ไหน แต่ฝั่งขวามือเราจะไม่คุ้นกับการดูระยะเหมือนอยู่เมืองไทย เพราะมันกลับข้างกัน ดังนั้นควรรักษาะระยะซ้ายให้พอดีเสมอ เพราะระยะด้านขวาจะพอดีตามไปเอง (ผู้เขียนตอนแรกๆ ขับก็เผลอชิดด้านขวาไปหน่อย เกือบไปเฉี่ยวรถที่จอดอยู่ เลยต้องตั้งสติเรื่องการรักษาระยะด้านขวาพอสมควร)
เมื่อเจอคนข้ามถนน
ที่อเมริกาท่องไว้ว่า คนข้ามถนนคือพระเจ้า เมื่อเจอคนข้ามถนนตรงทางม้าลาย (ซึ่งจะมีทุกแยก) รถต้องหยุดเสมอ อันนี้เป็นกฎเหล็กที่ต้องปฏิบัติตาม ไม่มีข้อต่อรองใดๆ
อเมริกาจะมีป้ายพิสดารอันหนึ่งที่คนมาครั้งแรกต้องงงแน่นอน นั่นคือคำว่า Ped / Xing (หรือบางครั้งก็ใช้ทั้งคู่คือ Ped Xing) อันนี้ไม่ใช่ชื่อภาษาจีน แต่เป็นตัวย่อมาจากคำเต็มๆ ว่า Pedestrian crossing หรือ “ระวังคนข้ามถนน” นั่นเอง (X = Cross)
สัญญาณและป้ายจราจร
ป้ายศักดิ์สิทธิ์ในอเมริกาคือป้ายที่เขียนว่า STOP ครับ (บางทีไม่มีป้ายแต่จะเขียนบนพื้นถนนแทน) ทุกครั้งที่เจอป้ายนี้ เราต้องหยุดรถแบบนิ่งสนิทจริงๆ ที่เส้น เมื่อดูแล้วทางอื่นไม่มีรถมา ค่อยออกรถไปได้
ย้ำอีกรอบนะครับ STOP ต้องหยุดจริงๆ a complete stop แม้ว่าถนนจะว่างก็ตาม เป็นกฎจราจรของที่นี่ ถ้าฝ่าฝืนอาจถูกจับได้ (ตำรวจจราจรมีกล้องนะ)
ป้ายอีกอันที่เจอบ้างแต่ไม่บ่อยเท่าคือ Yield (มักเป็นป้ายสีเหลือง) อันนี้คือ “ให้ทาง” หรือ “Give Way” คือให้อีกเลนที่มาร่วมทางกันไปก่อน อันนี้มักเจอในทางร่วม 2 เลนมาเจอกัน
แยกที่ไม่มีไฟแดง
ในกรณีที่ขับมาเจอ 3 แยกหรือ 4 แยกเล็กๆ ที่ไม่มีไฟแดง กฎจราจรของที่นี่คือ รถทุกคนจะต้องขับมาหยุดที่เส้น STOP ก่อน (ซึ่งจะมีก่อนถึงแยก) จากนั้นรถที่มาถึงก่อนก็จะได้ไปก่อน (ทุกคนจะร่วมกันจัดคิวกันเอง) ดังนั้นโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่แยกจะน้อยมาก เพราะรถทุกคันจะต้องหยุดรอเพื่อจัดคิวที่แยก
ตอนแรกๆ กฎนี้อาจฝืนความรู้สึกคนไทยหน่อยเพราะชินกับระบบ “ว่างแล้วไปเลย” ไม่ต้องหยุดรอ แต่ขับไปสักพักจะเห็นความดีงามของกฎนี้เพราะมันช่วยให้ถนนมีระเบียบขึ้นมากมาย
แยกที่มีไฟแดง
แยกไฟแดงของสหรัฐอเมริกา จะมี “ไฟแดง” แยกละเอียดของแต่ละเลนเลยครับ อยู่เลนไหน ดูไฟเลนนั้น ไม่ต้องสับสน
กฎทั่วไปของไฟแดงสหรัฐคือ
- เลี้ยวขวาผ่านตลอด ยกเว้นมีป้ายห้าม (นั่นแปลว่าถ้าไม่มีป้าย เลี้ยวได้เลย)
- แต่เลี้ยวไปแล้วต้องดูว่ามีคนข้ามถนนหรือเปล่าด้วย ถ้ามีต้องหยุดอยู่ดี (คนข้ามถนนคือพระเจ้า)
- บางครั้งจะมีป้ายเขียนว่าเลี้ยวขวาได้ถ้า Stop ก่อน เราก็หยุดรถดูลาดเลาก่อนแล้วค่อยเลี้ยว
- เลี้ยวซ้าย รอสัญญาณไฟ โดยก่อนถึงแยกเล็กน้อยจะมีเลนเส้นทึบ ให้ชิดซ้ายเพื่อเข้าคิวรอเลี้ยว
- การยูเทิร์นสามารถทำได้ที่แยกพร้อมการเลี้ยวซ้าย (สังเกตในรูปข้างบน ไฟแดงอันซ้ายสุดจะมีเส้นโค้งบอกว่ายูเทิร์นได้) ถ้าห้ามยูเทิร์นจะมีป้ายห้ามไว้
การจอดรถ
จอดริมถนนเหมือนปกติ
- ถ้าเป็นพื้นที่ที่คนอยู่หนาแน่นและหาที่จอดยาก จะมีป้ายบอกว่าจอดได้นานแค่ไหน (มีตั้งแต่ 20 นาทีไปจนถึง 7-8 ชั่วโมง) แล้วแต่ตำแหน่งแห่งหน
- สำหรับที่จอดรถแบบเสียเงิน มีหลายแบบ ทั้งมีตู้หยอดอยู่ประจำรถทุกคันเลย หรือมีตู้รวมที่ต้องเดินไปจ่ายที่หัวถนน ต้องระวังดีๆ
- ในกรณีที่ริมถนนมีตีกรอบแสดงล็อคสำหรับจอดรถ ก็ต้องจอดให้พอดีกรอบ
- วันเสาร์-อาทิตย์ ที่จอดรถแบบเสียเงิน มักมีข้อยกเว้นให้จอดรถได้ฟรี ต้องดูเวลาในป้ายดีๆ
- ในกรณีที่จอดรถบนถนนที่เป็นเนิน (ไม่ว่าขาขึ้นหรือลง) เป็นมารยาทที่จะต้องหักล้อเอียงเข้าฟุตบาทเล็กน้อย เผื่อว่ารถไหลจะได้ไม่พุ่งลงมาตรงๆ แต่เอียงไปติดฟุตบาทแทน
การขับขึ้นฟรีเวย์ (Freeway)
ทางหลวงระหว่างเมืองหรือที่บ้านเราเรียก ไฮเวย์ (highway) สหรัฐอเมริกาเรียกว่า ฟรีเวย์ (freeway) โดยจะมักใช้ตัวย่อว่า I (ย่อมาจาก Interstate) แล้วตามด้วยตัวเลข เช่น I-88 หรือ I-101
ฟรีเวย์ของสหรัฐจะแยกจากถนนปกติอย่างชัดเจน เวลาจะเข้าฟรีเวย์จะต้องเข้าตามช่องที่กำหนด (ส่วนใหญ่มักลอดใต้สะพานเพื่อวกเข้าฟรีเวย์)
การขับรถบนฟรีเวย์ถือว่าง่ายกว่าเมืองไทยมาก เพราะไม่มีถนนหรือตรอกซอกซอยมาตัด ช่องทางการเข้าหรือออกฟรีเวย์ทุกอันมีหมายเลขกำกับ พร้อมป้ายบอกล่วงหน้าว่า Next Exit จะเจอถนนอะไร (ถ้ามีระบบ GPS ช่วยยิ่งง่ายเพราะบอกล่วงหน้านาน)
เรื่องความเร็วของ Freeway มีป้ายบอกตลอดว่าขับได้เร็วเท่าไร แต่ถ้าเราขับในระดับเดียวกับรถคันอื่นๆ ก็ไม่ค่อยมีปัญหา รถช้าขับชิดขวา แต่ไม่ควรอยู่เลนขวาสุดอย่างที่บอกไป เพราะจะเป็นทางเข้า/ทางออกฟรีเวย์อยู่ตลอดเวลา
ในบางครั้งเราอาจเห็นสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (หรือบางคนเรียกรูปเพชร) ที่พื้นถนน โดยเฉพาะเลนขวาสุด อันนี้คือเลนพิเศษแก้รถติด โดยรถที่วิ่งได้จะต้องมีผู้โดยสาร 2 คนขึ้นไปเท่านั้น
ทั้งหมดนี้น่าจะพอช่วยให้ผู้ที่จะไปขับรถในอเมริกาครั้งแรก เข้าใจกับแนวทางปฏิบัติและกฎระเบียบต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขับรถครั้งแรกๆ ควรหาคนที่เคยขับนั่งไปด้วยเพื่อความปลอดภัยอยู่ดีครับ
ทิป: เดี๋ยวนี้มี Google Street View ช่วยได้มาก เพราะเราสามารถเห็นสภาพถนนที่ขับได้ก่อนไปขับจริงๆ ช่วยให้มั่นใจและอุ่นใจขึ้นได้มาก เพราะนึกหน้าตาออกว่าจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง ดังนั้นใครที่ไปขับควรเตรียมตัวดูเส้นทางและสภาพแวดล้อมต่างๆ จาก Street View ไว้เลย
ปิดท้ายว่า คุณสามารถติดตามข้อมูลการท่องเที่ยวทาง facebook เพจ “2baht.com” ได้อีกหนึ่งช่องทางครับ
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
- Traveling by Car in the United States บทความบนเว็บ TripAdvisor แนะนำรายละเอียดของการขับรถในสหรัฐอเมริกา ละเอียดมาก
- ข้อมูลการขับรถในสหรัฐอเมริกา จากเว็บไซต์ Just Landed