วิธีการขับรถในสหรัฐอเมริกา สำหรับคนไทยเพิ่งไปขับเป็นครั้งแรก

บทความนี้เป็นภาคต่อของ แชร์ประสบการณ์ วิธีการเช่ารถขับท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกา โดยบทความนี้จะเล่าเฉพาะส่วนของการขับรถเท่านั้น

การเป็นคนไทยที่คุ้นกับการขับรถพวงมาลัยขวา วิ่งถนนเลนซ้าย ทำให้เวลาต้องขับรถในหลายประเทศที่ขับรถพวงมาลัยซ้าย ขับรถเลนขวา จะชวนให้สับสนงงงวยอยู่พอสมควร (ซึ่งประเทศในโลกเกือบทั้งหมดยกเว้นอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และแถบอาเซียนที่ยังใช้ระบบนี้)

ภาพจาก Wikipedia ประเทศที่ขับเลนซ้ายใช้สีน้ำเงิน ประเทศขับเลนขวาใช้สีแดง
[ภาพจาก Wikipedia] ประเทศที่ขับเลนซ้ายใช้สีน้ำเงิน ประเทศขับเลนขวาใช้สีแดง
กรณีของสหรัฐอเมริกาก็ใช้ระบบขับรถชิดเลนด้านขวาเหมือนกัน ดังนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องไปขับรถครั้งแรก ก็อาจต้องปรับตัวพอสมควร ผู้เขียนมีเหตุให้ต้องไปเช่ารถขับก็ประสบปัญหาเดียวกัน ก่อนเดินทางจึงหาข้อมูลอย่างละเอียด และเมื่อกลับมาแล้วก็นำมาเล่าผ่านเว็บ 2Baht.com เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับนักเดินทางชาวไทยท่านอื่นๆ ที่อยากไปเช่ารถขับในสหรัฐอเมริกาบ้าง

โดยสรุปแล้วคือการขับรถที่สหรัฐอเมริกานั้นง่ายกว่าการขับรถในเมืองไทยมาก เพราะทุกอย่างเป็นระบบไปหมด เพียงแต่ตอนแรกเรายังไม่คุ้นกับระบบถนนและการจราจรเท่านั้น เชื่อว่าทุกคนที่ขับรถในเมืองไทยแข็งพอสมควร สามารถไปขับรถในอเมริกาได้อย่างสบายๆ เลย

หมายเหตุ: กฎจราจรในแต่ละรัฐมีรายละเอียดแตกต่างกันไป บทความนี้ใช้ประสบการณ์จากการขับในรัฐแคลิฟอร์เนีย ย่าน Bay Area ครับ ดังนั้นถ้าไปรัฐอื่นควรเช็คข้อมูลอีกรอบ

คำแนะนำเบื้องต้น เริ่มแรกควรทำอะไร

จากประสบการณ์ที่ลองขับมา มีคำแนะนำเรื่องสิ่งที่ควรทำ ในช่วงที่ยังไม่คุ้นกับรถ ดังนี้

  1. ควรมีอุปกรณ์นำทาง GPS ติดหน้ารถ เพราะจะช่วยได้มากในการตัดสินใจเลือกเส้นทาง และตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าถึงแยกแล้วควรทำอย่างไร
  2. การขึ้นขับรถครั้งแรก ควรซ้อมในถนนขนาดเล็กที่รถไม่พลุกพล่าน (ถ้าทำได้) เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบจราจรก่อน
  3. การขึ้นขับรถครั้งแรก ควรมีคนรู้จักที่เคยมีประสบการณ์ขับรถในสหรัฐอเมริกานั่งไปด้วย เพื่อให้คำแนะนำได้ในตอนแรก

Driving in USA

เริ่มจากขึ้นรถ ควบคุมรถอย่างไร

อย่างแรกเลยเมื่อขึ้นรถไปแล้ว สิ่งที่จะสับสนจากการขับรถในเมืองไทยมี 2 อย่างคือ

  1. เกียร์ เปลี่ยนจากตำแหน่งมือซ้ายไปเป็นมือขวา
  2. ไฟเลี้ยว จะอยู่ด้านซ้ายมือ ซึ่งกลับข้างกับรถญี่ปุ่นในบ้านเรา (แต่ถ้าใครขับรถยุโรปอยู่แล้วก็อาจไม่มีปัญหา)

ส่วนเรื่องพวงมาลัยนั้น การขับรถพวงมาลัยซ้ายจะถือพวงมาลัยด้านซ้ายโดยธรรมชาติ (ในขณะที่บ้านเราส่วนใหญ่ใช้มือขวาจับพวงมาลัยกัน) แต่เท่าที่ลองขับมาพบว่าไม่มีปัญหาอะไรมาก ต่างจากเกียร์ที่บางทีก็หลงลืม เอามือซ้ายไปควานหาเกียร์อยู่บ้างครับ ซึ่งหลังๆ เราใช้เกียร์ออโต้กันหมด ก็จะไม่มีผลกระทบเท่าไร จะใช้จริงๆ แค่ตอนถอยรถหรือตอนจอดเท่านั้นเอง

เรื่องนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ค่อยๆ ตั้งสติแล้วจำว่ามันอยู่สลับข้างกันก็พอ ขับไปสักพักหนึ่งจะเริ่มคุ้นเคยเอง

การขับรถในอเมริกามักเห็นรถคันอื่นๆ เปิดไฟหน้ากันแม้แต่ในตอนกลางวัน อันนี้เผื่อเจอแล้วจะงง

ไมล์ vs กิโลเมตร

อีกประเด็นที่อาจเป็นปัญหาบ้างเล็กน้อยคือ เข็มไมล์ ระบบวัดระยะ-วัดความเร็วของอเมริกานั้นนับหน่วยเป็น “ไมล์” (ซึ่งเป็นไม่กี่ประเทศที่ใช้ระบบนี้) คนขับรถบ้านเราที่คุ้นเคยกับหน่วยกิโลเมตรอาจจะสับสนอยู่บ้าง

รถยนต์บางคันอาจมีเข็มไมล์ทั้งสองแบบคือ ระบุตัวเลขเป็นไมล์และกิโลเมตรเลย ถ้าเจอแบบนี้ก็ง่ายหน่อย แต่ถ้าเจอรถที่มีแต่ตัวเลขไมล์อย่างเดียว ก็สามารถแปลงหน่วยได้ง่ายๆ คือคูณ 1.5 เข้าไป (เท่าครึ่ง) จริงๆ แล้ว 1 ไมล์ = 1.6 กิโลเมตร แต่ไปคูณตอนระหว่างขับรถอาจคูณยากหน่อย คูณ 1.5 ง่ายกว่า

ในแง่การควบคุมความเร็วไม่มีปัญหามากนัก เพราะคนขับรถจะรู้คร่าวๆ อยู่แล้วว่าเราขับรถเร็วประมาณไหน (เมื่อเทียบความเร็วเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่วนเรื่องการควบคุมความเร็วไม่ให้เกินกำหนด ป้ายเตือนทั้งประเทศใช้หน่วยเป็นไมล์หมดอยู่แล้ว เราก็แค่ระวังจากเข็มไมล์ของรถเราไม่ให้เกินก็พอ

ตัวอย่างป้ายควบคุมความเร็วที่ 35 ไมล์/ชม. หรือประมาณ 60 กม./ชม.
ตัวอย่างป้ายควบคุมความเร็วที่ 35 ไมล์/ชม. หรือประมาณ 60 กม./ชม.

เลน: ขับชิดขวาเสมอ

ประเด็นที่ต้องอาศัยความคุ้นเคยหน่อยคือ “เลน” ที่กลับกันกับบ้านเรา ตอนขับไปตามถนนตรงๆ นั้นไม่มีปัญหา เพราะขับตรงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนเลนบ่อยนัก

ปัญหาจะเริ่มเกิดเมื่อต้องเลี้ยวครับ เพราะทุกอย่างจะกลับข้างกันไปหมด ต้องตั้งสติพอสมควร เริ่มจากเลี้ยวขวาผ่านตลอด แต่ถ้าเลี้ยวตัดจะต้องเลี้ยวซ้ายแทน เมื่อเลี้ยวซ้ายที่แยก เราต้องบังคับตัวเองให้เลี้ยวเข้าเลนขวาของช่องจราจรด้วย (ผู้เขียนตอนแรกก็งงๆ เกือบเลี้ยวเข้าเลนซ้ายตามความเคยชิน)

ตรงนี้ถ้ามีเวลาซ้อมในถนนที่ไม่ใหญ่นัก การจราจรไม่พลุกพล่านนัก จะช่วยให้มั่นใจขึ้นมาก

การขับรถโดยทั่วไปควรอยู่เลนขวาแต่ไม่ใช่ขวาสุด (ที่สองจากขวา) เพราะเลนขวาสุดมักถูกบังคับให้เลี้ยวขวาอยู่บ่อยๆ ยึดเลนตรงกลางๆ ไว้จะดีที่สุด เพราะถ้าเข้าผิดเลนแล้วจะเปลี่ยนเลนไม่ได้ จะมีป้ายพวก RIGHT LANE MUST TURN RIGHT หรือ EXIT ONLY ซึ่งถ้าเจอแล้วเราจะต้องไปตามนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่ทางที่เราอยากไปก็ตาม เลี้ยวไปก่อนแล้วค่อยหาวิธีวกกลับมาทีหลัง

ป้าย Right Lane Must Turn Right พร้อมเส้นทึบ ถ้าเจอแบบนี้เลี้ยวขวาสถานเดียว (ภาพจาก Google Street View)
ป้าย Right Lane Must Turn Right พร้อมเส้นทึบ ถ้าเจอแบบนี้เลี้ยวขวาสถานเดียว (ภาพจาก Google Street View)

อีกจุดที่ต้องอาศัยความคุ้นเคยคือการรักษาระยะด้านขวาครับ เพราะเราย้ายมานั่งขับฝั่งซ้ายมือ ดังนั้นระยะซ้ายเราจะเห็นหมดว่าห่างจากขอบเลนหรือขอบถนนแค่ไหน แต่ฝั่งขวามือเราจะไม่คุ้นกับการดูระยะเหมือนอยู่เมืองไทย เพราะมันกลับข้างกัน ดังนั้นควรรักษาะระยะซ้ายให้พอดีเสมอ เพราะระยะด้านขวาจะพอดีตามไปเอง (ผู้เขียนตอนแรกๆ ขับก็เผลอชิดด้านขวาไปหน่อย เกือบไปเฉี่ยวรถที่จอดอยู่ เลยต้องตั้งสติเรื่องการรักษาระยะด้านขวาพอสมควร)

เมื่อเจอคนข้ามถนน

ที่อเมริกาท่องไว้ว่า คนข้ามถนนคือพระเจ้า เมื่อเจอคนข้ามถนนตรงทางม้าลาย (ซึ่งจะมีทุกแยก) รถต้องหยุดเสมอ อันนี้เป็นกฎเหล็กที่ต้องปฏิบัติตาม ไม่มีข้อต่อรองใดๆ

อเมริกาจะมีป้ายพิสดารอันหนึ่งที่คนมาครั้งแรกต้องงงแน่นอน นั่นคือคำว่า Ped / Xing (หรือบางครั้งก็ใช้ทั้งคู่คือ Ped Xing) อันนี้ไม่ใช่ชื่อภาษาจีน แต่เป็นตัวย่อมาจากคำเต็มๆ ว่า Pedestrian crossing หรือ “ระวังคนข้ามถนน” นั่นเอง (X = Cross)

Ped Xing

สัญญาณและป้ายจราจร

ป้ายศักดิ์สิทธิ์ในอเมริกาคือป้ายที่เขียนว่า STOP ครับ (บางทีไม่มีป้ายแต่จะเขียนบนพื้นถนนแทน) ทุกครั้งที่เจอป้ายนี้ เราต้องหยุดรถแบบนิ่งสนิทจริงๆ ที่เส้น เมื่อดูแล้วทางอื่นไม่มีรถมา ค่อยออกรถไปได้

ย้ำอีกรอบนะครับ STOP ต้องหยุดจริงๆ a complete stop แม้ว่าถนนจะว่างก็ตาม เป็นกฎจราจรของที่นี่ ถ้าฝ่าฝืนอาจถูกจับได้ (ตำรวจจราจรมีกล้องนะ)

ป้ายอีกอันที่เจอบ้างแต่ไม่บ่อยเท่าคือ Yield (มักเป็นป้ายสีเหลือง) อันนี้คือ “ให้ทาง” หรือ “Give Way” คือให้อีกเลนที่มาร่วมทางกันไปก่อน อันนี้มักเจอในทางร่วม 2 เลนมาเจอกัน

แยกที่ไม่มีไฟแดง

ในกรณีที่ขับมาเจอ 3 แยกหรือ 4 แยกเล็กๆ ที่ไม่มีไฟแดง กฎจราจรของที่นี่คือ รถทุกคนจะต้องขับมาหยุดที่เส้น STOP ก่อน (ซึ่งจะมีก่อนถึงแยก) จากนั้นรถที่มาถึงก่อนก็จะได้ไปก่อน (ทุกคนจะร่วมกันจัดคิวกันเอง) ดังนั้นโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่แยกจะน้อยมาก เพราะรถทุกคันจะต้องหยุดรอเพื่อจัดคิวที่แยก

ตอนแรกๆ กฎนี้อาจฝืนความรู้สึกคนไทยหน่อยเพราะชินกับระบบ “ว่างแล้วไปเลย” ไม่ต้องหยุดรอ แต่ขับไปสักพักจะเห็นความดีงามของกฎนี้เพราะมันช่วยให้ถนนมีระเบียบขึ้นมากมาย

ภาพจาก Google Street View
ตัวอย่างป้าย Stop ที่สี่แยก (ภาพจาก Google Street View)

แยกที่มีไฟแดง

แยกไฟแดงของสหรัฐอเมริกา จะมี “ไฟแดง” แยกละเอียดของแต่ละเลนเลยครับ อยู่เลนไหน ดูไฟเลนนั้น ไม่ต้องสับสน

ภาพจาก Wikipedia
ภาพจาก Wikipedia

กฎทั่วไปของไฟแดงสหรัฐคือ

  • เลี้ยวขวาผ่านตลอด ยกเว้นมีป้ายห้าม (นั่นแปลว่าถ้าไม่มีป้าย เลี้ยวได้เลย)
  • แต่เลี้ยวไปแล้วต้องดูว่ามีคนข้ามถนนหรือเปล่าด้วย ถ้ามีต้องหยุดอยู่ดี (คนข้ามถนนคือพระเจ้า)
  • บางครั้งจะมีป้ายเขียนว่าเลี้ยวขวาได้ถ้า Stop ก่อน เราก็หยุดรถดูลาดเลาก่อนแล้วค่อยเลี้ยว
  • เลี้ยวซ้าย รอสัญญาณไฟ โดยก่อนถึงแยกเล็กน้อยจะมีเลนเส้นทึบ ให้ชิดซ้ายเพื่อเข้าคิวรอเลี้ยว
  • การยูเทิร์นสามารถทำได้ที่แยกพร้อมการเลี้ยวซ้าย (สังเกตในรูปข้างบน ไฟแดงอันซ้ายสุดจะมีเส้นโค้งบอกว่ายูเทิร์นได้) ถ้าห้ามยูเทิร์นจะมีป้ายห้ามไว้

การจอดรถ

จอดริมถนนเหมือนปกติ

  • ถ้าเป็นพื้นที่ที่คนอยู่หนาแน่นและหาที่จอดยาก จะมีป้ายบอกว่าจอดได้นานแค่ไหน (มีตั้งแต่ 20 นาทีไปจนถึง 7-8 ชั่วโมง) แล้วแต่ตำแหน่งแห่งหน
  • สำหรับที่จอดรถแบบเสียเงิน มีหลายแบบ ทั้งมีตู้หยอดอยู่ประจำรถทุกคันเลย หรือมีตู้รวมที่ต้องเดินไปจ่ายที่หัวถนน ต้องระวังดีๆ
  • ในกรณีที่ริมถนนมีตีกรอบแสดงล็อคสำหรับจอดรถ ก็ต้องจอดให้พอดีกรอบ
  • วันเสาร์-อาทิตย์ ที่จอดรถแบบเสียเงิน มักมีข้อยกเว้นให้จอดรถได้ฟรี ต้องดูเวลาในป้ายดีๆ
  • ในกรณีที่จอดรถบนถนนที่เป็นเนิน (ไม่ว่าขาขึ้นหรือลง) เป็นมารยาทที่จะต้องหักล้อเอียงเข้าฟุตบาทเล็กน้อย เผื่อว่ารถไหลจะได้ไม่พุ่งลงมาตรงๆ แต่เอียงไปติดฟุตบาทแทน
USA Parking
ภาพตัวอย่างการจอดรถโดยเอียงล้อเล็กน้อยเข้าฟุตบาท

การขับขึ้นฟรีเวย์ (Freeway)

ทางหลวงระหว่างเมืองหรือที่บ้านเราเรียก ไฮเวย์ (highway) สหรัฐอเมริกาเรียกว่า ฟรีเวย์ (freeway) โดยจะมักใช้ตัวย่อว่า I (ย่อมาจาก Interstate) แล้วตามด้วยตัวเลข เช่น I-88 หรือ I-101

ฟรีเวย์ของสหรัฐจะแยกจากถนนปกติอย่างชัดเจน เวลาจะเข้าฟรีเวย์จะต้องเข้าตามช่องที่กำหนด (ส่วนใหญ่มักลอดใต้สะพานเพื่อวกเข้าฟรีเวย์)

การขับรถบนฟรีเวย์ถือว่าง่ายกว่าเมืองไทยมาก เพราะไม่มีถนนหรือตรอกซอกซอยมาตัด ช่องทางการเข้าหรือออกฟรีเวย์ทุกอันมีหมายเลขกำกับ พร้อมป้ายบอกล่วงหน้าว่า Next Exit จะเจอถนนอะไร (ถ้ามีระบบ GPS ช่วยยิ่งง่ายเพราะบอกล่วงหน้านาน)

ตัวอย่างป้ายบอกทางออกของ Freeway จะบอกทางออกลำดับแรก (ขวาสุด) และทางออกลำดับถัดไป (ภาพจาก Google Street View)
ตัวอย่างป้ายบอกทางออกของ Freeway จะบอกทางออกลำดับแรก (ขวาสุด) และทางออกลำดับถัดไป (ภาพจาก Google Street View)

เรื่องความเร็วของ Freeway มีป้ายบอกตลอดว่าขับได้เร็วเท่าไร แต่ถ้าเราขับในระดับเดียวกับรถคันอื่นๆ ก็ไม่ค่อยมีปัญหา รถช้าขับชิดขวา แต่ไม่ควรอยู่เลนขวาสุดอย่างที่บอกไป เพราะจะเป็นทางเข้า/ทางออกฟรีเวย์อยู่ตลอดเวลา

ในบางครั้งเราอาจเห็นสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (หรือบางคนเรียกรูปเพชร) ที่พื้นถนน โดยเฉพาะเลนขวาสุด อันนี้คือเลนพิเศษแก้รถติด โดยรถที่วิ่งได้จะต้องมีผู้โดยสาร 2 คนขึ้นไปเท่านั้น

ภาพเลนข้าวหลามตัด – ภาพจาก Google Street View

ทั้งหมดนี้น่าจะพอช่วยให้ผู้ที่จะไปขับรถในอเมริกาครั้งแรก เข้าใจกับแนวทางปฏิบัติและกฎระเบียบต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขับรถครั้งแรกๆ ควรหาคนที่เคยขับนั่งไปด้วยเพื่อความปลอดภัยอยู่ดีครับ

ทิป: เดี๋ยวนี้มี Google Street View ช่วยได้มาก เพราะเราสามารถเห็นสภาพถนนที่ขับได้ก่อนไปขับจริงๆ ช่วยให้มั่นใจและอุ่นใจขึ้นได้มาก เพราะนึกหน้าตาออกว่าจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง ดังนั้นใครที่ไปขับควรเตรียมตัวดูเส้นทางและสภาพแวดล้อมต่างๆ จาก Street View ไว้เลย

ปิดท้ายว่า คุณสามารถติดตามข้อมูลการท่องเที่ยวทาง facebook เพจ “2baht.com” ได้อีกหนึ่งช่องทางครับ

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม