วิกฤตเอเวอเรสต์ เมื่อยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกเต็มไปด้วย ‘อึและฉี่’ ของนักปีนเขา

เชื่อว่าผู้อ่าน 2Baht.com คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ยอดเขาเอเวอเรสต์” (Mount Everest) ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยในพื้นที่ประเทศเนปาล

แน่นอนว่าชื่อเสียงของ “ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก” ย่อมเป็นสิ่งท้าทายของนักปีนเขาทั่วโลก ส่งผลให้ผู้กล้าเหล่านี้เดินทางมาพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์กันอย่างไม่ขาดสาย (ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นฤดูปีนเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งมีนักปีนเขามาอาศัยอยู่บริเวณไหล่เขามากกว่า 700 คนในแต่ละปี)

แต่ทว่า จำนวนนักปีนเขาเหล่านี้กลับสร้างปัญหาใหญ่ที่คาดไม่ถึง นั่นคือ “ฉี่และอึ” ของนักปีนเขากำลังกลายเป็นมลภาวะของสิ่งแวดล้อมบนภูเขาเอเวอเรสต์

ยอดเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก (ภาพจาก Wikipedia)
ยอดเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก (ภาพจาก Wikipedia)

Ang Tshering นายกสมาคมปีนเขาแห่งประเทศเนปาล ให้สัมภาษณ์ว่าตามปกติแล้ว นักปีนเขาจะต้องตั้งแคมป์บนไหล่เขาก่อนปีนขึ้นไปยังยอดเขา แคมป์เหล่านี้ไม่มีห้องน้ำบริการ จึงต้องใช้วิธีขุดหลุมในหิมะเพื่อถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะ ก่อนจะกลบฝังของเสียของตัวเองไว้บนยอดเขา ของเสียที่สะสมมานานเหล่านี้กลายเป็นสาเหตุของโรคระบาด และปัญหาด้านสุขภาพ

สาเหตุของปัญหานี้เกิดจากการไม่มีระบบสาธารณูปโภคด้านห้องน้ำบนภูเขา (แคมป์ที่ไหล่เขาชั้นล่างสุดหรือที่เรียกว่า base camp มีเต๊นต์ห้องน้ำบริการ และมีถังเก็บของเสียอย่างเป็นระบบ) ซึ่งนักปีนเขาบางคนที่มีความรับผิดชอบหน่อย จะนำ “ถุงอุจจาระ” ขึ้นไปใช้งานบนยอดเขา และถือกลับลงมาด้วย

นอกจากของเสียจากร่างกายมนุษย์แล้ว ขยะอย่างอื่นก็เป็นปัญหาใหญ่ของเอเวอเรสต์เช่นกัน โดยทางการเนปาลได้ออกกฎเรื่องขยะ (ไม่ครอบคลุมถึงของเสีย) ว่านักปีนเขาทุกคนจะต้องช่วยกันเก็บขยะบนยอดเขาลงมาด้านล่างให้ได้คนละ 8 กิโลกรัม ถ้าทำไม่ได้ก็จะโดนปรับเมื่อปีนลงมาถึงด้านล่าง

ส่วนประเด็นเรื่องของเสียนั้น Ang Tshering เตือนว่าทางการเนปาลต้องหาหนทางแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว

ข้อมูลจาก BBC และ Guardian