เที่ยวเขื่อนฮูเวอร์ (Hoover Dam) สิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้านวิศวกรรม

คนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์สหรัฐหรือวิศวกรรมโยธา คงเคยได้ยินชื่อ “เขื่อนฮูเวอร์” (Hoover Dam) กันมาบ้าง (ภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่น San Andreas ก็มีฉากที่เขื่อนแห่งนี้)

เขื่อนฮูเวอร์ (Hoover Dam) เป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่สร้างขวางแม่น้ำโคโลราโด เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1931 และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1936 ถือเป็นความสำเร็จเชิงวิศวกรรมโยธาในยุคสมัยนั้น เพราะยังไม่เคยมีใครสร้างเขื่อนใหญ่ในสภาพแวดล้อมระหว่างช่องเขาแบบนี้ได้

เขื่อนฮูเวอร์อยู่ใกล้กับเมืองลาสเวกัส ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest) ของสหรัฐอเมริกา ทีมงาน 2Baht.com แวะไปเที่ยวแถวนี้พอดี เลยถือโอกาสเก็บบรรยากาศของเขื่อนฮูเวอร์มาฝากกัน

ฉากระเบิดเขื่อน Hoover ในหนังเรื่อง San Andreas

ประวัติศาสตร์ของเขื่อนฮูเวอร์

เป้าหมายของเขื่อนฮูเวอร์ คือกักเก็บน้ำในแม่น้ำโคโลราโดเพื่อใช้ในพื้นที่แถบนั้น การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำส่งผลให้ตอนบนของเขื่อนกลายเป็นทะเลสาบที่มนุษย์สร้างขึ้นชื่อว่า Lake Mead นอกจากนี้การสร้างเขื่อนยังมีผลพลอยได้อื่นๆ ทั้งในเรื่องการป้องกันน้ำท่วมและการผลิตไฟฟ้า โรงผลิตไฟฟ้าของเขื่อนฮูเวอร์กลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ณ เวลานั้น) ส่วนทะเลสาบ Lake Mead ยังคงตำแหน่งอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ที่มาที่ไปของเขื่อนฮูเวอร์คือ สหรัฐอเมริกามีโครงการสร้างเขื่อนเพื่อขวางแม่น้ำโคโลราโดตั้งแต่ราวปี 1890 ด้วยเหตุผลด้านกักเก็บน้ำและป้องกันอุทกภัย แต่ก็เกิดการถกเถียงมากมายกว่าจะเริ่มตัดสินใจสร้างในปี 1928

ตอนแรก โครงการมีไอเดียว่าจะใช้วิธีระเบิดช่องเขา Boulder Canyon เพื่อเอาหินมากีดขวางสายน้ำ แต่พับแผนไปเพราะไม่มีอะไรการันตีว่าวิธีนี้จะเวิร์ค ตอนหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นการเทคอนกรีตทั้งหมดแทน และย้ายตำแหน่งเป็นช่องเขา Black Canyon ที่อยู่ห่างกันไปอีกหน่อย

ภาพประวัติการก่อสร้างเขื่อน Hoover
ภาพประวัติการก่อสร้างเขื่อน Hoover

เขื่อนฮูเวอร์เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้ง (concrete gravity-arch) เข้าหาตอนบนของลำน้ำ เพื่อลดแรงกดจากปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลให้กระจายมายังหินหาที่สองข้างของตัวเขื่อน (ลักษณะเดียวกับสะพานโค้งกระจายน้ำหนักลงมาที่ฐานทั้งสองด้าน) กระบวนการสร้างเขื่อนจำเป็นต้องเจาะอุโมงค์ 4 สายเพื่อให้น้ำไม่ไหลผ่านตัวเขื่อน และสามารถเทคอนกรีตปริมาณมหาศาลเพื่อให้เขื่อนมั่นคง เมื่อคอนกรีตเซ็ตตัวแล้วค่อยปิดอุโมงค์เพื่อให้น้ำไหลกลับมาทางเดิม

ความยิ่งใหญ่ของเขื่อนฮูเวอร์คือไม่มีใครเคยสร้างเขื่อนที่ใหญ่และท้าทายขนาดนี้ (ณ เวลานั้นเมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว) แถมพื้นที่รอบเขื่อนฮูเวอร์เป็นทะเลทรายว่างๆ ที่ไม่มีอะไรอยู่เลย เมืองที่ใกล้ที่สุดคือลาสเวกัส ซึ่งมีประชากรเพียงหลักไม่กี่พันคน ก็อยู่ห่างออกไปอีกพอสมควร ทางบริษัทรับเหมาจึงต้องสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อให้แรงงานก่อสร้างและครอบครัวหลายพันคนมีที่พักอาศัย ซึ่งเมืองแห่งนั้นกลายเป็น Boulder City ที่อยู่ใกล้กับตัวเขื่อนในปัจจุบัน

ภาพแสดงการก่อสร้างเขื่อนฮูเวอร์ ช่วงเทคอนกรีตปี 1934 (Wikipedia)
ภาพแสดงการก่อสร้างเขื่อนฮูเวอร์ ช่วงเทคอนกรีตปี 1934 (Wikipedia)

เดิมทีเขื่อนฮูเวอร์ถูกเรียกว่า เขื่อนโบลเดอร์ (Boulder Dam) แต่นักการเมืองในสมัยนั้นก็เสนอให้ตั้งชื่อว่า เขื่อนฮูเวอร์ (Hoover Dam) เพื่อเป็นเกียรติกับประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่ก่อสร้างเขื่อน

ประเด็นเรื่องชื่อเขื่อนสร้างดราม่ากันมานานนับ 20 ปี จนเขื่อนสร้างเสร็จไปนานแล้ว สุดท้าย ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี 1947) รัฐสภาสหรัฐก็ลงมติตั้งชื่อเขื่อนฮูเวอร์อย่างเอกฉันท์

การเดินทางไปยังเขื่อนฮูเวอร์

เมืองใหญ่ที่ใกล้เขื่อนฮูเวอร์ที่สุดคือลาสเวกัส ใช้เวลาขับรถประมาณ 30 นาทีจากตัวเมือง เขื่อนฮูเวอร์จะตั้งอยู่บนไฮเวย์หมายเลข 93 ซึ่งเป็นเส้นทางไปเยี่ยมชม “แกรนด์แคนยอน” (Grand Canyon) สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ต้องการไปแกรนด์แคนยอน มักแวะชมเขื่อนฮูเวอร์ในระหว่างทางด้วย

แผนที่แสดงตำแหน่งของเขื่อนฮูเวอร์ และเมืองลาสเวกัส
แผนที่แสดงตำแหน่งของเขื่อนฮูเวอร์ และเมืองลาสเวกัส

การเดินทางไปเขื่อนฮูเวอร์จำเป็นต้องใช้รถยนต์ ถ้าไม่เลือกซื้อทัวร์ไปแกรนด์แคนยอนที่ต้องขึ้นรถบัส และแวะเที่ยวชมเขื่อน ก็ต้องเช่ารถจากในเมืองลาสเวกัสแล้วขับมาไม่ไกล (อ่านวิธีการเช่ารถขับที่สนามบินลาสเวกัส)

เส้นทางการขับรถดูได้จากแผนที่ข้างต้น คือวิ่งไฮเวย์หมายเลข 515 (I-515) มาจากในเมืองลาสเวกัส แล้วต่อด้วยไฮเวย์หมายเลข 93 (I-93) ขับเลยเมือง Boulder City มาสักระยะหนึ่ง ด้านขวามือจะเห็นป้ายแยกไปเขื่อนฮูเวอร์ ให้เข้าถนนหมายเลข 172 ที่จะลอดใต้ถนน 93 ไปยังบริเวณเขื่อน

รายละเอียดการเดินทางไปยังเขื่อนฮูเวอร์

แผนที่ละเอียดของบริเวณเขื่อนฮูเวอร์
แผนที่ละเอียดของบริเวณเขื่อนฮูเวอร์

ในอดีต ถนนไฮเวย์จะวิ่งทับบริเวณสันเขื่อนเลย แต่สันเขื่อนเองมีความกว้างจำกัด ส่งผลให้การจราจรติดขัดมานาน ในปี 2001 รัฐบาลจึงหาวิธีสร้างถนนที่ไม่ผ่านเขื่อน ผลออกมาเป็นสะพานอันใหม่ซึ่งเป็นสะพานเหล็กโค้งอยู่เหนือหุบผาใกล้ๆ กัน สะพานแห่งนี้เปิดในปี 2010 และใช้ชื่อว่า Mike O’Callaghan–Pat Tillman Memorial Bridge (มาจากชื่อของ Mike O’Callaghan อดีตผู้ว่าการรัฐเนวาด้า และ Pat Tillman นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของแอริโซนา ที่ไปเป็นทหารและเสียชีวิตในสงครามอัฟกานิสถาน)

ภาพถ่ายทางอากาศของเขื่อนฮูเวอร์ และสะพานเหล็กโค้ง (โดย Ubergirl / Wikipedia)
ภาพถ่ายทางอากาศของเขื่อนฮูเวอร์ และสะพานเหล็กโค้ง (โดย Ubergirl / Wikipedia)

ไฮเวย์ 93 จึงตัดผ่านสะพานแห่งใหม่แทน ส่วนถนนบริเวณสันเขื่อนฮูเวอร์ก็ปิดไว้ไม่ให้ใช้งาน แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวไปชมบนตัวเขื่อนได้แทน อย่างไรก็ตาม ถ้าขับรถข้ามแม่น้ำบนสะพานจะมองไม่เห็นเขื่อนเพราะโดนกำแพงกั้นไว้ (เป็นความจงใจไม่ต้องการให้รถยนต์แวะจอดดูเขื่อน ซึ่งอาจเป็นอันตราย) การไปชมวิวเขื่อนจึงต้องเลี้ยวเข้าไปในบริเวณเขื่อนแล้วค่อยเดินขึ้นมาดูบนสะพานอีกทีหนึ่ง

การเยี่ยมชมเขื่อนฮูเวอร์จึงมี 2 จุดคือ

  1. ชมวิวเขื่อนฮูเวอร์ จากสะพาน Mike O’Callaghan–Pat Tillman Memorial Bridge เหมาะสำหรับคนมีเวลาไม่มาก อยากถ่ายรูปกับเขื่อนเป็นหลัก
  2. ไปชมตัวสันเขื่อนฮูเวอร์เลย (ขับรถไปบนสันเขื่อนได้ แต่ต้องขับกลับออกมาทางเดิม) เหมาะกับผู้สนใจหาความรู้ด้านการก่อสร้างหรือประวัติศาสตร์ของเขื่อน

เนื่องจากเรามีเวลาไม่มากเพราะต้องเดินทางอีกไกลไปแกรนด์แคนยอน จึงเลือกวิธีที่ 1 เท่านั้น

 Mike O'Callaghan–Pat Tillman Memorial Bridge

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมชื่อสะพานยาวจัง สาเหตุมาจากชื่อบุคคล 2 ท่านที่เสียชีวิตในปีเดียวกัน (2004) ฝั่งรัฐเนวาด้าเสนอชื่อ Mike O’Callaghan อดีตผู้ว่าการรัฐ ส่วนแอริโซนาเสนอ Pat Tillman นักกีฬาฮีโร่ที่อาสาเป็นทหารแล้วเสียชีวิตในสมรภูมิ

อัตราค่าตั๋วเข้าชมเขื่อนฮูเวอร์

พื้นที่รอบเขื่อนฮูเวอร์เป็นพื้นที่ของรัฐบาลสหรัฐ และหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ส่งผลให้การรักษาความปลอดภัยของเขื่อนเข้มข้นมาก เพราะกลัวว่าจะมีคนไปวางระเบิดเขื่อน การขับรถเข้าไปในบริเวณเขื่อนจึงต้องผ่านด่านตรวจด้วย

ในกรณีที่เราต้องการแค่ชมวิวเขื่อน สามารถขับรถผ่านด่านตรวจ และจอดรถบริเวณลานจอดในแผนที่ข้างต้น จากนั้นเดินขึ้นเขาเล็กน้อย (มีทางลาดให้สำหรับรถเข็นหรือผู้พิการ) เพื่อไปชมตัวเขื่อนจากบนสะพาน ตรงนี้ฟรีหมดไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

แต่ถ้าต้องการเข้าชมตัวเขื่อนจริงๆ ต้องเลี้ยวรถเข้าไปบริเวณพื้นที่ชั้นใน และถูกตรวจรถอย่างละเอียดว่าไม่มีอาวุธหรือวัตถุอันตราย จากนั้นต้องเสียค่าจอดรถ 10 ดอลลาร์ (ถ้าจอดบริเวณด้านนอก ไม่เสียค่าจอด) และค่าตั๋วเข้าชมอีก 10-30 ดอลลาร์ต่อคน ขึ้นกับแพ็กเกจทัวร์ที่ซื้อเข้าชม

  • เข้าเฉพาะศูนย์นักท่องเที่ยว (Visitor Center) ค่าตั๋ว 10 ดอลลาร์
  • เข้าโรงไฟฟ้า (Powerplant) รวมศูนย์นักท่องเที่ยว ค่าตั๋ว 15 ดอลลาร์
  • เข้าชมตัวเขื่อน (Dam Passageway) รวมโรงไฟฟ้าและศูนย์นักท่องเที่ยว ค่าตั๋ว 30 ดอลลาร์

รายละเอียดค่าตั๋วเข้าชมเขื่อนและเวลาเปิดปิด ตั๋วสามารถซื้อล่วงหน้าได้จากอินเทอร์เน็ต

ชมวิวเขื่อนฮูเวอร์

เกริ่นกันมาเยอะแล้ว มาดูของจริงกันดีกว่า เมื่อมาถึงบริเวณเขื่อนฮูเวอร์แล้วก็จอดรถที่ลานจอด แล้วค่อยๆ เดินขึ้นมาบนบันไดหรือทางลาดก็ได้ ถนนที่เห็นทางซ้ายมือของภาพคือไฮเวย์ 93

(มีห้องน้ำให้เข้าฟรี แต่ห้องน้ำตามอุทยานในสหรัฐจะเป็นส้วมหลุม คือมีที่นั่งแบบชักโครก แต่ไม่ใช่น้ำ ข้างล่างจะเป็นหลุมที่มีถังใส่ของเสียทั้งหลาย (มองลงไปข้างล่างเห็นทุกสิ่งอย่างนะจ๊ะ)

Hoover Dam Parking ที่จอดรถ

ทางเดินจะต้องขึ้นเขาเล็กน้อยแต่ไม่สูง เดินนิดเดียว คนพิการ คนนั่งรถวีลแชร์ รถเข็นเด็ก มาได้สบายๆ เขาทำทางไว้ดีมาก

Hoover Dam Walkway

แม่น้ำโคโลราโด ณ จุดนี้จะเป็นพรมแดนระหว่างสองรัฐคือ เนวาดา (Nevada) กับ แอริโซนา (Arizona) ดังนั้นแต่ละฝั่งของสันเขื่อนและบนสะพาน ก็จะอยู่คนละรัฐกัน เรามาจากลาสเวกัส ซึ่งเป็นฝั่งของรัฐเนวาดา ตอนเดินไปยังคอสะพาน จะเห็นป้ายต้อนรับเข้าสู่รัฐเนวาดา ให้คนขับรถบนไฮเวย์ 93 เห็นว่าเปลี่ยนรัฐแล้ว

เกร็ดอีกอย่างของเขื่อนฮูเวอร์คือสองฝั่งของเขื่อนอยู่คนละรัฐกัน และทั้งสองรัฐนี้ดันอยู่กันคนละเขตเวลา ทำให้เวลาต่างกัน 1 ชั่วโมง แต่รัฐแอริโซนาดันเป็นรัฐที่ไม่มีระบบชดเชยแสงช่วงกลางวัน (Daylight Saving Time หรือ DST) ทำให้สองรัฐนี้จะมีเวลาห่างกัน 1 ชั่วโมงอยู่ครึ่งปี (ช่วงที่ไม่ชดเชยแสงทั้งคู่) และมีเวลาตรงกันอีกครึ่งปี (ช่วงที่เนวาดาชดเชยแสง แต่แอริโซนาไม่ชดเชย) อ่านรายละเอียด

ถ้ามีโอกาสไปชมบนสันเขื่อน จะมีหอนาฬิกาสองเรือนอยู่คนละฝั่ง แสดงเวลาของทั้งสองรัฐด้วย

Nevada State at Hoover Dam

เดินผ่านคอสะพานมาแล้วก็จะเป็นตัวสะพาน Mike O’Callaghan–Pat Tillman Memorial Bridge ส่วนของสะพานคนเดินจะอยู่ติดกับส่วนที่รถวิ่งเลย (แต่เราปีนข้ามไปฝั่งรถวิ่งไม่ได้ มีกำแพงกั้น)

Mike O'Callaghan–Pat Tillman Memorial Bridge

มุมมองจากบนสะพานจะเป็นแบบนี้ ช่วงต้นๆ สะพาน เขื่อนฮูเวอร์จะโดนภูเขาบัง มองไม่เห็น ต้องเดินไปช่วงกลางสะพานถึงจะถ่ายรูปได้สวย

Hoover Dam Bridge

ในที่สุดเราก็มาถึง เขื่อนฮูเวอร์ หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกวิศวกรรมสมัยใหม่ ตัวสันเขื่อนสูงถึง 221.4 m เมตร (สองสนามฟุตบอล) ยาว 379 เมตร สร้างขึ้นเพื่อรองรับน้ำ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร รับแรงกดดันของน้ำมหาศาล มีกำลังผลิตไฟฟ้า 2,080 เมกะวัตต์

Hoover Dam เขื่อนฮูเวอร์

กิจกรรมบนสะพานชมเขื่อนไม่มีอะไรมากไปกว่าถ่ายรูป นักท่องเที่ยวทั้งหลายถ่ายรูปจนพอใจแล้วก็ได้เวลากลับ หลังจากขับรถออกจากลานจอดมาเล็กน้อย ฝั่งขวามือของถนนยังมีจุดชมวิว (overlook) อีกจุด ที่ไม่เห็นตัวเขื่อนเพราะโดนภูเขาบัง แต่เห็นทะเลสาบ Lake Mead ทะเลสาบฝีมือมนุษย์ที่เกิดจากเขื่อนฮูเวอร์แทน

ปัจจุบันทะเลสาบแห่งนี้ นอกจากใช้เป็นอ่างเก็บน้ำกินน้ำใช้แล้ว ยังเป็นที่สันทนาการของอเมริกันชนแถวนี้ด้วย ดังจะเห็นจากท่าจอดเรือในภาพ

ทะเลสาบ Lake Mead

โดยสรุปแล้ว เขื่อนฮูเวอร์ถือเป็นเขื่อนชื่อดังของโลกที่ใครมีโอกาสก็ควรแวะเวียนไปชม อย่างไรก็ตาม บริเวณแถวเขื่อนไม่มีอะไรให้ทำมากนัก เหมาะแก่ผู้มีเวลาสั้นๆ ในการมาเยือนลาสเวกัส และอยากหาสถานที่ท่องเที่ยวรอบนอกที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมาก หรือไม่ก็เป็นนักท่องเที่ยวที่จะไปเยือนแกรนด์แคนยอน และแวะเที่ยวเขื่อนระหว่างทาง

คลิปการปล่อยน้ำของเขื่อนฮูเวอร์ในอดีต (น่ากลัวมาก)