เครื่องบิน แอร์บัส A350-900 ฝูงบินใหม่ของการบินไทย

ผลประกอบการการบินไทย ไตรมาส 2/2559 ขาดทุน 2.9 พันล้านบาท ขาดทุนลดลง 62%

เครื่องบิน แอร์บัส A350-900 ฝูงบินใหม่ของการบินไทย
ภาพ A350-900XWB จาก Social.ThaiAirways

การบินไทย เผยตัวเลขผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2016 ผลออกมาว่าขาดทุน 2.9 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าปรับปรุงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนถึง 12.8 พันล้านบาท หรือขาดทุนน้อยลง 62.2% ถือเป็นสัญญาณบวกที่แผนการฟื้นฟูการบินไทยยังเดินหน้าไปแบบช้าๆ

รายได้จากการดำเนินงาน ลดการขาดทุนลงได้ 3 พันล้านบาท

ถ้าดูงบการเงินของการบินไทย สถานการณ์ในไตรมาสนี้คือ ค่าใช้จ่ายยังมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ แต่รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีถือเป็นช่วง low season ทำให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย

ตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงาน (operating profit) จึงอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท (ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 4.7 พันล้านบาท ถือเป็นพัฒนาการที่ดี ที่สามารถลดระดับการขาดทุนลงได้)

 

ผลประกอบการการบินไทย ไตรมาส 2/2559
ผลประกอบการการบินไทย ไตรมาส 2/2559

ยอดขาดทุนหลักมาจากการด้อยค่าสินทรัพย์

ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการดำเนินงาน จะเห็นว่ารายจ่ายก้อนใหญ่ของการบินไทยในไตรมาสนี้คือ การด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบิน 1.8 พันล้านบาท และค่าชดเชยพนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนดอีก 427 ล้านบาท เมื่อบวกกับกำไรอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน 595 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนก่อนเสียภาษี 3.4 พันล้านบาท

เมื่อหักลบกับภาษีแล้ว การบินไทยจึงมียอดขาดทุนสุทธิ (net loss) ที่ 2.9 พันล้านบาท ถือว่าดีกว่าไตรมาส 2 ของปี 2558 ที่ขาดทุนจากการดำเนินงานเยอะอยู่แล้ว ยังต้องมาเจอค่าชดเชยสูง แถมขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอีกเยอะมาก

วิเคราะห์รายได้การบินไทย รายได้จากผู้โดยสารลดลงเล็กน้อย

การบินไทยอธิบายว่า ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว และมีการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน บวกกับภัยก่อการร้ายในยุโรป ทำให้ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้น 0.8% แต่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารตามระยะทาง (RPK – revenue passenger kilometers) ลดลง 0.6% จากปีก่อน และอัตราการเฉลี่ยของบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) ลงมาที่ 69% ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย

การบินไทยระบุว่าเส้นทางที่รายได้จากผู้โดยสารลดลงคือเส้นทางบินในเอเชีย เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง แต่เส้นทางบินในประเทศ (Thai Smile) และเส้นทางบินข้ามทวีป (ยุโรป-ออสเตรเลีย) กลับเพิ่มขึ้น

ในแง่ของการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (เวลาบินเฉลี่ยต่อเครื่องต่อวัน) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.9 ชั่วโมงเป็น 11 ชั่วโมง (0.9%) ถือว่ารีดประสิทธิภาพได้มากขึ้น แม้จะไม่เยอะมากนักก็ตาม

ในภาพรวมต้องถือว่าฝั่งของรายได้ การบินไทยยังมีปัญหาอยู่บ้าง มีดัชนีด้านผู้โดยสารลดลงเล็กน้อย อันเป็นผลจากการแข่งขันในตลาด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขกันต่อไป แต่ก็มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นบ้างในบางจุดเช่นกัน

thai-q2-2016-operating

รายจ่ายจากการดำเนินงาน: ต้นทุนน้ำมันลดลง 3 พันล้าน แต่รายจ่ายอื่นยังลดได้ไม่เยอะนัก

ส่วนรายจ่ายของการบินไทยไตรมาสนี้ สามารถลดรายจ่ายจากค่าน้ำมันลงได้จากเดิมประมาณ 3 พันล้านบาท (-21.3%) ในขณะที่รายจ่ายด้านอื่นๆ ลดลงเล็กน้อย (-0.6%)

ถ้าพิจารณาในรายละเอียดของรายจ่ายที่ไม่ใช่ค่าน้ำมัน จะเห็นว่ามีรายจ่ายหลายตัวที่สามารถปรับลดลงได้จากเดิม เช่น ค่าตอบแทนพนักงาน (ซึ่งถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่) ลดลง 6.1% หรือ 466 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดและนโยบายการลดจำนวนพนักงานลง

อย่างไรก็ตาม รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้อนใหญ่ๆ มาจาก

  • ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ จากการเช่าเครื่อง Boeing 787-8 เพิ่ม 2 ลำ และเงินบาทอ่อนค่าทำให้ค่าเช่าแพงขึ้นเมื่อคำนวณเป็นเงินบาท
  • กำไรจากบริษัทลูกลดลง โดยสายการบินนกแอร์ ที่ขาดทุนเพิ่มจาก 249 ล้านบาทในปีก่อน มาเป็น 270 ล้านบาทในปีนี้ ส่วนบริษัทลูกอื่นๆ มีกำไรทั้งหมด

thai-q2-2016-cost

สรุปแนวโน้มการบินไทย: รายจ่ายค่อยๆ ลด แต่รายได้แกว่งตามฤดูกาล

ภาพรวมของการบินไทยไตรมาส 2/2559 ต้องบอกว่าสามารถลดการขาดทุนจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลงได้มาก ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาทำกำไรได้ อันเป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลง และรายจ่ายรวมที่ยังเยอะอยู่ (แม้จะค่อยๆ ลดรายจ่ายลงมาแล้วก็ยังไม่เร็วพอ)

ถ้าดูตัวเลขงบการเงินของการบินไทยในไตรมาส 1/2559 ประกอบ จะเห็นว่ารายจ่ายของการบินไทยค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ แต่ยังอยู่ระดับราวๆ 4 หมื่นกว่าล้านบาทต่อไตรมาส (ถึงแม้จะลดลงจากปีก่อนแต่ก็ยังไม่ลดแบบฮวบฮาบ) ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างคงที่

แต่เมื่อดูตัวเลขรายได้ จะเห็นว่ารายได้ค่อนข้างแกว่งคือ ไตรมาสแรกที่เป็นฤดูท่องเที่ยว มีรายได้สูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ผลประกอบการเฉพาะจากการดำเนินงาน (operating profit) เลยออกมากำไรถึง 7.2 พันล้านบาท แต่พอมาถึงไตรมาสที่สอง รายได้ลดลงเหลือ 4.1 หมื่นล้านบาท หักกันมาจึงขาดทุนแทน

ในระยะยาวก็ยังต้องเป็นการบ้านของการบินไทย ในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อีกทางก็ต้องเดินหน้าลดรายจ่ายลงอีก เพื่อให้สามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืน ไม่แกว่งไปมาทุกไตรมาสอย่างที่เป็นอยู่ (ซึ่งก็ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับขาดทุนต่อเนื่องทุกไตรมาสอย่างเมื่อ 1-2 ปีก่อน)

thai-q1-2016

ข้อมูลจาก ผลประกอบการ การบินไทย