ขั้นตอนการต่ออายุวีซ่าสหรัฐอเมริกา แบบไม่ต้องไปสถานทูต ส่งหลักฐานทางไปรษณีย์

2Baht.com เคยมีบทความ ขั้นตอนการขอและสัมภาษณ์วีซ่าสหรัฐอเมริกา อย่างละเอียด ไปแล้วครั้งหนึ่ง ในบทความนี้จะกล่าวถึงการต่ออายุวีซ่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันสามารถต่อได้ผ่านไปรษณีย์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตเลย

ตามปกติแล้ว วีซ่าสหรัฐอเมริกาแบบนักท่องเที่ยวหรือธุรกิจ (B-1/B-2) มักมีอายุนาน 10 ปี ทำทีเดียวใช้ได้นานจนลืมไปเลย คำถามคือถ้าหมดอายุแล้วจะต่ออายุวีซ่าอย่างไร?

เงื่อนไขการขอต่อวีซ่าสหรัฐ ทางไปรษณีย์

ภายใต้ระบบการทำวีซ่ายุคปัจจุบัน เราสามารถขอต่ออายุวีซ่าแบบ B1/B2 (ท่องเที่ยว/ธุรกิจ), C1, C1/D (ทรานสิต/ผ่านแดน/ลูกเรือ), F (นักเรียน), M (นักเรียนสายอาชีพ) , J (นักเรียนแลกเปลี่ยน) ผ่านไปรษณีย์ได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • มีวีซ่าฉบับเก่าที่ยังไม่หมดอายุ หรือหมดอายุไปแล้วไม่เกิน 4 ปี (48 เดือน)
  • พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย
  • ไม่ได้เปลี่ยนชื่อหรือสัญชาติในพาสปอร์ตฉบับปัจจุบัน ให้ต่างไปจากวีซ่าฉบับเดิม
  • เคยพิมพ์ลายนิ้วมือครบ 10 นิ้ว (10 fingerprints) ในการขอวีซ่าครั้งก่อน (สำหรับประเทศไทยคือวีซ่าที่ขอหลังจาก 1 กันยายน 2007 ถ้าก่อนหน้านี้แปลว่าไม่เคยพิมพ์ลายนิ้วมือครบ 10 นิ้ว)
  • ต้องการขอต่ออายุวีซ่าแบบเดิม (เช่น B1/B2 ขอต่อเป็น B1/B2 ต่อข้ามประเภทไม่ได้)
  • ขอต่อวีซ่าในสถานทูต/สถานกงสุลแห่งเดิม (ในไทยคือกรุงเทพหรือเชียงใหม่) ย้ายที่ไม่ได้
  • ไม่เคยถูกปั๊มตรา “Clearance Received” หรือ  “Waiver granted” บนวีซ่าเดิม
  • พาสปอร์ตและวีซ่าไม่เคยหายหรือถูกขโมย

ถ้าเงื่อนไขผ่านครบทุกข้อแล้ว ก็สามารถขอต่อวีซ่าทางไปรษณีย์ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการขอต่อวีซ่าสหรัฐทางไปรษณีย์

ขั้นตอนการต่ออายุวีซ่าสหรัฐ ช่วงต้นๆ จะเหมือนกับการขอวีซ่าใหม่ทุกประการ (กรอกฟอร์ม DS-160 และจ่ายเงินค่าธรรมเนียม) เว้นแต่ว่าเราไม่ต้องทำนัดหมายไปสัมภาษณ์ แต่ส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์แทนเท่านั้น

ขั้นที่ 1 กรอกฟอร์ม DS-160

ขั้นตอนแรกที่ต้องทำเป็นปกติคือ กรอกฟอร์มการขอวีซ่าหรือที่เรียกว่า ฟอร์ม DS-160 ซึ่งเข้าไปกรอกได้ที่เว็บ DS-160 Online ส่วนวิธีการกรอกสามารถอ่านได้จาก บทความวิธีการขอวีซ่าสหรัฐ ที่อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว

  • อย่างที่เราเคยแนะนำไปแล้วว่า การกรอกฟอร์ม DS-160 มันยาวมาก เราต้องจดหมายเลข Application ID เอาไว้ และตั้งคำถามคำตอบลับของเราเอาไว้ด้วย เสมือนเป็นรหัสผ่านเอาไว้เผื่อมากรอกเพิ่มให้เสร็จทีหลัง
  • ในการกรอกฟอร์ม DS-160 จำเป็นต้องแนบไฟล์รูปภาพของเราลงในฟอร์มด้วย เพื่อเป็นภาพใบหน้าที่จะปรากฏอยู่ในวีซ่า ดังนั้นเตรียมไฟล์ให้พร้อมไว้แต่แรก และไฟล์นี้เราต้องไปใช้อัดรูปเพื่อยืนไปยังสถานทูตด้วย (อ่านบทความ เทคนิคถ่ายรูปวีซ่าด้วยตัวเอง ในราคาใบละไม่กี่บาท ประกอบ)

ถ้าเราเตรียมข้อมูลทุกอย่างไว้พร้อม เราสามารถทำกระบวนการนี้เสร็จได้ในเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง

ขั้นที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า

เมื่อกรอกฟอร์ม DS-160 แล้ว ก็ไปชำระค่าธรรมเนียมวีซ่าตามปกติ เหมือนกับการขอวีซ่าใหม่เป๊ะๆ ซึ่งรายละเอียดก็อ่านได้จากบทความอธิบายการขอวีซ่าได้อีกเช่นกัน (ขณะที่เขียน ค่าธรรมเนียมวีซ่าแบบ B คือ 5,600 บาท)

วิธีการที่เราแนะนำคือพิมพ์ใบชำระค่าธรรมเนียมจากหน้าเว็บ DS-160 ไปจ่ายเงินที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ทุกสาขา

เมื่อชำระเงินเสร็จแล้วก็รอเวลา 1 วันทำการ เพื่อให้ระบบตรวจสอบยอดการชำระเงินของเรา ระหว่างนี้ถ้ามีเวลาว่างจะไปอัดรูปก็ทำให้เรียบร้อยทีเดียวเลย

ขั้นที่ 3 ยืนยันการจ่ายค่าธรรมเนียมวีซ่า

ช่วงประมาณเที่ยงของวันถัดไป ให้เราเข้าไปยังหน้าเว็บ ยื่นคำร้องขอวีซ่าอเมริกา ถ้ายังไม่เคยลงทะเบียนแล้วก็ต้องสร้าง user/password ใหม่ก่อน ถ้ามีอยู่แล้วก็ใช้ user ของเดิมได้เลย

us-visa-apply

เมื่อเข้าไปยังหน้าเว็บได้แล้ว ก็นำหมายเลขใบเสร็จที่ได้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา มากรอกลงในเว็บก็เรียบร้อยแล้ว (ขั้นตอนนี้เราไม่ต้อง “นัดขอสัมภาษณ์” เหมือนการขอวีซ่าใหม่ โดยจะมีให้เลือกในหน้าเว็บว่าเป็นการต่ออายุวีซ่าแทน)

ขั้นตอนที่ 4 เตรียมเอกสารเพื่อส่งทางไปรษณีย์

ถ้าเราเลือกเป็นการต่ออายุวีซ่า ทางสถานทูตจะกำหนดรายการเอกสารที่เราต้องส่ง พร้อมกับให้ “ใบปะหน้า” (Dropbox Confirmation Letter) ที่มีบาร์โค้ดแสดงข้อมูลหมายเลขการยื่นวีซ่าของเรา

หน้าตาเป็นไปดังภาพ ให้เรากรอกชื่อและข้อมูลตามช่องที่เตรียมไว้ให้เรียบร้อย

usa-visa-renew-1

ในเอกสารหน้าถัดไป จะมีตัวเลือก checkbox ให้ยืนยันว่าเราปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นทุกประการ (ต้องติ๊กทุกอัน)

ส่วนเอกสารที่ต้องส่งไปเพื่อขอวีซ่า มีดังนี้

  • เอกสาร Dropbox Confirmation Letter ชุดนี้ ที่มีบาร์โค้ดแสดงข้อมูลการสมัครขอวีซ่าของเรา
  • พาสปอร์ตเล่มที่จะขอวีซ่า (valid passport)
  • พาสปอร์ตเล่มเก่าที่เคยมีวีซ่าฉบับเดิม
  • ใบยืนยัน DS-160 ที่จะได้มาตอนกรอก DS-160 เสร็จ (ใบยืนยันมีรูปของเราด้วย)
  • รูปภาพสำหรับขอวีซ่า ขนาด 2×2 นิ้ว
  • ใบยืนยันการจ่ายเงินค่าวีซ่า ที่ได้จากธนาคาร (ควรถ่ายภาพหรือทำสำเนาเก็บไว้ก่อนส่ง)

หมายเหตุ: การขอวีซ่าอเมริกาในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องส่งตั๋วเครื่องบิน หลักฐานการจองโรงแรม หรือหลักฐานทางการเงินอย่างในอดีตแล้ว ดังนั้นการต่ออายุวีซ่าก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารใดๆ ที่ทางสถานทูตไม่ได้ขอไปไปกับรายการเอกสารข้างต้น

us-visa-doc

ขั้นตอนที่ 5: ส่งเอกสารทางไปรษณีย์

เมื่อเอกสารพร้อมหมดแล้ว ให้เตรียมเอกสารทั้งหมดใส่ซอง (ไม่ต้องจ่าหน้าซองและยังไม่ต้องปิดซอง) แล้วไปที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งจะมีเฉพาะที่ทำการไปรณีย์ประจำเขตใหญ่ๆ เท่านั้นที่สามารถส่งเอกสารวีซ่าได้ (ไปรษณีย์สาขาเล็กๆ ทำไม่ได้ อันนี้ผู้เขียนเกือบพลาดมาแล้ว) ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็มักเป็นไปรษณีย์สาขาใหญ่ของจังหวัดนั้นๆ เท่านั้น

รายชื่อที่ทำการไปรษณีย์ที่สามารถส่งเอกสารวีซ่าได้ สามารถเช็คได้จากเอกสารรายชื่อ กรุงเทพ, ต่างจังหวัด

ตอนที่เราไปถึงที่ทำการไปรษณีย์ ให้สังเกตป้ายลักษณะนี้ที่เคาเตอร์ ก็ไปต่อคิวแล้วแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้เลย ไม่ต้องเสียค่าส่งใดๆ เจ้าหน้าที่จะมีใบปะหน้าซองมาให้เรากรอกอีกใบ จากนั้นจะให้ใบยืนยันการส่งเหมือนกับตอนส่ง EMS มาให้เราตรวจสอบว่า เอกสารของเราไปถึงสถานทูตสหรัฐหรือยัง

ผู้เขียนส่งเอกสารในวันเสาร์ช่วงเช้า พบว่าวันจันทร์ เอกสารส่งไปถึงสถานทูตแล้ว แต่ยังไม่ถูกนำเข้าระบบการขอวีซ่า พอเป็นวันอังคาร ข้อมูลของเราก็โผล่เข้ามาในระบบเว็บการขอวีซ่าแล้ว

thailand-post-usa-visa

ส่งเอกสารเสร็จแล้วยังไงต่อ?

ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐ ระบุว่ากระบวนการจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 10 วันทำการ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เราก็จะได้รับหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่า (รวมถึงหนังสือเดินทางเล่มเก่า) ส่งกลับมาทางไปรษณีย์

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เอกสารไม่ครบหรือมีข้อมูลบางอย่างตกหล่น ทางสถานทูตจะติดต่อกลับมาหาเราทางเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ (ดังนั้นช่วงนี้ถ้ามีเบอร์แปลกๆ โทรเข้ามาก็ควรจะรับสายเสมอ) เพื่อเรียกไปสถานทูตอีกครั้ง

กรณีสถานทูตเรียกไปพิมพ์ลายนิ้วมือ-สัมภาษณ์เพิ่มเติม

กรณีของผู้เขียนมีปัญหาเรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ครบ (เคยพิมพ์ 10 print แต่สำหรับวีซ่าอีกประเภท ซึ่งใช้ด้วยกันไม่ได้) ทางสถานทูตจึงโทรมาแจ้งให้เข้าไปพิมพ์ลายนิ้วมือใหม่ เลยกลายเป็นว่าใช้ประโยชน์จากการขอต่ออายุวีซ่าทางไปรษณีย์ได้ไม่เต็มที่นัก (สรุปคือต้องไปสถานทูตอยู่ดี)

สิ่งที่เราต้องทำคือเข้าไปยังหน้าเว็บยื่นคำร้องขอวีซ่าอีกครั้ง กรอก username/password เมื่อเสร็จแล้ว จะพบกับหน้าจอนัดสัมภาษณ์วีซ่าตามปกติ (ส่วนใหญ่คือทำนัดสัปดาห์นี้ ได้คิวสัปดาห์ถัดไป)

usa visa appointment

เมื่อได้คิวแล้วก็ไปที่สถานทูตตามเวลานัด โดยนำใบยืนยันการนัดหมายไปด้วย ตอนไปต่อคิวเจ้าหน้าที่จะงงๆ หน่อย เพราะเราไม่มีเอกสารอื่นติดตัวไปเลย (เอกสารทั้งหมดส่งเข้าสถานทูตไปแล้ว) แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร

พอเข้าไปข้างในได้แล้ว เราก็เข้ากระบวนการปกติของสถานทูต ทั้งการพิมพ์ลายนิ้วมือ (10 print) และการสัมภาษณ์ (ตอนที่เจ้าหน้าที่โทรมา บอกว่าแค่พิมพ์นิ้วอย่างเดียว แต่พอไปถึงวันจริง ก็ต้องทั้งพิมพ์นิ้วและสัมภาษณ์ใหม่อยู่ดี)

กระบวนการสัมภาษณ์ไม่มีอะไรซับซ้อน เราแค่แจ้งเจ้าหน้าที่ที่สัมภาษณ์ (ซึ่งเป็นฝรั่ง) ว่ามาต่ออายุวีซ่า เพราะเอกสารไม่ครบ คุยอยู่แค่ 1-2 คำถามก็เรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้นรออีกไม่กี่วัน ซองเอกสารพร้อมพาสปอร์ตและวีซ่าฉบับใหม่ รวมถึงพาสปอร์ตฉบับเก่า ก็จะส่งมาถึงบ้านเหมือนกระบวนการขอวีซ่าปกติ

passport with usa visa

ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้จาก Renew My Visa บน US Travel Docs (ภาษาอังกฤษ) หรือ โปรแกรมการยกเว้นสัมภาษณ์วีซ่าสำหรับผู้เคยมีวีซ่าแล้ว (ภาษาไทย)