ทีมงาน 2Baht.com ชอบเช่ารถที่สนามบินเพราะสะดวกรวดเร็ว ลดเวลาการเดินทางได้เยอะ อยากไปไหนมาไหนก็สะดวกกว่าการเช่ารถตู้พร้อมคนขับ เพราะว่าสามารถขยับแผนการเที่ยวได้ตลอด เหนื่อยก็กลับ สนุกก็ไปต่อ เป็นส่วนตัวกว่า อีกทั้งในปัจจุบันมีระบบแผนที่นำทางพร้อมสรรพ ไม่ต้องพึ่งพาความชำนาญของคนขับรถท้องถิ่นมากนัก ดังนั้นการเช่ารถขับเองจึงตอบโจทย์นี้ได้ดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่เคยเช่ารถมาก่อน อาจไม่รู้ว่าการเช่ารถมีกระบวนการอย่างไร เลือกบริษัทอย่างไร ยุ่งยากแค่ไหน ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง ซึ่งบทความนี้จะรวบรวมประสบการณ์การเช่ารถในหลายๆ จังหวัดของไทยมาแนะนำเป็นเคล็ดลับ
คำแนะนำก่อนเช่ารถ
- การคิดราคาเช่ารถจะนับหน่วยเป็นวัน (ไม่มีครึ่งวัน และคิดค่าปรับเป็นรายชั่วโมงซึ่งแพงมาก ส่วนใหญ่เกิน 3 ชั่วโมงก็จะเทียบเท่า 1 วันไปเลย) เพื่อความคุ้มค่าที่สุดจึงควรรับ-คืน รถในเวลาเดียวกันของวันถัดๆ ไป เช่น
- รับรถวันเสาร์ 14.30 น. คืนวันอาทิตย์ 14.30 น. ก็จะนับ 1 วัน
- อีกกรณีก็คือบินไปเช้า กลับเย็นๆ ก็จะทำให้เช่ารถได้คุ้มค่าหน่อย เช่น รับวันเสาร์ 8.30 น. คืนวันอาทิตย์ 20.00 น. ก็จะนับ 2 วัน
- บางเจ้าก็จะมีโปรโมชันแถม 3-4 ชั่วโมงก็มี อันนี้ควรเช็คกับบริษัทเช่ารถก่อน หากมีตรงนี้จริงก็ช่วยยืดเวลาการเที่ยวให้สนุกมากขึ้นไปอีก
- ดังนั้นหากยังไม่ได้จองตั๋วการเดินทาง หรือ โรงแรม อยากแนะนำว่าให้จองตั๋วเครื่องบินขาไปและขากลับด้วย flight ที่เวลาต่อกัน เพื่อความประหยัด
- ถ้าเป็นช่วงปกติควรจองล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เพราะจะได้ราคาถูกกว่า หากจองในสัปดาห์ที่จะเดินทางอาจจะได้ค่าเช่าอีกเรตหนึ่งซึ่งแพงกว่าเดิม และเผลอๆ อาจจะไม่มีรถให้เช่าก็ได้
- อายุของผู้เช่ารถ โดยส่วนใหญ่ต้องมีอายุอย่างน้อย 21 ปีบริบูรณ์
- ตรวจสอบบัตรประชาชน ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ให้เรียบร้อยว่ายังไม่หมดอายุในระหว่างเช่ารถ
- บริษัทเช่ารถส่วนใหญ่จะจ่ายค่าเช่าเป็นบัตรเครดิต และมีการมัดจำด้วยการกันวงเงินบัตรเครดิตตั้งแต่ตอนรับรถอีก 10,000 – 30,000 บาท แล้วแต่รุ่น หรือ บริษัทให้เช่า โดยจะคืนวงเงินให้ประมาณ 7 – 14 วันหลังจากคืนรถแล้ว ดังนั้นหากใครวงเงินไม่ถึงควรโทรศัพท์แจ้ง Call Center ของบัตรเครดิตที่จะไปรูดเพื่อขอเพิ่มวงเงินชั่วคราว
วิธีการเลือกบริษัทเช่ารถยนต์
การจะเลือกบริษัทเช่ารถ (Car Rental) เจ้าไหนนั้น ขอให้คำนึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1) จุดที่เราต้องการรับ-คืนรถของบริษัทรถเช่า ว่าอยู่ที่ไหน
- ถ้าโดยสารโดยเครื่องบิน ก็ตรวจสอบดูว่าสนามบินปลายทางมีสาขาของบริษัทเช่ารถใดบ้าง เพราะมีบางบริษัทที่ไม่ได้ตั้งบูธในสนามบินอาจจะไม่สะดวกเวลาเครื่องบินดีเลย์ ดังนั้นหากรับ-คืน สนามบินสะดวกแก่การเดินทางมากกว่า
- กรณีจุดรับ-คืนรถ อาจอยู่คนละที่กับสาขารถเช่า ก็ให้โทรสอบถามสาขาที่จะเช่าก่อนทำการจอง เพราะบางครั้งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือหากเช่าหลายวันก็มีบริการรับ-ส่งฟรี
2) สาขานั้นมีรถรุ่นที่เราต้องการให้เช่าหรือไม่
- เดินทางไปภาคเหนือ ขับขึ้นเขาเยอะแบบ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย ก็น่าจะเช่ารถที่มีแรงม้าเยอะสักหน่อย เช่น เลือกรุ่น 1,600 CC ขึ้นไปหรือ 4×4 น่าจะดีกว่า แต่ถ้าชายทะเล ทางราบหน่อย จะเอารุ่นเล็ก 1,200 หรือ 1,500 CC ก็พอแล้ว
- หากผู้โดยสารเยอะ ซัก 4 คน ก็เลือกรถรุ่นใหญ่ให้นั่งสบายหน่อย แต่ถ้าผู้โดยสารรวมคนขับ 2 คนก็อาจจะเลือกรุ่นเล็กเพื่อประหยัดค่าเช่าและค่าน้ำมัน
- ต้องการความปลอดภัยมากน้อยขนาดไหน บางทีจะมีรุ่นย่อยๆ อีก อย่างมี ABS, Air Bag อาจจะมีค่าเช่าที่เพิ่มมากกว่ารุ่นธรรมดาอีกวันละ 100 บ.
3) พิจารณาราคา
- เช่าล่วงหน้านานๆ มักจะได้ราคาถูกกว่าไปเช่าใกล้ๆ วันเดินทาง
- บางบริษัทก็จะมีโปรโมชั่นร่วมกันสายการบิน โดยจองให้ตรงกับสายการบินที่เดินทาง และแสดงบัตรโดยสารเพื่อยืนยันส่วนลดที่ได้ตอนรับรถอีกครั้ง
- บางครั้งหากวางแผนการเดินทางล่วงหน้าไว้นาน การซื้อ Voucher เช่ารถจากงานท่องเที่ยว ก็อาจจะได้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งก็มีแม่ค้าออนไลน์บางท่าน เห็นช่องทางนี้เป็นธุรกิจ ใครจะซื้อผ่านช่องทางนี้ต้องมีวิจารณญาณในการเลือกร้านที่เชื่อถือได้ด้วยนะ
- การใช้ Voucher จะมีเงื่อนไข เรื่อง การเช่าในวันหยุด, ช่วง Long Weekend ที่ Peak มากๆ บางทีเรียก Blackout Period ที่คนเช่าเยอะ ที่อาจจะต้องจ่ายเพิ่มอีก ตรงนี้โทรสอบถาม Call Center หรือสาขาบริษัทเช่ารถก่อนซื้อ Voucher จะดีสุด
อธิบายประกันอุบัติเหตุรถเช่า มีอะไรบ้าง?
ประกันภัยถือเป็นเรื่องใหญ่ของวงการรถเช่า มีความซับซ้อนสูง และมีศัพท์เฉพาะในวงการเยอะ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง
- Collision Damage Waiver (CDW) หรือ Loss Damange Waiver (LDW) หรือประกันรถยนต์เสียหายขั้นพื้นฐาน ซึ่งบริษัทเช่ารถที่ดังๆ มักจะครอบคลุมส่วนนี้แล้ว
- ในกรณีที่มีอุบัติเหตุ มีคู่กรณี และผู้เช่าเป็นฝ่ายถูก – ผู้เช่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
- ในกรณีที่มีอุบัติเหตุ ผู้เช่าเป็นฝ่ายผิด หรือ ไม่มีคู่กรณี เช่น ชนต้นไม้ เสาไฟ โดนเฉี่ยวขณะจอดรถทิ้งไว้ อันนี้ผู้เช่าจะต้องจ่ายค่ารับผิดชอบเพิ่มซึ่งจะไม่เกินวงเงินตามแต่บริษัทเช่ารถกำหนด
- ค่าใช้จ่ายสูงสุดที่ต้องร่วมรับผิดชอบเบื้องต้นราว 3,000 – 15,000 บาท ขึ้นอยู่กับบริษัท นอกนั้นประกันเป็นค่าจ่าย (ถ้าไม่อยากจ่ายเพิ่ม อ่านข้อล่างต่อ)
- Extra Collision Damage Waiver (ECDW) หรือ Super Collision Damage Waiver (SCDW) หรือ บางครั้งเรียก No Deduct เป็นประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงของผู้เช่าในการแบกภาระค่ารับผิดชอบเพิ่มเติมเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- หากรถที่มีประกัน CDW นั้นเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ที่เช่าแล้วไม่มีคู่กรณี ผู้เช่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมอีกแล้ว หรือสรุปได้ว่าจากเดิมที่ลูกค้าอาจต้องจ่ายความรับผิดชอบกรณีผิดหรือไม่มีคู่กรณี 3,000 – 15,000 บ. ก็จะลดเหลือศูนย์บาท
- โดยส่วนใหญ่จะเสียค่าประกันเพิ่มอีกวันละ 200 – 300 บ. แล้วแต่รุ่นรถ
- Theft Protection (TP) คือ การประกันภัยกรณีรถยนต์สูญหายหรือถูกโจรกรรม
- Personal Accident Insurance (PAI) คือ การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งคุ้มครองเฉพาะบุคคลที่อยู่ภายในรถเช่า
หมายเหตุ ประกันแบบ CDW แต่ละที่ก็เรียกต่างกัน บางเจ้าก็เรียกว่า “ประกันชั้น 3” บางเจ้าก็เรียกว่า “ประกันชั้น 1” ดังนั้นหากจะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ใช้ศัพท์ว่า “ประกันพื้นฐานแบบมีค่า Deduct แทน CDW” และ “ประกันแบบชนแล้วไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม หรือ No Deduct แทน ECDW” ก็น่าจะเข้าใจตรงกันมากกว่า
การทำประกันยิ่งเยอะยิ่งอุ่นใจคนเช่า แต่พอรวมค่าประกันหลายๆ ข้อแล้วก็ทำให้ค่าเช่าต่อวันสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ก็เลือกเท่าที่เหมาะสมกับตัวเองและสถานที่ๆ จะเดินทาง (หากเช่ารถแล้วเกิดอุบัติเหตุทำอย่างไร อ่านเพิ่มเติมจาก pantip) แต่ถ้าให้แนะนำอย่างต่ำก็ควรจะซื้อประกัน ECDW ไว้เพื่อลดความเสี่ยง
ตารางเปรียบเทียบราคาบริษัทเช่ารถออนไลน์
ทาง 2Baht.com ได้ลองทำการเปรียบเทียบราคาบริษัทเช่ารถออนไลน์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 โดยเลือกจองล่วงหน้า 15 วัน (วันเสาร์ที่ 14 – วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558) โดยเลือกรถ Toyota Altis ที่จังหวัดเชียงราย เป็นตัวอย่าง ผลออกมาดังนี้
No. | บริษัทรถเช่า | ค่าเช่ารถรุ่น Altis 1.6 สาขาเชียงราย (รวม VAT แล้ว)
(เปรียบเทียบราคารวม VAT ก่อนเช่ารถ 2 สัปดาห์) |
ประกันภัย
CDW = ประกันพื้นฐาน |
ค่ารับผิดชอบเบื้องต้น (ค่า Deduct) (กรณีไม่ได้ซื้อ ECDW) |
คืนช้าได้สูงสุด | อายุคนขับ | มัดจำวงเงินบัตรเครดิต |
1. | Sixt หรือ Master Car Rental (สาขา)
โทร. 1798 |
รุ่นเก่า 1.6 J (ไม่มี Airbag, ไม่มี ABS) วันละ 747.93 บ. รุ่นเก่า 1.6 G (มี Airbag, ABS) วันละ 854.93 บ. รุ่นใหม่ไม่เกิน 2-3 ปี วันละ 1,465.90 บ. |
รวม CDW, TP แล้ว ECDW เพิ่มวันละ 214 – 321 บ. (แล้วแต่รุ่น) PAI เพิ่มวันละ 100 บ. |
8,000 บ. | 3 ชม. | 23 ปี | 20,000 บ. |
2. | AVIS (สาขา)
โทร. 02-251-1131 – 2 |
1,599.99 บ. | รวม CDW แล้ว ECDW เพิ่ม 257 บ. TP เพิ่ม 257 บ. PAI เพิ่ม 128 บ. |
8,000 บ. | 4 ชม. | 23 ปี | 20,000 บ. |
3. | Budget (สาขา)
โทร. 02-203-0250 |
1,653.75 บ. (รถเช่าอายุไม่เกิน 2 ปี) | รวม CDW แล้ว ECDW เพิ่ม 200 บ. TP เพิ่ม 69 บ. PAI เพิ่ม 150 บ. แพจเกจประกันรวม 380 บ. Click |
15,000 บ. | 1 ชม. | 21 ปี | 10,000 – 20,000 บ. |
4. | Hertz (สาขา)
โทร. 02-266-4666 |
ไม่มี Altis 1.6 จึงขอเทียบ 2 รุ่น รุ่น 1.5 Jazz หรือ Vios วันละ 1,474 บ. รุ่น 1.8 Civic วันละ 1,901 บ. |
รวม CDW แล้ว ECDW เพิ่ม 214 บ. TP เพิ่ม 53 -64 บ. (แล้วแต่รุ่นรถ) PAI เพิ่ม 160.50 บ. |
10,000 บ. | 1 ชม. | 21 ปี | 30,000 บ. |
5. | Thai Rent A Car (สาขา)
โทร. 02-737-8888 |
1,819 บ. | รวม CDW, TP แล้ว ประกันรวม ECDW, TP, PAI เพิ่มวันละ 214 บ. |
3,000 บ. | 1 ชม. | 21 ปี | 10,000 – 20,000 บ. |
6. | North Wheels บริการรถเช่าเชียงใหม่-เชียงราย (สาขา)
โทร. 053-740-585 |
ไม่มี Altis 1.6 จึงขอเทียบ 2 รุ่น TIDA 1.6 วันละ 1,500 บ. Altis 1.8L วันละ 2,000 บ. |
รวม CDW ประกันรวม ECDW, TP, PAI เพิ่ม 214 – 321 บ. ตามแต่รุ่น |
5,000 บ. | 1 ชม. | ขอแค่มีใบขับขี่ | 5,000 บ. |
จะเห็นว่าทุกเจ้าที่กล่าวมาครอบคลุมการประกันพื้นฐานหรือ CDW มาให้อยู่แล้ว แต่ถ้ามองเรื่องราคาแล้วบริษัท Sixt มีรุ่นย่อยให้เลือกมากกว่า (รถเก่ากี่ปีแล้วคงต้องถามสาขาอีกที) ก็จะได้ราคาถูกกว่าเจ้าอื่น แต่การเช่ารถก็เหมือนกับการซื้อโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นความพึงพอใจ ราคา และประสบการณ์ที่แต่ละท่านได้รับอาจจะแตกต่างกัน 2Baht.com ก็ขอแนะนำให้ลองอ่านกระทู้ pantip เหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ
- มาโหวตและรีวิวบริการ “รถเช่า” กันดีกว่า
- ระหว่างบริษัท Hertz, Avis, Budget และ Master car (ปัจจุบันคือ Sixt Thailand) เช่ารถบริษัทไหนดี
- ขอคำแนะนำขั้นตอนการเช่ารถ
หากมีข้อสงสัยอะไร โทรศัพท์สอบถามสาขาที่เราจะเช่าดีที่สุด เพราะเป็นคนท้องที่ จะรู้เรื่องระยะใกล้-ไกลของจุดรับ-ส่งรถ หรือ รุ่นรถที่เราจะเช่าในวันนั้นว่ามีรุ่นไหน ปีไหน ราคาเท่าไหร่ และรายละเอียดค่าประกันเพิ่มเติมอื่นๆ ดังนั้นจึงควรสอบถามให้เคลียร์ก่อนจอง หรือ ก่อนที่จะซื้อ Voucher
ก่อนเดินทาง 5-7 วัน ควรยืนยันการเช่ารถจากบริษัทที่จองอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าได้จองรถให้เราเรียบร้อย ทวนเอกสารที่เราต้องนำติดตัวไปแสดง พร้อมวงเงินมัดจำบัตรเครดิตเพื่อใช้ในการค้ำประกันกรณีเกิดความเสียหาย
การตรวจรับรถที่เช่าต้องทำอย่างไรบ้าง
- ตรวจใบรับรถว่าเป็นรุ่น และทะเบียนตรงตามใบที่ได้รับหน้างาน
- ผู้ขับขี่ควรเป็นบุคคลเดียวกันกับที่แจ้งบริษัทเช่ารถ และหากมีผู้ขับเสริมก็แจ้งให้หมด เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุส่วนนี้จะสำคัญเพราะว่ามีผลต่อการประกันภัย
- การล็อควงเงินบัตรเครดิต หรือ การวางมัดจำด้วยบัตรเครดิต ให้ดู Slip บัตรเครดิตว่าด้านล่างซ้ายเหนือช่องลายเซ็นว่าเป็น “Verify” หรือ “Card Ver” (รายละเอียดใน pantip) โดย Slip นี้จะได้คืนเวลาที่เราคืนรถเรียบร้อยแล้ว ให้เก็บเป็นหลักฐานในใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตงวดถัดว่าไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมกับเราแน่ๆ จึงค่อยทิ้ง
- ก่อนเซ็นใบรับรถให้ดูรอยชนรอบคัน ช่วยๆ วนๆ กันดูซัก 1-2 รอบ แล้วให้พนักงานบริษัทเช่ารถบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
- เมื่อได้รับรถมาแล้ว ตรวจสอบว่าน้ำมันต้องเต็มถังเสมอ เพราะตอนคืนก็ต้องคืนเค้าแบบเต็มถังเช่นกัน
- ควรขอแผนที่ และสอบถามพนักงานเช่ารถว่า
- ปั๊มน้ำมันใกล้จุดที่คืนรถอยู่บริเวณใด และต้องเติมน้ำมันแบบไหน เพื่อที่จะได้สะดวกเวลาคืน
- ร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายน้ำเป็นแพ็คใกล้เคียงอยู่ตรงไหน บางทีเช่าหลายวันก็ซื้อน้ำเป็นแพ็คไว้ท้ายรถไปเลยก็ประหยัดค่าใช้จ่ายดี (อย่างไปภูเก็ตจะมีร้าน Super Cheap ซึ่งถูกกว่า 7-Eleven มาก)
- คืนได้เลทกว่าเวลาที่กำหนดไว้กี่ชั่วโมงจึงจะไม่เสียค่าปรับ ซึ่งส่วนมากจะแถมให้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง อย่างเช่น เช่าวันเสาร์เวลา 14.30 น. กำหนดคืนวันอาทิตย์ 14.30 น. แต่การจราจรติดขัดส่งรถล่าช้าได้ไม่เกิน 15.30 น. ก็ยังคิดค่าเช่า 1 วันและไม่ต้องจ่ายค่าปรับใดๆ (บางเจ้ามีโปรโมชั่นคืนล่าช้า 3-4 ชม. อันนี้แนะนำให้ถามทุกครั้ง)
- ก่อนจะคืนจะให้โทรหาที่สาขาเวลาใด และนัดกันที่ไหน (ที่เคยเจอคือโทรหาบริษัทเช่ารถ 2-3 กม. ก่อนถึงสนามบิน และนัดตรงหน้าประตูทางเข้าอาคารผู้โดยสารในสนามบินซึ่งขนสัมภาระสะดวกมาก)
- เบอร์โทรติดต่อยามฉุกเฉิน (โดยส่วนมากมักจะติด Sticker ไว้ที่กระจกด้านหน้ารถแล้ว)
- รับรถแล้ว ก็อย่าลืมจำเลขทะเบียนรถด้วยนะ ส่วนใหญ่มักจะถ่ายรูปไว้ก่อนเลยกันลืม กลัวหารถไม่เจอจ้า
2Baht.com ก็ขอให้ทุกท่านเที่ยวสนุก เดินทางปลอดภัยกันนะคะ 🙂
คุณสามารถติดตามรีวิวท่องเที่ยวจากเรา ที่ facebook “2baht.com” ได้อีกหนึ่งช่องทางค่ะ