คิดว่าหลายๆ คนน่าจะเคยเห็น 1600 Pandas หรือ การเอากองทัพแพนด้าที่ทำจากกระดาษ (แพนด้าเปเปอร์มาเช่) 1,600 ตัว ตระเวนไปตามแลนด์มาร์คสำคัญๆ ทั่วโลกแล้ว และในเดือนมีนาคม 2559 นี้ แพนด้าทั้ง 1,600 ตัวก็จะมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เรามาทำความรู้จัก 1600 Pandas ให้มากขึ้นกว่าเดิมดีกว่านะคะ
ที่มาของ 1600 Pandas มากกว่างานศิลปะ
ศิลปินชาวฝรั่งเศส Paulo Grangeon (เปาโล กรองจีอง) ผู้ประดิษฐ์ตุ๊กตาแพนด้าแบบศิลปะเปเปอร์มาเช่ โดยทำมาจากกระดาษรีไซเคิล จำนวน 1,600 ตัว เท่ากับ จำนวนประชากรแพนด้าที่หลงเหลือทั่วโลกในขณะนั้น เพื่อตระหนักถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF – World Wide Fund For Nature) และคุณ Paulo Grangeon ก็ได้พาแพนด้าทั้ง 1,600 ตัว เดินทางไปจัดแสดงตามที่เที่ยวยอดฮิต และสถานที่สำคัญต่างๆ กว่า 100 แห่งทั่วโลก อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี มาเลเซีย
สถิติของ WWF ในปี ค.ศ. 2014 หรือ 6 ปีหลังจากที่คุณ Paulo พา 1600 Pandas ไปทัวร์รอบโลก ก็พบว่ามีประชากรแพนด้าในป่าทั่วโลกรวม 1,864 ตัว หรือ เพิ่มขึ้น ~ 17% เลยทีเดียวค่ะ – ที่มา WWF
การจัดแสดง 1600 Pandas
1600 Pandas เป็นการแสดงงานศิลปะกลางแจ้งโดยวางแพนด้าเปเปอร์มาเช่ให้กลมกลืนกับสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วโลก และจัดวางแบบ “แฟลชม็อบ” แห่งละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
การเตรียมงานจึงต้องเป๊ะ โดยประชุมวางแผนร่วมกับเหล่าบรรดาอาสาสมัครที่มาช่วยงานเป็นอย่างดี ดังนั้นโครงการ 1600 Pandas จึงมีมากกว่าความน่ารัก เพราะเป็นการส่งต่อความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม จากหน่วยงานและตัวแทนต่างๆ ทั่วโลกนั่นเองค่ะ
ไม่รู้ว่ามีใครสงสัยเหมือนทีมงาน 2Baht หรือเปล่านะคะ ว่าเอ๊ะ! ถ้าเกิดฝนตก แล้วแพนด้าเปเปอร์มาเช่ที่ทำมาจากกระดาษรีไซเคิลเหล่านี้หล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เราแอบไปค้นจาก Instagram ของ 1600Pandas ก็พบคำตอบค่ะว่า แพนด้าเหล่านี้ เคลือบสารโพลียูรีเทน (Polyurethane) เอาไว้กันน้ำ และยังแปะยางรองพื้นไว้ด้านล่าง ไม่ให้แฉะน้ำฝนกันอีกด้วย
ตารางแสดง 1600 Pandas ในไทย
ในเดือนมีนาคม 2559 นี้ เหล่าแพนด้าทั้ง 1,600 ตัว จะนำมาโชว์ตามที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพ ด้วยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี, บริษัท AllRightsReserved (ออลไรท์รีเซิร์ฟ), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร และ กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) เป็นเจ้าภาพสนับสนุนงานอนุรักษ์ในประเทศไทย โดยใช้ชื่อโครงการว่า “Pandas 1600+ TH”
ผู้ที่สนใจสามารถอ่าน กำหนดการแสดงแฟลชม็อบ 1600 Pandas 10 แห่งทั่วกรุงเทพ อยุธยา และเชียงใหม่ ตามด้านล่างนี้นะคะ
- สนามหลวง วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2559 เวลา 15.00-18.00 น.
- เซ็นทรัลเวิลด์ วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2559 เวลา 15.00 – 18.00 น.
- สกายวอล์ค ช่องนนทรี วันอังคารที่ 8 มีนาคม 2559 เวลา 12.00 – 15.00 น.
- หอศิลป์กรุงเทพฯ วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2559 เวลา 15.00 – 18.00 น.
- สวนสันติชัยปราการ วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2559 เวลา 15.00 – 18.00 น.
- เสาชิงช้า วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2559 เวลา 15.00-18.00 น.
- สวนลุมพินี วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2559 เวลา 16.00 – 19.00 น.
- สถานีรถไฟหัวลำโพง วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2559 เวลา 15.00 – 18.00 น.
- วัดภูเขาทอง จ.อยุธยา วันพุธที่ 16 มีนาคม 2559 เวลา 15.00 – 18.00 น.
- ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2559 เวลา 15.00 – 18.00 น.
- เซ็นทรัล เอ็มบาสซี วันที่ 24 มีนาคม – 10 เมษายน 2559 เวลา 10.00 – 22.00 น.
สำหรับการจัดกิจกรรมที่ Central Embassy นั้น จะมีการจำหน่ายของที่ระลึก เวิร์กช็อป และรับเลี้ยงแพนด้า – เปิดจองผ่าน www.1600pandasplusth.com วันที่ 10 มี.ค. เวลา 13.00 น. – 12 มี.ค. 59 โดยมีแพนด้าที่รอคอยคนไปอุปการะอีก 1,600 ตัว จากผลงานการออกแบบของคุณเปาโล มี 3 ขนาดคือ S, M, L ราคา 800, 1200 และ 1600 บาทตามลำดับ
รายได้จากการจั
ภาพกิจกรรม 1600 Pandas+ TH ที่สนามหลวง
ขอปิดท้ายด้วยภาพงานแฟลชม็อบ 1600 Pandas+ TH ครั้งแรกที่สนามหลวง วันที่ 4 มี.ค. 59 เวลา 15.00-18.00 น. บรรยากาศก็คึกคัก มีทั้งสื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก แม้อากาศจะร้อนไปสักนิดก็ตาม 🙂
เราแอบถามน้องๆ ที่บูธ WWF-Thailand เพิ่มเติมด้วยว่า แพนด้าที่มาวางในสนามหลวง ต้องมีแผ่นยางรองไว้ด้วยหรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่าไม่มีค่ะ แพนด้าจะใส่รองเท้ายางเฉพาะตอนจัดแสดงยาวๆ ที่ Central Embassy เท่านั้น
มารยาทในการชม 1600 Pandas
เพื่อให้ผู้เข้าชมการแสดงแฟลชม๊อบทุกคนได้ถ่ายภาพกับเหล่าแพนด้าอย่างทั่วถึง เพจ 1600 Pandas+ TH จึงขอความร่วมมือจากผู้เข้าชมปฎิบัติตามข้อแนะนำดังนี้ค่ะ
- ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปยังบริเวณภายในรั้วที่จัดแสดงแพนด้า เพื่อความปลอดภัยและรักษาสภาพของแพนด้าทั้ง 1600 ตัว
- ขอความร่วมมือผู้ชม ถ่ายภาพแต่ละจุดไม่เกิน 5 นาที และเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้ผู้ชมท่านอื่นๆ
- ขอความร่วมมืองดใช้ขาตั้งกล้อง และไม้เซลฟี่ในการถ่ายภาพ
- ขอความร่วมมือผู้ชมไม่นำบันไดหรือเก้าอี้เข้ามาบริเวณโดยรอบ
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้จาก เพจ 1600 Pandas+ TH และภาพถ่าย 1600 Pandas ทั่วโลกจาก Instagram 1600pandas
ใครสะดวกแวะไปเจอกองทัพ 1600 Pandas ที่ไหน ก็ลองเลือกตามวัน-เวลาที่สะดวกกันดูนะคะ 🙂