นักเดินทางที่เคยขึ้นเครื่องบินมาหลายสายหน่อย คงเคยได้ยินชื่อ Star Alliance, Oneworld หรือ SkyTeam กันมาบ้าง ชื่อเหล่านี้คือชื่อกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ซึ่งสายการบินแต่ละแห่งในโลกผนึกกำลังกันเพื่อสร้างอำนาจในการแข่งขัน และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้กับผู้โดยสารในเครือของตัวเอง
บทความนี้ 2Baht.com จะมาแนะนำข้อมูลของพันธมิตรสายการบินยักษ์ใหญ่ของโลกทั้ง 3 ราย เพื่อเป็นข้อมูลเสริมความรู้ในการเดินทาง และเลือกสายการบินของท่านครั้งหน้า
Star Alliance
คนไทยอาจคุ้นเคยกับชื่อ Star Alliance มากที่สุด เพราะ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติไทยร่วมเป็นหนึ่งในห้าสายการบินก่อตั้ง Star Alliance ด้วย (สายการบินที่ร่วมก่อตั้งมี 5 ราย โลโก้จึงเป็นรูปดาว 5 แฉก)
Star Alliance เป็นพันธมิตรสายการบินกลุ่มแรกของโลก ก่อตั้งในปี 1997 โดยสายการบิน 5 ราย ได้แก่ Lufthansa จากเยอรมนี, Scandinavian Airlines, Air Canada, United Airlines และการบินไทย
พี่ใหญ่ของกลุ่ม Star Alliance คือ Lufthansa ของเยอรมนี ทำให้ตอนนี้ Star Alliance ยังมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่แฟรงค์เฟิร์ต แต่รูปแบบการบริหารก็เป็นบริษัทอิสระชัดเจน ไม่ขึ้นกับสายการบินรายใดรายหนึ่ง ปัจจุบัน Star Alliance มีสายการบินสมาชิกทั้งหมด 27 ราย ที่ว่าเยอะที่สุดในบรรดาพันธมิตรทั้ง 3 ค่าย
- Adria Airways JP – สโลวีเนีย
- Aegean Airlines A3 – กรีซ
- Air Canada AC – แคนาดา
- Air China CA – จีน
- Air India AI – อินเดีย
- Air New Zealand NZ – นิวซีแลนด์
- ANA NH – ญี่ปุ่น
- Asiana Airlines OZ – เกาหลีใต้
- Austrian OS – ออสเตรีย
- Avianca AV – โคลอมเบีย
- Brussels Airlines SN – เบลเยียม
- Copa Airlines CM – ปานามา
- Croatia Airlines OU – โครเอเชีย
- EGYPTAIR MS – อียิปต์
- Ethiopian Airlines ET – เอธิโอเปีย
- EVA Air BR – ไต้หวัน
- LOT Polish Airlines LO – โปแลนด์
- Lufthansa LH – เยอรมนี
- Scandinavian Airlines SK – สแกนดิเนเวีย
- Shenzhen Airlines ZH – จีน
- Singapore Airlines SQ – สิงคโปร์
- South African Airways SA – แอฟริกาใต้
- SWISS LX – สวิตเซอร์แลนด์
- TAP Portugal TP – โปรตุเกส
- THAI TG – ไทย
- Turkish Airlines TK – ตุรกี
- United UA – สหรัฐอเมริกา
จากรายชื่อจะเห็นว่า สายการบินในสังกัด Star Alliance ครอบคลุมทุกทวีปในโลก ตั้งแต่อเมริกาเหนือ-กลาง-ใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ส่วนภูมิภาคที่อาจจะขาดไปคือตะวันออกกลาง
ผลประโยชน์ของการเป็นสมาชิก Star Alliance มีดังนี้
- เชื่อมต่อไฟลท์ระหว่างสายการบินในสังกัดได้ง่ายขึ้น
- ใช้บริการเลาจ์ของสายการบินในสังกัด จำนวนกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก
- สะสมไมล์ร่วมกันเมื่อบินด้วยสายการบินในสังกัด
ส่วนระดับของการเป็นสมาชิก Star Alliance มี 3 ขั้น คือ สมาชิกธรรมดาทั่วไป (Mileage), Silver และ Gold โดยการอัพเกรดเป็น Silver/Gold ขึ้นกับการสะสมไมล์ของสายการบินที่เรามีไมล์สะสมอยู่นั่นเอง
Oneworld
Oneworld เป็นพันธมิตรสายการบินที่ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่สองต่อจาก Star Alliance โดยเริ่มก่อตั้งในปี 1999 ปัจจุบันมีสายการบินสมาชิก 15 ราย ถือว่าเล็กที่สุดในบรรดาพันธมิตรทั้ง 3 ค่าย สำนักงานใหญ่ของ Oneworld อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
- Air Berlin – เยอรมนี
- American Airlines – สหรัฐอเมริกา
- British Airways – สหราชอาณาจักร
- Cathay Pacific – ฮ่องกง
- Finnair – ฟินแลนด์
- Iberia – สเปน
- Japan Airlines – ญี่ปุ่น
- LAN Airlines – ชิลี
- Malaysia Airlines – มาเลเซีย
- Qantas – ออสเตรเลีย
- Qatar Airways – กาตาร์
- Royal Jordanian – จอร์แดน
- S7 Airlines – รัสเซีย
- TAM Airlines – บราซิล
- SriLankan Airlines – ศรีลังกา
ถึงแม้สายการบินสมาชิกจะน้อยกว่าคู่แข่ง แต่จากรายชื่อจะเห็นว่าก็ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ-ใต้ ตะวันออกกลาง เอเชีย และออสเตรเลีย ส่วนภูมิภาคที่ยังขาดไปหน่อยคือแอฟริกา
ระดับสมาชิกของ Oneworld มีด้วยกัน 3 ขั้น คือ Ruby, Sapphire, Emerald โดยเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกระดับ Ruby แล้วค่อยอัพเกรดเป็น Sapphire และ Emerald ตามไมล์สะสม
SkyTeam
SkyTeam เป็นพันธมิตรสายการบินที่ก่อตั้งเป็นลำดับสุดท้ายในปี 2000 แต่ก็มาแรงจนขึ้นมาเป็นพันธมิตรที่ใหญ่เป็นอันดับสอง โดยมีสายการบินสมาชิก 20 ราย สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
- Aeroflot รัสเซีย
- Aerolineas Argentinas อาร์เจนตินา
- AeroMexico เม็กซิโก
- Air Europa สเปน
- Air France ฝรั่งเศส
- Alitalia อิตาลี
- China Airlines ไต้หวัน
- China Eastern จีน
- China Southern จีน
- Czech Airlines สาธารณรัฐเช็ก
- Delta สหรัฐอเมริกา
- Garuda Indonesia อินโดนีเซีย
- Kenya Airways เคนยา
- KLM เนเธอร์แลนด์
- Korean Air เกาหลีใต้
- Middle Eastern Airlines เลบานอน
- Saudia ซาอุดีอาระเบีย
- Tarom โรมาเนีย
- Vietnam Airlines เวียดนาม
- Xiamen Airlines จีน
สายการบินสมาชิกของ SkyTeam แข็งแกร่งในยุโรป และจีน โดยมีสายการบินสมาชิกจากจีนถึง 3 ราย ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ ก็มีกระจายตัวกันทั้งเอเชีย อเมริกาเหนือ-ใต้ และตะวันออกกลาง
ส่วนระดับของสมาชิกก็แบ่งออกเป็น 3 ขั้นเหมือนกับพันธมิตรรายอื่น นั่นคือ ระดับมาตรฐาน, Elite, Elite Plus ซึ่งขึ้นกับการสะสมไมล์
เปรียบเทียบพันธมิตรสายการบิน
ถ้าลองเปรียบเทียบข้อมูลขั้นต้นของพันธมิตรสายการบินทั้ง 3 กลุ่ม จะเห็นว่า Star Alliance จะนำหน้าอยู่พอสมควร ตามด้วย SkyTeam และ Oneworld
ถึงแม้พันธมิตรสายการบินทั้ง 3 รายจะแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงในการแย่งชิงลูกค้า แต่ในมุมของนักท่องเที่ยว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปอิงกับค่ายใดค่ายหนึ่งชัดเจน เพราะเราสามารถเป็นสมาชิกได้ทั้ง 3 ค่ายพร้อมกันอยู่แล้ว ส่วนจะเน้นค่ายใดค่ายหนึ่งเป็นพิเศษ คงขึ้นกับพฤติกรรมการเดินทางของเราเองว่าขึ้นสายการบินไหนบ่อยๆ บ้าง (เช่น ถ้าขึ้นการบินไทยบ่อย การเป็นสมาชิก Star Alliance ก็สมเหตุสมผลที่สุด) และถ้าสามารถเดินทางด้วยสายการบินในเครือได้ด้วย ก็จะช่วยให้สะสมไมล์ได้เร็วขึ้น เพราะพันธมิตรทั้งสามขั้วต่างก็มีเส้นทางบินครอบคลุมเกือบทุกทวีปอยู่แล้ว
ตัวอย่างเช่น
- การเดินทางในสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าสายการบินรายใหญ่ของสหรัฐ 3 ราย ต่างแยกย้ายกันเข้าสังกัดพันธมิตรที่ต่างกัน เช่น United (Star Alliance), American Airlines (Oneworld), Delta (SkyTeam)
- สายการบินญี่ปุ่น ก็เข้าสังกัดต่างกัน คือ ANA เข้าสังกัด Star Alliance ส่วน JAL เข้าสังกัด Oneworld
- สายการบินในอาเซียน ก็มีสังกัดต่างกันชัดเจน เพราะฝั่ง Star Alliance มีการบินไทยกับ Singapore Airline, Oneworld มี Malaysia Airline, SkyTeam มี Garuda กับ Vietnam Airlines
- สายการบินยุโรปแบ่งขั้วกันชัดเจน โดยกลุ่ม Lufthansa/Austria/Swiss อยู่กับ Star Alliance, กลุ่มของ British Airways/Iberia อยู่กับ OneWorld และกลุ่มของ Air France/KLM อยู่กับ SkyTeam
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมก็มีแค่ว่า เมื่อเดินทางด้วยสายการบินใหม่ๆ ควรเช็คข้อมูลดูว่าเป็นสายการบินในสังกัดพันธมิตรรายใด เผื่อว่าเราเป็นสมาชิกสายการบินอื่นในสังกัดนั้นอยู่ก่อนแล้ว จะได้สะสมไมล์ต่อเนื่องกันไปเลยโดยไม่ต้องสมัครสมาชิกใหม่ เพราะข้อมูลแชร์ข้ามกันหมดในกลุ่มพันธมิตรด้วยกัน
สายการบินไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
สายการบินรายใหญ่ๆ ของโลกมักเข้าสังกัดพันธมิตรรายใดรายหนึ่ง แต่ก็ยังมีสายการบินรายใหญ่อีกหลายแห่งที่เลือกจะไม่เข้าสังกัดใด เช่น
- Emirates พี่เบิ้มแห่งตะวันออกกลาง เลือกไม่เข้าสังกัดพันธมิตรรายใด
- Southwest สายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ของอเมริกา เลือกอยู่เป็นเอกเทศไม่ยุ่งกับใคร
- Etihad สายการบินอีกรายจาก UAE ก็ไม่มีสังกัดเช่นกัน
นอกจากนี้ สายการบินบางรายอาจไม่เข้าสังกัดกลุ่มพันธมิตรเต็มตัว แต่อาจมีข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกัน เช่น สายการบิน Bangkok Airways ของไทยก็ไม่ได้มีสังกัด แต่ก็ร่วมแจมบางโครงการของ Oneworld อยู่บ้าง เป็นต้น ดังนั้นผู้เดินทางควรเช็คข้อมูลให้ละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกสายการบินที่เหมาะสมกับท่าน