EasyJet

สายการบิน EasyJet กับปัญหา Overbooking ขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่ง

ช่วงนี้มีข่าวสายการบินโลว์คอสต์หลายรายของไทย มีปัญหา overbooking หรือเปิดขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่งอยู่บ่อยครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเดินทางได้ตามแผน ต้องปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางกันวุ่นวาย และนำเรื่องมาโพสต์เป็นประเด็นใน Pantip.com อยู่บ่อยๆ

หนึ่งในกระทู้แจ้งปัญหา Overbooking ใน Pantip.com
หนึ่งในกระทู้แจ้งปัญหา Overbooking ใน Pantip.com

ความเห็นใน Pantip มักนำเรื่อง overbooking ไปเทียบกับสายการบินแบบ full-service ในต่างประเทศ ว่ามีการจัดการปัญหาที่ดีกว่ามาก แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของ 2Baht.com ก็พบว่าปัญหานี้ในต่างประเทศก็มีเช่นกัน และเกิดขึ้นกับสายการบินโลว์คอสต์ชื่อดังอย่าง EasyJet ของอังกฤษด้วย

Overbooking คือสายการบินเปิดขายตั๋วโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง เพราะผู้โดยสารมักมีกลุ่มที่ไม่มาขึ้นเครื่อง (เช่น มาสาย หรือ ติดธุระฉุกเฉิน) ในเกือบทุกเที่ยวบินอยู่แล้ว ถ้ามีจำนวนผู้โดยสารที่ไม่มาขึ้นเครื่องมากกว่าผู้โดยสารที่ overbooking ทุกคนก็ได้เดินทางกันทั้งหมด ไม่มีปัญหาอะไร

แต่ถ้าหากมีคนมาต่อคิวขึ้นเครื่องเกินจำนวน สายการบินก็จะใช้มาตรการเสนอผลประโยชน์ต่างๆ เช่น เลื่อนตั๋วไปไฟลท์หน้า โดยแถมเงินหรืออัพเกรดที่นั่งให้ จนกว่าจะมีผู้โดยสารบางรายยอมสละสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การจัดการของสายการบินมักไม่ค่อยถูกใจผู้โดยสารเท่าไรนัก (แค่โดนเลื่อนเดินทาง ก็โกรธประมาณหนึ่งอยู่แล้ว) กรณีของสายการบินโลว์คอสต์ EasyJet ก็มีปัญหานี้อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนของฝรั่งที่คนออกไปเที่ยวกันเยอะๆ

EasyJet
ภาพจากเว็บไซต์ EasyJet

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Independent รวบรวมผู้โดยสารที่มีปัญหา โดน overbooking จนไม่ได้ไปเที่ยวด้วยกันพร้อมหน้าทั้งคณะ ตามที่ซื้อตั๋วไว้

ผู้โดยสารรายหนึ่งซื้อตั๋ว 6 คน แต่มีที่นั่งแค่ 4 คน ตามกฎแล้วสายการบินจะต้องประกาศหา “อาสาสมัคร” ที่ยินดีสละที่นั่ง แต่ปรากฏว่า EasyJet กลับไม่สนใจทำอะไรแบบนี้เลย ซึ่งโฆษกของสายการบินยอมรับว่าเคสนี้ผิดปกติ และเป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลไฟลท์นั้น

ผู้โดยสารรายนี้ขอให้สายการบินซื้อตั๋วเครื่องบินของ British Airways ให้สมาชิกในคณะอีก 2 รายที่ตกเครื่อง ซึ่งเป็นไฟลท์ที่เดินทางไปในช่วงไล่เลี่ยกัน แต่ EasyJet กลับปฏิเสธ และนำเสนอไฟลท์ที่บินออกจากเมืองอื่นให้แทน ซึ่งต้องรออีกนาน 32 ชั่วโมงและเดินทางด้วยรถไปขึ้นเครื่องบินไกลถึงเกือบ 200 กิโลเมตร สุดท้ายผู้โดยสารจึงตัดสินใจควักเงินซื้อตั๋วของ British Airways ด้วยตัวเองแทน

สหภาพยุโรปมีกฎหมายชดเชยค่าเสียหายให้ผู้โดยสารที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องจากปัญหา overbooking โดยสายการบินต้องจ่ายเงิน 250 ยูโรชดเชย ถ้าเป็นไฟลท์บินระยะใกล้ และ 600 ยูโร ถ้าเป็นไฟลท์บินไกล แต่ก็ยังมีรายงานว่าผู้โดยสารที่ขอเงินชดเชยจาก EasyJet ได้รับเงินล่าช้า แม้จะติดต่อสายการบินไปหลายครั้งแล้วก็ตาม

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับสายการบินโลว์คอสต์เท่านั้น เพราะสายการบินยักษ์ใหญ่อย่าง British Airways ก็มีปัญหานี้ หลังผู้โดยสารเจอปัญหา overbooking จนไม่ได้เดินทาง และต้องรอไฟลท์ในวันถัดไป สายการบินกลับปฏิเสธไม่จ่ายค่าแท็กซี่ให้ผู้โดยสารกลับบ้าน จนหนังสือพิมพ์ The Independent เข้าไปรายงานจนเป็นข่าว สายการบินถึงยอมจ่ายเงิน

ข้อมูลจาก The Independent