เมืองเก่า Trogir

ไปเที่ยวโครเอเชียกันเถอะ รวมข้อมูลการท่องเที่ยวโครเอเชียที่คุณควรรู้

2Baht.com ขอเริ่มซีรีส์พาเที่ยว “ประเทศโครเอเชีย” ประเทศท่องเที่ยวดาวรุ่งที่คนไทยยังไปกันไม่เยอะนัก (แต่ฝั่งยุโรปเขารู้จักกันมานานแล้ว) สำหรับตอนแรกขอเริ่มจากข้อมูลการท่องเที่ยวประเทศโครเอเชียแบบภาพรวม ก่อนจะเจาะรายละเอียดรายเมือง-แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในตอนต่อๆ ไป

ประเทศโครเอเชีย อยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก

คำถามแรกที่มักได้รับเมื่อบอกว่า “ไปเที่ยวโครเอเชียมา” ก็คือ “มันอยู่ตรงไหนหว่า???” เราเชื่อว่าหลายคนคงรู้จักชื่อประเทศโครเอเชียมา แต่นึกพิกัดไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน ถ้าอธิบายแบบสั้นๆ โครเอเชียเป็นประเทศที่อยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan) ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศกรีซ หรือถ้านึกถึงประเทศอิตาลีที่เป็นรูปรองเท้าบูต ข้ามทะเลมาทางตะวันออก ตรงนั้นล่ะครับคือโครเอเชีย

ประเทศโครเอเชีย และประเทศอื่นๆ ที่เคยอยู่ในสังกัดยูโกสลาเวียเดิม ถือเป็นดินแดนที่มีพรมแดนติดกับประเทศดังๆ ในยุโรปหลายแห่ง

  • ทิศเหนือ: ติดกับสโลวีเนีย-ฮังการี (ไม่ไกลจากออสเตรีย)
  • ทิศตะวันตก: ติดทะเลอาเดรียติก (Adriatic) ข้ามไปเจออิตาลี
  • ทิศตะวันออก: ติดกับบอสเนีย-เซอร์เบีย (ถัดไปเป็นโรมาเนีย บัลแกเรีย)
  • ทิศใต้: ติดกับมอนเตเนโกร (ถัดไปเป็นแอลบาเนีย กรีซ มาเซโดเนีย)

รู้จักประเทศโครเอเชีย

โครเอเชียเป็นหนึ่งในประเทศที่แยกตัวมาจากยูโกสลาเวียเดิมในปี 1992 โดยได้ดินแดนเกือบทั้งหมดที่ติดชายฝั่งทะเลยาว 6,278 กิโลเมตรไป ความโชคดีนี้ส่งผลให้โครเอเชียมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมากมาย มีเกาะเป็นพันเกาะ ถือเป็นประเทศท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิประเทศ-ภูมิอากาศก็จะคล้ายๆ กับอิตาลีตอนใต้หรือกรีซนั่นเอง นั่นคือค่อนข้างร้อนแห้ง และหน้าหนาวก็ไม่หนาวจัดแบบยุโรปตอนบน

คนโครเอเชียมีเชื้อสาย “สลาฟ” หรือ “สลาวิก” ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับรัสเซียและประเทศในยุโรปตะวันออก โดยเป็นเผ่าย่อยที่เรียกตัวเองว่า “โครแอท” (Croat) มีภาษาโครแอทเป็นภาษาประจำชาติ (ตระกูลเดียวกับภาษากลุ่มสลาวิก) นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกเหมือนอิตาลี และมีเมืองหลวงคือกรุงซาเกร็บ (Zagreb) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ สกุลเงินใช้เงินคูนา (Kuna) ของตัวเอง

อุตสาหกรรมหลักของโครเอเชียคือ “ท่องเที่ยว” และ “ประมง” (จากการที่อยู่ติดทะเล) ดังนั้นโครเอเชียจึงเป็นประเทศที่เปิดกว้างรับนักท่องเที่ยวมาก สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งพูดภาษาอังกฤษได้หมด และเผลอๆ บางที่ถึงขั้นยินดีเป็นเงินยูโรด้วยเลยล่ะ

คลิปโปรโมทการท่องเที่ยวโครเอเชีย (แบบสั้น)

https://www.youtube.com/watch?v=ZjlxbM0IEYk

ประวัติศาสตร์โครเอเชีย แบบรวบรัด

ก่อนพาเที่ยวโครเอเชีย ขอเล่าประวัติศาสตร์โครเอเชียแบบสั้นๆ พอให้เห็นภาพ พื้นที่ตรงคาบสมุทรบอลข่านมีคนตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน โดยชาวโรมันเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า “ดัลมาเชีย” (Dalmatia) ซึ่งเป็นที่มาของสุนัขพันธุ์ดัลเมเชี่ยนนั่นเองครับ

พอโรมันตะวันตก (กรุงโรม) ล่มสลายไป อาณาจักรในแถบนี้ก็กลายเป็นอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อย อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine) หรือโรมันตะวันออก จากนั้นในศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ดินแดนโครเอเชียก็อยู่ระหว่างอิทธิพลของอาณาจักรเวนิซทางตะวันตก และอาณาจักรออตโตมัน (ตุรกี) ทางตะวันออก พอถึงช่วงศตวรรษที่ 18-19 จักรวรรดิออสเตรียทางตอนเหนือเริ่มเรืองอำนาจมากขึ้น ในขณะที่ออตโตมันเสื่อมลง โครเอเชียจึงอยู่ภายใต้อำนาจของออสเตรียแทน

จักรวรรดิออสเตรียหมดอำนาจลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1918) ประเทศโครเอเชียและประเทศใกล้เคียงจึงเป็นอิสระ รวมตัวกันเป็น ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (Yugoslavia แปลว่า สลาฟใต้) ราชอาณาจักรนี้ดำรงอยู่ได้มาระยะหนึ่ง จนถึงสงครามโลกครั้งที่สองก็โดนฝ่ายนาซีเยอรมันบุก ช่วงนั้น นายพลติโต (Tito) รวมกำลังต่อต้านเยอรมันได้สำเร็จ หลังสงครามจบ ติโตจึงตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐยูโกสลาเวียขึ้นมา โดยใช้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ลักษณะเดียวกับโซเวียต

อย่างไรก็ตาม พื้นที่คาบสมุทรบอลข่านมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา ทั้งคนโครแอท เซิร์บ สโลวีเนีย มอนเตเนโกร ฯลฯ ส่วนศาสนาก็มีทั้งคริสต์คาธอลิก คริสต์ออโธด็อกซ์ และอิสลาม (เพราะเคยอยู่ใต้ออตโตมัน) ความหลากหลายขนาดนี้ไม่สามารถรวมอยู่ใต้ประเทศเดียวกันได้นาน หลังจากติโตตายในปี 1980 และฝ่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลายจากสงครามเย็น ทำให้ประเทศโครเอเชียและสโลวีเนียที่อยู่ติดกัน แยกตัวออกมาจากยูโกสลาเวียในปี 1992

โครเอเชียมีอะไรให้เที่ยว?

อย่างที่เล่าไปแล้วว่าโครเอเชียแยกตัวมาจากยูโกสลาเวียเดิม แต่ดันโชคดีว่าโครเอเชียได้ดินแดนที่ติดทะเลอาเดรียติก (Adriatic) เกือบทั้งหมดไปด้วย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ทะเลไปเยอะเท่านี้ ส่งผลให้โครเอเชียกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวในแถบคาบสมุทรบอลข่าน

ถ้าแยกตามภูมิศาสตร์แบบคร่าวๆ ดินแดนโครเอเชียแยกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือตอนบน (Croatia Proper และ Slavonia) ที่ไม่ติดทะเล เป็นพื้นที่ของนครหลวงซาเกร็บ สภาพภูมิศาสตร์และสภาพอากาศจะเป็นแบบยุโรปพื้นทวีป (เหมือนพวกออสเตรีย) นั่นคือเน้นภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ ส่วนพื้นที่ตอนล่าง แคว้นดัลมาเชีย (Dalmatia) ที่ติดทะเล ก็จะเป็นพื้นที่ราบแคบๆ อยู่ระหว่างทะเลและเทือกเขา ต้นไม้ก็จะเตี้ยๆ สภาพอากาศจะเหมือนอิตาลีหรือกรีซมากกว่า

Croatia Map
แผนที่ประเทศโครเอเชีย – ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย

แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของโครเอเชียจะอยู่ทางภาคใต้ของประเทศมากกว่าทางตอนเหนือ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบเที่ยวแบบไหน เพราะโครเอเชียมีครบทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (เมืองเก่า โบสถ์เก่า พระราชวังโบราณ ยุคๆ อัศวินแบบเดียวกับอิตาลี) และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ทะเล เกาะ น้ำตก ป่า ภูเขา หิมะ)

คลิปโปรโมทการท่องเที่ยวโครเอเชีย แบบยาว 4 นาที

หลายคนอาจกังวลว่าโครเอเชียเป็นอดีตประเทศคอมมิวนิสต์เดิม ความเจริญอาจไม่เท่าประเทศฝั่งยุโรปตะวันตก อันนี้ก็ถือว่าจริงอยู่บางส่วน แต่หลังจากเปิดประเทศมา โครเอเชียก็พัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว พวกร้านรวงต่างๆ ก็มาตรฐานเดียวกับยุโรปตะวันตกทั้งหมด เดินในเมืองใหญ่ก็มี McDonald’s, Starbucks และแบรนด์สินค้ามากมาย แต่ถ้าจะเน้นมาช็อปปิ้งสินค้าหรูหราระดับเดียวกับสวิส ปารีส มิลาน ก็คงยังไปไม่ถึงขั้นนั้น เน้นมาเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-ธรรมชาติจะดีกว่า

บรรยากาศเมืองหลวง Zagreb ยามค่ำคืน - ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย
บรรยากาศเมืองหลวง Zagreb ยามค่ำคืน – ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย
บรรยากาศ Christmas Market ในกรุง Zagreb ตลาดคริสต์มาสที่ดีที่สุดในยุโรป ประจำปี 2016
บรรยากาศ Christmas Market ในกรุง Zagreb ตลาดคริสต์มาสที่ดีที่สุดในยุโรป ประจำปี 2016

โครเอเชียมีมรดกโลก 7 แห่ง

ปัจจุบัน โครเอเชียมีสถานที่เป็นมรดกโลก (World Heritage) ทั้งหมด 7 แห่ง (มากกว่าประเทศไทยซะอีก) โดยมีทั้งมรดกโลกเชิงวัฒนธรรม และมรดกโลกทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในโครเอเชียก็เป็นไปตามนี้แหละ

1) วิหารโบราณที่เมือง Porec เป็นวิหารคริสต์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 อยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกสุดของประเทศ แคว้น Istria ที่อยู่เกือบติดกับประเทศอิตาลี

Porec, Croatia
Basilica of St. Euphrasius ภาพจาก Flickr – Hans Partes

2) อุทยานแห่งชาติพลิตวิเซ่ (Plitvice) เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติชื่อดังของโครเอเชีย เป็นพื้นที่น้ำตก ลำธาร ป่าไม้ ที่สวยงามระดับโลก

อุทยานแห่งชาติ Plitvice ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย
อุทยานแห่งชาติ Plitvice ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย

3) มหาวิหารเซนต์เจมส์ (Cathedral of St. James) หรืออีกชื่อคือเซนต์จาค็อบ (St.Jacob) อยู่ที่เมืองซิบีนิก (Sibenik) เมืองติดทะเลทางใต้

มหาวิหาร St.James แห่งเมือง Sibenik
มหาวิหาร St.James แห่งเมือง Sibenik (ภาพโดย 2Baht.com)

4) พระราชวังของจักรพรรดิดิโอคลีเชียน (Palace of Diocletian) แห่งจักรวรรดิโรมันในอดีต ตั้งอยู่ที่เมืองสปลิต (Split) เมืองใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของประเทศ

Palace of Diocletian เมือง Split
Palace of Diocletian เมือง Split (ภาพโดย 2Baht.com)

5) เมืองเก่าโทรเกียร์ (Trogir) เป็นเมืองบนเกาะที่อยู่ติดชายฝั่ง อยู่ใกล้ๆ กับเมือง Split

เมืองเก่า Trogir
เมืองเก่า Trogir (ภาพโดย 2Baht.com)
Trogir ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย
Trogir จากมุมสูง – ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย

6) ย่านเมืองเก่าดูบรอฟนิก (Dubrovnik) เมืองติดทะเลทางตอนใต้สุดของประเทศ เป็นเมืองยุคกลาง มีกำแพงเมืองโบราณล้อมรอบ สภาพสมบูรณ์มาก ถ้าใครเคยชมภาพยนตร์ทีวีชุด Game of Thrones ก็มาถ่ายที่เมืองนี้นี่เอง อ่านรายละเอียดได้จากบทความ พาเที่ยวเมือง Dubrovnik โครเอเชีย ตามรอย Game of Thrones

Dubrovnik
Dubrovnik (ภาพโดย 2Baht.com)
Dubrovnik - ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย
Dubrovnik – ภาพจากการท่องเที่ยวโครเอเชีย

7) Stari Grad Plain เป็นย่านเพาะปลูกโบราณตั้งแต่สมัยกรีก อยู่บนเกาะฮวาร์ (Hvar) เกาะใหญ่นอกชายฝั่งของเมืองสปลิต

เกาะ Hvar
เกาะ Hvar ภาพจาก Flickr – Ramón

อาหารการกินในโครเอเชีย

หมดจากเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว หลายคนอาจมีข้อสงสัยเรื่องอาหารการกินในโครเอเชียเป็นอย่างไรบ้าง คำตอบคือโครเอเชียเป็นประเทศในทวีปยุโรป รูปแบบอาหารก็ไม่ต่างอะไรจากอาหารในยุโรปแถบออสเตรีย-ยุโรปตะวันออกมากนัก แต่เนื่องจากเป็นประเทศติดทะเล การประมงเฟื่องฟู อาหารที่โดดเด่นจึงเน้นอาหารทะเล พวกปลา กุ้ง หอย ปลาหมึกเป็นหลัก (เท่าที่สังเกตไม่ค่อยมีปูเท่าไรนัก) การทำอาหารก็เน้นปิ้งย่างตามสไตล์ฝรั่ง ใครจะไปเที่ยวก็แนะนำให้ติดน้ำจิ้มซีฟู้ดจากไทยไปด้วย จะเข้ากันได้เป็นอย่างดี

โดยรวมแล้วถือว่าอาหารโครเอเชียอร่อยทีเดียวเมื่อเทียบกับมาตรฐานยุโรป ส่วนร้านอาหารจีน-เอเชียก็พอมีบ้างให้อาศัยเวลาคิดถึงข้าว แต่ถ้าใครกินยากหรือติดต้องกินอาหารไทยทุกมื้อ ก็ควรเตรียมเสบียงของตัวเองไปด้วยตามปกติ

Croatia Food
ตัวอย่างอาหารทะเลในโครเอเชีย

การเดินทางไปเที่ยวโครเอเชีย

โครเอเชียมีสนามบินนานาชาติที่เมืองหลวงซาเกร็บ (Zagreb) ทางตอนบน, เมืองสปลิต (Split) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตอนใต้ และเมืองดูบรอฟนิก (Dubrovnik) เมืองท่องเที่ยวที่อยู่ทางใต้สุดของประเทศ

ปัจจุบันจากเมืองไทยยังไม่มีเที่ยวบินตรงไปยังสนามบินในโครเอเชีย การเดินทางจึงต้องต่อเครื่อง ซึ่งเราก็สามารถเลือกสายการบินได้หลากหลาย ทั้งสายการบินตะวันออกกลางอย่าง Qatar (แวะเปลี่ยนเครื่องที่โดฮา), สายการบินตุรกี Turkish Airlines (แวะเปลี่ยนที่อิสตันบูล)

ส่วนสายการบินฝั่งยุโรป ที่สะดวกที่สุดคือ Austrian Airlines (แวะเปลี่ยนเครื่องที่เวียนนา) เพราะใช้เวลาเดินทางรวมสั้นที่สุด 12.5 ชั่วโมงเท่านั้น (มีบินจากไทยทุกวัน วันละ 1 ไฟลท์) หรือถ้ารับได้กับการบินย้อนไปอีกหน่อย เลือก Lufthansa (เปลี่ยนเครื่องแฟรงค์เฟิร์ต) ก็ได้เช่นกัน

ส่วนการเดินทางภายในประเทศโครเอเชีย อันนี้ต้องบอกว่าอาจลำบากกว่าประเทศฝั่งยุโรปตะวันตกอยู่บ้าง เพราะระบบการคมนาคมทางรางยังไม่สะดวกมากเหมือนกับพวกเยอรมนี สวิส ฝรั่งเศส ถ้าเน้นเที่ยวแค่เมืองใหญ่ๆ อย่าง Zagreb, Split, Dubrovnik ก็คงไม่มีปัญหา เพราะบินไปลงที่สนามบินของเมืองเหล่านี้ได้เลย แต่ถ้าจะไปสถานที่นอกๆ เมืองหน่อยหรือตามเมืองเล็กๆ การไปกับทัวร์อาจดีกว่าในแง่การเดินทาง

การขอวีซ่าเข้าโครเอเชีย

นักเดินทางชาวไทยที่ต้องการเข้าประเทศโครเอเชีย จำเป็นต้องขอวีซ่าโครเอเชีย และกระบวนการขออาจจะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง (ไม่ยุ่งยากนักแต่นาน) เพราะโครเอเชียยังไม่มีสถานทูตประจำประเทศไทย มีแต่สถานกงสุลเท่านั้น ดังนั้นเอกสารการขอวีซ่าจะต้องถูกส่งผ่านสถานกงสุลในไทย ไปยังสถานทูตโครเอเชียที่อินโดนีเซียรอบหนึ่งก่อน แล้วค่อยส่งพาสปอร์ตกลับมายังประเทศไทยอีกรอบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่มีวีซ่าเข้ากลุ่มประเทศเชงเก้นอยู่แล้ว และยังไม่หมดอายุ (ช่วงหลังวีซ่าเชงเก้นมักอนุมัติให้ยาวกว่าเดิม เช่น 6 เดือนหรือ 1 ปี) สามารถใช้วีซ่าเชงเก้น (แบบ multiple) เข้าโครเอเชียได้เลย ช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวในโครเอเชียสะดวกมากขึ้นมาก (โครเอเชียไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศเชงเก้น แต่มีข้อตกลงพิเศษต่อกัน และจะเข้ากลุ่มเชงเก้นในอนาคตต่อไป ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศสีเหลืองตามแผนที่ด้านล่าง)

แผนที่กลุ่มประเทศเชงเก้น (Schengen Area) ภาพจาก Wikipedia
แผนที่กลุ่มประเทศเชงเก้น (Schengen Area) ภาพจาก Wikipedia

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่าน 2Baht คงพอเห็นภาพรวมของการท่องเที่ยวประเทศโครเอเชียกันมากขึ้น ในตอนหน้าเราจะเริ่มพาเที่ยวประเทศโครเอเชียกันแล้ว!