หลายคนอาจเคยเห็นคำว่า การขอรับรองเอกสาร (Document Legalization Service) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึง การแปลเอกสารจากไทยเป็นภาษาอังกฤษ เช่น บัตรประชาชน, สูติบัตร, Transcript-วุฒิการศึกษา, ทะเบียนสมรส แล้วให้ทางกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้รับรองการแปล เพื่อยืนยันว่าเป็นเอกสารจากทางการที่แปลได้ถูกต้องแล้ว หรือ เป็นการรับรองสำเนาถูกต้อง อย่างเป็นทางการ
การรับรองเอกสาร มักใช้สำหรับประกอบการขอ Work Permit การทำงานต่างประเทศ ที่ต้องการความถูกต้องและความเป็นทางการของการแปล ทำให้จำเป็นต้องผ่านการตรวจจากกรมการกงสุลเสมอ
กระบวนการขอรับรองเอกสารค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร สำหรับคนที่ไม่เคยทำมาก่อนอาจไม่เข้าใจกระบวนการว่าทำอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ต้องไปทำที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร
เว็บไซต์ 2Baht.com จึงขออธิบายแนวทางการขอรับรองเอกสาร และเทคนิคต่างๆ ที่น่าสนใจ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ต้องการแปลเอกสาร และยื่นรับรองเอกสารด้วยตัวเอง
สิ่งที่ควรทราบมีดังนี้
การรับรองเอกสาร มีกี่ประเภท?
กรมการกงสุล ระบุว่าการรับรองเอกสารมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
- การรับรองคำแปล มักใช้กับเอกสารที่หน่วยงานราชการไทยออกให้ เช่น สูติบัตร มรณบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน ใบปริญญา เอกสารรับรองวุฒิการศึกษา แบ่งตามภาษาได้อีก 3 กลุ่มคือ
- แปลเอกสารภาษาไทยเป็นอังกฤษ
- แปลเอกสารภาษาอังกฤษเป็นไทย
- แปลเอกสารภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และเอกสารภาษาไทย เป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
- การรับรองลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามในเอกสาร มักใช้กับเอกสารด้านการค้า การเงิน หนังสือมอบอำนาจ หนังสือรับรอง
- การรับรองสำเนาเอกสารที่หน่วยงานราชการไทยออกให้ เป็นการรับรอง “สำเนา” ของเอกสารว่าเป็นสำเนาที่ทำจากเอกสารจริงโดยไม่ปลอมแปลง (certified true copy) ใช้กับสำเนาเอกสารอะไรก็ได้ที่ออกโดยหน่วยงานราชการไทย
สำหรับบุคคลทั่วไปมักเข้าข่ายข้อ 1 คือรับรองการแปลเอกสารว่าถูกต้อง ได้ใจความ ไม่แปลมั่ว ตรวจสอบแล้วโดยกรมการกงสุล ดังนั้น 2Baht.com ขอแนะนำเทคนิคที่น่าสนใจสำหรับการแปลเอกสารเพื่อขอรับรองดังนี้
เทคนิคแนะนำสำหรับการแปลเอกสารด้วยตัวเอง
ผู้ยื่นคำร้องขอรับรองเอกสารคำแปลมีหน้าที่ต้อง ‘แปลเอกสาร’ เอง (จะแปลเองหรือจ้างแปลก็ได้) เมื่อได้เอกสารที่แปลแล้วค่อยยื่นให้กรมการกงสุล รับรองคำแปลอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการจ้างแปล ถ้าเป็นบริษัทหรือบุคคลที่มีอาชีพรับแปลเอกสารลักษณะนี้อยู่แล้ว จะทราบเทคนิคการแปลเอกสารเป็นอย่างดี เพียงแต่บางครั้งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เพราะเอกสารบางอย่างที่มีรูปแบบมาตรฐานอยู่แล้ว เราสามารถทำเองได้ไม่ยากเลย แม้จะไม่ได้จบอักษรศาสตร์ หรือ เป็นนักแปลก็ตาม
ในกรณีที่ต้องการรับรองเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการไทยที่พบได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น สูติบัตร มรณบัตร หนังสือรับรองการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ฯลฯ ทางกรมการกงสุลมีตัวอย่างการแปลข้อความในเอกสารมาให้อยู่แล้ว หน้าที่ของเราแค่นำตัวอย่างเอกสารตามข้อ (1) มาใส่ข้อมูลเฉพาะของเราลงไป แล้วค่อยนำไปยื่นคำร้องอีกทีหนึ่ง ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้มาก
ขั้นตอนการแปลเอกสารด้วยตัวเอง มีดังนี้
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม หรือ Template เพื่อแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ :
- ถ้าเป็นเอกสารราชการตามรายชื่อข้างต้นก็จะง่ายหน่อย ให้ดูตรงมุมของเอกสารว่าชื่ออะไร แล้วเลือกเข้าเว็บกรมการกุงศล เพื่อ download ตัวอย่างฟอร์มการแปลเอกสาร มาแก้ไขเองเลย
- ถ้าเป็นเอกสารอื่นๆ เช่น Transcript ของมหาวิทยาลัย แนะนำให้วาด Template เอกสารเองจาก MS Word, Excel โดยให้ตำแหน่งของข้อความอยู่ตรงกับต้นฉบับ (หน่วยวัดหรือ scale ไม่ต้องเป๊ะเทียบเท่าของจริงก็ได้ แต่ขอหน่วยงานต่างชาติที่เราติดต่อสามารถรู้ตำแหน่ง บน ล่าง ซ้าย ขวา เทียบเคียงกับเอกสารต้นฉบับได้ เพื่อที่จะได้ทราบคำแปลเอกสารแต่ละจุด)
- หากเอกสารต้นฉบับใหญ่กว่า A4 สามารถแปลเอกสารโดยใช้กระดาษขนาด A4 ได้เช่นกัน แต่ขอให้ตำแหน่งของข้อความตรงกัน
- การแปลชื่อ-นามสกุล การถอดเสียง เทียบเสียง หรือ แปล คำภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ แนะนำว่าให้อ่านหลักเกณฑ์การถอดภาษาไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง ของราชบัณฑิตยสถาน : อันที่ใช้บ่อยๆ ก็ตารางเทียบพยัญชนะ (หน้า 1-2) และตารางเทียบสระ (หน้า 4)
- การแปลที่อยู่ ชื่อเขต/อำเภอ/จังหวัด มีวิธีที่ง่ายกว่าการเทียบเสียง เพราะราชบัณฑิตยสถานเค้าได้เทียบเสียงให้เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นคำแปลอย่างเป็นทางการ สามารถเลือกหาไปใช้ได้เลยตามลิงก์ : ลำดับชื่อจังหวัด อำเภอ เขต
- ชื่อหน่วยงาน องค์กร เราควรดูจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ว่าเขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษอย่างไร แล้วใช้ตามนั้นไปเลย อย่าพยายามถอดเสียงเอง
- คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษอื่นๆ เช่น ชื่อยศทหาร ตำรวจ ชื่อประเทศ
- ตอนท้ายของเอกสารที่แปล ให้ลงท้าย “Certified Correct Translation” แล้วใส่ชื่อผู้แปลพร้อมลายเซ็นกำกับลงไปด้วย ถ้าเอกสารเราเอง ก็เป็นชื่อเรา ลายเซ็นแบบเดียวกับหนังสือเดินทาง (Passport) ก็ดี จะได้สอดคล้องกันหมด
เทคนิคควรรู้เพิ่มเติม
- พวกรูปถ่ายไม่ต้อง scan แล้วเอามาแปะในเอกสารแปลนะ พิมพ์คำว่า “Photo” ก็พอ คล้ายๆ ตัวอย่างคำแปลแบบฟอร์มบัตรประชาชน เพราะสุดท้ายเราต้อง ถ่ายสำเนาของเอกสารต้นฉบับแนบไปให้เจ้าหน้าที่ประทับตรารับรองอยู่แล้ว
- ปี พ.ศ. ก็แปลให้เป็น ปี ค.ศ. ตามสากล (นำตัวเลข พ.ศ. ลบด้วย 543)
- กรณีขอ Work Permit หรือเอกสารอื่นใดที่ต้องแนบหนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ต้องแปลเอกสารการเปลี่ยนชื่อ/นามสกุลทุกฉบับ ไล่เรียงตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน เช่น เปลี่ยนชื่อ 3 ครั้ง ก็ต้องมีทั้ง 3 รายการ
เมื่อแปลเอกสารเสร็จเรียบร้อยก็ตรวจทานข้อความทั้งหมดอีกครั้ง จากนั้นเราก็เตรียมการยื่นเอกสารไปยังกรมการกงสุลได้แล้ว
การเตรียมการก่อนยื่นขอรับรองเอกสาร
การยื่นขอรับรองเอกสารจากกรมการกงสุล จะต้องเขียน “คำร้อง” เพื่อให้กรมการกงสุลตรวจสอบและรับรองการแปลเอกสารให้เรา พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมและยื่นเอกสาร-หลักฐานประกอบคำร้องตามที่กรมฯ กำหนดด้วย
เอกสารทั้งหมดที่ต้องเตรียม มีดังนี้
เอกสารประกอบคำร้อง
- กรอกคำร้องตามแบบฟอร์มคำร้องขอรับรองเอกสาร ดาวน์โหลดไฟล์ .doc จากเว็บไซต์แล้ว print ลงกระดาษได้เลย
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนประกอบการยื่นคำร้อง
- หากยื่นแทนเจ้าของเอกสารต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตร ประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
เอกสารที่ขอรับรอง ต่อ 1 รายการ
- ต้นฉบับเอกสารภาษาไทย (ใช้ประกอบการยื่นเพื่อยืนยันว่าเอกสารสำเนามาจากของแท้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเสร็จแล้วก็จะคืนให้)
- สำเนา 1 ชุด (หรือ เอกสาร xerox ไม่ต้องเซ็นรับรองอะไรทั้งนั้นนะ เดี๋ยวทางกรมการกงสุลจะประทับตราสำเนาถูกต้องให้ หรือเรียกอีกอย่างว่า Certified True Copy ซึ่งเป็นการรับรองเฉพาะเอกสารที่ทางราชการไทยออกให้ เช่น บัตรประชาชน สูติบัตร หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อ)
- ต้นฉบับคำแปลภาษาอังกฤษ (เอกสารที่แปลจากไทยเป็นอังกฤษ)
ระยะเวลาการขอรับรองเอกสาร แปลเอกสาร และค่าบริการ
ควรเตรียมเงินไปให้พอดี จะมีอยู่ 2 อัตรา คือ แบบปกติ (3 วันได้) และ แบบด่วน (วันเดียวได้เลย)
ประเภทการยื่น | เวลาสำหรับยื่น | วันที่รอรับเอกสาร | ค่าธรรมเนียม |
1. แบบปกติ | 8.00-15.00 น. | วันทำการที่ 3 หลังจากยื่นเอกสาร | 200 บ. /ชุด |
2. แบบด่วน | 8.00-9.00 น. | ได้รับเอกสารคืนภายในวันที่ยื่น | 400 บ. /ชุด |
กรมการกงสุลจะนับเอกสารเป็น “ชุด” คือเอกสารที่จะแปลมีกี่ชุดก็คูณตามอัตราค่าบริการไป แต่ไม่ได้นับตามหน้าเอกสาร ต้องระวังว่ากรมการกงสุลนับสำเนาเอกสารต้นฉบับ กับเอกสารฉบับแปลเป็นคนละชุดกัน ดังนั้นควรคำนวณเงินให้พอดีเพื่อไม่ให้เสียเวลา
หมายเหตุ ประเภทของเอกสารที่สามารถขอรับรอง “แบบด่วน” ได้แก่ เอกสารที่มีรูปแบบหรือแบบฟอร์มในการแปลที่ชัดเจนตายตัว และใช้ภาษาในการแปลไม่ยากและซับซ้อน ซึ่งใช้เวลาในการตรวจแก้ไขไม่นาน – รายละเอียด
ตัวอย่างการยื่นขอรับรองเอกสาร
เราลองกำหนดโจทย์กันเล่นๆ ว่าถ้าต้องการยื่นรับรองบัตรประชาชน สูติบัตร และ Transcript ที่เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยตัวเอง แบบด่วน เอกสารที่ต้องเตรียมมีดังนี้
- เอกสารสำหรับยื่นคำร้อง : แบบฟอร์มคำร้อง 1 ใบ, สำเนาบัตรประชาชนประกอบการยื่น 1 ใบ
- เอกสารสำหรับการรับรองบัตรประชาชน : บัตรประชาชนตัวจริง, สำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ เพื่อให้กงสุล Certified True Copy (ไม่ต้องเซ็นรับรองสำเนา), เอกสารที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ (เซ็นรับรองการแปลที่ใต้ Certified Correct Translation)… รวมรับรอง 2 ชุด (สำเนา 1, แปล 1)
- เอกสารสำหรับการรับรองสูติบัตร : สูติบัตรตัวจริง, สำเนาสูติบัตร 1 ใบ เพื่อให้กงสุล Certified True Copy (ไม่ต้องเซ็นรับรองสำเนา), สูติบัตรที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ (เซ็นรับรองการแปลที่ใต้ Certified Correct Translation)… รวมรับรอง 2 ชุด (สำเนา 1, แปล 1)
- เอกสารสำหรับการรับรอง Transcript ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว : Transcript ตัวจริง, สำเนา Transcript 1 ใบ เพื่อให้กงสุล Certified True Copy (ไม่ต้องเซ็นรับรองสำเนา)… รวมรับรอง 1 ชุด เฉพาะสำเนา
ค่าใช้จ่ายกรณีแบบด่วน ใบละ 400 บ. ในที่นี้รวมกันได้ 5 ชุดก็จะเป็นเงินทั้งสิ้น 400 x 5 = 2,000 บาท
คำแนะนำ
- ควรพก Notebook, Thumbdrive พร้อมไฟล์เอกสาร รวมทั้งอุปกรณ์ลบคำผิด ไปเผื่อแก้ไขเพิ่มเติมด้วย แก้นิดๆ หน่อยๆ เจ้าหน้าที่ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมประการใด (จากที่เคยไปขอรับรองเอกสารเมื่อปี 2008 ทางกองฯ ไดจัดเตรียม printer และเครื่องพิมพดีดสําหรับแกไขเอกสารใหอยูในหอง Supervisor บริเวณใกล้กับบริเวณที่ยื่นคำร้องเลย)
- หากเอกสารใดมีทั้งไทยและอังกฤษ เช่น หนังสือรับรองวุฒิบัตรของบางสถาบันการศึกษา 2Baht ขอแนะนำให้ใช้เอกสารฉบับภาษาอังกฤษ จะได้ไม่ต้องแปล และไม่สิ้นเปลืองค่าธรรมเนียม เพราะมองว่ามีแค่ 1 ชุด ซึ่งต่างจากเอกสารไทยส่วนใหญ่ที่มองเป็น 2 ชุด (สำเนา 1, แปล 1)
ขั้นตอนในการรับรองเอกสาร
ในกรณีที่ยื่นขอรับรองเอกสารด้วยตัวเอง สามารถดูขั้นตอนได้ตามแผนภาพด้านล่าง
download ได้ที่นี่
วิธีการ-สถานที่ติดต่อ เพื่อขอรับรองเอกสาร
การยื่นมี 2 แบบ คือ ยื่นด้วยตัวเอง หรือ ยื่นทางไปรษณีย์
- กรุงเทพ : กองสัญชาติและนิติกรณ์ ชั้น 3 กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ
หมายเหตุ กรมการกงสุลแจ้งวัฒนะ มีที่จอดรถค่อนข้างจำกัดมาก แนะนำให้เดินทางด้วยการขนส่งมวลชน (เช่น แท็กซี่) หรือสามารถไปจอดรถย่านใกล้เคียง เช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บิ๊กซีแจ้งวัฒนะ หรือห้าง IT Square หลักสี่ แล้วค่อยนั่งแท็กซี่ไปจะง่ายกว่า
- ต่างจังหวัด :
- สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวส่วนภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี สงขลา หรือ
- บริการทางไปรษณีย์ (EMS) ในการยื่นและรับเอกสารคืน (รายละเอียด)
- ต่างประเทศ :
- สถานเอกอัครราชทูต, สถานกงสุลใหญ่, สํานักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย, สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ที่ได้รับมอบหมาย
- โทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-575-1057 ถึง 60 โทรสาร 02-575-1054
- E-mail : consular04@mfa.go.th
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก
คุณสามารถติดตามข้อมูล ข่าวสาร เทคนิคการท่องเที่ยว ได้จากเพจ 2Baht.com อีกช่องทางหนึ่งค่ะ