เราเคยมีประสบการณ์ตรงจาก “อาหารเป็นพิษ” ตอนไปเที่ยวอินเดียเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้วค่ะ เป็นอาการรุนแรงที่สุดที่เคยเจอมา แม้ว่าจะรีบทานยาฆ่าเชื้อจากคุณหมอในคณะทัวร์เดียวกันก็ตาม เราก็ยังท้องเสียอย่างรุนแรงเข้าห้องน้ำไปเกือบ 10 รอบตลอดคืน (ยังไม่รวมอาเจียนอีก 4-5 ครั้ง) แน่นอนว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหมดแรง หมดสภาพไปเลย
แต่ยังมีโชคดีบนความโชคร้าย ที่บังเอิญว่าคืนนั้นเป็นคืนสุดท้ายก่อนบินกลับไทยจึงไม่ต้องย้ายเมืองกันอีก วันรุ่งขึ้นเราจึงไม่ไปเที่ยวกับคณะทัวร์ต่อ ขอนอนพักผ่อนเอาแรงและรอเช็คเอาท์โรงแรมตอนเที่ยง จากนั้นค่อยเรียก Taxi เพื่อไปสมทบกับคณะทัวร์ที่สนามบิน จนทุกวันนี้เวลาใครชวนเที่ยว “อินเดีย” ก็ยังรู้สึกหลอนๆ อยู่นะ
มาเข้าเรื่องกันดีกว่าค่ะ แรงบันดาลใจของบทความชิ้นนี้ได้มาจาก TripAdvisor เกี่ยวกับ 12 ข้อพึงระวังอาหารเป็นพิษ ทำให้เราฉุกคิดขึ้นได้ว่าในระหว่างเที่ยว อาจมีบางข้อที่เราละเลยไป ยิ่งพอไม่คุ้นกับสภาพแวดล้อมต่างถิ่นด้วย ภูมิคุ้มกันอาจมีปัญหา จึงอยากแชร์ข้อพึงระวังพวกนี้ให้เพื่อนๆ นักเดินทางระมัดระวังกันไว้ด้วย เพราะเจออาหารเป็นพิษระหว่างการเดินทางไกลนี่ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย
1. ล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหาร
หลักการพื้นฐานที่ทุกคนรู้แต่อาจลืมหรือละเลย หากเป็นไปได้ควรล้างมือด้วยสบู่ หรือ ใช้ทิชชู่เปียกสะอาดๆ เช็ดมือก่อนทานอาหาร
2. ดื่มน้ำสะอาดจากขวดบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ไปเที่ยวมาหลายที่ พบว่าน้ำดื่มในร้านอาหารของบางประเทศเป็นน้ำประปาจากก๊อก ซึ่งความสะอาดก็แตกต่างกันไป ถ้าเป็นในประเทศพัฒนาแล้ว น้ำสะอาดทานได้ไม่มีปัญหา แต่เพื่อสุขอนามัยที่ดี ถ้าเลือกได้ ควรทานน้ำจากขวดที่ซีลสนิทมิดชิด หรือถ้าไม่ชัวร์ อาจจะทานน้ำอัดลมแทน (ซีลมิดชิดแน่นอนเพราะว่าอัดก๊าซเข้าไป) อันนี้เราเห็นฝรั่งหลายคนที่มาเมืองไทยก็ทำแบบนี้เหมือนกัน
นอกจากนี้ควรตรวจสอบภาชนะ จานชาม ช้อนส้อม ให้ดีๆ ถ้าไม่ไหวก็ขอเปลี่ยนกันเถอะค่ะ ไม่ต้องเกรงใจพนักงาน
3. อย่าทานเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง
ไม่ใช่แต่น้ำดื่มต้องสะอาดเท่านั้น เพราะตัวการเงียบๆ อาจเป็น “น้ำแข็ง” ที่ไม่สะอาดนั่นเอง ดังนั้นใช้เทคนิคนี้รวมกับข้อ 2 ก็จะช่วยการันตีเรื่องความสะอาดของน้ำดื่มได้พอสมควรแล้ว
4. แปรงฟันจากน้ำสะอาดเท่านั้น
ข้อนี้ก็ยังให้ความสำคัญจากน้ำอีกเช่นเคย บางครั้งเราอาจลืมนึกไปว่า “น้ำประปา” ที่ใช้แปรงฟันนี่แหละ อาจเป็นตัวการนำพาเชื้อโรค หากไม่ลำบากไปนัก ควรใช้น้ำสะอาดแบบข้อ 2 เช่นกันค่ะ
(กฎนี้ดูจะลำบากไปสักนิดสำหรับการไปเที่ยวกับทัวร์หรือประเทศที่น้ำดื่มราคาแพง การระมัดระวังมากหรือน้อยคงขึ้นกับเมืองที่เราไปเที่ยวด้วย)
5. ใช้หลอดดูดที่ห่อมาเท่านั้น
ใครจะไปรู้ว่าหลอดดูดบางทีอาจมีเชื้อโรคปะปนมากมาย ทั้งขี้มือ ขี้ฝุ่น แมลง อาจเป็นพาหะนำโรคชั้นดีก็เป็นได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้หลอดควรคำนึงถึงความสะอาดเป็นหลักด้วย (เดี๋ยวนี้มีหลอดห่อซองขายเป็นแพคตามห้าง ถ้าจำเป็นซื้อไปเที่ยวด้วยก็ดีค่ะ) และหากจำเป็นต้องดื่มจากขวดตรงๆ แนะนำให้ทำความสะอาดที่ปากขวดก่อน
6. ระวังผลไม้และผักดิบ
ถ้าอยากทานผลไม้ดิบหรือเลี่ยงไม่ได้ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วปอกเปลือก อย่างไรก็ตาม ผลไม้ที่ดีที่สุดคือผลไม้ที่ปอกเปลือกได้โดยที่เราไม่ต้องสัมผัสก่อนทาน อย่างเช่น กล้วย ส่วนผักสลัดสดควรหลีกเลี่ยง ถ้าหากไม่มั่นใจในความสะอาดหรือกรรมวิธีการล้าง
7. หลีกเลี่ยงอาหารทะเล
อาหารทะเลมีโอกาสสูงที่จะปนเปื้อนได้มากกว่าอาหารประเทศอื่นๆ ดังที่เราจะเห็นได้จากคนไทยเอง กินอาหารทะเลแล้วอาหารเป็นพิษอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงอาหารทะเลจะดีกว่าค่ะ (บางทีเราไปเมืองชายทะเล เจออาหารทะเลหน้าตาดูดีก็เลี่ยงยากเนอะ)
8. เลือกอาหารที่ปรุงสุก และเสิร์ฟแบบร้อนๆ โดยเฉพาะเมื่อทานร้านอาหารข้างถนน
หากต้องเลือกอาหารตามร้านโต้รุ่ง หรือ แผงลอยข้างทาง ควรเลือกอาหารจานร้อน เช่น อาหารประเภทซุป หรือ ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น เพื่อการันตีให้เห็นว่าเป็นอาหารที่ปรุงสุกในตอนนั้น ไม่ได้ทำทิ้งไว้ล่วงหน้า
9. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทิ้งไว้จนเย็น
ข้อนี้ต่อเนื่องจากข้อ 8. อาหารที่ทำเสร็จมานานแล้ว (เช่น บุฟเฟต์ แต่ก็รวมอาหารประเภทอื่นๆ ด้วย) อาจมีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเราไปเที่ยวในประเทศที่ไม่ค่อยเจริญมากนัก อาหารบุฟเฟต์อาจทำทิ้งไว้นานแล้ว แล้วค่อยมาอุ่นใหม่ก่อนเสิร์ฟให้แขกมาตักรับประทาน ถ้าเลือกได้ สั่งอาหารทีละจานที่ทำเดี๋ยวนั้นเลยจะดีกว่า
10. พกอาหารเสริม วิตามินติดตัวไปด้วย
จากที่กล่าวมา บางครั้งเราอาจต้องเลี่ยงอาหารนู่นนี่ เช่น ผัก-ผลไม้ที่ดูไม่สะอาดนัก อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ การเตรียมอาหารเสริมหรือวิตามินไปด้วยจะช่วยชดเชยในส่วนที่หายไป
เทคนิคอีกข้อในหมวดนี้คือ พกอาหารให้พลังงานจำพวก energy bar ไว้ติดกระเป๋า ถ้าหากอาหารในร้านหน้าตาดูไม่ดี เราจะได้มีตัวเลือกอื่นทดแทนการไม่กินแล้วทนหิวได้ (ถ้าเป็นคนไทยก็อาจพกมาม่าคัพได้เช่นกัน แล้วขอน้ำร้อนเอา)
11. เตรียมเม็ดยาฆ่าเชื้อในน้ำ
หากต้องเดินทางไกลในป่าที่ยากจะแบกน้ำเปล่าไปได้ การพกเม็ดยาฆ่าเชื้อในน้ำไปด้วยย่อมปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า และควรพกยาต้านอาการอุจจาระร่วง อย่างเช่น Imodium เผื่อไปด้วย (แม้ว่ามองว่าเป็นยาแรง ไม่ควรใช้ แต่ในยามคับขันการประคับประคองตัวเองจนกว่าจะเจอห้องน้ำ หรือ ที่พักอีกครั้ง ถือเป็นเรื่องสำคัญ และควรปรึกษาแพทย์-เภสัชกรในการใช้ยาที่พกติดตัวไปด้วยค่ะ)
12. เตรียมข้อมูลให้พร้อม
ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ใด ควรตรวจสอบว่ามีสถานพยาบาลใกล้เคียงด้วยหรือไม่ และควรดูประกาศเตือนเรื่องความปลอดภัย-โรคระบาดในพื้นที่นั้นๆ ล่วงหน้าด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เพียงแต่ “กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ” เท่านั้น ยังมีข้อควรปฏิบัติอีกหลายข้อที่ไม่ควรละเลย และควรรักษาให้อยู่ในระดับที่ยังเที่ยวสนุกกันได้อยู่ จะมากหรือน้อยนั้นคงขึ้นกับสุขอนามัยของเมืองปลายทางกันค่ะ
ทีมงาน 2Baht.com ขอให้ทุกท่านโชคดี ไม่เจ็บไม่ไข้นะคะ