สมาคมการขนส่งทางอากาศนานาชาติ หรือ IATA (International Air Transport Association) ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย ขอให้ปรับปรุงความปลอดภัยของรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงเร่งขยายสนามบินสุวรรณภูมิที่ถึงขีดจำกัดในแง่การรองรับผู้โดยสารแล้ว
Tony Tyler ซีอีโอของ IATA เขียนจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งปรับปรุง 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน ได้แก่
มาตรฐานความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการบิน
IATA ชี้ว่าปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของไทย ที่ได้รับคำเตือนจากองค์กรมาตรฐานการบินระดับนานาชาติ 2 แห่ง คือ International Civil Aviation Organization (ICAO) และ US Federal Aviation Administration (FAA) เป็นเรื่องที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ปัญหานี้เป็นเรื่องของหน่วยงานภาครัฐในไทย ไม่ใช่ปัญหาของสายการบินในไทย ที่บางสายการบินเป็นสมาชิกและผ่านการตรวจสอบจาก IATA Operational Safety Audit (IOSA) อยู่แล้ว
IATA ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยกำหนดให้สายการบินในประเทศไทยทุกราย ต้องลงทะเบียนเพื่อรับการตรวจสอบมาตรฐานจาก IATA Operational Safety Audit (IOSA) ด้วย
สนามบินสุวรรณภูมิ
IATA บอกว่าสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นฮับการบินของประเทศไทย มีปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข 2 ประการ
- ความปลอดภัย สนามบินสุวรรณภูมิมีปัญหาผิวของทางวิ่งเสียหาย อันเกิดจากวัสดุที่ลาดผิวทางวิ่งแท็กซี่เวย์ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้เครื่องบินวิ่งแล้วติดหลุมอยู่บ่อยครั้ง ทางสนามบินแก้ปัญหาโดยการซ่อมแซมชั่วคราวด้วยการลาดยางมะตอยอยู่เรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ที่ยั่งยืน อีกทั้งการปิดซ่อมทางชั่วคราวยังส่งผลกระทบต่อการจราจรทางอากาศด้วย
- ปริมาณผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิออกแบบให้รองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารทะลุไปที่ 52 ล้านคนเรียบร้อยแล้ว เกิดสภาพแออัดภายในสนามบิน ถึงแม้รัฐบาลไทยมีแผนจะขยายสนามบินสุวรรณภูมิมานาน แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่ง IATA ขอให้รัฐบาลเร่งแผนการขยายสุวรรณภูมิระยะที่สอง และสร้างรันเวย์ที่สามโดยเร็ว
ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว
IATA ชี้ว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวอยู่ในระดับสูง และมีศักยภาพในการแข่งขันด้านนี้ (อิงตามดัชนีของ World Economic Forum) อยู่ในอันดับ 35 ซึ่งต่ำกว่าประเทศคู่แข่งในเอเชีย ซึ่งรัฐบาลไทยควรลดค่าใช้จ่ายด้านภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อให้แข่งขันในฐานะฮับการบินกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้มากขึ้น
ที่มา – IATA