เมื่อเร็วๆ นี้ 2Baht เพิ่งเขียนบทวิเคราะห์ผลประกอบการของการบินไทย 2558 ไป คราวนี้ลองมาดูสายการบินของไทยรายอื่นๆ กันบ้าง ในบทความนี้เป็นเรื่องของ Thai AirAsia สายการบินโลว์คอสต์ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งของไทยครับ
Thai AirAsia เพิ่งประกาศผลประกอบการประจำปี 2015 มาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (เอกสารนำเสนอของ Thai AirAsia) เราขอคัดสถิติที่น่าสนใจของ Thai AirAsia จากผลประกอบการปี 2558/2015 มาให้ดูกัน 9 ข้อดังนี้
1. ผลประกอบการ Thai AirAsia ปี 2015 รายได้เพิ่ม กำไรพุ่ง
ภาพรวมคือรายได้เติบโตขึ้น 16% จากปีก่อนเป็น 2.9 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรก็เติบโตเยอะมาก เกือบ 6 เท่าตัว จาก 335 ล้านบาทในปี 2014 มาเป็น 1,991 ล้านบาทในปี 2015
ทิศทางนี้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบินโดยทั่วไป (ยกเว้นการบินไทยและสายการบินที่มีปัญหาเรื้อรัง) อย่าง Bangkok Airways ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีรายได้เพิ่ม กำไรพุ่ง เช่นกัน
2. ส่วนแบ่งตลาด AirAsia ยังเป็นเบอร์หนึ่งของสายการบินในไทย
สำหรับคำถามว่าส่วนแบ่งตลาดสายการบินทั้งหมดในประเทศไทย ผู้เล่นแต่ละรายชิงเค้กกันอย่างไร ถ้าเราสนใจเฉพาะ “จำนวนผู้โดยสาร” เพียงอย่างเดียว ไม่สนใจว่าเป็นบินถูกบินแพง โลว์คอสต์หรือฟูลเซอร์วิส ตัวเลขของ Thai AirAsia เองที่รวบรวมข้อมูลมาจาก AOT และกรมการบินพลเรือน พบว่าส่วนแบ่งตลาดปี 2015 นั้น ThaiAirAsia ยังนำมาอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 28.5%
อันดับสอง Nok Air ตามมาติดๆ ด้วยส่วนแบ่ง 24.8% ส่วน Thai Lion Air เป็นอันดับสามที่ 13.9%
Bangkok Airways อยู่อันดับสี่ที่ 12.3% ส่วนการบินไทย (เฉพาะในประเทศ) อยู่อันดับห้า 11% ตามด้วย Thai Smile ที่ 8.7% (แต่ถ้ามองว่าการบินไทยแบ่งรูตไปให้ Thai Smile บินเยอะพอสมควร นับรวมสองสายการบินนี้คือ 19.7% อยู่อันดับสาม)
3. ในหนึ่งสัปดาห์ AirAsia มีเที่ยวบินให้บริการมากกว่า 1 พันเที่ยว
สายการบินโลว์คอสต์มีจุดเด่นที่เส้นทางบินจำนวนมาก ครอบคลุมจังหวัดสำคัญๆ ในไทยเกือบหมด แถมในจังหวัดยอดนิยมอย่างพวกภูเก็ต เชียงใหม่ ก็มีให้บริการวันละหลายเที่ยวบิน คำถามคือที่ว่าเยอะนั้นเยอะแค่ไหน
จากตัวเลขของ Thai AirAsia เอง มีที่หมายปลายทาง (Destinations) ทั้งหมด 44 เมือง แบ่งเป็นเมืองในประเทศ 20 เมือง และเมืองนอกประเทศ 24 เมือง รวมแล้วหนึ่งสัปดาห์ จะมีเที่ยวบินของ Thai AirAsia ทั้งหมด 1,019 เที่ยวบินเลยล่ะ (แน่นอนว่าในปี 2016 ก็ขยายเส้นทางเพิ่มอีก เช่น กรุงเทพ-หลวงพระบาง, หาดใหญ่-เชียงราย)
4. จำนวนฝูงบิน ตั้งเป้าขยายเป็น 50 ลำในปี 2016 และเพิ่มปีละ 5 ลำ
พอมีจำนวนเส้นทางบินเยอะแล้ว จำนวนเครื่องบินที่ต้องให้บริการผู้โดยสารก็ต้องเยอะเป็นเงาตามตัว ปัจจุบัน (นับถึงสิ้นปี 2015) Thai AirAsia มีเครื่องบินทั้งหมด 45 ลำ อายุเฉลี่ย 4.4 ปี (ก็ไปตัดสินกันเองว่าโฆษณา “เครื่องบินใหม่” นั้นจริงแค่ไหน) ทุกลำเป็น Airbus A320s บรรทุกผู้โดยสารได้ 180 ที่นั่ง (ใช้เครื่องรุ่นเดียว ลดภาระการซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นปัญหาที่การบินไทยต้องเผชิญ)
Thai AirAsia ตั้งเป้าขยายจำนวนฝูงบินเป็น 50 ลำในปี 2016 และจะขยายเพิ่มปีละ 5 ลำไปเรื่อยๆ จนในปี 2020 จะมีเครื่องบิน 70 ลำถ้าธุรกิจเป็นไปตามแผน
5. จำนวนผู้โดยสาร เติบโตขึ้น 22% ต่อปีเลยนะ
ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะอาการไม่ค่อยดี แต่ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศก็เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้สายการบินมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไปด้วย
ในปี 2015 Thai AirAsia มีผู้โดยสารทั้งหมด 14.8 ล้านคน แบ่งเป็นเส้นทางบินในประเทศ 9.2 ล้านคน และระหว่างประเทศ 5.6 ล้านคน ถ้าดูอัตราการเติบโตเทียบกับปี 2014 ก็โตขึ้นมากถึง 22%
จำนวนผู้โดยสารเยอะเป็นเรื่องดี แต่ไม่สะท้อนภาพรวมธุรกิจทั้งหมด ในอุตสาหกรรมการบินเองก็มีดัชนีสำคัญหลายตัว ที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพของธุรกิจว่าดีแค่ไหน ซึ่ง 2Baht ขออธิบายดังนี้ครับ
- Available Seat Kilometers (ASK) เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการ “ผลิต” ของสายการบิน เนื่องจากสายการบินไม่ได้ผลิตสินค้าออกมาขายเป็นชิ้นๆ แต่ให้บริการ “การเดินทาง” วิธีชี้วัดจึงนำ “จำนวนที่นั่ง” (Seat) ไปคูณกับ “ระยะทาง” (Kilometers) ของแต่ละเที่ยวบิน แล้วนำมาบวกกันเพื่อดูว่าตลอดทั้งปี สายการบินนั้นๆ สามารถให้บริการผู้โดยสารได้เยอะและไกลแค่ไหน ซึ่งตัวเลขของ Thai AirAsia คือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% ตามจำนวนเส้นทางบินและเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น
- Load Factor หรือบางที่เรียก Cabin Factor เป็นตัวชี้วัดว่า แต่ละเที่ยวบินที่ให้บริการ มีผู้โดยสารมาขึ้นเครื่องเยอะแค่ไหน หรือพูดง่ายๆ คือสายการบินผลิต ASK ขึ้นมาแล้ว มีคนใช้บริการมากน้อยแค่ไหน (ในมุมมองของสายการบินคือ ยิ่งเยอะยิ่งดี แม้จะสวนทางกับมุมมองของผู้โดยสารก็ตาม) ซึ่งตัวเลขของ Thai AirAsia คือ 81% ซึ่งก็ถือว่าดี แม้จะด้อยกว่าในปี 2013 อยู่เล็กน้อย
- อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย (Average Fare) อันนี้ตรงไปตรงมา คือดูว่าค่าโดยสารเฉลี่ยต่อคนต่อเที่ยวอยู่ที่เท่าไร จากกราฟข้างบนจะเห็นว่าตัวเลขของปี 2015 ลดลง เหตุผลเป็นเพราะหักค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงออก หลังราคาน้ำมันโลกตกลง (ค่าโดยสารจะแพงหรือถูกแล้วดีแค่ไหน ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ค่าโดยสารถูกช่วยให้แข่งขันได้มากขึ้น, ค่าโดยสารแพงแต่ต้นทุนแพงก็ไม่ช่วยอะไร)
6. ต้นทุนลดลง จากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงลดลง
ขึ้นชื่อว่าสายการบินโลว์คอสต์ ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ต้นทุนลดลง เพื่อให้แข่งขันได้มากขึ้น ถ้าดูตัวเลขต้นทุนรวมของ Thai AirAsia ปี 2015 จะเห็นว่าต้นทุนต่อ ASK ลดลง 8% เมื่อเทียบกับปี 2014 จากปัจจัยสำคัญคือราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้สายการบินมีกำไรเพิ่มขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ถ้าดูให้ละเอียดขึ้นอีกหน่อย จะเห็นว่า Thai AirAsia แยกส่วนต้นทุนจากค่าน้ำมัน (Fuel Cost) และต้นทุนอื่นๆ (ex-Fuel) ให้เราดูด้วย ซึ่งต้นทุนจากค่าน้ำมันลดลงจริง (เพราะราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง) แต่ต้นทุนส่วนอื่นๆ กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (6%) ซึ่งถือว่าไม่เป็นผลดีเท่าไรนัก
7. ต้นทุนของ Thai AirAsia มีอะไรบ้าง? ค่าน้ำมันเยอะที่สุด
คำถามต่อมาคือต้นทุนหรือรายจ่ายของ Thai AirAsia มีอะไรบ้าง โชคดีว่าทางสายการบินทำกราฟมาให้เราดูกันง่ายๆ (ตัวเลขปี 2015)
จากกราฟด้านล่าง จะเห็นว่าต้นทุนค่าน้ำมันถือเป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุดคือ 36% ของต้นทุนทั้งหมด ตามด้วยค่าเช่าเครื่องบิน (เพราะสายการบินโลว์คอสต์จะพยายามไม่ถือครองทรัพย์สินเอง) อีก 15% และต้นทุนค่าธรรมเนียมสนามบินอีก 12%
จุดที่น่าสนใจคือสายการบินโลว์คอสต์แบบนี้ มีต้นทุนค่าพนักงานไม่เยอะมาก คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 12% เท่านั้น (ในขณะที่การบินไทย มีต้นทุนค่าผลตอบแทนพนักงานถึง 24.6% ของต้นทุนทั้งหมด)
8. ความจริงอันเจ็บปวด Thai AirAsia ได้เงินจากค่า Online Processing Fee เยอะมาก
ดูส่วนของต้นทุนแล้ว ลองมาดูส่วนของรายได้กันบ้าง แน่นอนว่ารายได้หลักของสายการบินย่อมเป็น “ค่าตั๋วเครื่องบิน” แต่กรณีของสายการบินโลว์คอสต์ ที่พยายามให้เราจ่ายเงินค่าบริการอื่นๆ เพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก็มีรายได้กลุ่มนี้ในสัดส่วนที่เยอะพอสมควรเช่นกัน (กรณีของ Thai AirAsia มีสัดส่วนเป็น 16% ของรายได้ทั้งหมด)
ถ้านับเฉพาะรายได้ส่วนเสริมของบริการ (Ancillaries Enhancement) ไม่เอาค่าตั๋วเข้ามาคิดด้วย จะเห็นว่า 50% ของรายได้ส่วนนี้มาจากค่าโหลดกระเป๋า (Baggage Fee) ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะสายการบินจะคิดค่าธรรมเนียมโหลดกระเป๋าเราอยู่แล้ว
แต่จุดที่คิดว่าน่าสนใจ (และลูกค้า Thai AirAsia คงเจ็บช้ำใจกัน) คือทุกครั้งที่เราจองตั๋วผ่านเว็บ เราจะโดนค่า Online Processing Fee เสมอ ซึ่งรายได้ส่วนนี้เยอะถึง 14% ของรายได้เสริมทั้งหมด ถ้าลองคิดตัวเลขกลับคืนดู Thai AirAsia ได้เงินค่าธรรมเนียมออนไลน์จากเราๆ ท่านๆ ไปแล้วถึงเกือบ 680 ล้านบาท!!! (เยอะกว่าค่าธรรมเนียมจองที่นั่ง และค่าจำหน่ายสินค้าบนเครื่องถึงเท่าตัว)
9. ตกลงแล้ว ใครเป็นเจ้าของ Thai AirAsia กันแน่?
ข้อมูลอันนี้หลายคนอาจรู้แล้ว แต่ก็เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้กัน AirAsia เป็นสายการบินต้นทุนต่ำจากมาเลเซีย พอมาเปิดบริการในเมืองไทยก็ร่วมทุนกับผู้ถือหุ้นชาวไทย (ในอดีต สมัยมาใหม่ๆ คือชินคอร์ป แต่ตอนนี้ขายทิ้งหมดแล้ว)
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ Thai AirAsia ในปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย ได้แก่ AirAsia จากมาเลเซีย (AAI ในภาพ) ถือหุ้นส่วนน้อย 45% และผู้ถือหุ้นชาวไทย ถือผ่านบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ในสัดส่วน 55%
ตัวบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็มีขายหุ้นส่วนหนึ่ง (54%) ให้นักลงทุนทั่วไป ที่เหลือก็ถือครองโดยกลุ่มผู้บริการนั่นเอง ดังนั้นเวลาเราซื้อหุ้น AAV ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องทราบก่อนว่านี่คือการซื้อหุ้นของ AAV ที่เป็นเจ้าของใหญ่ของ Thai AirAsia อีกที แต่ไม่ใช่การซื้อหุ้น Thai AirAsia โดยตรงครับ
ทั้งหมดนี้คือข้อมูล 9 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับสายการบิน Thai AirAsia สายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ที่สุดของไทย สำหรับผู้สนใจข้อมูลเรื่องสายการบิน ลองดูบทความอื่นๆ ในหมวด สายการบิน ของเราเพิ่มเติม และสามารถติดตามข่าวสารวงการท่องเที่ยวได้จาก Facebook 2Baht.com ครับ
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากเอกสารนำเสนอของ Thai AirAsia ส่วนเนื้อหาในบทความเป็นของ 2Baht.com สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามคัดลอกก่อนได้รับอนุญาต