ท่านใดเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงนี้ ทีมงาน 2Baht ขอแนะนำบทความ แอพเตือนภัยแผ่นดินไหว-สึนามิในญี่ปุ่น Yurekuru Call เพื่อทราบข่าวสารการเตือนภัยและเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
ปัญหาเรื่องสภาพอากาศและภัยธรรมชาติถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการท่องเที่ยว เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ทัวร์ไทยจำนวนไม่น้อยที่บุกไปทัวร์ญี่ปุ่นหวังจะได้ใช้เวลาท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ต้องเผชิญกับปัญหาหิมะตกหนักจนเที่ยวไม่สนุกไปซะอย่างนั้น
ประสบการณ์ของทีมงาน 2Baht.com เองที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อปี 2013 แบบ Backpacker ก็ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก่อนเดินทางก็คือ พายุเข้าที่ญี่ปุ่นในคืนที่เราจะบินพอดี ทำให้ต้องเลื่อน Flight ออกไปจนกว่าพายุจะสงบ ส่งผลให้โปรแกรมทัวร์รวนไปหมด ต้องตัดแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง แคนเซิลที่พักในคืนแรกกันวุ่นวาย
หลังจากนั้นพวกเราเลยตระหนักถึงการเช็คสภาพอากาศและการเตือนภัยธรรมชาติก่อนเดินทาง ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะการไปเที่ยวประเทศที่มีสภาพอากาศแปรปรวน มีภัยธรรมชาติบ่อยแบบนี้ บทความนี้จึงขอรวบรวมเว็บพยากรณ์อากาศ ตลอดจนการเตือนภัยทั้งพายุ แผ่นดินไหว สึนามิ ที่ญี่ปุ่น สำหรับผู้ที่กำลังเตรียมตัวจะไป Backpack ที่ญี่ปุ่นกันค่ะ
รวมเว็บพยากรณ์อากาศล่วงหน้าของประเทศญี่ปุ่น
ทาง 2Baht.com รวบรวม 3 เว็บไซต์ที่ให้บริการสภาพอากาศของญี่ปุ่น โดยความถี่ในการเช็คสภาพอากาศแตกต่างกันไปตามแต่ละเว็บไซต์
1) JNTO การตรวจเช็คสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่ญี่ปุ่น ก่อนเดินทางแบบง่ายๆ
เว็บไซต์การท่องเที่ยวญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization หรือ JNTO) มีพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 9 วัน ทั่วภูมิภาค ดูข้อมูลโดยรวมได้ง่าย แถมมีภาษาไทยเอาใจนักท่องเที่ยวชาวไทยอีกด้วย
วิธีการใช้งานเว็บไซต์
- กดแถบวันที่ เพื่อดูพยากรณ์อากาศที่ญี่ปุ่นล่วงหน้าในแต่ละวัน จากเว็บไซต์การท่องเที่ยวญี่ปุ่น
- ด้านขวาสามารถค้นหาพยากรณ์อากาศ ตามชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นได้
- อุณหภูมิสูงสุดสีแดง / อุณหภูมิต่ำสุดสีน้ำเงิน
- หากต้องการข้อมูลรายละเอียดของแต่ละที่ ให้คลิกเข้าไปตามชื่อเมืองต่างๆ ได้อีก
คำแนะนำ ควรตรวจสอบก่อนเดินทาง 1 สัปดาห์ เพื่อจัดกระเป๋าเสื้อผ้าให้ตรงกับสภาพอากาศ
2) เว็บกรมอุตุญี่ปุ่น – ตรวจเช็คสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่ญี่ปุ่นทุก 3 ชั่วโมง จากแหล่งที่น่าเชื่อถือที่สุด
หากต้องการความแม่นยำ 2Baht.com คิดว่าเว็บไซต์สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) น่าเชื่อถือที่สุด เพราะทางอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นน่าจะมีข้อมูลในการวิเคราะห์สภาพอากาศเยอะกว่าเครืออื่น ข้อมูลการพยากรณ์ที่ละเอียดสุดในเว็บนี้คือทุกๆ 3 ชั่วโมง และมีข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษให้อ่าน
- เลือกสถานที่ที่ต้องการให้แสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศ จากเว็บไซต์สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น
- ระบบจะแสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศทุก 3 ชั่วโมง ล่วงหน้าประมาณ 30 ชั่วโมง
- เวลาที่แสดงจะเป็นเวลาที่ญี่ปุ่น (๋JST หรือ Japan Standard Time) ซึ่งจะเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง
- ตัวอย่าง พยากรณ์อากาศราย 3 ชั่วโมงของโตเกียว
คำแนะนำ ข้อมูลในเว็บจะอัพเดตวันละ 3 รอบตามเวลาท้องถิ่นที่ญี่ปุ่น คือ 5.00, 11.00, 17.00 น. ดังนั้นหากต้องการความแม่นยำก็ควรเข้ามาดูใหม่หลังจากเวลาดังกล่าว
3) AccuWeather ตรวจเช็คสภาพอากาศ-อุณหภูมิที่ญี่ปุ่น ทุก 1 ชั่วโมงอย่างละเอียด
หากพยากรณ์อากาศทุก 3 ชั่วโมงยังไม่พอ ก็ยังมีอีกเว็บที่อยากจะแนะนำนั่นก็คือ AccuWeather.com ที่มีรายงานสภาพอากาศล่วงหน้าทุกชั่วโมง แม้แต่ปริมาณน้ำฝน หิมะ ความเร็วลม ก็มีหมด
- ค้นหาข้อมูลแต่ละเมืองในญี่ปุ่น โดยป้อนชื่อเมืองเป็นภาษาอังกฤษ จากเว็บไซต์ AccuWeather.com
- เลือกแถบด้านล่างเป็น “Extended” และ “Hourly” จะได้ข้อมูลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น
- ตัวอย่าง พยากรณ์อากาศรายชั่วโมงของโตเกียว
คำแนะนำ ควรตรวจสอบก่อนเดินทางทุกเช้า หรือ ระหว่างวัน เพื่อเตรียมเสื้อผ้า ร่ม อุปกรณ์กันหนาวให้พร้อมอยู่เสมอ
สำหรับคนใช้อุปกรณ์พกพา สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สามารถโหลดแอพของ AccuWeather ติดเครื่องไว้ได้เช่นกัน เพื่อให้เปิดดูได้สะดวกเวลาอยู่นอกสถานที่
การตรวจสอบข้อมูลการเตือนภัยพายุ หรือ ลมมรสุม
วิธีการใช้งาน
1) ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ซึ่งจะมีแผนที่เส้นทางพายุบอกไว้อย่างละเอียด
- เส้นสีน้ำเงิน คือ เส้นทางที่พายุได้พัดผ่านแล้ว
- เส้นสีขาว คือ เส้นทางที่คาดการณ์ว่าพายุมีแนวโน้มจะไปทิศทางนั้น
- ส่วนเลขเดี่ยวๆ เช่น 17 หรือ 18 เป็นการนับเลขพายุในปีนั้นๆ
แผนที่นี้จะเป็นแผนที่ในภาพรวม ให้คลิ๊กเส้นทางพายุเฉพาะที่เราสนใจ (สมมติเลือกหมายเลข 17)
2) จากนั้นจะเห็นแผนที่ละเอียดขึ้น การแสดงข้อมูลตัวเลขกำกับ จะเป็น วัน/ชั่วโมง (ตามเวลาญี่ปุ่น) เช่น
- บนสุดของภาพ “11/12 UTC” หมายถึง เวลา 12.00 น. ของวันที่ 11 กันยายน 2558 พายุมีแนวโน้มจะขึ้นฝั่งที่เกาะฮอกไกโด เป็นต้น
- ดูรายละเอียด ความเร็วลมในแถบด้านขวา เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบว่าลมแรงมากน้อยขนาดไหน ซึ่งบางครั้งอาจจะอ่อนกำลังลงเมื่อขึ้นฝั่ง
แผนที่เส้นทางเดินของพายุ แบบละเอียด
หากใครที่มีแผนจะเดินทางในช่วงดังกล่าวก็ควรตรวจสอบสภาพอากาศเป็นระยะๆ และหากแจ็คพ็อตตรงกับช่วงเวลาบินก็ควรสอบถามกับสายการบินกันก่อนว่าเลื่อนกำหนดการหรือเปล่า และจดเบอร์ติดต่อโรงแรมไว้ด้วยก็ดีนะ
การเตือนภัยแผ่นดินไหว สึนามิ ในญี่ปุ่น
นอกจากการเช็คสภาพอากาศแล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะที่เกิดพายุและแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย นักท่องเที่ยวจึงควรตรวจสอบข้อมูลการเตือนภัยในช่วงก่อนและระหว่างการเดินทางอย่างสม่ำเสมอ โดยแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดก็คือเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น อีกนั่นแหละ เว็บนี้จะรวบรวมการแจ้งเตือนภัยและอัพเดตข้อมูลอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วและละเอียดที่สุด
คำแนะนำ ควรตรวจสอบก่อนเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น ยิ่งถ้าเดินทางในช่วงมรสุม (เดือนกันยายน – ตุลาคม) หรือ ถ้ามีข่าวแผ่นดินไหว ควรตรวจสอบให้บ่อยเท่าที่ทำได้ เพื่อไม่ให้คลาดข่าวสารการเตือนภัย (อย่าตื่นตระหนกนะ แต่ให้ระวังและมีสติ)
วิธีการใช้งาน
1) ให้คลิกเข้าไปในภูมิภาคต่างๆ ที่จะเดินทางในแผนที่ได้จากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น หรือ อ่านบทความ แนะนำแอพเตือนภัยแผ่นดินไหว-สึนามิในญี่ปุ่น Yurekuru Call
2) เมื่อกดไปจนถึงสถานที่ปลายทางแล้ว จะเป็นตารางพร้อมคำเตือนและแถบสี
3) แถบสีต่างๆ จะแสดงระดับการเตือนภัย โดยไล่จากน้อยไปมาก คือ เหลือง แดง ม่วง และไม่ว่าจะเป็นภัยจากพายุ ภูเขาไฟระเบิด หรือว่าสึนามิก็จะใช้สัญลักษณ์สีที่บอกระดับการเตือนภัยเหมือนกันหมด สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่นี่
ระดับการเตือนภัย | ฝนตกหนัก | ภูเขาไฟ | สึนามิ |
Emergency Warning (สีม่วง) | อาจเกิดภัยพิบัติได้ | ภูเขาไฟกำลังปะทุ มีลาวาและขี้เถ้า | ระดับคลื่น สูงกว่า 3 ม. |
Warning (สีแดง) | ให้ระวังน้ำป่า | ห้ามเข้าไปเกินกว่าเขตที่กำหนด | ระดับคลื่น 1 – 3 ม. |
Advisory (สีเหลือง) | เริ่มเฝ้าระวัง | ภูเขาไฟยังสงบ สามารถเข้าไปได้ | ระดับคลื่นต่ำกว่า 1 ม. |
การตรวจสอบเวลาพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกล่วงหน้า
หากวางแผนเดินทางเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น หรือ พระอาทิตย์ตก แนะนำให้หาข้อมูลจาก timeanddate.com ไว้ล่วงหน้าด้วยก็ดี เพราะประเทศที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากกว่าไทย เวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือลงในแต่ละฤดูกาล จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด #ญี่ปุ่นก็เช่นกัน
คำแนะนำ ควรตรวจสอบตั้งแต่ช่วงการจัดแผนการเดินทาง (Itinerary) ของสถานที่ที่ต้องการชมพระอาทิตย์ขึ้น-ลับขอบฟ้า เพื่อให้เดินทางไปยังจุดหมายได้ตรงเวลา ไม่งั้นอาจพลาดมุมถ่ายรูปสวยๆ ได้นะ
วิธีการใช้งาน
1) เลือกเมืองที่ต้องการหาข้อมูลพระอาทิตย์ขึ้น หรือ พระอาทิตย์ตก ได้จากเว็บไซต์ timeanddate
2) ระบบจะแสดงรายละเอียดของเดือนปัจจุบันมาให้ ทั้งนี้เราสามารถดูข้อมูลล่วงหน้าได้หลายเดือน หรือ เป็นปีๆ ก็ได้ โดยเปลี่ยนที่ “Month” หรือ “Year” แล้วตรวจสอบว่าวันที่เราเดินทาง พระอาทิตย์ขึ้นและตกช่วงเวลาใด (Sunrise & Sunset)
ตัวอย่าง ตารางพระอาทิตย์ขึ้นและตกช่วงเมษายน 2558 ที่ Tokyo
คำแนะนำ
- ก่อนเดินทาง 6 – 8 ชั่วโมงอย่าลืมตรวจสอบสภาพอากาศที่ญี่ปุ่นอีกรอบด้วยนะ ถ้าไม่แน่ใจให้โทรสอบถามสายการบินได้เลย เพราะเราเคยเจอเลื่อน Flight ตอนเที่ยงคืน ออกไป 8 โมงเช้า (โชคดีที่เราตรวจสอบข้อมูลช่วง 5 โมงเย็นเลยไม่ได้ไปรอเก้อที่สนามบิน และมีเวลาไปจัดการเปลี่ยนโรงแรมที่ญี่ปุ่นในคืนแรก เนื่องจากเดินทางไปไม่ทันตามแผนจ้า)
- หากสภาพอากาศมีทีท่าว่าจะไม่ดี สิ่งที่ควรมีในเป้เดินทางหรือสัมภาระที่พกติดตัวขึ้นเครื่อง ได้แก่ ขนมหรืออาหารว่าง เสื้อผ้าอุ่นๆ ชุด Kit นักเดินทาง (แปรงฟัน-ยาสีฟัน-ทิชชู่) ยาประจำตัว และหากเกิดเหตุการณ์อะไรขอให้มีสติค่ะ
- อ่านเผื่อไว้ไม่เสียหลาย กับบทความ รวม 8 เทคนิคการเอาตัวรอดเมื่อเที่ยวบินดีเลย์-ถูกยกเลิก
ทีมงาน 2Baht.com ขอให้เพื่อนๆ เที่ยวญี่ปุ่นให้สนุก เดินทางปลอดภัยกันนะคะ
อ่านบทความการท่องเที่ยวญี่ปุ่น หรือ เทคนิคการท่องเที่ยวเพิ่มเติม และสามารถติดตามเราที่ facebook เพจ “2baht.com” ได้อีกหนึ่งช่องทางค่ะ