การบินไทย ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2559 สรุปแล้วขาดทุน 1.6 พันล้านบาท
อัตราขาดทุนลดลงจากปีก่อนมาก
ถึงแม้ตัวเลขขาดทุนอาจดูเยอะ แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (ไตรมาส 3/2558) การบินไทยขาดทุนมโหฬารถึง 9.9 พันล้านบาท ถือว่าอัตราการขาดทุนลดลงมาก ลดลงถึง 83.8% จากของเดิม
และถ้าดูตัวเลขผลประกอบการอย่างละเอียด โดยดูเฉพาะผลประกอบการจากการดำเนินงาน (operating loss) ตัวเลขขาดทุนเหลือเพียง 836 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 4.2 พันล้านบาท หรือลดลง 80.3% จากของเดิม
ส่วนสาเหตุที่การบินไทยมียอดขาดทุนสุทธิ (net loss) สูง 1.6 พันล้านบาท เกิดจากการบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์เครื่องบิน 624 ล้านบาทในไตรมาสนี้ แล้วหักด้วยกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 120 ล้านบาท (836+624-120 = 1340 ล้านบาท ยังไม่รวมภาษี)
การด้อยค่าสินทรัพย์เครื่องบินของการบินไทย นับรวมเครื่องบินที่ปลดระวางและรอขายรวม 15 ลำ (451 ล้านบาท) และอะไหล่ที่เสียหายและไม่สามารถซ่อมแซมได้ (74 ล้านบาท)
ผลการดำเนินงานดีขึ้น ดัชนีชี้วัดปรับปรุงขึ้นจากเดิม
ถ้าเราพิจารณาที่ตัวเลขผลประกอบการจากการดำเนินงานเพียงอย่างเดียว (ไม่สนใจเรื่องการขาดทุนจากการลงบัญชี หรืออัตราแลกเปลี่ยน) เพื่อดูว่าประสิทธิภาพของการบินไทยเป็นอย่างไร ดีขึ้นแค่ไหน
รายได้ลดลงเล็กน้อยจากการเลิกค่าธรรมเนียมน้ำมัน
รายได้รวมของการบินไทยในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 44,126 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3/2558 เล็กน้อย 0.5% แต่ค่าใช้จ่ายรวมลดลงจากเดิม 48,581 ล้านบาท เหลือ 44,962 ล้านบาท หรือลดลง 7.4%
สาเหตุที่รายได้ของการบินไทยลดลง มาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมน้ำมัน Fuel Surcharge ทำให้รายได้ลดลง แต่ได้รายได้จากค่าขนส่งและไปรษณีย์เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากครัวการบินไทย บริการภาคพื้น และคลังสินค้า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
รายจ่ายลดลงจากค่าน้ำมันลดลง แต่ค่าอะไหล่เพิ่มขึ้น
สาเหตุที่รายจ่ายของการบินไทยลดลง หลักๆ แล้วมาจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลง 15.3% แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ กลับเพิ่มขึ้น 6.7% โดยการบินไทยอธิบายว่ามาจากค่าซ่อมแซมเครื่องและอะไหล่ที่สูงขึ้น 1,229 ล้านบาท
ส่วนค่าตอบแทนพนักงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.8% หรือ 55 ล้านบาทจากค่าล่วงเวลาที่เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยพนักงานที่เกษียณอายุไป
ดัชนี้ชี้วัดหลายตัวดีขึ้นกว่าเดิม
ถ้าดูดัชนีชี้วัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเงิน ในภาพรวมแล้วการบินไทยก็ดูปรับปรุงขึ้นจากเดิม
- จำนวนผู้โดยสาร 5.5 ล้านคน เพิ่ม 7.6%
- ปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (Available Seat-Kilometers) เพิ่ม 4.8%
- ปริมาณคนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger-Kilometers) เพิ่ม 3.4%
- อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin factor) 73.5% ลดลงเล็กน้อย 0.9%
- รายได้เฉลี่ยจากผู้โดยสาร (Passenger yield) อยู่ที่ 2.27 บาท/คน-กม. ลดลง 5%
- จำนวนเครื่องบินที่ใช้งาน 94 ลำ ลดลง 1 ลำ
- อัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบิน 11.6 ชั่วโมง/ลำ/วัน เพิ่มขึ้น 7.4%
ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก การบินไทย
การบินไทยเริ่มกลับมาขยายเส้นทางบิน
แผนการไตรมาสที่ 4/2559 ของการบินไทย เริ่มกลับมาขยายเส้นทางบินแล้ว โดยเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังเตหะราน (Tehran) ประเทศอิหร่าน, เปิดเส้นทางบินภูเก็ต-แฟรงเฟิร์ต และกลับไปเปิดบริการเส้นทางไปมอสโก
นอกจากนี้ การบินไทยยังระบุว่าแผนการปรับปรุงระบบจำหน่ายบัตรโดยสาร ระบบบริหารราคาขาย จะนำมาใช้ได้ในไตรมาส 4/2559 ด้วย ซึ่งก็น่าจะแก้ไขจุดอ่อนของการบินไทยเรื่องการบริหารงานขายบัตรได้ดีขึ้น
สรุปภาพรวมการบินไทย ไตรมาส 3/2559
ภาพรวมของการบินไทยในไตรมาส 3/2559 ก็ไปในทิศทางเดียวกับที่ 2Baht.com เคยวิเคราะห์ไว้ตอนไตรมาส 2/2559 ว่าภาพรวมดูดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด
การบินไทยเป็นบริษัทที่ดูงบการเงินรวมได้ยาก เพราะมีปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเข้ามามีผลเยอะ (บางไตรมาสกำไรจากการดำเนินงาน แต่มาขาดทุนเพราะอัตราแลกเปลี่ยนก็บ่อย) ดังนั้นการดูประสิทธิภาพของการบินไทย ต้องดูจากงบดำเนินงาน (operating)
ตัวเลขการขาดทุนจากการดำเนินงาน (operating profit) ของไตรมาส 3/2559 อยู่ที่ 836 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุน 4.2 พันล้านบาท และลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 1.7 พันล้านบาท ถือว่ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพขององค์กรหลายๆ ตัวก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เป็นสัญญาณว่าการบินไทยที่อ้วนเทอะทะ กำลังอยู่ในสภาพฟิตมากขึ้น
ตอนนี้สภาพของการบินไทยตลอดปี 2559 คือลดการขาดทุนลงให้ได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดทุนในปี 2558 ที่มีรายจ่ายก้อนใหญ่ๆ เพื่อปรับปรุงองค์กรออกไปมาก (เช่น ค่าใช้จ่ายจากการขายเครื่องบิน หรือผลตอบแทนพนักงานเพื่อ early retire) พอมาถึงปี 2559 เราจะเห็นว่าการบินไทยไม่มีรายจ่ายก้อนใหญ่ๆ อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังไม่สามารถ “เพิ่มรายได้” ได้มากเท่าที่ควร ซึ่งถ้าการบินไทยสามารถปรับปรุงระบบงานขายตั๋วของตัวเองให้ดีขึ้น ในปีหน้า เราน่าจะได้เห็นการบินไทยสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และถ้ารายจ่ายยังลดลงเรื่อยๆ เราก็คงได้เห็นวันที่การบินไทย “มีกำไรอย่างยั่งยืน” สักที