Petra - Jordan

ประวัติศาสตร์ ‘จอร์แดน’ ฉบับย่อ ควรอ่านเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวจอร์แดน

จอร์แดน (Jordan) เป็นประเทศแถบตะวันออกกลางที่น่าไปเที่ยวมากประเทศหนึ่ง ด้วยภูมิประเทศแถบทะเลทรายที่แปลกตา และแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นทั้ง “เพตรา” (Petra) ทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) และเมืองโบราณอีกมากมาย อีกทั้งบรรยากาศทางการเมืองในประเทศก็สงบและเต็มไปด้วยสันติภาพ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ทำให้มีคนไทยสนใจไปเที่ยวจอร์แดนกันมากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อให้การเที่ยวจอร์แดนมีอรรถรสมากขึ้น บทความนี้จะขอแนะนำประวัติศาสตร์ของประเทศจอร์แดนแบบย่อๆ เพื่อให้เข้าใจบริบทของสิ่งก่อสร้างหรือแหล่งท่องเที่ยวเด่นๆ ของจอร์แดน

ประวัติศาสตร์จอร์แดน ดินแดนมากอารยธรรม

ประเทศจอร์แดน เป็นประเทศที่อยู่แถบอาหรับ อยู่ด้านเหนือของซาอุดิอาระเบีย และติดกับอิสราเอล ซีเรีย และอิรัก ดินแดนบริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า “เลแวนท์” (Levant มาจากภาษาละตินที่แปลว่า rise) ซึ่งมีนิยามครอบคลุม 4 ประเทศคือ อิสราเอล จอร์แดน เลบานอน ซีเรีย และมักนับรวมบางส่วนของอียิปต์และอิรักที่อยู่ติดกันด้วย

ดินแดนของจอร์แดนแต่โบราณหรือแถบ Levant นั้นมีอารยธรรมมนุษย์มาอยู่อาศัยนานนับ 5-6 พันปีก่อนคริสตกาล ในอดีตมีอารยธรรมเก่าแก่หลายเผ่าที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่แถบนี้ เช่น ชาวยิว ชาวโรมัน และชาวเผ่าท้องถิ่นต่างๆ ที่อาศัยเป็นเผ่าอยู่ในทะเลทราย

Jordan Flag
ธงชาติของประเทศจอร์แดนในปัจจุบัน

ตำนานของโมเสสจากคัมภีร์ไบเบิล

ว่ากันว่า จอร์แดนในอดีตกาลเคยเป็นเส้นทางเดินผ่านของ “โมเสส” (Moses) ผู้นำชาวยิวตามพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับเก่า (Old Testament) หลังจากโมเสสพาชาวยิวหลบหนีออกจากอาณาจักรอียิปต์ และสร้างตำนาน “แหวกทะเลแดง” ก็เดินผ่านประเทศจอร์แดนเพื่อกลับไปยังอิสราเอล แต่ยังกลับไปไม่ถึงและมาเสียชีวิตลงที่ “ภูเขาเนโบ” (Mount Nebo) ภายในเขตของจอร์แดนปัจจุบัน

ตำนานของโมเสส ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงโบราณคดี (คาดกันว่าน่าจะมีชีวิตอยู่ประมาณหลายร้อยปีก่อนคริสตกาล) แต่บนภูเขาเนโบก็มีศิลาสลักเป็นที่ระลึกไว้ว่าเป็นดินแดนที่โมเสสเคยมาเยือน

Mount Nebo - Jordan
แท่นหินจารึกเป็นสัญลักษณ์รำลึกถึงโมเสส

ภูเขาเนโบนั้นอยู่ตรงพรมแดนระหว่างจอร์แดนกับอิสราเอล บนภูเขาก็มีจุดชมวิวที่แสดงทิศทางของเมืองสำคัญหลายแห่งที่อยู่ในพระคัมภีร์เก่า อย่างเช่น เยรูซาเล็ม เจอริโค และเบธเลเฮมด้วย

Mount Nebo - Jordan
พรมแดนจอร์แดน-อิสราเอล บนภูเขาเนโบ ในวันที่ฟ้าเปิดเราจะมองได้ไกลถึงอิสราเอล

อิทธิพลของจักรวรรดิโรมัน

ถัดมาจากสมัยของโมเสส เข้าสู่สมัยของพระเยซูคริสต์ อาณาบริเวณแถบตะวันออกกลางตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโรมัน อาคารสถานที่ของอาณาจักรและนครรัฐในแถบนี้จึงมีกลิ่นอายของโรมันอย่างเต็มที่ เมืองที่เป็นที่รู้จักเลื่องลือและยังคงรักษาสิ่งปลูกสร้างมาได้จนถึงปัจจุบันคือ “เจอราซ” (Jerash) ที่มีสมญานามว่า “เมืองพันเสา” ซึ่งถ้าหากดูแต่รูปแล้วเราคงคิดว่าเป็นเมืองในประเทศกรีซหรืออิตาลีเป็นแน่แท้

Jerash - Jordan
เมืองพันเสา เจราซ (Jerash) ที่ยังคงสิ่งก่อสร้างสมัยโรมันอย่างสมบูรณ์มาก

เมืองหลวงของประเทศจอร์แดนคือกรุงอัมมาน (Amman) ถูกใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองของทุกอารยธรรมที่มีอิทธิพลเหนือจอร์แดน ดังนั้นเมืองเก่าหรือ Citadel of Amman ก็ยังมีอิทธิพลของโรมันเหลืออยู่ ดังเช่นเสาหินของ “วิหารแห่งเฮอร์คิวลิส” ที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน

Citadel Amman
วิหารแห่งเฮอร์คิวลิส อิทธิพลโรมันใน Citadel ของเมืองเก่าอัมมาน

อาณาจักรอีกแห่งที่ร่วมสมัยกับโรมันคือ อาณาจักรนาบาเทียน (Nabataean) อาณาจักรของชาวพื้นเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ในหุบเขากลางทะเลทราย ชาวนาบาเทียนสร้างเมืองในหุบเขาที่ยิ่งใหญ่เพื่อเป็นจุดพักของขบวนคาราวาน จนกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในปัจจุบันคือ เพตรา (Petra) แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศจอร์แดน

อาณาจักรแห่งนี้มีชีวิตอยู่ราว 300 ปี คือตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงประมาณ ค.ศ. 100

Petra - Jordan
วิหารที่เจาะหินเข้าไปในเพตรา (Petra) เมืองหลวงของอาณาจักรนาบาเทียน

อิทธิพลของศาสนาอิสลาม

หลังจากหมดยุคของโรมัน ดินแดนแถบตะวันออกกลางกลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม จอร์แดนจึงมีสถานะเป็นเขตแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิอิสลามที่เรืองอำนาจในแต่ละยุคสมัย เริ่มจากอาณาจักรอุมัยยะฮ์ (Umayyad) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเมกกะ ตามด้วยจักรวรรดิอับบาซียะฮ์ (Abbasid) ช่วงประมาณ ค.ศ. 700 เป็นต้นมา ราชวงศ์มัมลุกของอียิปต์ช่วง ค.ศ. 1500 และอาณาจักรอิสลามแห่งสุดท้ายที่ปกครองจอร์แดนคือ จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) หรือตุรกีในปัจจุบัน ที่ปกครองจอร์แดนจนมาถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในสมัยที่จอร์แดนอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิอิสลาม จอร์แดนมีสถานะเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่ไม่โดดเด่นนัก (เพราะแต่ละจักรวรรดิก็มีเมืองหลวงแยกย้ายกันไป เช่น เมกกะ แบกแดด ไคโร อิสตันบูล) จักรวรรดิเหล่านี้เผชิญภัยคุกคามจากสงครามภายนอกอยู่บ้าง เช่น จากชาวเผ่ามองโกลในยุคหลังเจงกีสข่าน หรือสงครามครูเสดกับประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ของฝั่งยุโรป

ตัวอย่างสิ่งปลูกสร้างในสมัยนี้คือ ป้อมอัจลุน (Ajlun Castle) ที่สร้างขึ้นเป็นป้อมของฝ่ายมุสลิมใน ค.ศ. 1184-1185 ช่วงสงครามครูเสด

Ajlun Castle
ซากปราสาทของป้อมอัจลุน ที่ใช้เป็นฐานของฝ่ายมุสลิมในสงครามครูเสด

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง: วีรกรรมของลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งราว ค.ศ. 1919 ชาติตะวันตกคืออังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในตะวันออกกลางอย่างมาก และจับมือกับชาวเผ่าอาหรับท้องถิ่นเพื่อโค่นอำนาจของออตโตมันลง บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันคือ T.E.Lawrence หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Lawrence of Arabia ตามที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อดัง

ตามประวัติศาสตร์แล้ว T.E. Lawrence จับมือกับชาวเผ่าทะเลทราย บุกตีเมืองท่าริมทะเลแดง อัคคาบา (Aqaba) ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของฝ่ายออตโตมัน

Aqaba
Aqaba เมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของจอร์แดน เป็นทางออกทะเลแห่งเดียวของประเทศ

หลังจากนั้น เขาก็นำพากองทหารเดินทางขึ้นเหนือ ซุ่มอยู่ในหุบเขากลางทะเลทรายวาดิรัม (Wadi Rum) เพื่อเดินทางเข้าตีเมืองดามัสกัส (Damuscus) เมืองสำคัญของดินแดนแถบนี้ (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศซีเรีย ทางเหนือของจอร์แดน) เป็นอันสิ้นสุดการปลดแอกดินแดนอาหรับออกจากอิทธิพลของออตโตมัน

Wadi Rum - Lawrence of Arabia
รูปสลักใบหน้าของ T.E. Lawrence ในทะเลทรายวาดิรัม (Wadi Rum)

จากดินแดนใต้อาณัติอังกฤษสู่การเป็นประเทศเอกราช

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จอร์แดนเป็นดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษอยู่ระยะหนึ่ง โดยอังกฤษตั้งกษัตริย์อับดุลลาห์ (Abdullah I of Jordan) เป็นกษัตริย์องค์แรกของประเทศจอร์แดนยุคใหม่ อาณาจักรจอร์แดนในช่วงนี้เรียกว่า “ทรานส์จอร์แดน” (Transjordan) โดยรวมเอาดินแดนของจอร์แดนและอิสราเอลในปัจจุบันเข้าด้วยกัน

ทรานส์จอร์แดนได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ. 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่หลังจากนั้นก็มีสงครามกับชาวยิวที่ต้องการก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมาใหม่ ทำให้เสียดินแดนที่อยู่ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบเดดซีไป จอร์แดนทำสงครามกับอิสราเอลมาตั้งแต่ ค.ศ. 1948 จนเจรจาสันติภาพในปี 1994 ยุติสงครามยาวนาน 46 ปีลงได้สำเร็จ

แผนที่ประเทศจอร์แดน (ภาพจาก Wikipedia)
แผนที่ประเทศจอร์แดน (ภาพจาก Wikipedia)

ปัจจุบันจอร์แดนถือเป็นประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในแถบอาหรับ มีนโยบายการปกครองที่ค่อนข้างให้เสรีภาพกับประชาชนมาก และมีสันติภาพมาโดยตลอดแม้จะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์อาหรับสปริง และความวุ่นวายของประเทศเพื่อนบ้าน (ทั้งซีเรีย อิรัก และอิสราเอล) แต่ในประเทศจอร์แดนเองก็ยังสงบ มีระเบียบ สะอาดเรียบร้อย ถือเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวมากประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้

จอร์แดนยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยกษัตริย์องค์ปัจจุบัน (นับเป็นองค์ที่สี่) คือกษัตริย์อัลดุลลาห์ที่สอง (Abdullah II) ซึ่งเป็นเหลนของกษัตริย์อับดุลลาห์ที่หนึ่ง ผู้ก่อตั้งประเทศจอร์แดน

ภาพถ่ายของกษัตริย์แห่งจอร์แดน กษัตริ์ยองค์ก่อน ฮุสเซน (ซ้าย) กษัตริย์องค์ปัจจุบัน อับดุลลาห์ที่สอง (กลาง) และมกุฎราชกุมารฮุสเซน (ขวา)
ภาพถ่ายของกษัตริย์แห่งจอร์แดน กษัตริ์ยองค์ก่อน ฮุสเซน (ซ้าย) กษัตริย์องค์ปัจจุบัน อับดุลลาห์ที่สอง (กลาง) และมกุฎราชกุมาร เจ้าชายฮุสเซน (ขวา)

ทั้งหมดนี้คือประวัติศาสตร์แบบรวบรัดของประเทศจอร์แดน หวังว่าคุณผู้อ่าน 2Baht.com จะได้ประโยชน์จากความรู้ในบทความนี้ และช่วยให้เที่ยวจอร์แดนได้สนุกขึ้น