สหรัฐ-อังกฤษ ห้ามนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหญ่กว่าสมาร์ทโฟนขึ้นเครื่อง

ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา (US) และสหราชอาณาจักร (UK) ในช่วงนี้คงปั่นป่วนพอสมควร เพราะรัฐบาลทั้งสองประเทศ ออกกฎห้ามถืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่กว่าสมาร์ทโฟนขึ้นเครื่อง ถ้าหากบินเข้าประเทศโดยผ่านมาทางกลุ่มประเทศตะวันออกกลางจำนวนหนึ่ง (ทรานสิตก็นับรวมด้วย)

ประกาศนี้สร้างความสับสนให้กับผู้โดยสารไม่น้อย เพราะรายละเอียดยังไม่ชัดเจนว่าห้ามถืออะไรขึ้นได้บ้าง มีประเทศไหนโดน สายการบินไหนบ้างที่เข้าข่าย เริ่มต้นแบนเมื่อไรบ้าง ฯลฯ

ในโอกาสนี้ 2Baht จึงรวบรวมข้อมูลมานำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักเดินทางชาวไทย ดังนี้

ภาพประกอบจาก Pexels

1) ผู้โดยสารห้ามถืออะไรขึ้นเครื่องบ้าง

ประกาศของสหรัฐอเมริกากับสหราชอาณาจักร/อังกฤษ มีลักษณะคล้ายกันคือห้ามนำ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่กว่าสมาร์ทโฟน” ขึ้นไปในห้องโดยสาร (cabin baggage) ต้องโหลดใส่กระเป๋าใต้ท้องเครื่อง (checked baggage) เท่านั้น

สหรัฐอเมริกา

ไม่ได้ระบุขนาดของอุปกรณ์ที่ห้ามชัดเจน โดยบอกแค่ว่า “ใหญ่กว่าสมาร์ทโฟน” เท่านั้น ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ห้ามนำขึ้นได้แก่

  • คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก
  • แท็บเล็ต
  • เครื่องอ่านอีบุ๊ก
  • กล้องถ่ายภาพ
  • เครื่องเล่นดีวีดีพกพา
  • เครื่องเล่นเกมพกพาที่ใหญ่กว่าสมาร์ทโฟน
  • พรินเตอร์หรือสแกนเนอร์พกพา

สหรัฐอเมริกามีข้อยกเว้นให้สำหรับ “อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น” โดยต้องได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยก่อน

สหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรระบุเกณฑ์ชัดเจนว่า โดยกำหนดขนาดว่าห้ามเกิน 16 x 9.3 x 1.5 เซนติเมตร แปลว่าสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่หน่อยอย่าง iPhone Plus สามารถนำขึ้นเครื่องได้

ภาพจาก Pexels

2) ทำไมต้องห้ามนำขึ้นเครื่อง

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ของสหรัฐ ให้เหตุผลว่าได้รับข่าวกรองด้านการก่อการร้าย ว่าจะมีการวางระเบิดเที่ยวบินด้วยวิธีการใหม่ๆ เช่น ปลอมระเบิดให้อยู่ในรูปอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงออกมาตรการเหล่านี้มาป้องกันไว้ก่อน

Jim Termini ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยสนามบิน ให้ข้อมูลกับ BBC ว่าเหตุการณ์พยายามระเบิดเครื่องบินในโซมาเลียเมื่อปี 2016 เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น โดยผู้ก่อการร้ายปลอมระเบิดให้อยู่ในรูปโน้ตบุ๊ก โชคดีว่าระเบิดทำงานตั้งแต่เครื่องยังไม่บินขึ้น แต่ก็ทำให้เครื่องเสียหายหนัก

ผลงานระเบิดเครื่องบินในโซมาเลีย ที่ปลอมเป็นโน้ตบุ๊ก (ภาพจาก BBC)

3) เที่ยวบินไหน สายการบินไหนที่โดนแบน

กฎของทั้งสองประเทศ มีผลเฉพาะ “เที่ยวบินขาเข้า” (in-bound flights) ที่บินเข้าสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรเท่านั้น (ส่วนเที่ยวบินที่บินออกไม่เข้าข่าย สามารถถือขึ้นเครื่องได้)

“เที่ยวบินขาเข้า” ที่เข้าข่ายจะต้องมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือที่ระบุรายชื่อ โดยมีผลกับทุกสายการบินที่บินออกมาจากประเทศเหล่านี้ (ไม่ใช่แค่เฉพาะสายการบินของประเทศเหล่านี้ ต่อให้เป็นสายการบินของสหรัฐเอง ถ้าบินออกจากประเทศเหล่านี้ก็นับรวมด้วย)

สหรัฐอเมริกา

กำหนดไว้ 8 ประเทศ (บินออกจาก 10 สนามบิน) ดังนี้

  • Queen Alia International, Amman, Jordan
  • Cairo International Airport, Egypt
  • Ataturk Airport, Istanbul, Turkey
  • King Abdulaziz International, Jeddah, Saudi Arabia
  • King Khalid International, Riyadh, Saudi Arabia
  • Kuwait International Airport
  • Mohammed V International, Casablanca, Morocco
  • Hamad International, Doha, Qatar
  • Dubai International, United Arab Emirates
  • Abu Dhabi International, United Arab Emirates

ประกาศของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้สายการบินยอดนิยมจากภูมิภาคนี้ได้แก่ Emirates, Etihad, Qatar, Turkish Airlines จะเข้าข่ายโดนแบนห้ามถืออุปกรณ์ขึ้นเครื่องไปด้วย

ดังนั้นคนไทยที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้ด้วยสายการบินเหล่านี้ แล้วต้องทรานสิตที่สนามบินในรายชื่อดังกล่าว จะต้องไม่ถืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเครื่องด้วยเช่นกัน และต้องโหลดใส่กระเป๋าใหญ่ตั้งแต่เมืองไทย

สหราชอาณาจักร

กำหนดไว้ 6 ประเทศ (ไม่ประกาศชื่อตามสนามบิน แต่ก็นับรวมหมด)

  • Turkey
  • Lebanon
  • Jordan
  • Egypt
  • Tunisia
  • Saudi Arabia

สังเกตว่ากรณีของสหราชอาณาจักร ไม่นับรวมประเทศกาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ดังนั้นสายการบินยักษ์ใหญ่ Emirates, Qatar, Etihad จะรอด แต่ Turkish Airlines ไม่รอด (ถือว่าซวยสุดคือโดนสองประเทศเลย)

สายการบินที่ได้รับผลกระทบ จะรวมถึงสายการบินสัญชาติอังกฤษเองอย่าง British Airways หรือ EasyJet ที่บินมาจากประเทศเหล่านี้ด้วย

ประเทศที่มีผลจากคำสั่งประกาศของสหรัฐและสหราชอาณาจักร (ภาพจาก BBC)

4) คำสั่งห้ามเริ่มมีผลเมื่อไร

ระยะเวลาของคำสั่งห้ามขึ้นกับแต่ละสายการบินจะกำหนดเอาเอง ซึ่ง 2Baht ก็รวบรวมข้อมูลจากสายการบินรายใหญ่ๆ มาดังนี้

  • Emirates
    • สหรัฐอเมริกา: เริ่มตั้งแต่ 25 มีนาคม 2017 [อ้างอิง]
  • Qatar
    • สหรัฐอเมริกา: เริ่มตั้งแต่ 21 มีนาคม 2017 เป็นต้นไป [อ้างอิง]
  • Etihad
    • สหรัฐอเมริกา: เริ่มตั้งแต่ 25 มีนาคม 2017 เป็นต้นไป [อ้างอิง]
  • Turkish Airlines
    • สหรัฐอเมริกา: ประกาศแล้วเมื่อ 21 มีนาคม 2017 แต่ไม่ได้ระบุวันที่เริ่มมีผลอย่างชัดเจน [อ้างอิง]
    • สหราชอาณาจักร: ยังไม่ประกาศ
  • Egypt Air
    • สหรัฐอเมริกา: เริ่มตั้งแต่ 24 มีนาคม 2017 [อ้างอิง]
    • สหราชอาณาจักร: ยังไม่ประกาศ

ตอนนี้คำสั่งห้ามยังไม่มีกำหนดว่าจะห้ามไปถึงเมื่อไร ผู้โดยสารคงต้องติดตามข่าวสารเรื่องนี้เป็นระยะ (แต่ก็มีโอกาสสูงว่าจะเป็นห้ามแบบถาวร) ถ้าหากมีข้อมูลอัพเดตในอนาคต 2Baht จะมาอัพเดตในเพจนี้อีกครั้ง

5) ผู้โดยสารควรทำตัวอย่างไร

จากข้อมูลทั้งหมด ถ้าเราเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร ด้วยสายการบินเหล่านี้ที่เข้าข่าย ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากโหลดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างใส่กระเป๋าใหญ่ไปตั้งแต่เมืองไทยเลย แน่นอนว่าหลายคนคงมีความกังวลว่าอุปกรณ์จะสูญหายหรือไม่ แต่เราก็คงไม่มีทางเลือกอื่นอยู่ดี

ตอนนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่า แล้วอุปกรณ์อย่างพาวเวอร์แบงค์ (power bank) ที่ก่อนหน้านี้ประกาศให้ต้องถือขึ้นเครื่อง ห้ามโหลดใต้ท้องเครื่องล่ะ ต้องทำอย่างไร อันนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด คงต้องสอบถามไปยังสายการบินอีกครั้งก่อนเดินทาง

ข้อมูลบางส่วนจาก BBC