รีวิว Royal Silk Class ของการบินไทย บน Airbus A350-900 XWB

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงานของ 2baht.com มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ด้วยเครื่องบินรุ่น A350-900 XWB รุ่นใหม่ล่าสุดของ การบินไทย ในชั้น Royal Silk Class (ชั้นธุรกิจ) จึงขอถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาเป็นรีวิวชิ้นนี้ครับ

อนึ่ง รีวิวนี้เขียนจากประสบการณ์ของทีมงาน 2baht.com โดยตรง และออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ทางการบินไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใดครับ

รู้จักกับ Airbus A350-900 XWB

A350-900 XWB ของการบินไทย (ภาพทางการจาก Airbus)
A350-900 XWB ของการบินไทย (ภาพทางการจาก Airbus)

Airbus A350-900 XWB เป็นเครื่องบินรุ่นล่าสุดที่การบินไทยนำมาประจำการในฝูงบิน ผลิตโดยบริษัท Airbus SAS ในฝรั่งเศส (บริษัทลูกของ Airbus Group) การบินไทยเริ่มรับมอบลำแรกไปเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว และทยอยรับมอบมาเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าหมายเป็นเครื่องบินในบางเส้นทางระยะไกล เช่น เส้นทางยุโรป เส้นทางออสเตรเลีย ควบคู่กันไปกับเครื่องบินแบบ Boeing B787-8 ที่การบินไทยเริ่มรับมอบมาก่อนหน้านี้

ในเชิงประวัติโดยคร่าวของ A350 ต้องเท้าความกลับไปถึงการแข่งขันระหว่างสองผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก Airbus (ยุโรป) และ Boeing (อเมริกา)  แต่เดิม Boeing มีเครื่องบินตระกูล B777 ที่เป็นเครื่องบินพิสัยกลางถึงไกล ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะใช้แค่สองเครื่องยนต์ แต่สามารถทำระยะการบินได้ไกลมาก ส่วน Airbus ก็พยายามเข็น A340 ออกมา แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าเพราะกินน้ำมันมากกว่า (ใช้ 4 เครื่องยนต์)

ภาพเครื่องบินแบบ A340-200 ที่ทำการบินขึ้นครั้งแรก (ภาพทางการจาก Airbus)
ภาพเครื่องบินแบบ A340-200 ที่ทำการบินขึ้นครั้งแรก (ภาพทางการจาก Airbus)

จากนั้นเมื่อ Airbus เริ่มโครงการ A380 (A3XX เดิม) ที่เป็นเครื่องแบบสองชั้นเต็มลำ เพราะมองว่าผู้คนจะโดยสารแบบจากแต่ละศูนย์กลาง (hub) แล้วไปกระจายเอาในอนาคต ทาง Boeing กลับมองว่าคนจะเดินทางแบบจุดต่อจุด (point-to-point) มากขึ้น ไม่ต้องการเครื่องบินใหญ่ขนาดนั้น จึงเริ่มโครงการ B787 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อจาก B777 แต่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ประหยัดน้ำมันขึ้นกว่าเดิม จุดนี้เองทำให้ Airbus ต้องตั้งโครงการพัฒนา A350 ขึ้นมาสู้กับ B787 โดยตรง

A350 เริ่มพัฒนาขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2004 แต่หลังจากลูกค้าสายการบินจำนวนมากให้ความเห็นและข้อวิจารณ์ ทางบริษัทได้กลับไปพัฒนาใหม่ และเปิดตัวอีกครั้งในปี 2006 พร้อมกับชื่อ XWB (Extra-wide body) ห้อยท้าย และเริ่มบินทดสอบครั้งแรกปี 2013 ก่อนจะส่งมอบให้ Qatar Airways ที่เป็นลูกค้ารายแรกในปี 2014

A350-900 XWB (ภาพทางการจาก Airbus)
ภาพที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ของ A350-900 XWB (ภาพทางการจาก Airbus)

เทคโนโลยีของ A350 ทั้งในเชิงการประกอบและสร้างเครื่องบิน รวมถึงเทคโนโลยีภายในของเครื่องบินทั้งหมด เป็นไปในรูปแบบเดียวกับเครื่องบิน B787 ของ Boeing กล่าวคือมีการใช้วัสดุแบบ Composites (คาร์บอนไฟเบอร์ผสมพลาสติก) เข้ามาร่วมในบางชิ้นส่วนร่วมกับโลหะ ปีกแบบใหม่ หน้าต่างที่ใหญ่กว่าเดิม เป็นต้น

โปรเจคต์ A350 มีทั้งหมดด้วยกัน 3 รุ่นย่อย (variants) คือ A350-900 XWB, A350-900ULR XWB และ A350-1000 XWB (รุ่นย่อย -800 เลิกพัฒนาไปแล้วหลังเสียงตอบรับไม่ดี)

การบินไทยเริ่มรับมอบเครื่องบินแบบ A350-900 XWB ลำแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยได้รับนามพระราชทานว่า “วิเชียรบุรี” และเริ่มใช้ในเส้นทางภายในประเทศช่วงแรก จากนั้นจึงเริ่มปรับมาใช้ในเส้นทางบินระหว่างประเทศ

ปัจจุบันจากข้อมูลล่าสุด การบินไทยมีเครื่องบินแบบนี้แล้ว 3 ลำ (HS-THB, HS-THC และ HS-THD) และยังจะรับมอบเพิ่มเติมในอนาคต บนเครื่องมีที่นั่งเพียงแค่ 2 ระดับชั้นโดยสาร คือชั้น Royal Silk และชั้นประหยัดธรรมดาเท่านั้น (ไม่มีชั้นหนึ่ง Royal First แต่อย่างใด)

A350-900 XWB ของการบินไทย (ภาพทางการจาก Airbus)
A350-900 XWB ของการบินไทย (ภาพทางการจาก Airbus)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การบินไทยได้นำเครื่องรุ่นนี้มาให้บริการในบางเส้นทางภายในประเทศด้วย สำหรับรีวิวครั้งนี้จะเป็นเส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ (TG 120) ครับ แต่บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียดเล็กน้อยบางจุด จะรวมไปถึงเที่ยวขากลับ (TG 121) ที่ออกจากเชียงใหม่ด้วย

รายละเอียดเที่ยวบิน

  • รหัสเที่ยวบิน TG 120 และ TG 121
  • เส้นทางการบิน กรุงเทพ (BKK) – เชียงใหม่ (CNX) – กรุงเทพ (BKK)
  • เวลาเดินทางเที่ยวไป 18.40 น. – 20.00 น.
  • เวลาเดินทางเที่ยวกลับ 21.45 น. – 23.00 น. (ล่าช้ากว่ากำหนด 1 ชั่วโมง)
  • ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 1.20 ชั่วโมง (ต่อเที่ยว)
  • ที่นั่ง 15A (ขาไป), 15K (ขากลับ)
  • ชั้นโดยสาร Royal Silk Class
  • เครื่องบิน Airbus A350-900 XWB, HS-THB (วิเชียรบุรี)

เช็คอินและบริการก่อนขึ้นเครื่อง

ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

สำหรับผู้โดยสารการบินไทยไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ เที่ยวบินทุกเที่ยวที่ออกจากกรุงเทพจะเริ่มทำการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมด จุดที่แตกต่างจะอยู่ที่เคาเตอร์เช็คอิน ซึ่งทีมงานขอแนะนำว่าให้ตรวจสอบดีๆ

แถวเคาน์เตอร์ B สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจและสมาชิกระดับ Gold ของโปรแกรมสะสมไมล์กลุ่ม Star Alliance
แถวเคาน์เตอร์ B สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจและสมาชิกระดับ Gold ของโปรแกรมสะสมไมล์กลุ่ม Star Alliance

สำหรับชั้นธุรกิจ (Royal Silk Class) จุดเช็คอินเพื่อรับบัตรโดยสารจะอยู่ที่แถว B ของโถงขาออก (ชั้น 4) ใช้ทั้งเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศ และสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus และโปรแกรมอื่นๆ ของสายการบินในกลุ่ม Star Alliance ระดับ Gold ขึ้นไป

แถวเคาน์เตอร์ B สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจและสมาชิกระดับ Gold ของโปรแกรมสะสมไมล์กลุ่ม Star Alliance
แถวเคาน์เตอร์ B สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจและสมาชิกระดับ Gold ของโปรแกรมสะสมไมล์กลุ่ม Star Alliance

สิทธิพิเศษในการเช็คอินนี้ไม่ได้มีเฉพาะแค่เช็คอินแยกจากผู้โดยสารทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิในการได้กระเป๋าที่เร็วกว่าผู้โดยสารอื่น (priority) ในกรณีที่มีสัมภาระที่ต้องโหลดลงใต้ท้องเครื่องด้วย และในกรณีที่เป็นสมาชิก Royal Orchid Plus หรือ Star Alliance อื่นในระดับ Gold ก็จะได้น้ำหนักเพิ่มด้วย ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสมาชิก, สิทธิในการขึ้นและลงจากเครื่องก่อนผู้โดยสารอื่น (สิทธิลงเครื่องก่อนไม่ครอบคลุมถึงผู้โดยสารที่เป็นสมาชิกนะครับ) และสิทธิในการเข้าใช้ Royal Silk Lounge (ห้องรับรองรอยัลซิลค์) ด้วย

ประสบการณ์เช็คอินก็คงต้องบอกว่าทำได้ดี เจ้าหน้าที่ให้บริการด้วยความสุภาพเรียบร้อย ได้บัตรขึ้นเครื่อง (boarding pass) ด้วยความรวดเร็วครับ ในบัตรขึ้นเครื่องจะระบุว่าได้สิทธิเข้า Royal Silk Lounge พิมพ์ติดอยู่ด้วย (ไม่ได้ถ่ายมาครับ) เมื่อได้บัตรขึ้นเครื่องมาแล้ว ก็สามารถผ่านด่านรักษาความปลอดภัยและเข้าไปนั่งที่เลาจน์ได้ทันที

ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่ การเช็คอินจะเป็นเคาน์เตอร์ โดยมีเคาน์เตอร์เฉพาะของผู้โดยสาร Royal Silk และช่องที่ได้รับสิทธิเช็คอินพิเศษต่างหาก (มีพรมปู) สำหรับผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศจะอยู่ที่เคาน์เตอร์หมายเลข 32

เนื่องจากว่าผมไปตอนที่เคาน์เตอร์ปิด และทำการเช็คอินมาล่วงหน้าออนไลน์อยู่แล้ว เลยไปที่ตรงเคาน์เตอร์ส่งกระเป๋า (bag drop) แทน

เคาน์เตอร์หมายเลข 32 ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่
เคาน์เตอร์หมายเลข 32 ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่

แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่บริการมาตรฐานเดียวกับที่สุวรรณภูมิ ด้วยความสุภาพและเรียบร้อย เนื่องจากผมไปก่อนเวลาค่อนข้างมาก (หนีฝนตก) เจ้าหน้าที่เข้าใจสถานการณ์และแนะนำให้ผมไปนั่งรออยู่ที่ Royal Silk Lounge จนกว่าจะขึ้นเครื่องครับ (นานหน่อยแต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย)

Royal Silk Lounge

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หนึ่งในสิทธิที่มาพร้อมกับการโดยสารในชั้น Royal Silk Class คือสิทธิในการเข้าใช้ห้องรับรอง Royal Silk Lounge ระหว่างที่รอขึ้นเครื่อง รีวิวนี้จะรีวิวเลาจ์ทั้งที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ครับ

ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

ทางเข้า Royal Silk Lounge (ห้องรับรองรอยัลซิลค์)
ทางเข้า Royal Silk Lounge (ห้องรับรองรอยัลซิลค์)

หลังจากผ่านด่านรักษาความปลอดภัยมา ทีมงาน 2baht.com ไม่รอช้าที่จะไปนั่ง Royal Silk Lounge เพื่อรอเวลาระหว่างขึ้นเครื่อง เลาจน์จะตั้งอยู่ที่บริเวณโซนประตู A (ฝั่ง B จะไม่มี) ตรงข้ามประตู A1 จากจุดด่านรักษาความปลอดภัยก็เดินกันเล็กน้อยครับ

ที่ตั้ง Royal Silk Lounge (ห้องรับรองรอยัลซิลค์)
ที่ตั้ง Royal Silk Lounge (ห้องรับรองรอยัลซิลค์)

นอกจากผู้โดยสารที่เดินทางชั้น Royal Silk Class ของการบินไทยที่ได้รับสิทธิเข้าใช้งาน (แบบไม่อนุญาตให้มีผู้ติดตาม) ผู้โดยสารที่เป็นสมาชิกระดับบัตรทองของ Royal Orchid Plus หรือโปรแกรมสะสมไมล์อื่นๆ ในกลุ่มสายการบิน Star Alliance ตั้งแต่ระดับ Gold ขึ้นไป ก็ได้ใช้ด้วยเช่นกัน (กรณีกลุ่มหลัง อนุญาตให้มีผู้ติดตาม 1 คน)

เมื่อเข้ามาด้านใน จะพบกับเจ้าหน้าที่รอต้อนรับ สิ่งที่เราต้องทำคือยื่นบัตรขึ้นเครื่องให้เจ้าหน้าที่สแกน จากนั้นก็เดินเข้าเลาจน์ตัวปลิวที่อยู่ด้านซ้ายมือได้ทันทีครับ

บรรยากาศภายใน Royal Silk Lounge (ห้องรับรองรอยัลซิลค์)
บรรยากาศภายใน Royal Silk Lounge (ห้องรับรองรอยัลซิลค์)

บรรยากาศของเลาจน์ต้องถือว่าโปร่ง มีสองส่วนคือส่วนหลักที่ติดกับของกิน และส่วนที่เรียกว่า Garden Zone คือส่วนที่ลึกเข้าไปด้านใน มีความเป็นส่วนตัวกว่า วันนั้นที่ไปคนไม่เยอะ ทีมงานเลยเลือกที่จะนั่งด้านนอกครับ

ของหวานทั้งแบบไทยและตะวันตก
ของหวานทั้งแบบไทยและตะวันตก
มุมพายและขนมอบ
มุมพายและขนมอบ
แซนด์วิชและผลไม้
แซนด์วิชและผลไม้
ตู้เครื่องดื่มแช่เย็นแบบกระป๋อง
ตู้เครื่องดื่มแช่เย็นแบบกระป๋อง
มุมเครื่องดื่มแบบสด เช่น น้ำผลไม้
มุมเครื่องดื่มแบบสด เช่น น้ำผลไม้

อาหารเป็นของกินเล่นเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าใครอยากกินอะไรหนักท้องก็มีเช่นกัน (วันที่ไปเป็นข้าวมันไก่) เครื่องดื่มจะเป็นเครื่องดื่มปลอดแอลกอฮอล์ (ในฝั่งผู้โดยสารระหว่างประเทศมีเครื่องดื่มแอลกอฮออล์ให้บริการด้วย) จุดที่เป็นข้อสังเกตอีกอย่างคืออาหารที่นี่ใช้อาหารสำเร็จรูป เช่น ขนมจีบหรือซาลาเปาแช่แข็งแล้วเอามานึ่ง น่าเสียดายที่ไม่ได้ใช้ครัวการบินไทยทำทั้งหมด

เลาจน์ที่นี่ไม่มีการประกาศขึ้นเครื่องนะครับ ดังนั้นควรดูเวลากันดีๆ จะได้ไม่ทานอาหารกันเพลินจนลืมเวลา

ป้ายระบุไม่มีการประกาศเที่ยวบิน
ป้ายระบุไม่มีการประกาศเที่ยวบิน

ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

Royal Silk Lounge ที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ มีกฎเกณฑ์การเข้าใช้งานแบบเดียวกันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทุกอย่าง ตัวเลาจน์ตั้งอยู่ตรงข้ามประตูขึ้นเครื่อง 3 และ 4 (เรียกว่าอยู่สุดมุมก็ไม่แปลก) ซึ่งเป็นเลาจน์เดียวที่อยู่หลังด่านตรวจสอบความปลอดภัย (สายการบินอย่าง Bangkok Airways จะอยู่ก่อน)

ด้านหน้า Royal Silk Lounge ท่าอากาศยานเชียงใหม่ฝั่งภายในประเทศ
ด้านหน้า Royal Silk Lounge ท่าอากาศยานเชียงใหม่ฝั่งภายในประเทศ

Royal Silk Lounge ที่นี่ค่อนข้างเล็ก และในเวลาแออัด (เช่น เวลาก่อนถึงเที่ยวบินของการบินไทยสัก 1 ชั่วโมง) แทบจะหาที่นั่งไม่ได้ ปลั๊กไฟก็มีอยู่อย่างจำกัด เรียกว่าสวนทางกับสุวรรณภูมิพอสมควร ทีมงานเข้าใจตอนแรกว่าเลาจน์จะกว้างกว่านี้ (โดนหลอกตาด้วยการแต่งกระจกเงาเอาไว้ภายในจำนวนมาก)

ภายในและการตกแต่งของ Royal Silk Lounge ท่าอากาศยานเชียงใหม่
ภายในและการตกแต่งของ Royal Silk Lounge ท่าอากาศยานเชียงใหม่

สำหรับของกินและเครื่องดื่มภายในเลาจน์ ยังคงแนวทางแบบเดียวกันที่สุวรรณภูมิ ยกเว้นว่าเล็กลงและมีตัวเลือกให้น้อยลงครับ ทีมงานลงความเห็นว่าแม้จะไม่ได้แย่ แต่คิดว่าเลาจน์อาจจะเก่าเกินไปแล้วและต้องมีการปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ให้รองรับการเติบโตของผู้โดยสาร ทั้งที่มาจากสายการบินไทยเอง และการเข้าใช้เลาจน์จากคู่สัญญาบัตรต่างๆ ครับ

ไลน์ของอาหารและเครื่องดื่มภายในเลาจน์ที่เชียงใหม่
ไลน์ของอาหารและเครื่องดื่มภายในเลาจน์ที่เชียงใหม่
เครื่องดื่มภายในเลาจน์ที่เชียงใหม่
อาหารบางส่วนภายในเลาจน์ที่เชียงใหม่

เลาจน์ที่เชียงใหม่มีข้อดีอยู่อย่าง กล่าวคือ เจ้าหน้าที่จะเดินเข้ามาแจ้งเมื่อเที่ยวบินของการบินไทย เปิดให้ขึ้นเครื่องแล้ว (อันที่จริงเสียงประกาศข้างนอกก็ได้ยินเข้ามาด้านในอยู่แล้ว แต่การมีเจ้าหน้าที่มาพูดก็เป็นการ “ยืนยัน” อีกรอบครับ) หรือในกรณีที่เที่ยวบินล่าช้า (แบบที่ทีมงานเจอตอนขากลับ) เจ้าหน้าที่จะเดินมาแจ้งผู้โดยสารเป็นรายบุคคลครับ ต้องชื่นชมความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ครับ

การขึ้นเครื่องบิน (boarding)

A350-900 XWB จอดเทียบอาคาร รอผู้โดยสาร
A350-900 XWB จอดเทียบอาคาร รอผู้โดยสาร

หลังจากนั่งรอที่เลาจน์ระยะหนึ่ง พอใกล้ถึงเวลาขึ้นเครื่องก็เดินขึ้นไปรอที่ทางขึ้นครับ ผู้โดยสารชั้น Royal Silk Class และผู้โดยสารที่เป็นสมาชิกระดับบัตรทองของ Royal Orchid Plus หรือโปรแกรมสะสมไมล์อื่นๆ ในกลุ่มสายการบิน Star Alliance ตั้งแต่ระดับ Gold จะได้สิทธิขึ้นเครื่องก่อนผู้โดยสารรายอื่นๆ

ทางเชื่อมยังแยกเฉพาะสำหรับผู้โดยสารชั้น Royal Silk Class อีกด้วย ไม่ต้องเดินปะปนกับผู้โดยสารชั้นประหยัดแต่อย่างใด

ป้ายบอกสิทธิสำหรับผู้โดยสารที่ได้ขึ้นเครื่องก่อน
ป้ายบอกสิทธิสำหรับผู้โดยสารที่ได้ขึ้นเครื่องก่อน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

เครื่อง A350-900 XWB ยังมาพร้อมบริการ Wi-Fi บนเครื่องบินอีกด้วย เริ่มต้นที่ 4.99 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับข้อมูล 10 MB (ทีมงานไม่ได้รีวิว เพราะเห็นว่าราคายังสูงเกินไป)

ด้านนอกตัวเครื่อง แสดงโลโก้ประจำรุ่นและสัญลักษณ์ไวไฟ
ด้านนอกตัวเครื่อง แสดงโลโก้ประจำรุ่นและสัญลักษณ์ไวไฟ

บนเครื่องบิน

บรรยากาศภายในห้องโดยสาร
บรรยากาศภายในห้องโดยสาร

หลังจากขึ้นเครื่องมาแล้ว สิ่งแรกที่พบคือบรรยากาศภายในห้องโดยสารที่ยังคงใหม่มาก แม้จะใช้งานมาเกือบปี ในจุดนี้ต้องชมการบำรุงรักษาของการบินไทยที่ทำให้ห้องโดยสารดูไม่เก่าครับ ลักษณะการจัดเรียงของเก้าอี้ต่อแถวเป็นแบบ 1-2-1 รวมกันทั้งหมด 8 แถว ที่นั่งทุกที่ติดทางเดินทั้งหมด ทีมงานได้ที่นั่งหมายเลข 15A ครับ เจ้าหน้าที่ทุกคนบริการด้วยความสุภาพอย่างมาก (ใช้คำสรรพนามเรียกว่า “ท่าน”)

ที่นั่งชั้น Royal Silk Class
ที่นั่งชั้น Royal Silk Class
บรรยากาศที่นั่งชั้น Royal Silk Class
บรรยากาศที่นั่งชั้น Royal Silk Class

ที่นั่งของชั้น Royal Silk บน A350-900 XWB มีความกว้าง (seat width) 21 นิ้ว สามารถปรับนอนราบ 180 องศามาพร้อมกับจอภาพของระบบความบันเทิงบนเครื่องบินขนาด 16 นิ้ว (เที่ยวบินภายในประเทศจะไม่มีหูฟังให้ ผู้โดยสารต้องเอามาเอง) มีที่เสียบปลั๊กสำหรับใครที่อยากทำงานบนเครื่องบิน และช่องเก็บของที่ใหญ่มากใต้ที่วางแขน

ที่นั่งมื่อปรับนอนอย่างเต็มที่
ที่นั่งเมื่อปรับนอนอย่างเต็มที่
ที่วางแขนด้านข้าง พร้อมที่เก็บรีโมท ปลั๊กไฟ และช่องเสียบหูฟัง
ที่วางแขนด้านข้าง พร้อมที่เก็บรีโมท ปลั๊กไฟ และช่องเสียบหูฟัง
หน้าจอความบันเทิง
หน้าจอความบันเทิง

สำหรับปุ่มปรับที่นั่งมีหลายโหมดด้วยกัน ปรับได้ละเอียดมาก หลักๆ คงเป็นปุ่มปรับให้อยู่ในท่าตอนเครื่องบินกำลังขึ้นและลงกับปุ่มปรับนอนครับ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเราสามารถปรับให้นอนราบ 180 องศาได้เลย ซึ่งทีมงานก็ลองปรับนอนแล้วงีบสักระยะ ก็พบว่าสบายดีครับ (จะวิเศษมากในกรณีที่ต้องเดินทางนานๆ)

ปุ่มปรับที่นั่ง
ปุ่มปรับที่นั่ง

ด้านข้างเราจะมีไฟอ่านหนังสือและไฟบรรยากาศ (ambient light) รวมถึงที่วางของชนิดแบบมากเหลือเฟือ

ไฟอ่านหนังสือ
ไฟอ่านหนังสือ
Ambient light
Ambient light

แม้จะเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ แต่ระบบความบันเทิงของเครื่องบินของชั้น Royal Silk บนเครื่องลำนี้ไม่ได้ถูกปิด ดังนั้นสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ รีโมทเป็นแบบสัมผัสผสมปุ่ม ใช้งานได้ดี ในบางครั้งเราสามารถเปิดทำงานได้สองอย่างพร้อมกัน เช่น ข้อมูลการบินให้แสดงหน้าจอใหญ่ ขณะที่หน้าจอรีโมททำอย่างอื่นไป

นอกจากนี้เราสามารถยังกำหนเความสว่าง (brightness) ของหน้าจอทั้งสองตัวแยกจากกันได้ด้วย

โต๊ะทานอาหารจะถูกเก็บด้านข้างตรงบริเวณที่กั้นด้านหน้า เวลาต้องการใช้งานก็แค่เปิดแล้วดึงลงมาครับ ตกแต่งสวยงาม ส่วนด้านบนศีรษะเราจะมีไฟส่องสว่างสองดวงและหน้าจอแสดงสัญลักษณ์ไฟรัดเข็มขัด เรียกว่าทันสมัยกว่าเครื่องแบบก่อนๆ อย่างมาก

แม้รีวิวจากหลายที่จะบอกว่ามีความเป็นส่วนตัวสูง แต่ทีมงานมีความเห็นแย้งว่าด้วยลักษณะของการเปิดโล่งของที่นั่ง และผนังกั้นที่นั่งโดยสารที่เตี้ย ความเป็นส่วนตัวอาจจะ “ไม่เต็มที่” เท่าใดนัก  เพราะยังคงเห็นที่นั่งด้านข้าง และผู้โดยสารในที่นั่งด้านข้างสามารถมองเข้ามาได้แม้จะไม่ถนัดนัก (ทางแก้คือการดึงโต๊ะออกมากั้นทางเดินเข้าออกของที่นั่ง จะเสริมความเป็นส่วนตัวได้ดียิ่งขึ้น)

ส่วนห้องน้ำของเครื่องบินเองก็ไม่มีอะไรแปลกแตกต่างไปจากห้องน้ำเครื่องบินทั่วไป ยกเว้นถังขยะที่ใช้เซนเซอร์ ทำให้ทิ้งขยะหรือกระดาษเช็ดมือได้สบายๆ ไม่ต้องเหนื่อยเปิดยากเย็นแบบสมัยก่อนอีกต่อไป

บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่อง

ทันทีที่เราขึ้นเครื่อง ลูกเรือจะสอบถามว่าเราต้องการน้ำดื่มต้อนรับอะไร (พร้อมกับผ้าร้อนด้วย) ตัวเลือกสำหรับเส้นทางภายในประเทศ (ณ วันที่รีวิว) มี 3 อย่าง คือน้ำเปล่า น้ำชามะขาม และน้ำส้ม ทีมงานพบว่าชามะขามเป็นอะไรที่แปลกใหม่ รสชาติไม่หวานจัดมาก มีความเปรี้ยวนิดๆ ถือว่ากำลังดี

 เครื่องดื่มต้อนรับ น้ำเปล่าและชามะขาม
เครื่องดื่มต้อนรับ น้ำเปล่าและชามะขาม

สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ผู้โดยสารชั้น Royal Silk Class จะได้รับอาหาร 1 มื้อ โดยจะมีเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินเข้ามาถามผู้โดยสารก่อน (ถ้าไม่ต้องการก็จะไม่เสิร์ฟ) จากนั้นเจ้าหน้าที่จะปูโต๊ะให้ สำหรับในมื้อขาไปเป็นข้าวกับแกงแดงไก่และซาหริ่มอัญชันครับ

ผู้โดยสารในชั้น Royal Silk สามารถร้องขอเครื่องดื่มอื่นได้นอกเหนือจากน้ำเปล่า (ที่นั่งข้างๆ ผมขอกาแฟร้อน) ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮออล์ที่ไม่มีบริการ เรื่องรสชาติก็ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานของครัวการบินไทย

ส่วนเที่ยวขากลับเข้ากรุงเทพ ได้เป็นปลาทอดผัดซอส ข้าวผัดไข่ และผัดมะเขือยาว กับมูสครีมบราวนี่คาราเมลครับ รสชาติของจานหลักทำออกมากลางๆ ตัวข้าวทำได้ดี

ทว่ามูสครีมบราวนี่ออกจะเลี่ยนและมันไปสักหน่อย ต้องกินคู่กับชาบนเครื่องถึงจะเข้ากันได้ดี

การลงเครื่องและรับกระเป๋าที่สายพาน

อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นแล้วว่า ผู้โดยสารชั้น Royal Silk Class จะได้รับสิทธิในการลงเครื่องก่อน ซึ่งทีมงาน 2baht.com ก็เดินตัวปลิวออกมาจากเครื่องด้วยความรวดเร็ว

ก่อนลงจากเครื่อง พนักงานที่รับผิดชอบในชั้นโดยสารของเรา (กรณีทีมงานคือหัวหน้าลูกเรือ หรือ Air Purser) จะเข้ามาขอบคุณที่ใช้บริการเราถึงที่นั่งเลยครับ (รู้สึกเคอะเขินพอสมควร)

สัมภาระที่เราโหลดลงใต้ท้องเครื่อง ก็ได้รับภายในเวลาไม่นานหนักเมื่อถึงสายพานครับ นับตั้งแต่เวลาลงจากเครื่องจนได้กระเป๋าและเดินทางออกจากโถงผู้โดยสารขาเข้า ใช้เวลาเพียง 17 นาทีเท่านั้นสำหรับขาไป (เที่ยวกลับไม่ได้นับ)

สรุป: ดีมาก หรูมาก

แม้ทีมงานจะโดยสารเครื่องบินมาไม่มาก แต่ต้องยอมรับว่า Royal Silk Class ของการบินไทยบน A350-900 XWB ทำออกมาได้ดีมาก ในเชิงของการบริการคงต้องบอกว่าราบรื่น สมกับราคาค่าตั๋ว ส่วนอาหารก็จัดเต็ม แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นเรื่องของที่นั่งที่สามารถปรับนอนได้ 180 องศา ทำให้ในบางครั้งที่อยากงีบก็ทำได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม มิติเรื่องความเป็นส่วนตัวของที่นั่งอาจเป็นปัญหาได้ในกรณีที่เราต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่านี้ครับ

ข้อดี

  • บริการดีมาก ตั้งแต่การเช็คอินจนไปถึงการลงจากเครื่อง
  • ที่นั่งดี บนเครื่องสะอาดเรียบร้อย

ข้อสังเกต

  • ที่นั่งแม้จะมีความเป็นส่วนตัว แต่ก็เหมือนมีความเป็นส่วนตัวที่ไม่สุดเท่าใดนัก
  • อาหารที่ให้บริการใน Royal Silk Lounge บางอย่างเป็นอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง
  • Royal Silk Lounge ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เก่าและแคบมาก ไม่น่าจะรองรับผู้โดยสารในอนาคตได้ไหว ควรรีบปรับปรุง