อย่างที่เคยเขียนไปแล้วว่า ประเทศจอร์แดนนั้นเต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณหลากหลายเผ่าพันธุ์ มีโบราณสถานจากประวัติศาสตร์หลายช่วงหลายตอน เช่น ภูเขาเนโบ ตามความเชื่อของชาวยิว
ประวัติศาสตร์อีกช่วงที่น่าสนใจคือ “สงครามครูเสด” ยุคที่ศาสนาอิสลามยึดครองอาณาจักรแถบนี้ และชาวคริสต์ในยุโรปรวมพลังกันบุกเข้ามาเพื่อยึด “นครศักดิ์สิทธิ์” เยรูซาเล็ม คืนจากชาวอิสลาม ซึ่งประเทศจอร์แดนที่อยู่ติดกับอิสราเอลก็ถือเป็นหนึ่งในสมรภูมิรบสมัยสงครามครูเสดด้วยเช่นกัน
สงครามครูเสดกินเวลาหลายร้อยปี และแบ่งเป็นสงครามย่อยๆ หลายช่วง (นับรวมได้ 9 ครั้งในช่วงเวลาประมาณ 200 ปี) ทั้งฝ่ายของศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามต่างก็ตั้งเมือง สร้างป้อมปราการในจุดยุทธศาสตร์กันอย่างเต็มที่ และป้อมปราสาทเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน โดยใช้ชื่อเรียกรวมๆ ว่า “ปราสาทยุคครูเสด” (Crusader Castles)
ปราสาทครูเสดแห่งหนึ่งที่เราจะนำเสนอในรอบนี้คือ ปราสาทเครัค (Kerak Castle หรือบางที่ก็สะกดว่า Karak) ตั้งอยู่ที่เมืองอัลเครัค (Al Karak) ทางตอนกลางขอประเทศจอร์แดน ซึ่งถือเป็นปราสาทสมัยครูเสดที่มีขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่ง
ปราสาทเครัคแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1142 โดยฝ่ายของชาวคริสต์จากยุโรป ปราสาทนี้ถูกสร้างอยู่บนยอดเขาเพื่อให้ง่ายต่อการป้องกันศัตรู
ปัจจุบันปราสาทเครัคถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศจอร์แดน การเยี่ยมชมสามารถนั่งรถเข้าไปได้เกือบถึงตัวปราสาทเลย บริเวณลานจอดรถมีร้านอาหารและร้านค้าหลายแห่ง
ใกล้ๆ กับตัวปราสาท จะเห็นอาคารด้านซ้ายมือในภาพซึ่งเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ต้อนรับกรุ๊ปทัวร์ มีอาหารพื้นเมืองของจอร์แดนบริการแบบบุฟเฟต์ กินเสร็จ ท้องอิ่มแล้ว เดินชมปราสาทต่อได้ทันที
ทางเข้าตัวปราสาทจะต้องเดินข้ามสะพานเล็กๆ เข้าไปในประตูลูกกรงด้านซ้ายมือในภาพ สังเกตว่าปราสาทจะอยู่บนยอดเขาพอดี เห็นทิวทัศน์บนเขาสวยงาม
ภูมิประเทศแถบตอนใต้ของจอร์แดนจะเป็นทะเลทราย มองไปทางไหนก็เห็นแต่ดิน และมีปลูกพืชบ้างประปราย ในขณะที่ตอนเหนือจะอุดมสมบูรณ์กว่ามาก
ประวัติของปราสาท Kerak ถูกสร้างโดยกลุ่มอัศวินในสงครามครูเสดสายที่มาจากประเทศฝรั่งเศส เริ่มสร้างใน ค.ศ. 1142 ช่วงก่อนสงครามครูเสดครั้งที่สอง พอสร้างปราสาทเสร็จแล้วประมาณ 40 ปี ก็เกิดสงครามใหญ่ขึ้น โดย “ซาลาดิน” กษัตริย์อิสลามจากราชวงศ์ Ayyubid ของอียิปต์ บุกเข้ามาโจมตีปราสาทเครัค อย่างไรก็ตาม ซาลาดินบุกยึดปราสาทแห่งนี้ไม่สำเร็จ และเมื่อฝ่ายกองทัพครูเสดอื่นยกมาช่วยเหลือ ซาลาดินกลัวถูกปิดล้อมจากทั้งสองฝั่ง เลยถอนกำลังออกไป
ซาลาดินกลับมาบุกยึดปราสาทเครักอีกครั้งในปี 1189 ซึ่งคราวนี้ทำได้สำเร็จ จากนั้นปราสาทแห่งนี้ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิมเผ่าต่างๆ ในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด
เหตุการณ์ช่วงนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Kingdom of Heaven (แสดงโดย Orlando Bloom แห่ง Lord of the Ring) โดยมีฉากปราสาทเครักอยู่ด้วยนิดหน่อย (นาทีที่ 0:45 ในคลิป)
https://www.youtube.com/watch?v=Kfq9U2tWWGo
ปัจจุบันปราสาทเครัคพังทลายไปบางจุด โดยเฉพาะส่วนของหลังคา แต่กำแพงและห้องหับภายในยังสมบูรณ์อยู่
ทางเดินเข้าตัวปราสาท
วิวเบื้องล่าง จากฝั่งทางเดินขึ้นปราสาท
สิ่งที่น่าสนใจของปราสาทเครัคคือสถาปัตยกรรมและโครงสร้างในอดีต ที่ใช้หินมาสร้างปราสาทและทำหลังคาอุโมงค์โค้งเพื่อรับน้ำหนัก
ตัวอย่างหลังคาอุโมงค์ภายในปราสาท
สถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ “ช่องแสง” ที่เจาะเอาไว้เพื่อให้แสงส่องเข้ามาให้ความสว่างกับพื้นที่ในตัวปราสาทได้ การเป็นปราสาทสมัยครูเสดต้องพยายามสร้างกำแพงปิดเพื่อป้องกันการโจมตี ผลคือภายในปราสาทค่อนข้างมืด การเจาะช่องแสงจึงถือเป็นทางออกที่น่าสนใจมาก
หน้าต่างของปราสาทยุคนี้จะทำเป็นทรงแคบๆ แบบนี้ เพื่อป้องกันการยิงโจมตีด้วยธนู แต่ยังสามารถยิงธนูตอบโต้ศัตรูได้
หน้าต่างเมื่อมองจากภายนอก
สถาปัตยกรรมอีกอย่างที่น่าสนใจคือ “น้ำ” การขนส่งน้ำในปราสาทใช้วิธีเจาะกำแพงเป็นร่อง ทำท่อแบบโบราณเพื่อส่งน้ำจากชั้นบนลงมายังชั้นล่าง อันนี้เป็นภาพของร่องกำแพงที่เคยเป็นท่อน้ำมาก่อน
บริเวณชั้นบนของปราสาท ยังมีโครงหลังคาบางอันที่ยังคงสภาพเดิมไว้ได้อยู่
ปราสาทเครักแบ่งออกเป็น 2 ปีก ภาพที่เห็นนั่นคือปีกด้านในที่สร้างขึ้นภายหลัง
วิวจากยอดปราสาทเครัค เห็นตัวเมืองสมัยใหม่ตั้งอยู่บนเนินด้านข้าง
โดยรวมแล้วต้องบอกว่าปราสาทเครัค เป็นโบราณสถานในสมัยสงครามครูเสดที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าภายในปราสาทจะไม่มีเครื่องประดับตกแต่งใดๆ เหลืออยู่แล้ว (ผ่านมาเกือบพันปีแล้ว) แต่สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ช่วยให้เราเข้าใจมุมมองของการสงครามในสมัยครูเสดได้มากขึ้น
ปราสาท Kerak อยู่ตอนกลางของประเทศจอร์แดน (ตามแผนที่ด้านล่าง) อยู่ระหว่างทางจากกรุงอัมมานไปยังสถานที่ท่องเที่ยวตอนใต้คือ “เพตรา” (Petra) และเมืองอัคคาบา (Aqaba) ซึ่งคนที่มาเที่ยวจอร์แดนต้องมาอยู่แล้ว ดังนั้นถ้ามีโอกาสแวะมาเยือน Kerak ระหว่างการเดินทางก็ไม่ควรพลาด