รู้จักพันธมิตรสายการบิน Star Alliance vs Oneworld vs SkyTeam

Airline Alliances

นักเดินทางที่เคยขึ้นเครื่องบินมาหลายสายหน่อย คงเคยได้ยินชื่อ Star Alliance, Oneworld หรือ SkyTeam กันมาบ้าง ชื่อเหล่านี้คือชื่อกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ซึ่งสายการบินแต่ละแห่งในโลกผนึกกำลังกันเพื่อสร้างอำนาจในการแข่งขัน และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้กับผู้โดยสารในเครือของตัวเอง

บทความนี้ 2Baht.com จะมาแนะนำข้อมูลของพันธมิตรสายการบินยักษ์ใหญ่ของโลกทั้ง 3 ราย เพื่อเป็นข้อมูลเสริมความรู้ในการเดินทาง และเลือกสายการบินของท่านครั้งหน้า

Star Alliance

คนไทยอาจคุ้นเคยกับชื่อ Star Alliance มากที่สุด เพราะ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติไทยร่วมเป็นหนึ่งในห้าสายการบินก่อตั้ง Star Alliance ด้วย (สายการบินที่ร่วมก่อตั้งมี 5 ราย โลโก้จึงเป็นรูปดาว 5 แฉก)

Star Alliance เป็นพันธมิตรสายการบินกลุ่มแรกของโลก ก่อตั้งในปี 1997 โดยสายการบิน 5 ราย ได้แก่ Lufthansa จากเยอรมนี,  Scandinavian Airlines, Air Canada, United Airlines และการบินไทย

ภาพถ่ายงานเปิดตัว Star Alliance ในปี 1997 (จาก Facebook Star Alliance)
ภาพถ่ายงานเปิดตัว Star Alliance ในปี 1997 (จาก Facebook Star Alliance)

พี่ใหญ่ของกลุ่ม Star Alliance คือ Lufthansa ของเยอรมนี ทำให้ตอนนี้ Star Alliance ยังมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่แฟรงค์เฟิร์ต แต่รูปแบบการบริหารก็เป็นบริษัทอิสระชัดเจน ไม่ขึ้นกับสายการบินรายใดรายหนึ่ง ปัจจุบัน Star Alliance มีสายการบินสมาชิกทั้งหมด 27 ราย ที่ว่าเยอะที่สุดในบรรดาพันธมิตรทั้ง 3 ค่าย

  1. Adria Airways JP – สโลวีเนีย
  2. Aegean Airlines A3 – กรีซ
  3. Air Canada AC – แคนาดา
  4. Air China CA – จีน
  5. Air India AI – อินเดีย
  6. Air New Zealand NZ – นิวซีแลนด์
  7. ANA NH – ญี่ปุ่น
  8. Asiana Airlines OZ – เกาหลีใต้
  9. Austrian OS – ออสเตรีย
  10. Avianca AV – โคลอมเบีย
  11. Brussels Airlines SN – เบลเยียม
  12. Copa Airlines CM – ปานามา
  13. Croatia Airlines OU – โครเอเชีย
  14. EGYPTAIR MS – อียิปต์
  15. Ethiopian Airlines ET – เอธิโอเปีย
  16. EVA Air BR – ไต้หวัน
  17. LOT Polish Airlines LO – โปแลนด์
  18. Lufthansa LH – เยอรมนี
  19. Scandinavian Airlines SK – สแกนดิเนเวีย
  20. Shenzhen Airlines ZH – จีน
  21. Singapore Airlines SQ – สิงคโปร์
  22. South African Airways SA – แอฟริกาใต้
  23. SWISS LX – สวิตเซอร์แลนด์
  24. TAP Portugal TP – โปรตุเกส
  25. THAI TG – ไทย
  26. Turkish Airlines TK – ตุรกี
  27. United UA – สหรัฐอเมริกา

จากรายชื่อจะเห็นว่า สายการบินในสังกัด Star Alliance ครอบคลุมทุกทวีปในโลก ตั้งแต่อเมริกาเหนือ-กลาง-ใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ส่วนภูมิภาคที่อาจจะขาดไปคือตะวันออกกลาง

แอร์โฮสเตสของสายการบินในสังกัด Star Alliance ทั้งหมด
แอร์โฮสเตสของสายการบินในสังกัด Star Alliance ทั้งหมด (จาก Facebook Star Alliance)

ผลประโยชน์ของการเป็นสมาชิก Star Alliance มีดังนี้

  • เชื่อมต่อไฟลท์ระหว่างสายการบินในสังกัดได้ง่ายขึ้น
  • ใช้บริการเลาจ์ของสายการบินในสังกัด จำนวนกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก
  • สะสมไมล์ร่วมกันเมื่อบินด้วยสายการบินในสังกัด

ส่วนระดับของการเป็นสมาชิก Star Alliance มี 3 ขั้น คือ สมาชิกธรรมดาทั่วไป (Mileage), Silver และ Gold โดยการอัพเกรดเป็น Silver/Gold ขึ้นกับการสะสมไมล์ของสายการบินที่เรามีไมล์สะสมอยู่นั่นเอง

Oneworld

Oneworld เป็นพันธมิตรสายการบินที่ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่สองต่อจาก Star Alliance โดยเริ่มก่อตั้งในปี 1999 ปัจจุบันมีสายการบินสมาชิก 15 ราย ถือว่าเล็กที่สุดในบรรดาพันธมิตรทั้ง 3 ค่าย สำนักงานใหญ่ของ Oneworld อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

  1. Air Berlin – เยอรมนี
  2. American Airlines – สหรัฐอเมริกา
  3. British Airways – สหราชอาณาจักร
  4. Cathay Pacific – ฮ่องกง
  5. Finnair – ฟินแลนด์
  6. Iberia – สเปน
  7. Japan Airlines – ญี่ปุ่น
  8. LAN Airlines – ชิลี
  9. Malaysia Airlines – มาเลเซีย
  10. Qantas – ออสเตรเลีย
  11. Qatar Airways – กาตาร์
  12. Royal Jordanian – จอร์แดน
  13. S7 Airlines – รัสเซีย
  14. TAM Airlines – บราซิล
  15. SriLankan Airlines – ศรีลังกา

ถึงแม้สายการบินสมาชิกจะน้อยกว่าคู่แข่ง แต่จากรายชื่อจะเห็นว่าก็ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ-ใต้ ตะวันออกกลาง เอเชีย และออสเตรเลีย ส่วนภูมิภาคที่ยังขาดไปหน่อยคือแอฟริกา

รายชื่อสมาชิกของ Oneworld ในปี 2015
รายชื่อสมาชิกของ Oneworld ในปี 2015

ระดับสมาชิกของ Oneworld มีด้วยกัน 3 ขั้น คือ Ruby, Sapphire, Emerald โดยเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกระดับ Ruby แล้วค่อยอัพเกรดเป็น Sapphire และ Emerald ตามไมล์สะสม

SkyTeam

SkyTeam เป็นพันธมิตรสายการบินที่ก่อตั้งเป็นลำดับสุดท้ายในปี 2000 แต่ก็มาแรงจนขึ้นมาเป็นพันธมิตรที่ใหญ่เป็นอันดับสอง โดยมีสายการบินสมาชิก 20 ราย สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

  1. Aeroflot รัสเซีย
  2. Aerolineas Argentinas อาร์เจนตินา
  3. AeroMexico เม็กซิโก
  4. Air Europa สเปน
  5. Air France ฝรั่งเศส
  6. Alitalia อิตาลี
  7. China Airlines ไต้หวัน
  8. China Eastern จีน
  9. China Southern จีน
  10. Czech Airlines สาธารณรัฐเช็ก
  11. Delta สหรัฐอเมริกา
  12. Garuda Indonesia อินโดนีเซีย
  13. Kenya Airways เคนยา
  14. KLM เนเธอร์แลนด์
  15. Korean Air เกาหลีใต้
  16. Middle Eastern Airlines เลบานอน
  17. Saudia ซาอุดีอาระเบีย
  18. Tarom โรมาเนีย
  19. Vietnam Airlines เวียดนาม
  20. Xiamen Airlines จีน

สายการบินสมาชิกของ SkyTeam แข็งแกร่งในยุโรป และจีน โดยมีสายการบินสมาชิกจากจีนถึง 3 ราย ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ ก็มีกระจายตัวกันทั้งเอเชีย อเมริกาเหนือ-ใต้ และตะวันออกกลาง

ภาพจาก Facebook SkyTeam
ภาพจาก Facebook SkyTeam

ส่วนระดับของสมาชิกก็แบ่งออกเป็น 3 ขั้นเหมือนกับพันธมิตรรายอื่น นั่นคือ ระดับมาตรฐาน, Elite, Elite Plus ซึ่งขึ้นกับการสะสมไมล์

เปรียบเทียบพันธมิตรสายการบิน

ถ้าลองเปรียบเทียบข้อมูลขั้นต้นของพันธมิตรสายการบินทั้ง 3 กลุ่ม จะเห็นว่า Star Alliance จะนำหน้าอยู่พอสมควร ตามด้วย SkyTeam และ Oneworld

ตารางเปรียบเทียบพันธมิตรสายการบิน รวบรวมโดย 2baht.com
ตารางเปรียบเทียบพันธมิตรสายการบิน รวบรวมโดย 2baht.com

ถึงแม้พันธมิตรสายการบินทั้ง 3 รายจะแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงในการแย่งชิงลูกค้า แต่ในมุมของนักท่องเที่ยว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปอิงกับค่ายใดค่ายหนึ่งชัดเจน เพราะเราสามารถเป็นสมาชิกได้ทั้ง 3 ค่ายพร้อมกันอยู่แล้ว ส่วนจะเน้นค่ายใดค่ายหนึ่งเป็นพิเศษ คงขึ้นกับพฤติกรรมการเดินทางของเราเองว่าขึ้นสายการบินไหนบ่อยๆ บ้าง (เช่น ถ้าขึ้นการบินไทยบ่อย การเป็นสมาชิก Star Alliance ก็สมเหตุสมผลที่สุด) และถ้าสามารถเดินทางด้วยสายการบินในเครือได้ด้วย ก็จะช่วยให้สะสมไมล์ได้เร็วขึ้น เพราะพันธมิตรทั้งสามขั้วต่างก็มีเส้นทางบินครอบคลุมเกือบทุกทวีปอยู่แล้ว

ตัวอย่างเช่น

  • การเดินทางในสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าสายการบินรายใหญ่ของสหรัฐ 3 ราย ต่างแยกย้ายกันเข้าสังกัดพันธมิตรที่ต่างกัน เช่น United (Star Alliance), American Airlines (Oneworld), Delta (SkyTeam)
  • สายการบินญี่ปุ่น ก็เข้าสังกัดต่างกัน คือ ANA เข้าสังกัด Star Alliance ส่วน JAL เข้าสังกัด Oneworld
  • สายการบินในอาเซียน ก็มีสังกัดต่างกันชัดเจน เพราะฝั่ง Star Alliance มีการบินไทยกับ Singapore Airline, Oneworld มี Malaysia Airline, SkyTeam มี Garuda กับ Vietnam Airlines
  • สายการบินยุโรปแบ่งขั้วกันชัดเจน โดยกลุ่ม Lufthansa/Austria/Swiss อยู่กับ Star Alliance, กลุ่มของ British Airways/Iberia อยู่กับ OneWorld และกลุ่มของ Air France/KLM อยู่กับ SkyTeam

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมก็มีแค่ว่า เมื่อเดินทางด้วยสายการบินใหม่ๆ ควรเช็คข้อมูลดูว่าเป็นสายการบินในสังกัดพันธมิตรรายใด เผื่อว่าเราเป็นสมาชิกสายการบินอื่นในสังกัดนั้นอยู่ก่อนแล้ว จะได้สะสมไมล์ต่อเนื่องกันไปเลยโดยไม่ต้องสมัครสมาชิกใหม่ เพราะข้อมูลแชร์ข้ามกันหมดในกลุ่มพันธมิตรด้วยกัน

สายการบินไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

สายการบินรายใหญ่ๆ ของโลกมักเข้าสังกัดพันธมิตรรายใดรายหนึ่ง แต่ก็ยังมีสายการบินรายใหญ่อีกหลายแห่งที่เลือกจะไม่เข้าสังกัดใด เช่น

  • Emirates พี่เบิ้มแห่งตะวันออกกลาง เลือกไม่เข้าสังกัดพันธมิตรรายใด
  • Southwest สายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ของอเมริกา เลือกอยู่เป็นเอกเทศไม่ยุ่งกับใคร
  • Etihad สายการบินอีกรายจาก UAE ก็ไม่มีสังกัดเช่นกัน

นอกจากนี้ สายการบินบางรายอาจไม่เข้าสังกัดกลุ่มพันธมิตรเต็มตัว แต่อาจมีข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกัน เช่น สายการบิน Bangkok Airways ของไทยก็ไม่ได้มีสังกัด แต่ก็ร่วมแจมบางโครงการของ Oneworld อยู่บ้าง เป็นต้น ดังนั้นผู้เดินทางควรเช็คข้อมูลให้ละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกสายการบินที่เหมาะสมกับท่าน