แหล่งท่องเที่ยวมีชื่ออีกอย่างหนึ่งของเมืองซานฟรานซิสโกคือ “รถราง” หรือ Cable Car แบบดั้งเดิมที่ตกทอดมาตั้งแต่ปี 1873 โดยในอดีตเมืองซานฟรานซิสโกมีรถราง 23 สาย แต่ปัจจุบันเหลือให้บริการเพียง 3 สายเท่านั้น ตอนนี้รถรางเปลี่ยนสถานะจากรถขนส่งสาธารณะสำหรับชาวเมือง กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของบรรดาทัวริสต์แทน ประมาณว่าเอาไว้นั่งเล่นๆ เท่ๆ ถ่ายรูป อะไรแบบนี้
รถรางทั้ง 3 สายที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือสายที่วิ่งอยู่ในตัวเมืองซานฟรานซิสโกเลย มีดังนี้
- Powell-Hyde Line วิ่งแนวเหนือใต้ จากสถานี Powell ขึ้นเหนือไปเกือบสุดทะเลที่สถานี Hyde (สีแดงในภาพ)
- Powell-Mason Line วิ่งแนวเหนือใต้ ขนานกับเส้นแรก จากสถานี Powell ไปเกือบสุดทะเลที่สถานี Taylor (สีเขียวในภาพ) สายนี้จะใกล้กับ Fisherman’s Wharf และ Pier 39 ที่สุด
- California Line วิ่งแนวขวาง ตะวันออก-ตก ถามแนวถนน California Street (สีฟ้าในภาพ)
หมายเหตุ: ซานฟรานซิสโกยังมีรถรางอีกแบบที่เรียกว่า streetcar หรือ F Market & Wharves ที่จะวิ่งเลียบทะเลตามถนน Embarcadero ในภาพ ถือเป็นบริการคนละอย่างกับเคเบิลคาร์ แต่อยู่ภายใต้การดูแลของเมืองซานฟรานซิสโกเหมือนกัน
การขึ้นรถรางสายไหนคงไม่ต่างกันมากนัก แต่ในที่นี้เราจะพาขึ้นสาย Powell & Mason Line จากสถานี Taylor วิ่งสุดสายมายังสถานี Powell กันครับ (ข้อมูลเส้นทางและป้ายของรถรางแต่ละสาย ดูได้จากเว็บไซต์ของเมืองซานฟรานซิสโก)
รถรางสายนี้ถือเป็นสายยอดฮิต เพราะวิ่งจากดาวน์ทาวน์ Powell Station ที่ถนน Market Street ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมริมทะเล (Fisherman’s Wharf และ Pier 39) ดังนั้นก็ทำใจไว้ได้เลยว่าเจอคิวทัวริสต์ยาวมหาศาลแน่นอน เพราะรถรางหนึ่งคันจุคนได้ไม่เยอะเท่าไร ให้บริการนักท่องเที่ยวไม่ทันแน่นอน
การนั่งชมแบบทัวริสต์ควรนั่งให้คุ้มค่าคือขึ้นจากสถานีต้นทาง-ปลายทางเท่านั้น เพราะถ้าไปขึ้นกลางทาง โอกาสไม่ได้ไปมีสูงมาก (คนนั่งเต็มไม่ยอมลง) ที่สำคัญคือค่าตั๋วรถรางนี่ไม่ถูกนะครับ เที่ยวละ 6 ดอลลาร์ กินข้าวได้จานนึงเลยแหละ
สถานี Taylor ถือเป็นสถานีปลายทางของรถรางเส้นนี้ ดังนั้นจะมีจุดกลับรถเป็นแผ่นไม้วงกลมให้ดูด้วย รถรางจะวิ่งเข้ามาจอดบนแผ่นไม้นี้ แล้วเจ้าหน้าที่จะช่วยกันหมุนแผ่นไม้เพื่อกลับรถรางไปให้บริการต่อ
จังหวะรถรางเข้ามาจอด
เอ้า หมุน
หมุนเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่แยกย้าย ทัวริสต์แบบเราๆ ก็รอขึ้นรถกันต่อไป
จังหวะการหมุนรถเป็นไฮไลท์ของรถรางซานฟรานที่บรรดานักท่องเที่ยวรอคอย อันนี้ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง (คิวเลื่อนมาแล้ว) รถรางใหญ่ประมาณนี้ใช้คนหมุนราว 3 คน (ที่เจ๋งคือตอนที่ไป เจอเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงมาช่วยหมุนรถรางด้วย)
รอกันมานานครึ่งชั่วโมงได้ พอถึงคิวเราแล้วก็ได้เวลาขึ้นรถ ตัวรถรางแต่ละคันมีรายละเอียดไม่เหมือนกันทีเดียว แต่หลักๆ แล้วด้านหน้าจะเป็นที่นั่งแบบเปิดโล่ง เก้าอี้หันออกข้าง มีราวให้โหนทั้งหมด 8 อัน (ข้างละ 4) ถือเป็นจุดที่ดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวในการนั่งรถราง (คือต้องโหนรถรางถ่ายรูปนั่นแหละ) เพียงแต่ถ้าเราแย่งเขาไม่ทัน ก็ต้องนั่งฝั่งด้านหลังที่มีประตู หน้าต่างล้อม ดูปลอดภัยกว่า แต่ไม่เท่เท่า
รถราง Cable Car มีเจ้าหน้าที่ประจำสองคนคือ คนขับรถกับคนเก็บตั๋ว ซึ่งจะเข้มงวดเรื่องจำนวนคนที่อยู่บนรถมาก โดยเฉพาะฝั่งด้านหน้ารถ จะอนุญาตให้นั่งได้เท่าเก้าอี้ที่มี และโหนได้เท่าจำนวนเสาเท่านั้น ไม่สามารถไปเนียนยืนตรงกลางๆ ได้ การยืนจะต้องอยู่ในตู้โดยสารหลังประตูทั้งหมด
ใครจังหวะดี ได้นั่งด้านนอกก็ถ่ายรูปแอคท่ากันใหญ่ พวกนั่งข้างในก็ได้แต่ดูอย่างเดียว
ที่นั่งด้านใน มีแต่ทัวริสต์ทั้งนั้นแหละ
การเก็บค่าโดยสารสามารถจ่ายบนรถได้เลย มีพนักงานเดินเก็บ จ่ายเงินสดได้
ระยะเวลาวิ่งของรถรางหนึ่งเที่ยวไม่นานอยู่แล้ว ประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น (แต่ตอนรอคิว รอนานมากๆๆ) ระหว่างทางรถก็จะจอดป้ายเป็นระยะ ใครอยากถ่ายภาพถ่ายวิดีโอก็ตามสะดวก (แต่ถ่ายจากบนรถด้านในก็ไม่ค่อยเห็นอะไร) ถือว่ามานั่งกินบรรยากาศ และได้ชื่อว่าได้นั่ง World Famous Cable Car กับเขาบ้างแล้ว
พอนั่งมาสุดสายที่สถานี Powell ก็มีเวลาถ่ายภาพแอ๊คท่ากันอีกเล็กน้อย ก่อนรถรางจะกลับรถวิ่งย้อนทางเดิมต่อไป
สถานี Powell อยู่กลางเมือง กลางแหล่งช็อปปิ้งทั้งหลายทั้งปวง ติดกับสถานีรถไฟ BART Powell St. เลย ดังนั้นคนจะเยอะมาก คิวยาวมาก ต้องบริหารเวลากันดีๆ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากประหยัด ทางการขนส่งเมืองซานฟรานซิสโก (MUNI) ก็มีตั๋ววันให้เลือก คือ 1-Day Passport ขึ้นรถโดยสารของ MUNI ได้ทุกรูปแบบ (รถราง Cable Car + Street Car + รถบัสเกือบทุกสาย แต่ไม่รวมรถบัสที่ไปสะพาน Golden Gate และรถไฟ BART) ราคา 17 ดอลลาร์
รายละเอียดของ Pass แบบอื่นๆ อ่านได้จากเว็บไซต์ MUNI
สถานที่ซื้อตั๋ววันอาจจำกัดอยู่บ้าง อันนี้เป็นซุ้มขายตั๋วอยู่ที่ Powell Station ติดกับสถานีเคเบิลคาร์เลย (ถ้าจำไม่ผิด ตรงนั้นจะเป็นหน้าร้าน GAP) อยู่ใกล้กับห้าง Bloomingdale’s
หน้าตาของตั๋วจะเป็นแบบนี้ คือเป็นตั๋วขูดที่เราซื้อล่วงหน้าได้ แล้วมาขูดเดือน-วันกันเอง ตอนจะใช้ก็โชว์คนขับรถหรือพนักงานตรวจตั๋วได้เลย ไม่ต้องสแตมป์
ตั๋วแบบนี้ทำให้สามารถเปลี่ยนมือกันได้เสมอถ้ายังอยู่ในวันนั้น ตอนที่รอขึ้นรถเคเบิลคาร์ที่สถานี Taylor ก็เจอฝรั่งที่นั่งรถมาลงตรงป้ายที่เราอยู่ เดินลงมาถามว่ามีใครจะเอาตั๋ว MUNI ไหม เพราะเขาไม่ต้องใช้อีกแล้ว เลยมีคนแถวนั้นได้ไป (ประหยัดค่าตั๋วไป 6 ดอลลาร์) เผอิญของเรามีอยู่แล้วเลยไม่จำเป็นต้องหามาอีก
โดยสรุปแล้ว รถราง Cable Car ของซานฟรานซิสโกก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง ที่หากมีเวลาก็ควรมาลองนั่งสักครั้งในชีวิต (ครั้งเดียวก็พอแล้วแหละ) ถ้ามีเวลาเที่ยวในเมืองทั้งวัน ก็สามารถซื้อตั๋ว MUNI เพื่อให้เดินทางไปมา นั่งรถบัสได้ในราคาเหมาอยู่แล้ว การจะเลือกเส้นทางมานั่งรถรางสักเที่ยวก็ยิ่งคุ้มค่า
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก เว็บไซต์ของเมืองซานฟรานซิสโก