คำชี้แจง รีวิวนี้ได้รับการสนับสนุนอาหารจากทางโรงแรม Amara Bangkok ซึ่งได้เชิญทีมงานของ 2baht.com ไปทดลองชิมอาหารสิงคโปร์ โดยให้อิสระกับการรีวิวอย่างเต็มที่ ขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ
“อาหาร” กับความผูกพันในฐานะส่วนหนึ่งของ “ชาติ” ผ่านกรอบการแสดงตัวตนที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” นั้น เป็นสิ่งที่ปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป และนำมาสู่ความคิดที่ว่าด้วยเรื่องของ “อาหารประจำชาติ” ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนและภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมที่สามารถนำเข้าและส่งออกได้
เมื่อพิจารณาจากกรอบนี้ ประเทศเกิดใหม่อย่าง “สิงคโปร์” จึงอาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่ามีอาหารประจำชาติด้วยหรือไม่ นั่นก็เพราะสิงคโปร์เป็นรัฐชาติใหม่มาได้ไม่นาน (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ) แต่สิงคโปร์เองก็มีอาหารประจำชาติอยู่หลายเมนู และอันที่จริงแล้วก็ถือว่าค่อนข้างมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากอาหารชาติทั่วไป เนื่องจากมีการผสานทั้งอาหารพื้นถิ่นแบบมาเลย์เข้ากับอาหารจีน โดยเฉพาะจีนไหหนาน ทำให้มีลักษณะเฉพาะตัวสูง รสจัดจ้านแบบท้องถิ่น แต่มีความกลมกลืนแบบอาหารจีนไม่ใช่น้อย
วันนี้ทาง 2baht.com จึงขอพาท่านผู้อ่านพบกับอาหารสิงคโปร์ ที่ห้องอาหาร Element โรงแรม Amara Bangkok ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่ใจกลางกรุงเทพย่านสุรวงศ์ โดยชูจุดเด่นเรื่องของอาหารสิงคโปร์เป็นหลักครับ
แนะนำห้องอาหาร Element
ห้องอาหาร Element เป็นห้องอาหารหลักของโรงแรม Amara Bangkok ที่เป็นโรงแรมในเครือ Amara Hotels and Resorts ของสิงคโปร์ (ปัจจุบันมี 3 แห่ง โดยมีที่สิงคโปร์ 2 แห่ง และกรุงเทพ 1 แห่ง) ตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน (B1) ของโรงแรม
หากจะเดินทางมาโรงแรม เส้นทางที่ใกล้ที่สุดคือนั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีช่องนนทรี แล้วเดินไปฝั่งถนนสุรวงศ์ก็จะเจอ แต่ถ้าหากใครอยากเดินไกลหน่อย (เพื่อสุขภาพ) สามารถเดินได้จากย่านสีลมหรือย่านใกล้เคียงกันได้ไม่ยากนัก ตัวโรงแรมตั้งอยู่ตรงแยกถนนสุรวงศ์-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ครับ (ภาพแผนที่ด้านล่าง)
เนื่องจากไม่ได้มีโอกาสเก็บภาพบรรยากาศของห้องอาหารมา เลยขออนุญาตบรรยายแทนนะครับ โดยรวมแล้วการตกแต่งนั้นไม่ต่างจากโรงแรมทั่วไป คือเน้นการตกแต่งแบบทันสมัยทั่วไป และมีครัวเปิดตามสมัยนิยมของโรงแรมในปัจจุบัน ทำให้ได้เห็นการทำอาหารในหลายส่วนครับ ที่นั่งเมื่อเทียบกับขนาดของโรงแรมแล้ว อาจจะถือว่าไม่มาก ส่วนเรื่องของแสงนั้นแม้จะเป็นชั้นใต้ดิน แต่ก็ออกแบบให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้บ้าง ถือว่าทำออกมาได้ดีครับ
รีวิวอาหารสิงคโปร์
มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุดของรีวิวนี้ ซึ่งก็คืออาหารสิงคโปร์ โดยถือเป็นอาหารชูโรงของห้องอาหารนี้ และได้เชฟใหญ่ของโรงแรมที่เป็นชาวสิงคโปร์ มาควบคุมดูแลการทำอาหารในทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงสูตรอาหารด้วย โดยเวลามาทานจริง จะได้เป็นชุดใหญ่ (ในภาพจะมีทั้งที่โรงแรมจัดมาให้เป็นขนาดชิม และจำหน่ายจริง) และ โดยทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าจะมีโปรโมชั่นชุดอาหารเที่ยงออกมา (รวมน้ำดื่มแล้ว) ในเร็วๆ นี้
เริ่มต้นที่ Kueh Pie Tee จานนี้ทางโรงแรมระบุว่าจะเป็นจานสมนาคุณ (complimentary) ให้กับลูกค้า ซึ่งถ้ากล่าวให้ง่ายที่สุดสำหรับคนไทยคือ กระทงทองกุ้ง ซึ่งทำมาจากกระทงที่ทำมาจากแป้ง (แบบเดียวกับปอเปี๊ยะ) ทอดเพื่อให้ความกรอบ แล้วใส่ไส้เข้าไป ไส้นอกจากกุ้งและซอสพริกแล้ว ยังมีถั่วงอกและหัวไช้โป้วด้วย ซึ่งถ้าหากต้องการความหวานเพิ่ม สามารถใส่ซอสบ๊วยเพิ่มเติมได้
จานนี้ถือว่ารสชาติทำออกมาได้ดี กระทงทองกรอบแต่ไม่อมน้ำมัน แต่หนักไปทางติดหวานและไม่เผ็ดอย่างที่คาดครับ
จานต่อไปเป็น Popiah หรือ ปอเปี๊ยะแบบสิงคโปร์ ซึ่งจุดต่างจากปอเปี๊ยะแบบที่เราคุ้นเคยคือตัวแป้งที่จะยืนระหว่างแป้งปอเปี๊ยะสดกับแป้ง Tortilla ของเม็กซิกัน หรือกล่าวอีกแบบคือมีความหนืดมากกว่านั่นเอง
ตัวไส้แทบไม่ต่างจาก Kueh Pie Tee ดังนั้นรสที่ออกมาจึงค่อนข้างติดหวาน แต่คราวนี้ใส่ผักมาให้ในไส้ด้วย ทำให้ได้ความสดชื่นกลับมา (ซึ่งจานแรกขาดหายไป) ครับ
มาถึงจานที่สาม คือ Hainanese Chicken Rice หรือ ข้าวมันไก่ไหหนาน (270++ บาท) ที่ใช้ไก่มาต้มเพื่อทำน้ำซุป แล้วทำการแช่ในน้ำเย็นทันทีหลังต้ม (เพื่อให้หยุดความร้อนตกค้าง ไม่เช่นนั้นไก่จะสุกจนเกินไปและขาดความสด) ส่วนข้าวก็หุงด้วยเครื่องเทศต่างๆ และใบเตย และใส่มันไก่ลงไปนิดหน่อยในตอนท้ายครับ
ความแตกต่างระหว่างข้าวมันไก่แบบไทยที่เราคุ้นลิ้นกันดี คือการไม่นำน้ำซุปที่ได้จากการต้มไก่ในตอนแรกเป็นน้ำสำหรับหุงข้าว แต่ใส่ไปทีหลัง ทำให้ข้าวออกมาไม่มันเท่า และการไม่แช่เย็นไก่ของข้าวมันไก่ไทย ทำให้ไก่ในข้าวมันไก่แบบไทยเนื้อแน่นกว่า (แต่แลกมาด้วยความเหนียวแทน)
จานนี้รสชาติโดยภาพรวมถือว่าอร่อยครับ แต่ข้าวออกจะขาดตัวเด่นชูโรง เมื่อเทียบกับไก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ที่ใส่น้ำมันงา ทำให้หอมและแตกต่างไปจากข้าวมันไก่โดยทั่วไปครับ
น้ำจิ้มที่ทานคู่มีสามประเภท แบบแรกคือซีอิ้วดำ ซึ่งจะไม่ใช่ซีอิ้วหวานแบบบ้านเรา (บางที่ซีอิ้วหวานจะขึ้นจากน้ำตาลทรายแดงที่เป็นคาราเมล ก่อนใส่น้ำและเครื่องปรุงอื่นๆ เข้าไป) แบบที่สองคือขิงซอย ซึ่งจะมีรสเปรี้ยวซ่อนอยู่ และสุดท้ายคือซอสพริก ที่จะมีรสหวานซ่อนอยู่ ซึ่งก็พบว่าซอสพริกดีที่สุดครับ และความเผ็ดจะไม่เกิดที่ลิ้น แต่จะเกิดขึ้นที่ช่วงหลังลิ้นไปจนถึงต้นคอครับ
เข้าจานที่สี่คือ Prawn Mee Soup หรือ ก๋วยเตี๋ยวฮกเกี้ยนกุ้งในน้ำซุป (330++ บาท) ซึ่งก็คือก๋วยเตี๋ยวกุ้งแบบสไตล์สิงคโปร์ครับ จุดเด่นของจานนี้อยู่ที่น้ำซุปที่มีลักษณะการปรุงแบบน้ำซุปของอาหารตะวันตก กล่าวคือ หากผู้อ่านเคยทานซุปเช่น ซุปหัวกุ้งมังกร (Lobster Bisque) ซุปของก๋วยเตี๋ยวนี้ก็จะเป็นลักษณะเช่นนั้น กล่าวคือ ในตอนแรกใช้วิธีการผัด เพื่อทำให้ตัวหัวกุ้งและส่วนผสมมีกลิ่นไหม้นิดๆ (เป็นลักษณะปกติ) รวมถึงดึงรสชาติออกมาให้ชัดเจน จากนั้นจึงใส่น้ำซุปเข้าไป แล้วสร้างออกมาเป็นน้ำซุปสำหรับก๋วยเตี๋ยวจานนี้
รสชาติของน้ำซุปถือว่าโดดเด่น เพราะมีทั้งความเผ็ด กลิ่นไหม้นิดๆ และความจัดจ้านรสชาติของเปลือกกุ้งอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีความสมดุลในแง่ของรสชาติอย่างดีด้วย (แน่นอนว่าคนที่ไม่ชอบกุ้งหรือแพ้กุ้ง จานนี้เป็นของต้องห้าม) ส่วนตัวเส้นจะเป็นบะหมี่เส้นกลม (ปกติในท้องตลาดบ้านเรา มักจะเป็นเส้นแบบแบน) ถือว่าจานนี้น่าจะเด็ดขาดที่สุดในบรรดาทั้งหมดเท่าที่ชิมมาครับ
จานถัดไปคือ Laksa หรือ ลักซา (380++ บาท) อาหารที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยที่สุดแล้วเวลากล่าวถึงอาหารสิงคโปร์ กล่าวภาพให้ใกล้เคียงที่สุดสำหรับจานนี้คือก๋วยเตี๋ยวแกงบ้านเรา แต่เปลี่ยนเส้นจากเส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นเส้นขนมจีนแทนครับ
รสชาติถือว่ายังไม่ค่อยเข้าที่เท่าใดนัก กล่าวคือ ทั้งตัวเส้น กุ้ง ไก่ ไข่ เต้าหู้ ลูกชิ้นปลา และอื่นๆ ที่มาเป็นองค์ประกอบในจานทั้งหมดเอื้อให้น้ำซุปออกมาโดดเด่นมาก แต่ปัญหาของจานนี้คือรสชาติของกะทิในน้ำซุปชัดเจนมาก แต่ขาดรสชาติอย่างอื่นมารองรับ ซึ่งเมื่อใส่น้ำพริกผัดของสิงคโปร์ที่เรียกว่า “sambal” แล้ว กลับมีรสชาติที่ดีขึ้นและได้สมดุลที่ดีขึ้นกลับมาครับ ดังนั้นถ้าใครจะมาทานจานนี้ แนะนำว่าให้ใส่ซอสพริกด้วย
จานรองสุดท้ายคือ Nasi Lemak หรือ นาซิ เลอมะก์ (270++ บาท) ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของแถบมาเลย์ (มีทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบนี้บางประเทศด้วย) ความหมายของชื่อคือ ข้าวที่หุงในครีม และในที่นี้ก็จะเป็นครีมอื่นไม่ได้นอกจากหัวกะทิ (Coconut cream) นั่นเอง
จานนี้จะให้ดีควรจะต้องกินแบบรวมกันทุกองค์ประกอบ เพราะแต่ละส่วนจะมีข้อเด่นไปกันคนละทาง ตัวอย่างเช่น น้ำพริกที่เผ็ด ผักที่ให้ความสดชื่น ไข่ที่ให้สัมผัส รวมไปถึงปลาและไก่ที่เสิร์ฟมา หากมาทานรวมกันได้ โดยเฉพาะภายในคำเดียว (ถ้าสามารถพอ) ก็จะได้รสชาติที่ลงตัวครับ อย่างไรก็ตาม ข้าวกลับไม่หอมอย่างที่คาด (หอมแบบแฝงๆ ต้องเคี้ยวข้าวเปล่าๆ จึงจะได้กลิ่น) และไม่มันอย่างที่ควรจะเป็นครับ
ส่วนจานสุดท้ายคือ Bak Kut Teh หรือ บักกุ๊ดเต๋ (230++ บาท) ซึ่งเป็นซุปและอาหารท้องถิ่นของประเทศแถบนี้ (ทางใต้ของเราก็ได้รับอิทธิพลมาด้วย) ในกรณีของอาหารที่ชิมในครั้งนี้ บักกุ๊ดเต๋มาในรูปแบบของซุปซี่โครงหมูใสๆ ซึ่งมีรสชาติกลมกล่อม แต่จานนี้จะเด่นชัดเรื่องของพริกไทเป็นพิเศษ อาจจะเรียกว่าเข้มข้นก็ได้ ซึ่งในชุดจริงจะเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยและเครื่องเคียงอื่นๆ ด้วยครับ
บทสรุป
ในเชิงของราคาอาหารทั้งหมดแล้ว ต้องถือว่าราคาค่อนข้างสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ตัวอาหารของสิงคโปร์ก็สามารถสร้างจุดเด่นที่ต่างไปจากคู่แข่งเมื่อเทียบกับโรงแรมในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี
ในเรื่องของรสชาติโดยภาพรวม ถือว่าทำได้ดี แต่ก็ยังมีบางจานที่ยังต้องปรับอยู่บ้าง แต่ถ้าถามว่าใกล้เคียงกับรสชาติแบบที่ทานไปจริงๆ ที่สิงคโปร์หรือไม่ คำตอบคือใกล้เคียงกันมาก และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลองไปทางอาหารสิงคโปร์ครับ
เมนูที่น่าสนใจที่สุดและแนะนำ เห็นจะเป็น Prawn Mee Soup ซึ่งมีลูกเล่นที่ผสานเอาวิธีแบบตะวันตกเข้ากับอาหารแบบตะวันออกได้อย่างน่าสนใจ ส่วนถ้าใครอยากลองข้าวมันไก่ที่มีสไตล์ต่างจากไทย Hainanese Chicken Rice ก็เป็นอีกจานที่น่าลองครับ