พาเที่ยว ‘ไร่เชิญตะวัน’ จ.เชียงราย ศูนย์วิปัสสนาท่าน ว.วชิรเมธี

แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงของ จ.เชียงราย คือ ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน ของท่าน ว.วชิรเมธี ที่อยู่ไม่ห่างจากตัว อ.เมืองเชียงรายมากนัก ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวธรรมะที่คนมาเที่ยวเชียงรายควรหาโอกาสแวะเวียนไปชม ซึ่งทางทีมงาน 2Baht ก็ถือโอกาสไปเก็บภาพบรรยากาศภายในไร่เชิญตะวันมาฝากกัน

แผนที่และวิธีการเดินทาง

ไร่เชิญตะวันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.เมืองเชียงราย ห่างจาก อ.เมืองประมาณ 25 กิโลเมตร โดยอยู่บนทางหลวงหมายเลข 1020 (AH3) ทางไป อ.เชียงของ-ห้วยทราย

แผนที่ไร่เชิญตะวัน เดินทางจาก อ.เมืองเชียงราย-สนามบินเชียงราย
แผนที่ไร่เชิญตะวัน เดินทางจาก อ.เมืองเชียงราย-สนามบินเชียงราย

วิธีการเดินทางสามารถเดินทางได้สะดวกทางรถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่จากสนามบินก็ได้ ถ้าจาก อ.เมืองเชียงรายให้วิ่งถนนเส้น 1020 จนมาถึงตำบลห้วยสักแล้วเลี้ยวขวาเข้าทางย่อย (ปากทางมีหุ่นเณรน้อย ว.วชิรเมธีตัวใหญ่ เห็นได้ชัดเจน) วิ่งตามป้ายอย่างเดียวไม่มีหลง ถนนเป็นทาง 2 เลนแต่ลาดยางหมดแล้ว เข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตรก็จะพบกับไร่เชิญตะวัน มีที่จอดรถสะดวกสบาย (แต่ควรเช็คว่ามีการจัดงานอะไรหรือไม่ เพราะคนจะเยอะมาก)

แผนที่สามารถดูได้จาก พิกัดใน Google Maps หรือภาพจากเว็บไซต์ไร่เชิญตะวันด้านล่างนี้

แผนที่ ไร่เชิญตะวัน
แผนที่ ไร่เชิญตะวัน

ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ สามารถดูได้จาก เว็บไซต์ไร่เชิญตะวัน

ประวัติของไร่เชิญตะวัน

ประวัติของไร่เชิญตะวันก่อตั้งโดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ท่านว.วชิรเมธี) เมื่อ พ.ศ. 2552 เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางค้นคว้าด้านพระพุทธศาสนา และเผยแผ่พุทธศาสนาแก่ประชาชนผู้สนใจ มีพื้นที่กว้างกว่า 170 ไร่ โดยมีหน่วยงานสำคัญตั้งอยู่ในไร่ดังนี้

  • สำนักงานมูลนิธิวิมุตตยาลัย
  • สถาบันวิมุตตยาลัย
  • มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ (สถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาพุทธเศรษฐศาสตร์)

ที่มาคำว่า “เชิญตะวัน” หมายถึง “เชิญธรรมะมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต”

ตัวของท่าน ว.วชิรเมธี เป็นคนเชียงรายโดยกำเนิดอยู่แล้ว (เกิดที่ อ.เชียงของ) ปัจจุบันท่านสังกัด ณ วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และพำนัก ณ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน

ไร่เชิญตะวัน

บรรยากาศภายในไร่เชิญตะวัน

พื้นที่ในไร่เชิญตะวันค่อนข้างกว้างขวาง (ถ้าไปช่วงกลางวันอาจร้อนหน่อย ควรเตรียมร่มไปด้วย) สถานที่จุดที่น่าสนใจมีดังนี้

อุโมงค์ดอกไม้ ถือเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของไร่เชิญตะวัน อุโมงค์ดอกไม้โค้ง สวยงามด้วยดอกกล้วยไม้ เย็นสบายแม้ในตอนกลางวัน

ไร่เชิญตะวัน

โพธิมณฑล ไร่เชิญตะวันยังมีหลักสูตรสมาธิภาวนาที่เปิดให้ประชาชนที่สนใจ โดยจะต้องพักค้างคืนที่ไร่เชิญตะวัน และตื่นตอนเช้ามานั่งสมาธิ เดินจงกรม บริเวณโพธิมณฑลริมน้ำที่ทำเป็นรูปวงกลมตามภาพ

ไร่เชิญตะวัน

ภาพ โพธิมณฑล จากเว็บไซต์ไร่เชิญตะวัน ขณะกำลังมีพิธี สวยงามมาก

ไร่เชิญตะวัน

ในพื้นที่ไร่ยังมี ปริศนาธรรม ให้ชวนขบคิดตีความอีกเป็นจำนวนมาก

ไร่เชิญตะวัน ปริศนาธรรม

ไร่เชิญตะวัน ปริศนาธรรม

ไร่เชิญตะวัน ปริศนาธรรม

อัจฉริยสามเณร เป็นปฏิมากรรมที่สอนเรื่อง “การเจริญสติ” ให้ ปิดตา ปิดหู ปิดปาก แต่เปิดใจ

ไร่เชิญตะวัน

จุดถ่ายภาพยอดฮิตอีกจุดในไร่เชิญตะวันคือ หุ่นเหล็กซูเปอร์ฮีโร่ ทำขึ้นเพื่อสอนว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถึงแม้โลกจะมีซูเปอร์ฮีโร่มากมาย แต่สุดท้ายเราจะหวังพึ่งฮีโร่ไม่ได้ ต้องเริ่มจากพึ่งพาตัวเองก่อน

หุ่นเหล็ก ไร่เชิญตะวัน

ในพื้นที่ไร่ยังมีป้ายแสดงผลงานต่างๆ ของท่าน ว.วชิรเมธี อยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ที่สนใจงานของท่าน ว. ก็สามารถติดตามดูได้จากป้ายเหล่านี้

ว.วชิรเมธี ไร่เชิญตะวัน

ท่าน ว.วชิรเมธี เป็นพระสมัยใหม่ จึงเข้าถึงคนรุ่นใหม่โดยผ่าน Social Network และช่องทางออนไลน์หลายอย่าง ตัวอย่างภาพจาก Instagram ของ V.Vajiramedhi

ว.วชิรเมธี ไร่เชิญตะวัน

ภาพถ่ายของท่าน ว.วชิรเมธี กับบิดา ที่ลงหน้าปกนิตยสาร Secret

ว.วชิรเมธี ไร่เชิญตะวัน

ศูนย์หนังสือและสื่อสร้างสรรค์ ของฝากทางปัญญา

ศูนย์หนังสือ ไร่เชิญตะวัน

ร้านชา ตั้งชื่อตามหนังสือของท่าน ว. ว่า จักรวาลในถ้วยชา

จักรวาลในถ้วยชา

จะเห็นว่าบรรยากาศการตกแต่งภายในไร่เชิญตะวัน เน้นวัฒนธรรมแบบภาคเหนือ มีทั้งตุงและเขียนหนังสือด้วยตัวเมือง

บรรยากาศ ไร่เชิญตะวัน

โดยสรุปแล้ว ไร่เชิญตะวันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาธรรมะ แต่ก็ไม่ชอบบรรยากาศของวัดแบบดั้งเดิมที่เน้นพิธีกรรม ถ้าต้องการความสงบก็สามารถแวะมาเที่ยวหรือฝึกวิปัสสนาที่ไร่เชิญตะวันได้ ด้วยสถานที่ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงรายและสนามบินเชียงรายมากนัก ทำให้ไปมาสะดวก เดินทางง่ายสำหรับคนที่เวลาน้อยมาได้เฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์

คุณสามารถอ่านบทความสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายเพิ่มเติม หรือ ติดตามเราที่ facebook เพจ “2baht.com” ได้อีกหนึ่งช่องทางนะคะ