กระแสการถ่ายรูปอาหารแล้วแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์คได้กลายเป็นค่านิยมของคนยุคนี้ไปแล้ว ร้านอาหารหลายๆ ร้าน เริ่มทะลายกำแพงจากเดิมที่เคยห้ามถ่ายรูป กลับชอบที่จะให้ลูกค้าถ่ายรูปเพื่อแชร์ลง social network อย่าง Facebook, Instagram พร้อมมอบสิทธิ์ส่วนลด ช่วยโปรโมตร้านกันไปในตัว
แต่สำหรับประเทศที่เข้มงวดเรื่องสิทธิส่วนบุคคลอย่างเยอรมนี ศาลเยอรมันกลับมองว่าผลงานการจัดวางหรือตกแต่งอาหารถือเป็นลิขสิทธิ์ของพ่อครัว-แม่ครัว (เชฟ) ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของเยอรมนีด้วย การถ่ายรูปจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างหนึ่ง ต้องได้รับอนุญาตจากเชฟผู้ทำอาหารก่อน และมีบางร้านที่ระบุป้ายตักเตือนห้ามถ่ายรูปอาหารไว้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามการตีความกฎหมายนี้ออกจะคลุมเครือว่า อาหารแบบไหนที่มองว่าเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานเชฟบ้าง เว็บบริการด้านกฎหมายของเยอรมันอย่าง Anwalt.de ได้กล่าวว่าอาหารจะได้รับคุ้มครองเมื่อการตกแต่งหรือออกแบบเป็นงานที่ไปทางด้านศิลปะเท่านั้น การถ่ายภาพเซลฟี่กับอาหารพื้นๆ อย่างมันฝรั่งทอดย่อมไม่เป็นปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าหากเราไปกินอาหารในภัตตาคารหรูก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง
ที่ผ่านมายังไม่มีเชฟคนใดฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์จากการถ่ายรูปอาหาร แต่ทาง Anwalt.de ก็เตือนไว้ว่า “เพื่อความปลอดภัยก็ควรขออนุญาตจากเชฟหรือเจ้าของร้านอาหารเป็นรายกรณีไป”
ที่มา – The Local, foodandwine.com