บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำลัวร์ (Loire Valley) ทางตอนกลางของประเทศฝรั่งเศส เป็นแหล่งที่ตั้งของปราสาทและพระราชวังมากมาย ที่กษัตริย์ ขุนนาง พ่อค้าคหบดีของฝรั่งเศส แห่มาสร้างเอาไว้เป็นที่พักอาศัย และบ้านพักตากอากาศนอกกรุงปารีส
ปราสาทเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา มีจำนวนประมาณ 300 หลังทั้งใหญ่และเล็ก กระจายตัวอยู่ตามป่าเขาและเมืองต่างๆ ในแถบนั้น ทั้งบนฝั่งแม่น้ำลัวร์สายหลัก และแม่น้ำสายย่อยที่ไหลมารวมกับแม่น้ำลัวร์
โดยรวมแล้วปราสาทเหล่านี้เรียกว่า “ปราสาทแห่งลุ่มน้ำลัวร์” (Châteaux of the Loire Valley) ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งของฝรั่งเศส ปราสาทเหล่านี้จะเกาะกลุ่มกันอยู่บริเวณเมือง อองเชร์ (Angers), ตูร์ (Tours) และบล๊วก (Blois) ก่อนหน้านี้เราเคยเขียนถึงปราสาทที่เมือง Amboise ไปแล้ว
แน่นอนว่าในหมู่ปราสาทแห่งลุ่มน้ำลัวร์ทั้งหลาย ย่อมมีปราสาทยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยือน และปราสาทที่มีคนไปเยี่ยมชมมากที่สุดคือ ปราสาทเชอนองโซ (Château de Chenonceau ชาโตเดอเชอนองโซ) แห่งนี้ มีผู้มาเยือนปีละมากกว่า 8.5 แสนคน ในหมู่ปราสาทและพระราชวังทั้งหมดของประเทศฝรั่งเศส เชอนองโซมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นรองแค่พระราชวังแวร์ซายล์เท่านั้นเอง
ชื่อของปราสาทเชอนองโซมาจาก แม่น้ำเชอ (Cher) ซึ่งปราสาทหลังนี้ตั้งคร่อมอยู่บนแม่น้ำพอดี ถือเป็นจุดขายที่หาดูได้ยากที่จะมีปราสาทลักษณะนี้
ประวัติของพระราชวังเชอนองโซ
ประวัติศาสตร์ของปราสาทเชอนองโซนั้นผูกพันกับราชวงศ์ของฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นปราสาทที่กษัตริย์และพระราชินีของฝรั่งเศสมาพักอาศัยกันอยู่หลายต่อหลายรุ่น
แรกเริ่มนั้น ปราสาทเชอนองโซถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 แล้วถูกไฟไหม้ไป ภายหลัง Thomas Bohier ข้าราชบริพารของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส ซื้อปราสาทแห่งนี้มาในปี 1513 แล้วมาสร้างใหม่หมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อกษัตริย์ฟรังซัวร์ที่ 1 (Francis I) ขึ้นครองราชย์ ตระกูล Bohier ติดหนี้จนถูกยึดปราสาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน กษัตริย์ฟรังซัวร์ที่ 1 เองก็โปรดถิ่นฐานแถบลุ่มน้ำลัวร์อยู่แล้ว และเป็นแกนหลักในการสร้างปราสาทหลายแห่งในบริเวณนี้ เลยยึดปราสาทมาไว้ใช้เองในปี 1535
มาถึงยุคของกษัตริย์อองรีที่ 2 (Henry II อ่านตามภาษาอังกฤษคือ เฮนรีที่ 2) ที่สืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระบิดาฟรังซัวร์ที่ 1
พระองค์ยกปราสาทหลังนี้ให้พระสนมคนโปรดคือ ไดแอน เดอ ปัวติเยร์ Diane de Poitiers ซึ่งมาริเริ่มการก่อสร้างส่วนสำคัญของปราสาทแห่งนี้คือสะพานข้ามแม่น้ำ ไดแอนอาศัยอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้มาหลายปี เปรียบได้กับ “นายหญิง” คนสำคัญของปราสาท
แต่ชะตาชีวิตของเธอและปราสาทแห่งนี้ก็มาถึงจุดพลิกผันในปี 1559 เมื่อกษัตริย์อองรีที่ 2 สวรรคต และพระราชินีแคเธอรีน เดอ เมดิซี (Catherine de’ Medici) ที่อิจฉาไดแอนมาโดยตลอด ก็อาศัยความเป็นผู้สำเร็จราชการสั่งให้ไดแอนย้ายไปอยู่ที่ปราสาทอีกแห่งคือ Chateau Chaumont ส่วนปราสาทเชอนองโซนั้น แคเธอรีนยึดไปใช้เอง
แคเธอรีนถือเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงที่สุดของฝรั่งเศสในเวลานั้น เธอมาอาศัยอยู่ที่ปราสาทเชอนองโซบ่อยครั้งพอสมควร เธอสร้างอาคารทับสะพานข้ามแม่น้ำที่ไดแอนเคยสร้างเอาไว้ และดอกไม้ไฟครั้งแรกของฝรั่งเศสก็ถูกจุดขึ้นที่นี่เพื่อฉลองให้กับพระโอรสของเธอ
สรุปง่ายๆ ว่าส่วนสำคัญของปราสาทแห่งนี้สร้างโดยเมียของพระเจ้าอองรีที่สอง ทั้งสองคนซึ่งก็ไม่ถูกกันเอง
ภายหลังปราสาทแห่งนี้ตกทอดมายังลูกสะใภ้ของแคเธอรีนคือ หลุย์เดอลอร์แรน (Louise de Lorraine) ภรรยาของพระเจ้าอองรีที่สาม อย่างไรก็ตาม พระเจ้าอองรีที่สามโดนลอบสังหาร ชีวิตที่เหลือของหลุยส์อยู่ในความเศร้าโศก และเธอทาสีห้องของเธอเป็นสีดำทั้งหมด ซึ่งห้องนี้ก็ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นปราสาทเชอนองโซถูกเปลี่ยนมือหลายครั้ง เจ้าของปราสาทที่โดดเด่นคือ หลุยส์ ดูแปง (Louise Dupin) ไฮโซหญิงชื่อดังของสมัยนั้น เธออยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสพอดี และความสัมพันธ์อันดีของเธอกับชาวบ้านรอบปราสาท ช่วยให้ปราสาทเชอนองโซรอดพ้นจากการถูกทำลายโดยกองทัพปฏิวัติที่เคียดแค้นชนชั้นสูง
ปราสาทเชอนองโซถูกใช้เป็นโรงพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกกองทัพนาซีเยอรมันยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกระเบิดทำลายไปบ้างบางส่วนแต่ก็บูรณะให้กลับมาสวยงามดังเดิม
เที่ยวชมปราสาทเชอนองโซ
ปราสาทเชอนองโซเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันตลอดปี เวลาเปิด-ปิดแตกต่างกันไปตามฤดูกาล (มืดช้า-เร็ว) อ่านข้อมูลได้จาก เว็บไซต์ Chenonceau ค่าเข้าชม (ปี 2015) อยู่ที่ 12.50 ยูโรแบบไม่รวมอุปกรณ์อธิบาย (audio guide) ถ้ามาเป็นกลุ่มก็ซื้อบัตรเข้าชมในราคาถูกกว่านี้ได้
ปราสาทเชอนองโซไม่ได้มีแต่ตัวปราสาท แต่ยังมีสวนขนาดใหญ่ให้เดินเล่น และมีภัตตาคารไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งทีม 2Baht ก็จัดเต็มครบทั้งแพ็กเกจ คือชมสวน ชมปราสาท และทานข้าวเที่ยงที่นี่ด้วย
ที่จอดรถนักท่องเที่ยวจะอยู่ห่างจากตัวปราสาทพอสมควร เมื่อซื้อตั๋วแล้วต้องเดินผ่านสวนไปสักระยะหนึ่ง ร่มรื่นทีเดียว
ในสวนของปราสาทเชอนองโซยังมีสวนเล็กสวนน้อยตามประสาพระราชวังที่ดี มีสวนเขาวงกตให้แวะชมด้วย แต่วันที่เราไปฝนตกเลยไม่ค่อยสะดวกดูทุกสวนที่มี
เดินผ่านสวนมาไม่ไกลก็เห็นตัวปราสาทอยู่ตรงหน้าแล้ว ปราสาทเชอนองโซถือเป็นปราสาที่หลังไม่ใหญ่มาก แต่มีดีที่ทำเลนั่นเอง
หน้าตาของปราสาทเชอนองโซแบบชัดๆ ตัวหอคอยฝั่งขวามือเป็นหอคอยเก่า ที่มีอายุเก่ากว่าตัวปราสาทหลักซะอีกนะ
ปราสาทเชอนงโซตั้งอยู่บนแม่น้ำเชอร์ (Cher) จากสะพานเล็กๆ เข้าตัวปราสาท เราก็เห็นแม่น้ำแบบชัดเจนเต็มตา (ฝนตกพอดียิ่งได้บรรยากาศ)
แม่น้ำอีกด้านหนึ่ง ตรงแถวๆ ที่คนถือร่มยืนอยู่ ถือเป็นจุดถ่ายรูปที่สวยมากของปราสาทแห่งนี้
ปราสาทเชอนองโซตั้งอยู่กลางแม่น้ำเลย รูปถ่ายมุมนี้เห็นชัดเจน
ในตัวปราสาทมี Wi-Fi ให้ด้วย เหมาะกับทัวริสต์ยุคโซเชียล เดินชมปราสาทไป โพสต์ภาพไป
ภายในตัวปราสาทเชอนองโซ
สิ่งที่เจอแน่นอนในปราสาทเชอนองโซคือมวลมหาประชาทัวริสต์ ทั้งไทยจีนฝรั่ง ภายในปราสาทเปิดให้เข้าชม 2 ชั้น + ชั้นใต้ดินที่เป็นห้องครัว
ร่องรอยกระเบื้องของเก่าที่เชอนองโซยังมีให้เห็นตามมุมห้อง ในขณะที่ตรงกลางห้องนั้นเลือนไปหมดแล้ว
ห้องหับภายในปราสาทก็เหมือนปราสาทในยุโรปทั่วไป คือมีเตียง มีเฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่งกำแพงหรือเพดานสวยงาม ตามสไตล์เจ้าของห้องแต่ละคน
ภาพเขียนภายในปราสาท
ภาพของบรรดาพระสนมของพระราชา
ห้องหัวมุมของปราสาท แสดงภาพเขียนจำนวนมาก
พระเจ้าฟรังซัวร์ที่ 1 ผู้ยึดปราสาทหลังนี้มาเป็นของตัวเอง ใช้ตัวซาลามันเดอร์ (Salamandre) เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ปราสาทในละแวกลุ่มน้ำลัวร์หลังไหนที่พระองค์มีเอี่ยวด้วย ก็จะต้องมีตัวซาลามันเดอร์แบบนี้แปะอยู่
ห้องโถงกลางชั้นสอง ทางเดินภายในปราสาทเชอนองโซ
จุดเด่นด้านสถาปัตยกรรมของเชอนองโซ คือห้องแกลเลอรี่ที่สร้างทับไปบนสะพานข้ามแม่น้ำ ห้องนี้ยาวตลอดแนวของสะพาน แถมมี 2 ชั้นด้วย
ถ่ายจากด้านนอกปราสาท
ชั้นที่สองของแกลเลอรีถูกทำเป็นห้องแสดงศิลปะจริงๆ ช่วงที่ไปมีงานนิทรรศการศิลปะตระกูลเมดิซีให้ชม
มุมโรแมนติกของเชอนองโซ มองจากหน้าต่างแกลเลอรีเห็นแม่น้ำเชอ
ภาพวาดปราสาทเชอนองโซ ที่แสดงอยู่ในปราสาทเอง
เนื่องจากปราสาทเชอนองโซ รายล้อมด้วยสวนดอกไม้ขนาดใหญ่ ปราสาทแห่งนี้จึงมีชื่อเสียงด้านดอกไม้ และมีดอกไม้สวยๆ มาประดับตามห้องต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
มองจากหน้าต่างชั้นสองของปราสาทลงมา เห็นลานหน้าปราสาท
อีกห้องที่น่าสนใจคือห้องครัวที่อยู่ใต้ดิน ถ้าว่ากันตามตรงก็คืออยู่ชั้นใต้พื้นไป 1 ชั้น เกือบติดแม่น้ำแล้ว
สวนภายนอกปราสาท
รอบๆ ตัวปราสาทยังมีสวนสวยให้เดินเล่นหลายจุด น่าเสียดายว่าวันที่ไปฝนตกเกือบตลอดเวลา ฟ้าปิด ถ่ายรูปออกมาไม่สวยเท่าที่ควร
สวนกากบาทของไดแอน (Diane’s Garden) มองจากห้องชั้นสองของปราสาทออกไปชม
สวนดอกไม้ด้านข้างของปราสาท อันนี้เรียกสวนของแคเธอรีน (Catherine’s Garden)
ภาพถ่ายจากสวนดอกไม้ มุมนี้สวยมาก
โซนอื่นๆ รอบนอกของปราสาท ยังมีสวนผักที่ปลูกเป็นอาหาร และโซนเลี้ยงสัตว์ (มีเลี้ยงลา) ให้ดูด้วย
นอกจากการเยี่ยมชมตัวปราสาทเฉยๆ แล้ว เชอนองโซยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สอนจัดดอกไม้สำหรับเด็กๆ กิจกรรมพาเดินชมปราสาทตอนกลางคืน (เฉพาะช่งหน้าร้อน)
ร้านอาหารของปราสาทเชอนองโซ
คณะของเรามีโอกาสได้รับประทานมื้อเที่ยงที่ร้านอาหาร The Orangerie ของปราสาทเชอนองโซ ซึ่งอยู่ในสวนสวย Green Garden ไม่ไกลจากตัวปราสาทมากนัก
ร้านอาหารของปราสาทอยู่กลางสวนเลย มีซุ้มดอกไม้สวยงามอยู่ด้านหน้า
ด้านหน้าของร้านอาหาร ฝนเพิ่งหยุดตกหมาดๆ เลย พื้นยังเปียกอยู่
ที่นั่งโซนเรือนกระจกด้านหน้า ตอนนี้ยังไม่เปิดบริการ
เรานั่งโซนด้านใน เป็นห้องแคบๆ ยาวๆ แต่ตกแต่งสวยงามมากๆ อลังการทั้งกรอบหน้าต่างและโคมไฟแชนเดอเลีย
ชุดอาหารเที่ยงเป็นแบบ four-course menu มีทั้งหมด 4 จาน เริ่มจากซุป เสิร์ฟพร้อมกับขนมปังตามสไตล์ฝรั่งเศส
จานที่สองเป็นสลัด ให้มาจานโตเลยทีเดียว
จานที่สาม เมนดิช เป็นสเต๊กหมูอบ พร้อมมันฝรั่งแฮชบราวน์ เนื้อหมูทำมาดีเลย น้ำเกรวีจะอมหวานนิดๆ
ปิดท้ายด้วยของหวาน เป็นคัสตาร์ด อันนี้อร่อยมาก หวานกำลังดีไม่หวานจนแสบคอ แถมอบมาหน้ากรอบเชียว
รายละเอียดของร้านอาหาร The Orangerie ดูได้จากเว็บไซต์ ตัวร้านอาหารจะเปิดเฉพาะเดือนมีนาคม-พฤศจิกายน ปิดบริการในช่วงฤดูหนาว
บทสรุป เชอนองโซ เพชรน้ำเอกแห่งลุ่มน้ำลัวร์
ประสบการณ์การเยือนเชอนองโซ ปราสาทอันดับหนึ่งในหมู่ปราสาทแห่งลุ่มแม่น้ำลัวร์ ถือว่าน่าประทับใจ ตัวปราสาทเชอนองโซนั้นไม่ใหญ่นัก แต่ในแง่โลเคชั่นต้องถือว่าเด็ดขาดมาก หาคนต่อกรได้ยาก (แน่ล่ะ มีแม่น้ำเป็นของตัวเองเลย) บวกกับประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นในแต่ละยุคสมัย สวนสวยรอบปราสาท และอาหารอร่อย ในภาพรวมแล้วต้องบอกว่าใครที่คิดจะมาเยือนตอนกลางของฝรั่งเศส ดูปราสาทลุ่มน้ำลัวร์ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก เว็บไซต์ของปราสาทเชอนองโซ ได้เลย มีข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษครบถ้วน
ปิดท้ายด้วยคลิปวิดีโอบรรยากาศของปราสาทเชอนองโซมุมสูง ที่ถ่ายด้วยโดรนบังคับวิทยุ