มีเหตุให้ต้องบินไปงานที่ญี่ปุ่นมา 2 ปีติด และพบว่าการบินไฟลท์ red eye (บินดึกถึงเช้า นอนบนเครื่อง) ให้ประสบการณ์ที่แย่มาก เพราะแทบไม่ได้นอนเลย หมดแรง เลยไปโพสต์ลงทวิตเตอร์ ปรากฏว่าแมสเฉยเลย
พบว่ารูทญี่ปุ่นนี่มันไม่เหมาะกับการบิน overnight เพราะเวลาบิน 6 ชม มันสั้นเกินกว่าจะนอนได้ดีพอ ปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับก็มีเยอะอีก
คราวหน้าคงบินกลางวันอย่างเดียว ยอมเสียวันเที่ยว เสียค่า รร เพิ่ม แลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
— Isriya Paireepairit (@markpeak) November 21, 2019
มีคนมาตอบกันเยอะทีเดียว อย่างเช่นคุณอู๋ spin9 คนดังแห่งโลกการบิน first-class
เลิกบิน red eye ญี่ปุ่น เกาหลีแล้วอะท่าน กว่าจะ recover เสียเวลากว่าบินกลางวันเยอะ
— spin9 (@spin9) November 21, 2019
ปัญหาของการบินไฟลท์ดึก
คิดว่าปัญหาของการบินไปยังญี่ปุ่น (หรือภูมิภาคใกล้ๆ กัน เช่น เกาหลี หรือ จีนตอนบนอย่างปักกิ่ง) คือระยะเวลาบินมันค่อนข้างสั้นหน่อย ประมาณ 6 ชั่วโมง (กรุงเทพ-โตเกียว) 5 ชั่วโมงครึ่ง (กรุงเทพ-โซล) หรือ 5 ชั่วโมง (กรุงเทพ-ปักกิ่ง)
หากเราคิดโครงสร้างของเวลาที่อยู่บนเครื่อง ขึ้นไปแล้วไม่มีเสิร์ฟอะไรเลยเพราะเป็นไฟลท์ดึก แอร์จะเสิร์ฟอาหารเช้าประมาณ 1.5-2 ชั่วโมงก่อนเครื่องลง (เพื่อให้มีเวลากินและเก็บถาดอาหาร) เท่ากับว่าเราจะมีเวลาที่ไม่ถูกรบกวนจากใครประมาณ 4 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น (ถึงแม้เราจะบอกแอร์ว่าไม่ต้องเสิร์ฟก็ตาม แต่บนเครื่องเสียงดังโฉงเฉง ก็คงตื่นกันอยู่ดี)
ยิ่งถ้าเป็นคนที่หลับยากๆ ต้องใช้เวลาบิ้วนานๆ กว่าจะได้ขึ้นเครื่องก็ประมาณเที่ยงคืน ขึ้นไปแล้วกว่าจะข่มตาหลับลง มีเสียงเด็กร้อง เสียงคนเข้าห้องน้ำ ฯลฯ เรียกว่าคืนนั้นได้นอนสัก 2-3 ชั่วโมงก็ถือว่าเก่งมากแล้ว (ต้องขอแสดงความยินดีกับคนที่ขึ้นปุ๊บหลับปั๊บด้วย ถือว่ามีบุญมากๆ)
อีกปัจจัยที่คนพูดกันไม่น้อยคือ การบินดึกถึงเช้า ช่วยประหยัดค่าโรงแรมเพราะนอนบนเครื่อง ลงมาได้เที่ยวเลยทันที แต่ถ้าไปเที่ยวเองไม่ไปกับทัวร์ มันย่อมเหนื่อยแน่ๆ และการไปเข้าโรงแรม เก็บของ อาบน้ำ นอนเอนหลังให้หายเหนื่อยก็ทำไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงเวลาเช็คอิน อย่างมากที่สุดคือฝากของไว้ที่โรงแรม แล้วไปตะลุยต่อกันแบบร่างกายโทรมๆ คงไม่สนุกเท่าไรนัก
หากว่าเวลาอยู่บนเครื่องนานกว่านั้น (เช่น ไฟลท์ยุโรป) เวลาตรงกลางที่เราจะได้นอนจริงๆ จังๆ โดยไม่ถูกรบกวนย่อมมีมากขึ้น เพราะสายการบินเสิร์ฟอาหารบนเครื่องมากที่สุดแค่ 2 ครั้ง (หัวกับท้าย ตอนขึ้นกับตอนลง) ก็ช่วยให้มีเวลานอนเต็มอื่มมากขึ้นนั่นเอง แต่ด้วยระยะทางที่ยังไงก็จำกัด ไทยกับญี่ปุ่นไม่มีทางใกล้กันหรือไกลกันกว่านี้ โครงสร้างเวลาบิน 6 ชั่วโมงก็จะอยู่กับเราต่อไป
แล้วบินไฟลท์เวลาไหนดี
การเดินทางรอบล่าสุดนี้ ได้ลองบินแบบขาไปบินกลางวัน vs ขากลับบินกลางคืน แล้วพบว่าการบินกลางวันสบายกว่ากันมาก
ไฟลท์ที่บินคือ ANA NH848 Bangkok-Haneda ออกจากกรุงเทพ 9.45 น. ถึงสนามบินฮาเนดะ 17.25 น. เท่ากับว่าเราต้องไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิราว 6.30 หรือ 7.00 น. ถือว่าออกจากบ้านเช้ากว่าปกติสักหน่อย แต่ก็ไม่เหนื่อยจนเกินไป (ถ้าบินไฟลท์เช้ากว่านี้จะต้องออกจากบ้านเช้ามากๆ) ฝั่งที่ญี่ปุ่นคือเครื่องลง 17.25 น. ตามเวลาท้องถิ่น รวมเวลารับกระเป๋าและออกเดินทางจากสนามบินไปโรงแรมในโตเกียวอีกสัก 1.5-2 ชั่วโมง ก็ได้เข้าห้องพักตามเวลาท้องถิ่นราว 19.00 น. แต่ตัวเราจะยังค่อนข้างเฟรชอยู่เพราะยังถือเป็นเวลาตามเมืองไทยราว 17.00 น. ก็สามารถไปหาข้าวกิน พักผ่อนได้อีกพอสมควร ส่วนตอนอยู่บนเครื่องก็หาอะไรทำแก้เบื่อ ดูหนัง อ่านหนังสือ เวลา 6 ชั่วโมงก็ถือว่าไม่นานเกินไปนัก
แน่นอนว่าการบินแบบนี้มีข้อเสียคือ เสียวันเดินทางไปเปล่าๆ 2 วัน (ขาไป+ขากลับ) สำหรับคนที่มีเวลาเที่ยวจำกัด ลางานได้จำกัด ก็คงต้องพิจารณาเรื่องนี้กันให้ดี ๆ กับต้องจ่ายค่าโรงแรมเพิ่มขึ้นอีก 2 คืน (ขาไป+ขากลับ) ในแง่ค่าใช้จ่ายย่อมมีผลชัวร์ๆ ถ้างบประมาณจำกัดก็อาจต้องทนเอา
มิตรสหายท่านหนึ่งแนะนำอีกสูตรว่า บินบ่าย ถึงตอนดึก เช่น ANA NH878 ออกจากกรุงเทพ 15.15 ถึงฮาเนดะ 23:00 ข้อดีคือกลางวันไปทำงานก่อนได้ตอนเช้า แต่คิดว่าข้อจำกัดของไฟลท์แบบนี้คือ ไม่เหมาะกับคนไปเที่ยว หากเป็นคนที่ทำงานที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว ย่อมไม่มีปัญหา เพราะลงเครื่องแล้วกลับที่พักได้ทันที แต่ถ้าไปเที่ยวสถานที่นั้นๆ เป็นครั้งแรก ไปถึงดึกๆ ต้องมาลำบากเดินทางไปหาโรงแรม (ที่ยังไม่เคยไปอีก) ก็น่าจะเหนื่อยไม่หน่อย ยิ่งเป็นช่วงที่ทุกอย่างเริ่มปิดหมดแล้วอีกต่างหาก
กล่าวโดยสรุปคือ ไฟลท์แต่ละช่วงเวลาก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ขึ้นกับข้อจำกัดของแต่ละคน ทั้งเวลางานฝั่งไทย เวลาเที่ยวฝั่งญี่ปุ่น และปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าคงจะเลิกบิน red eye ไฟลท์ดึกแบบนี้ เพราะรู้สึกเหนื่อยมากนั่นเองครับ