ทุกวันนี้สายการบิน Low Cost กลายเป็นเรื่องปกติของการเดินทางทั้งในและต่างประเทศแล้ว แม้แต่ในเส้นทางบินที่ค่อนข้างไกลอย่างไปญี่ปุ่นหรือเกาหลี ตอนนี้ก็มีสายการบินให้เลือกมากมายในราคาหลักครึ่งพันกว่าๆ เท่านั้น
ความนิยมต่อสายการบินโลว์คอสต์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นเทร็นด์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบันโลกเรามีสายการบินโลว์คอสต์นับร้อย คำถามที่ตามมาก็คือ โลว์คอสต์สายไหนล่ะ ดีที่สุด?
การจัดอันดับสายการบินโลว์คอสต์นั้นไม่ง่าย เพราะรูปแบบบริการนั้นแตกต่างไปจากสายการบินแบบปกติ (ที่เรียกว่า full service) พอสมควร สถาบันจัดอันดับสายการบินอย่าง “Skytrax” จึงต้องแยกหมวดโลว์คอสต์ออกมาต่างหาก โดยคิดคะแนนจากความพึงพอใจของผู้โดยสาร และมาตรฐานการให้บริการทั้งบนเครื่องบินและที่สนามบินก่อนขึ้นเครื่อง
อันดับสายการบินโลว์คอสต์ปี 2015 ยังไม่ออก (จะเผยข้อมูลประมาณเดือนมิถุนายน) ดังนั้นเว็บไซต์ 2Baht.com ขอเสนอข้อมูล 10 อันดับสายการบินโลว์คอสต์ที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2014 ดังนี้
อันดับ 10 Scoot
ประเทศ: สิงคโปร์
Scoot สายการบินลูกของ Singapore Airlines เริ่มเปิดบริการครั้งแรกในปี 2012 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เส้นทางบินของ Scoot เน้นภูมิภาคเอเชีย โดยมีสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง เส้นทางหลักเน้นบินไปจีน ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน และล่าสุดเพิ่งจับมือกับ “นกแอร์” เปิดบริการ NokScoot ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
อันดับ 9 Jetstar Asia
ประเทศ: สิงคโปร์
Jetstar Asia เป็นสายการบินลูกของ Jetstar โลว์คอสต์จากออสเตรเลีย ที่ขยายธุรกิจมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (นอกจาก Jetstar Asia แล้ว ยังมี Jetstar Pacific ในเวียดนาม, Jetstar Japan และ Jetstar Hong Kong อีกด้วย) โดย Jetstar บริษัทแม่ถือหุ้น 51%
Jetstar Asia เปิดบริการครั้งแรกในปี 2004 ด้วยเส้นทางบินสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ช่วงหลังคนไทยน่าจะคุ้นกับชื่อ Jetstar กันมากขึ้นเพราะหันมาบุกตลาดกรุงเทพ-ญี่ปุ่นด้วยราคาสุดโหด ที่หลายคนอาจเผลอใจซื้อตั๋วไปกันแล้ว
อันดับ 8 Virgin America
ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
Virgin America เป็นหนึ่งสายการบินในเครือ Virgin Group ของมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ Richard Branson (กลุ่ม Virgin ถือหุ้น 25% ตามเพดานของกฎหมายสหรัฐ)
Virgin America เปิดบริการครั้งแรกในปี 2007 และเน้นให้บริการเฉพาะเส้นทางยอดฮิตภายในสหรัฐ เช่น แอลเอ ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก วอชิงตันดีซี ซีแอทเทิล พอร์ตแลนด์ ชิคาโก ลาสเวกัส ดัลลัส เป็นต้น
อันดับ 7 WestJet
ประเทศ: แคนาดา
WestJet เป็นสายการบินโลว์คอสต์จากประเทศแคนาดา เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 1996 โดยมีเส้นทางบินไปทั่วอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง ตั้งแต่แคนาดาเอง สหรัฐ เม็กซิโก ฮาวาย หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน (สำหรับฝรั่งเที่ยวทะเล) รวมถึงเส้นทางบินข้ามทวีปไปยังกรุงลอนดอนด้วย
ความน่าสนใจของ WestJet คือเปิดบริการมานาน มีเส้นทางบินกว้างขวาง มีฝูงบินใหญ่เกิน 120 ลำ แต่กลับไม่สนใจเป็นพันธมิตรกับสายการบินไหนเลย เรียกว่า “ข้ามาคนเดียว” แถมอยู่ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งใคร
อันดับ 6 easyJet
ประเทศ: สหราชอาณาจักร
easyJet เป็นสายการบินโลว์คอสต์หมายเลขหนึ่งของสหราชอาณาจักร และเป็นคู่กัดกับ Ryanair โลว์คอสต์จากไอร์แลนด์ในการชิงความเป็นเจ้ายุโรปมาหลายสมัย อย่างไรก็ตาม easyJet ชูจุดขายคือบริการที่เหนือกว่าโลว์คอสต์ทั่วไป ช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างสบายใจขึ้นโดยยอมจ่ายเพิ่มอีกไม่เยอะนัก
ศูนย์กลางบินของ easyJet คือสนามบินลูตัน (Luton) นอกกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีเส้นทางบินไปทั่วยุโรป แถมช่วงหลังยังขยายเส้นทางบินไปไกลถึงอิสราเอล ตุรกี อียิปต์ โมร็อคโค อีกด้วย
อันดับ 5 IndiGo
ประเทศ: อินเดีย
สายการบินโลว์คอสต์ไม่ได้มีแต่ในยุโรป อเมริกา และเอเชียตะวันออก แต่ในเอเชียใต้ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน และถ้าพูดถึง “โลว์คอสต์” ยอดฮิตแห่งประเทศอินเดีย ก็คงไม่มีสายการบินไหนดังไปกว่า IndiGo (ชื่อมาจากคำว่า India + Go แต่ก็เล่นคำให้ตรงกับคำว่า Indigo ที่แปลว่า “สีคราม”)
แน่นอนว่า IndiGo มีเส้นทางบินหลักอยู่ในอินเดียและประเทศแถบเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า IndiGo มีบินมากรุงเทพด้วย ใครอยากเที่ยวอินเดียในราคาไม่แพง IndiGo ถือเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน (ทีม 2Baht เคยบิน IndiGo มาแล้ว พบว่าแขกอินเดียเต็มลำ หนวกหูมาก ฮา แต่แอร์ก็อดทนมากๆ อย่างไม่น่าเชื่อ)
อันดับ 4 Jetstar Airways
ประเทศ: ออสเตรเลีย
Jetstar เป็นบริษัทลูกของ Qantas สายการบินแห่งชาติออสเตรเลีย ที่แตกแบรนด์ลูกมาชิงตลาดสายการบินโลว์คอสต์มาตั้งแต่ปี 2003 เพื่อมาต่อกรกับ Virgin Blue ในขณะนั้น (ตอนหลัง Virgin Blue เปลี่ยนชื่อเป็น Virgin Australia) ทำไปทำมากลับกิจการรุ่งเรือง จนต้องขยายเส้นทางบินจากเดิมที่มีเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย ออกมายังเอเชียตะวันออกด้วย
แบรนด์ Jetstar Airways ปัจจุบันใช้ทำตลาดเฉพาะในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้น
อันดับ 3 Norwegian
ประเทศ: นอร์เวย์
Norwegian สายการบินจากยุโรปเหนือ มีชื่อเต็มๆ ว่า Norwegian Air Shuttle (ไม่ใช้คำว่า Airlines เหมือนอย่างสายการบินอื่นๆ) ถือเป็นโลว์คอสต์อันดับสามของยุโรป (เป็นรองแค่ Ryanair และ easyJet) มีเครื่องบินเกือบ 100 ลำ ให้บริการทั่วทวีปยุโรป แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง
ภายหลัง Norwegian ยังแตกสายการบินลูกชื่อ Norwegian Long Haul มาให้บริการเส้นทางบินข้ามทวีป ซึ่งก็มีเส้นทางบินมากรุงเทพด้วย (ไกลมาก) เส้นทางบินอื่นๆ คือนิวยอร์กและแอลเอ นั่นแปลว่าคุณสามารถบินเส้นกรุงเทพ-สต๊อกโฮล์มได้แบบไม่ต้องแวะเลย ในราคาโลว์คอสต์!
อันดับ 2 AirAsia X
ประเทศ: มาเลเซีย
AirAsia X เป็นสายการบินลูกของ AirAsia ที่ทำตลาดเส้นทางบินระยะไกล (Long Haul) เริ่มเปิดบริการในปี 2007 โดยเริ่มจากเส้นทางบินมาเลเซีย-ออสเตรเลีย แต่ภายหลังก็ขยายเส้นทางบินไปญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน ตะวันออกกลาง
AirAsia X เพิ่งมาเปิดสายการบินลูก (ของลูกอีกที โลกมันซับซ้อน) คือ Thai AirAsia X สำหรับประเทศไทย และ Indonesia AirAsiaX ด้วย คอเกาหลีญี่ปุ่นบ้านเราน่าจะคุ้นเคยกับเส้นทางบิน Thai AirAsia X ไปยังเกาหลี (ปูซาน) และญี่ปุ่น (ซัปโปโร) ในราคาถูกกันพอสมควรแล้ว
อันดับ 1 AirAsia
ประเทศ: มาเลเซีย
รางวัลสายการบินโลว์คอสต์อันดับหนึ่งของโลกเป็นของ AirAsia สายการบินโลว์คอสต์สัญชาติมาเลเซียที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ถ้านับจากวันที่ Tony Fernandes นักธุรกิจชาวมาเลเซียเข้ามาซื้อกิจการ AirAsia ในปี 2001 แล้วเปลี่ยนมันเป็นสายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ของโลกแล้ว มันก็เป็นเส้นทางที่ยาวนานจริงๆ ปัจจุบัน AirAsia มีเครื่องบินเกือบ 200 ลำ บินไปยัง 121 เมืองทั่วเอเชีย ในแง่ความหลากหลายของเส้นทางบินคงหาใครมาต่อกรยาก นอกจากนี้บริษัทยังมีธุรกิจแตกลูกหลานออกไปในหลายประเทศ ครอบคลุมการท่องเที่ยวหลายสาขาอย่างรถเช่าและโรงแรมอีกด้วย
AirAsia ครองอันดับหนึ่งหมวดโลว์คอสต์ที่จัดโดย Skytrax ติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปีแล้ว
สำหรับสายการบินโลว์คอสต์ในไทยที่ติดอันดับในหมวดทวีปเอเชียคือ “นกแอร์” (Nok Air) อยู่อันดับ 9 โดยมีอันดับตามนี้
Best Low-Cost Airlines in Asia
- AirAsia
- AirAsia X
- Indigo
- Jetstar Asia
- Scoot
- Peach
- SpiceJet
- Tiger Airways
- Nok Air
- Skymark Airlines
ข้อมูลการจัดอันดับ Low-Cost Airlines ประจำปี 2014 แยกรายทวีป ดูได้จาก Skytrax
หมายเหตุ: เนื้อหาบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของเว็บไซต์ 2Baht.com ห้ามคัดลอกไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต