หลายๆ คนอาจคุ้นเคยกันกับสภากาแฟ ร้านลาบอีสาน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านน้ำชา แหล่งพบปะพูดคุยสำหรับคนท้องถิ่นซึ่งมักกระจายตัวทั่วทุกเมืองในประเทศไทย แต่วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของ จ.บุรีรัมย์ กลับมีรูปแบบที่ต่างออกไป และยังไม่น่าจะมีใครเหมือน
นั่นคือ “การกินลูกชิ้นทอด”
อ่านไม่ผิดค่ะ รถเข็นลูกชิ้นทอดที่หาได้ทั่วไปตามหัวมุมถนนแทบทุกแห่งในไทย กลับเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของ จ.บุรีรัมย์ ไปเรียบร้อยแล้ว
ทีมงาน 2Baht.com จะพาไปดูวัฒนธรรมการกินของธรรมดา (ที่ดันเป็นของแปลก) ที่เกิดขึ้นในบุรีรัมย์มากกว่า 30 ปีแล้วกัน
แหล่งรวมลูกชิ้นทอดของบุรีรัมย์อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเลย เพราะอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์นี้เอง
ในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ของทุกวันจะมีพ่อค้าแม่ค้าต่างมาจับจองตั้งแผงขายลูกชิ้นทอดด้านหน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ (บริเวณใกล้ๆ หอนาฬิกา ออกมาจากสถานีอยู่ด้านขวามือ) ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่สัญจรด้วยรถไฟ หรือ คนในท้องถิ่น เด็กๆ ที่เล่นบอลเสร็จ ต่างมาจับจองพื้นที่หน้ารถเข็นขายลูกชิ้นเจ้าประจำ แล้วยืน “กินลูกชิ้น” คุยกัน (มีแต่ลูกชิ้นทอดนะคะ ไม่มีลูกชิ้นปิ้ง)
วัฒนธรรมการกินลูกชิ้นที่รวมใจเป็นหนึ่ง
วิธีการกินลูกชิ้นทอดที่บุรีรัมย์ไม่เหมือนกับลูกชิ้นทอดทั่วไป หากจะกินให้ได้บรรยากาศ ต้องยืนกินกันหน้าร้านตอนที่ทอดเสร็จใหม่ๆ แต่ละร้านจะมีหม้อน้ำจิ้มสูตรเด็ดหม้อใหญ่ๆ วางอยู่หน้าร้าน พร้อมกับกะหล่ำปลี และแตงกวาที่หั่นรอไว้แบบพอดีคำ ผักเครื่องเคียงจิ้มได้ไม่อั้น เมื่อยืนกินเสร็จ อิ่มในระดับที่พอใจแล้วก็จ่ายเงิน ในราคาแค่ไม้ละ 3 บาทเท่านั้น
2Baht.com ก็ไปยืนเก้ๆ กังๆ สำรวจชาวบ้านเค้ายืนทานลูกชิ้นกัน เลยสรุปวิธีการกินแบบบุรีรัมย์สไตล์มาฝาก ดังนี้
- รอแม่ค้าทอดลูกชิ้นร้อนๆ จากเตา พอเอาลูกชิ้นทอด ไส้กรอกทอดขึ้นมาจากกระทะปุ๊บก็เตรียมจับจองกันได้เลย
- ลูกชิ้นส่วนใหญ่จะมี 3 ลูก ค่อยๆ จิ้มลูกชิ้นลงไปในหม้อน้ำจิ้มทีละเม็ด พอหมด 1 ลูก เอาไม้ไปเสียบแตงกวามาจิ้มน้ำจิ้มต่อก็ได้ (คิดว่าทานบาร์บีคิว)
- จากนั้นก็ดันลูกชิ้นเม็ดถัดไปตรงปากหม้อน้ำจิ้ม ให้อยู่ตรงปลายไม้ (ใครมือใหม่อาจจะดันนานหน่อย ถ้าสังเกตดูจะรู้เลยว่าใครเป็นคนบุรีรัมย์ตัวจริง) แล้ววนกลับไปข้อ 2 ใหม่
- พอทานหมดไม้ยังไม่อิ่ม ก็หยิบไม้ใหม่มาทานต่อ (ไม้เดิมที่ทานเสร็จก็เก็บไว้ก่อนนะ เพราะเอาไว้นับยอด)
- ทานอิ่มเมื่อไหร่นับไม้แล้วบอกแม่ค้า (ราคาไม้ละ 3, 5 , 10 บาท แต่ส่วนใหญ่ 3 บาท)
ระหว่างยืนมุงกินลูกชิ้นอย่างเพลิดเพลิน เราก็พบความน่ารักของคนบุรีรัมย์
- เมื่อมีลูกค้าคนใหม่มา คนที่นี่ก็จะเขยิบที่ให้ ใครชอบกินผักก็จิ้มไป แม่ค้าไม่เคยหวงใดๆ เลย จนทำให้รู้สึกว่าลูกชิ้นไม้ละ 3 บาทนี่ถูกไปมั้ย? เราทนกินลูกชิ้นไม้ละ 10-15 บาทใน กทม.กันได้อย่างไร
- แม่ค้าเชื่อใจลูกค้า นับกี่ไม้ก็บอกมา เก็บตังค์กันไปตามนั้น
- เห็นเด็กๆ ยืนแข่งกันกินลูกชิ้น ซึ่งต่างไปจากเมืองกรุงที่แข่งกันทานบุฟเฟ่ต์
- ใครมาคนเดียว ก็อาจจะแชทกับเพื่อนไป กินลูกชิ้นไป อมยิ้มไปก็มี 😀 ที่เจ๋งที่สุดคือเราเจอผู้หญิงคนหนึ่ง มาคนเดียว กินลูกชิ้นไป ดูนักสืบจิ๋วโคนันจากมือถือไปอย่างมีความสุข
- ลูกค้าบางคนก็ขี่มอเตอร์ไซค์ซื้อกลับบ้านเป็นชุดใหญ่ 60 บาท (ตั้ง 20 ไม้แน่ะ) กลายเป็นวัฒนธรรมการกินที่อยู่คู่ชาวบุรีรัมย์มานาน เหมือนกับชาวภูเก็ตที่ซื้อติ่มซำห่อกลับบ้านในตอนเช้าเลย
นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมการกินที่เราว่าคล้ายๆ กับบุรีรัมย์น่ะ อย่างการทาน Lok Lok (ลก-ลก) อาหารไม้จุ่มของปีนังที่ต้องนั่งกินกันหน้าร้าน, การทานลูกชิ้นทอดตามแยกต่างๆ ในฮ่องกง, หรือแม้แต่อุด้งของญี่ปุ่นก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมักสวนทางไปกับขนาดเมืองที่ใหญ่ขึ้น บางที่มักมีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและยิ้มได้อยู่เสมอ 🙂
แม้รอบนี้ทีมงาน 2Baht.com อาจจะมาช้าไปหน่อย (ตลาดเริ่มวาย) มีหลายร้านที่ขายหมดแล้ว ไว้มีโอกาสมาเที่ยวบุรีรัมย์อีกครั้งจะไปยืนมุงร้านลูกชิ้นทอดตั้งแต่เปิดแผง ทานให้ครบทุกร้านให้ได้เลย!!!
ข้อมูลรายละเอียด การเดินทาง
- พิกัด : สถานีรถไฟบุรีรัมย์ฝั่งใกล้หอนาฬิกา (15.00323, 103.10777)
- ช่วงเวลาคึกคัก : บ่ายๆ เย็นๆ (อย่ามาหัวค่ำแบบเรา เพราะตลาดจะเริ่มวาย)
- ร้านลูกชิ้นมีเยอะมาก แต่ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ร้านป้านก, พงษ์ลูกชิ้นทอด หรือ จะลองชิมทีละร้านจนพอใจก็ได้นะ