สามยักษ์ใหญ่สายการบินจีน Air China, China Eastern, China Southern

Airlines in China Big Three

ผู้อ่าน 2Baht.com ที่สนใจไปเที่ยวประเทศจีน คงประสบปัญหามึนงงกับชื่อสายการบิน เพราะมีให้เลือกเยอะไปหมด แถมแต่ละสายการบินก็ดันชื่อคล้ายๆ กัน มีคำว่า China ห้อยหน้าห้อยหลังมาด้วย ชวนให้สับสนยิ่งนัก

แม้สายการบินในจีนถึงแม้จะมีจำนวนมาก แต่เอาเข้าจริงแล้วก็มีสายการบินยักษ์ใหญ่อยู่เพียง 3 ค่ายเท่านั้น ซึ่งทั้งสามค่ายนี้ถือเป็นสายการบินที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น บทความนี้ 2Baht จะมาแนะนำ 3 กลุ่มทุนใหญ่ของวงการการบินจีน อันได้แก่ Air China, China Eastern, China Southern ให้คุณรู้จักว่าใครเป็นใคร

หมายเหตุ: สงวนลิขสิทธิ์เนื้อหา ห้ามคัดลอกหรือลอกเลียน หากพบจะดำเนินคดีทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด

รู้จัก CAAC สายการบินรายแรกของจีน มารดาแห่งสายการบินทั้งปวง

Civil Aviation Administration of China

ประวัติของสายการบินพาณิชย์ในจีน ต้องย้อนไปไกลถึงปี 1949 สมัยก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่ๆ ทางรัฐบาลจีนก็ตั้งหน่วยงานชื่อว่า Civil Aviation Administration of China (CAAC) ขึ้นมาดูแลงานด้านการบินทั้งหมดของประเทศ

ช่วงแรกนั้น CAAC เป็นหน่วยงานเดียวที่ทำหมดทุกอย่าง ทั้งให้บริการสายการบิน และกำกับดูแลเบ็ดเสร็จ พูดง่ายๆ ว่าตอนนั้นจีนมีสายการบินเพียงสายเดียวก็คือ CAAC นี่แหละ ใช้รหัสย่อเรียกว่า “CA”

สายการบิน CAAC เน้นให้บริการเที่ยวบินในประเทศจีนเป็นหลัก ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ ในช่วงแรกก็มีเฉพาะการบินไปยังประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกัน (เช่น โซเวียต เกาหลีเหนือ พม่า มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา) แต่ภายหลังเมื่อสงครามเย็นผ่อนคลาย ก็หันมาเปิดบริการไปยังประเทศฝั่งโลกตะวันตกด้วย

CAAC แตกตัวเป็น 6 สายการบินแห่งชาติจีน

จุดเปลี่ยนของโลกการบินพลเรือนในจีนอยู่ที่ปี ค.ศ. 1987 เมื่อรัฐบาลจีนตัดสินใจแยกกิจการสายการบินออกจาก CAAC โดยยังคง CAAC ในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้านการบิน ภายใต้กระทรวงคมนาคมของจีนต่อไป

ธุรกิจสายการบินของ CAAC ถูกแตกออกเป็น 6 สายการบิน แยกตามภูมิภาคได้ดังนี้

  • Air China สายการบินระหว่างประเทศ มีฐานอยู่ที่ปักกิ่ง (Beijing) ใช้รหัสของ CAAC เดิมสืบต่อมา
  • China Northern Airlines คุมพื้นที่ภาคเหนือ มีฐานอยู่ที่ เสิ่นหยาง (Shenyang) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
  • China Northwest Airlines คุมพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ มีฐานอยู่ที่ซีอาน (Xi’an)
  • China Eastern Airlines คุมพื้นที่ภาคตะวันออก มีฐานอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ (Shanghai)
  • China Southern Airlines คุมพื้นที่ภาคใต้ มีฐานอยู่ที่กว่างโจว (Guangzhou)
  • China Southwest Airlines คุมพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ มีฐานอยู่ที่เฉิงตู (Chengdu)

สายการบินทั้ง 6 ประกอบธุรกิจในฐานะรัฐวิสาหกิจมาได้ประมาณ 13-15 ปี ก็เกิดการควบรวมกิจการกันเป็นคู่ๆ ในระหว่างปี 2002-2003 เกิดเป็น 3 กลุ่มสายการบินยักษ์ใหญ่ของจีนมาจนถึงทุกวันนี้

  • Air China ควบรวม China Southwest
  • China Eastern ควบรวม China Northwest
  • China Southern ควบรวม China Northern
แผนผังแสดงการแยกตัวของ CAAC และการควบรวมของสายการบินจีน (ภาพจาก Yesterday's Airlines)
แผนผังแสดงการแยกตัวของ CAAC และการควบรวมของสายการบินจีน (ภาพจาก Yesterday’s Airlines)

บทความต่อจากนี้ไป 2Baht จะเล่าประวัติและข้อมูลของแต่ละกลุ่มสายการบิน Big Three ของจีนว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

Air China พี่ใหญ่แห่งปักกิ่ง

Air China

ข้อมูลสายการบิน

  • ตัวย่อ: CA
  • ฮับการบินหลัก:
    • ปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport)
    • เฉิงตู (Chengdu Shuangliu International Airport)
    • เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pudong International Airport)
  • จำนวนผู้โดยสารต่อปี: 89.8 ล้านคน (2015)
  • กลุ่มพันธมิตร: Star Alliance
  • สายการบินในสังกัด
    • Air China Cargo สายการบินขนส่งสินค้า (ถือหุ้น 51%)
    • Shenzhen Airlines เสิ่นเจิ้นแอร์ไลนส์ (ถือหุ้น 51%)
    • Shandong Airlines ชานตุงแอร์ไลนส์ (ถือหุ้น 72%)
    • Inner Mongolia Airlines มองโลเนียใน (ถือหุ้น 80%)
    • Air Macau แอร์มาเก๊า (ถือหุ้น 67%)
    • Dalian Airlines ต้าเหลียนแอร์ไลนส์ (ถือหุ้น 80%)
    • Beijing Airlines ปักกิ่งแอร์ไลนส์ (ถือหุ้น 51%)

Air China คือสายการบินแห่งชาติจีน (flag carrier) ผู้สืบทอดตำนานจาก CAAC เดิม โดยยังใช้รหัสเรียกขาน “CA” (ตามระบบ IATA) หรือ “CCA” (ตามระบบ ICAO) ของเดิมที่ใช้โดย CAAC ต่อไป

เดิมที Air China ถูกวางตัวให้เป็นสายการบินระหว่างประเทศ เน้นไฟลท์ระยะไกล แต่หลังการควบรวมกับ China Southwest ในปี 2002 ก็ส่งผลให้ Air China มีเส้นทางบินในประเทศมากขึ้น ปัจจุบัน Air China เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและลอนดอน มีสายการบินในสังกัดหลายสายที่เข้าไปซื้อหุ้นหรือลงทุนในภายหลัง

เส้นทางบินของ Air China ถือว่ากว้างไกล ครอบคลุมทั้งในประเทศจีน เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา ส่วนฮับการบินหลักอยู่ที่ปักกิ่ง แต่ก็ยังมีฮับที่เฉิงตู (จากการควบรวมกับ China Southwest) และเซี่ยงไฮ้ด้วย

สัญลักษณ์ของ Air China เป็นรูปนกฟีนิกซ์ โปรแกรมสะสมไมล์จึงเรียกว่า PhoenixMiles ส่วนในแง่ความร่วมมือกับสายการบินระดับนานาชาติ Air China และ Shenzhen Airlines ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ต่างก็เป็นสมาชิกของ Star Alliance ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี

สัญลักษณ์ของ Air China เป็นรูปนกฟีนิกซ์สีแดง
สัญลักษณ์ของ Air China เป็นรูปนกฟีนิกซ์สีแดง

China Eastern เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

China Eastern Airlines

 

ข้อมูลสายการบิน

  • ตัวย่อ: MU
  • ฮับการบินหลัก: เซี่ยงไฮ้ (ใช้ทั้งสองสนามบินคือ Hongqiao และ Pudong)
  • จำนวนผู้โดยสารต่อปี: 93.8 ล้านคน (2015)
  • กลุ่มพันธมิตร: SkyTeam
  • สายการบินในสังกัด
    • Shanghai Airlines (ถือหุ้น 100%)
    • China United Airlines (ถือหุ้น 100%)
    • Air China Cargo สายการบินขนส่งสินค้า (ถือหุ้น 51%)
    • Sichuan Airlines (ถือหุ้น 10%)
    • Joy Air (ถือหุ้น 5%)

ในขณะที่ Air China คุมพื้นที่เมืองหลวงทางภาคเหนือของประเทศ สายการบิน China Eastern ก็มีฐานบัญชาการอยู่ที่เมืองท่าเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางของการพาณิชย์และธุรกิจของจีน

China Eastern หรือเรียกตามตัวย่อ CE Air เป็นหนึ่งในสายการบินที่แยกตัวมาจาก CAAC และค่อยๆ เติบโตขึ้น โดยควบรวมกับสายการบินอื่นๆ หลายแห่ง เช่น Great Wall Airlines, China Yunnan Airlines และที่สำคัญคือ China Northwest Airlines หนึ่งในพี่น้องจาก CAAC ในปี 2003

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งของ China Eastern เกิดขึ้นในปี 2009 เมื่อควบรวมกับคู่แข่งร่วมเมืองเซี่ยงไฮ้ Shanghai Airlines ซึ่งเป็นสายการบินของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเซี่ยงไฮ้ การควบรวมครั้งนี้ส่งผลให้ China Eastern ครองภาคตะวันออกของจีนแบบเบ็ดเสร็จ มีสถานะเป็น “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ได้อย่างเต็มปาก

ปัจจุบัน China Eastern Group (CE Group) หรือบริษัทแม่ China Eastern Air Holding Company (CEAH) จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและนิวยอร์ก

เจ้าพ่อแห่งภาคตะวันออก มีโปรแกรมสะสมแต้มชื่อ Eastern Miles และเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร SkyTeam

China Eastern Airlines
โลโก้ของ China Eastern เป็นรูปนกนางแอ่น (swallow)

China Southern มังกรใต้แห่งกว่างโจว

china southern

 

ข้อมูลสายการบิน

  • ตัวย่อ: CZ
  • ฮับการบินหลัก: กว่างโจว (Guangzhou Baiyun International Airport)
  • จำนวนผู้โดยสารต่อปี: 109.3 ล้านคน (2015)
  • กลุ่มพันธมิตร: SkyTeam
  • สายการบินในสังกัด
    • Xiamen Airlines (ถือหุ้น 51%)
    • Zhuhai Airlines (ถือหุ้น 60%)
    • Guizhou Airlines (ถือหุ้น 60%)
    • Shantou Airlines (ถือหุ้น 60%)
    • Henan Airlines (ถือหุ้น 60%)
    • Chongqing Airlines (ถือหุ้น 60%)
    • Sichuan Airlines (ถือหุ้น 39%)

China Southern Airlines สายการบินผู้คุมแดนใต้ มีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) พื้นที่การค้าสำคัญเพราะอยู่ตรงข้ามกับฮ่องกง

ถ้าเทียบกันแล้ว China Southern ถือเป็นสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ใหญ่ที่สุดในบรรดา Big Three ทั้งในแง่รายได้ ผู้โดยสาร และฝูงบิน เพราะ China Southern ให้บริการผู้โดยสารมากถึงปีละ 109.3 ล้านคน (ข้อมูลปี 2015) ถือเป็นสายการบินอันดับ 4 ของโลกในแง่จำนวนผู้โดยสาร เป็นรองแค่สายการบิน Big Three ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และถือเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชียด้วย ส่วนในแง่ฝูงบินมีจำนวนเครื่องบินมากกว่า 600 ลำ ถือว่าเยอะที่สุดในเอเชีย

China Southern ผ่านการควบรวมกับ China Northern ในปี 2003 และนอกจากนี้ยังมีหุ้นในสายการบินอื่นๆ เช่น Xiamen Airlines, Chongqing Airlines, Sichuan Airlines อีกจำนวนมาก

ในแง่คุณภาพของการให้บริการ China Southern เป็นสายการบินระดับ 4 ดาวจากการประเมินของ SkyTrax (ถือว่าระดับดีที่สุดในกลุ่ม Big Three แต่ยังเป็นรอง Hainan Airlines สายการบินเอกชนของจีนที่ได้ระดับ 5 ดาว) ส่วนในแง่ความร่วมมือกับสายการบินในต่างประเทศ China Southern เป็นสมาชิกของกลุ่ม SkyTeam เช่นเดียวกับ China Eastern

โปรแกรมสะสมไมล์ของ China Southern เรียกว่า Sky Pearl Club ไข่มุกแห่งท้องฟ้า ส่วนโลโก้เป็นรูปดอกงิ้วแดง (Kapok Flower)

china southern

กลุ่มทุนสายการบินอื่นๆ ในจีน

นอกจากสายการบินกลุ่ม Big Three ที่เป็นรัฐวิสาหกิจจีนแล้ว ในจีนยังมีสายการบินเอกชนรายอื่นๆ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะสายการบินระดับท้องถิ่นที่นับจำนวนกันคงไม่ไหว

สายการบินเอกชนรายใหญ่ที่ควรค่าแก่การพูดถึงคือ Hainan Airlines Group จากเกาะไหหลำทางตอนใต้ของจีน ที่ไล่ซื้อกิจการสายการบินอื่นๆ จนผงาดขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับ 4 ของจีนแล้ว (แต่ในแง่จำนวนผู้โดยสารก็ยังตามหลังกลุ่ม Big Three มาห่างๆ) เมื่อมีโอกาสแล้ว 2Baht จะนำเสนอข้อมูลของสายการบินกลุ่มนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง

สายการบินอีกแห่งที่ต้องพูดถึงเพราะคนเข้าใจผิดกันเยอะคือ China Airlines ซึ่งมีคำว่า “China” อยู่ในชื่อด้วยเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นสายการบินจากไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน หรือ Republic of China) นั่นเอง