พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน ทำไมถึงทำตัวแย่ สร้างความวุ่นวายไปทั่วโลก

นักท่องเที่ยวจีน ภาพโดย Axel Drainville / Flickr / Creative Commons
นักท่องเที่ยวจีน ภาพโดย Axel Drainville / Flickr / Creative Commons

ปัญหาเรื่องพฤติกรรมแย่ๆ ของนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเป็นข่าวใหญ่ในเมืองไทยอีกครั้ง (และคงมีครั้งหน้าอีกเรื่อยๆ) จากกรณีการตักกุ้งในบุฟเฟต์

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่ความ “เยอะ” ของนักท่องเที่ยวจีนนั้นสร้างปัญหาไปทั่วโลก (จนรัฐบาลจีนต้อง blacklist นักท่องเที่ยวบางรายด้วยซ้ำ)

คนไทยอาจคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวจีนบุกไปถ่ายรูปตามจุดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เมืองไทย เพราะมหาวิทยาลัย Ewha University ในเกาหลีใต้ก็เจอปัญหานักท่องเที่ยวจีนบุกถล่ม ทั้งไล่เดินถ่ายรูป และเข้าไปรบกวนนักศึกษาในห้องสมุด จนสุดท้ายทางมหาวิทยาลัยต้องแปะป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้าในบางพื้นที่ โดยต้องมีป้ายทั้งภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนด้วย

Ami Li นักเขียนของหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ในฮ่องกง พยายามหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดคนจีนถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ เธอจึงสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญในวงการท่องเที่ยวหลายราย และได้คำตอบว่า

“คนจีนไม่ได้ตั้งใจทำตัวให้แย่ผิดปกติ แต่ทำตัวตามปกติ”

https://www.youtube.com/watch?v=8YE3irZMtO8

คลิปตักกุ้งในตำนาน ตอนนี้เป็นไวรัลไปทั่วโลกแล้ว ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทย

อยู่เมืองจีนอย่างไร ออกไปไหนก็ทำตัวแบบเดิม

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ได้มีพฤติกรรมเลวร้ายไปซะทุกคน และอัตราความน่ารักมักแปรผันตามระดับการศึกษาของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ถ้าคนไหนมีการศึกษาดีหน่อย ก็มีโอกาสสูงที่จะประพฤติตัวดีในระดับสากล

ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่มีปัญหาเยอะๆ มักเป็นคนจีนที่มีอายุหน่อย เพราะอาจไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอในช่วงที่จีนมีปัญหาการเมือง คนกลุ่มนี้มักพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย และอาจไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเมืองที่มาเที่ยวเลยด้วยซ้ำ

การออกเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศยังถือเป็นเรื่องใหม่ของคนจีน หลังจากคนชั้นกลางจีนเริ่มมีฐานะดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนยังนิยมเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นกลุ่มใหญ่ (แบบที่เราเห็นทัวร์จีนต้องใส่หมวก ไกด์ถือธงนำ) เอื้อให้ทำตัวตามสบายเพราะไปกับคนคุ้นเคย และส่งเสียงดังรบกวนคนอื่น

คนจีนพาลูกไป "อึ" หน้าร้าน Burberry ในอังกฤษ (ภาพจาก Shanghaiist)
คนจีนพาลูกไป “อึ” หน้าร้าน Burberry ในอังกฤษ (ภาพจาก Shanghaiist)

วัฒนธรรมจีน ไม่เคารพกฎระเบียบอยู่แล้ว

มิหนำซ้ำ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักทำเป็นไม่รู้เรื่อง ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งมีกฎระเบียบและประเพณีของท้องถิ่น และมองว่าตัวเองสามารถทำอะไรก็ได้ขอเพียงแค่มีเงินจ่าย (แต่ดันไม่ชอบให้ทิป เพราะวัฒนธรรมจีนไม่ให้ทิป แต่บางประเทศซีเรียสกับเรื่องนี้) จุดที่แย่คือเราไม่สามารถใช้เหตุผลใดๆ คุยกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เลย

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนยังนิยมซื้อสินค้าหรูหราเพื่อนำมาโชว์กัน มากกว่าจะไปเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือเข้าชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ (อันนี้คนไทยก็เป็น) นักท่องเที่ยวบางรายยังไปไกลถึงขั้นไม่ได้สนใจอะไรมาก ขอแค่เป็นแบรนด์เนมชื่อดังก็พอ สินค้าจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องนึง

สาเหตุที่คนจีนทำตัวแบบนี้ อาจเป็นเพราะในจีนเองก็ไม่ได้มีธรรมเนียมการเคารพกฎระเบียบและกฎหมายสักเท่าไร คนที่ละเมิดกฎมักไม่ถูกลงโทษ ทุกคนจึงต้องพยายามเอาตัวรอดและปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง

เมื่อรวมสาเหตุหลายๆ ข้อเข้าด้วยกัน (ไม่รู้จักโลกนอกประเทศจีน + ไม่ศึกษาธรรมเนียมปฏิบัติท้องถิ่น + ไม่เคารพกฎระเบียบ + เอาแต่ใจตัวเอง) พฤติกรรมที่แสดงออกจึงดูหยาบคายอย่างที่เราเห็นๆ กัน

ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีน

ปัญหาของนักท่องเที่ยวจีน ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่โลกเจอปัญหานี้ เพราะในอดีต สมัยที่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและญี่ปุ่นเริ่มบุกตลาดโลก ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพฤติกรรมเอาแต่ใจ ไม่สนใจใครในท้องถิ่นเช่นกัน ภายหลังนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและญี่ปุ่นก็ปรับตัวให้เข้ากับสถานที่และชุมชนท้องถิ่นได้มากขึ้น ต้องรอดูว่านักท่องเที่ยวจีนจะสามารถปรับตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน

นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมตะวันตก เข้าใจความเป็นสากล มักเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน (หรือไปไหนมาไหนคนเดียว) ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมที่ดีกว่า และน่าจะช่วยชดเชยพฤติกรรมแย่ๆ ของนักท่องเที่ยวจีนในปัจจุบันได้บ้าง

ย้อนดูตัวเราเองบ้าง ต้องยอมรับกันว่า นักท่องเที่ยวไทยก็ใช่ย่อยในเรื่องความ “เยอะ” และคงมีคนชาติอื่นๆ ไม่พอใจนักท่องเที่ยวไทยเช่นกัน ดังนั้นช่วยกันคนละไม้ละมือเวลาไปเมืองนอกดีกว่า เพื่อชื่อเสียงของประเทศไทยในอนาคตต่อไป

ข้อมูลจาก SCMP, Quora, Internships China