เที่ยวต่างประเทศ ดื่มน้ำประปาจากก๊อก ปลอดภัยแค่ไหน?

คนไทยเราคุ้นเคยกับการดื่มน้ำเปล่าจากขวด ที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว แต่เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกหรือประเทศพัฒนาแล้ว ที่ว่ากันว่า “น้ำประปาดื่มได้” ก็อาจตะขิดตะขวงใจเล็กน้อย เพราะไม่ชัวร์ว่าดื่มได้จริงแค่ไหน

แต่จะให้ไปซื้อน้ำขวดตลอดเวลา ก็เจอปัญหาน้ำราคาแพงระยับอีกเช่นกัน คำถามคือนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างเราๆ จะเลือกดื่มน้ำกันอย่างไรดี ปัญหาข้อนี้เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องพบเจอ

Photo from Pixabay
Photo from Pixabay

โชคดีว่า ศูนย์ควบคุมโรคระบาด Centers for Disease Control and Preventation (CDC) หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูง ก็รวบรวมข้อมูลเรื่องการดื่มน้ำก๊อก (Tap Water) ของทุกประเทศทั่วโลก มาให้คำตอบกับนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันอยู่แล้ว

แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็เปิดเผย และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย และมีคนทำภาพกราฟิก (infographic) รวมไว้ให้แบบดูง่ายๆ เรียบร้อยแล้ว

ทวีปเอเชีย

ประเทศในเอเชียที่น้ำก๊อกปลอดภัยและสะอาดพอ มีเพียง 6 แห่งคือ บรูไน ฮ่องกง อิสราเอล ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้

ส่วนคนที่จะไปเที่ยวจีน อินเดีย หรือประเทศในแถบอาเซียนเอง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งมาเลเซียหรือประเทศไทยเอง น้ำประปาก็มีความเสี่ยงว่าไม่สะอาดพอที่จะการันตีการดื่มได้ทุกครั้งไป

รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในเอเชีย (Asia safety tap water)
รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในเอเชีย

ทวีปยุโรป

เนื่องจากยุโรปมีประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมากมาย หลักการจำแบบง่ายๆ คือ “ยุโรปตะวันตก” ที่เป็นชาติพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ น้ำก๊อกดื่มได้หมด ส่วนยุโรปตะวันออกทั้งหลาย ยกเว้น กรีซ เพียงประเทศเดียว ก็อย่าเสี่ยงเลยจะดีกว่า

รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในยุโรป (Europe safety tap water)
รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในยุโรป

ประเทศที่น้ำประปาดื่มได้: อันดอร์รา, ออสเตรีย, เบลเยียม, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลิคเคนสไตน์, ลักเซมเบิร์ก, มอลตา, โมนาโค, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, โปแลนด์, โปรตุเกส, ซานมารีโน, สโลวีเนีย, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร (อังกฤษ/สกอตแลนด์/ไอร์แลนด์เหนือ/เวลส์), นครรัฐวาติกัน

ทวีปอเมริกาเหนือ-กลาง

อันนี้จำง่ายคือดื่มได้เฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเกาะกรีนแลนด์ เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ตั้งแต่เม็กซิโกลงไป กินน้ำขวดปลอดภัยกว่า

รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในอเมริกาเหนือ (North America safety tap water)
รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในอเมริกาเหนือ

ทวีปออสเตรเลีย-เขตโอเชียเนีย

ในซีกโลกใต้ เขตประเทศเกาะแถบโอเชียเนีย ประเทศที่น้ำประปาสะอาดปลอดภัยคือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เท่านั้น ส่วนประเทศหมู่เกาะอื่นๆ ก็อยู่ในขั้นไม่ปลอดภัยเช่นกัน

รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในออสเตรเลีย-โอเชียเนีย (Australia safety tap water)
รายชื่อประเทศน้ำประปาดื่มได้ ในออสเตรเลีย-โอเชียเนีย

ทวีปอเมริกาใต้-แอฟริกา

สำหรับคนที่จะไปสองทวีปนี้ ต้องบอกเลยว่าไม่มีประเทศไหนเลยที่น้ำประปาเข้าขั้นปลอดภัยดื่มได้ ดังนั้นต้องดื่มน้ำสะอาดจากขวดที่ปิดฝาสนิทแล้วเท่านั้น

เทคนิคการดื่มน้ำอย่างปลอดภัย เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ

2Baht.com ขอแนะนำเทคนิคเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อการดื่มน้ำสะอาดและปลอดภัย เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศดังนี้

  • พกขวดเปล่าติดกระเป๋าไว้ตลอดเวลา ควรเลือกขวดที่พลาสติกค่อนข้างแข็งแรง ทนทาน ฝาปิดสนิท
  • ห้องพักในโรงแรมมักมีกาต้มน้ำสำหรับชงกาแฟอยู่แล้ว สามารถนำน้ำก๊อกมาต้มให้เดือดอย่างน้อยสัก 1 นาที แล้วทิ้งไว้ให้เย็น เพื่อบรรจุลงขวดเปล่าที่เราเตรียมไป สำหรับใช้ดื่มในวันถัดไปได้ด้วย
  • ถ้าไปเดินเขาเดินป่า ที่ต้องผจญภัยหน่อยและหาน้ำดื่มยาก อาจพกอุปกรณ์ฟิลเตอร์กรองน้ำติดตัวไปเที่ยวด้วย โดยเลือกฟิลเตอร์ที่กรองได้ละเอียดระดับ 1 ไมครอน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแข็งในประเทศที่ยังไม่พัฒนา เพราะน้ำแข็งมักทำจากน้ำก๊อกที่ไม่สามารถการันตีได้ว่าสะอาดแค่ไหน
  • นอกจากการดื่มน้ำลงไปในคอแล้ว ควรระวังเรื่องน้ำก๊อกที่ใช้แปรงฟันด้วย ถ้าไม่ไว้ใจจริงๆ ควรแปรงฟันโดยใช้น้ำขวดแทน
  • ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกเรื่องน้ำดื่ม (เช่น ไม่มีน้ำเปล่าบรรจุขวดขายในพื้นที่นั้น) อาจใช้วิธีเลือกดื่มน้ำอัดลม หรือซอฟต์ดริงค์ แก้ขัดไปก่อนได้
  • อย่างไรก็ตาม น้ำอัดลมที่กดใส่แก้วเอาจากตู้กด (ไม่ได้บรรจุขวดหรือกระป๋อง) หรือที่เรียกว่า fountain drink มีความเสี่ยงว่าจะใช้น้ำประปาผสมกับหัวเชื้อน้ำหวาน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

ข้อมูลจาก CDC, ภาพกราฟิกจาก NeoMan Studios