ปัญหาสำคัญการบินไทย: การรุกเข้ามาของสายการบินจากตะวันออกกลาง

Qatar Airways หนึ่งในสายการบินจากตะวันออกกลางที่กำลังมาแรง
Qatar Airways หนึ่งในสายการบินจากตะวันออกกลางที่กำลังมาแรง

สายการบินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เคยขึ้นชื่อเรื่องการบริการชั้นเลิศสำหรับสายการบินแบบฟูลเซอร์วิส (full-service) ไม่ว่าจะเป็นการบินไทย (Thai Airways) หรือสิงคโปร์แอร์ไลนส์ (Singapore Airlines) กำลังเจอภัยคุกคามจากสองทาง และส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ภัยคุกคามทางหนึ่งที่เห็นชัดเจนกันมานานแล้วคือ สายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost airlines) ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินระยะสั้น และบีบให้ค่าตั๋วโดยสารต้องลดลงจากเดิมมาก ซึ่งทางออกของสายการบินดั้งเดิมคือการตั้งสายการบินโลว์คอสต์ของตัวเองมาแข่ง

แต่ภัยคุกคามอีกด้านที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ คือการบุกเข้ามาของสายการบินจากตะวันออกกลาง (ที่มักเรียกรวมๆ ว่า gulf carriers เช่น Emirates, Etihad, Qatar) เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินระยะไกล โดยเฉพาะจากเอเชียไปยังยุโรป

สายการบินตะวันออกกลาง อาศัยความเหนือกว่าด้านภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างกลางของทวีปเอเชียและยุโรปพอดี แย่งความเป็นฮับการบินมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อบวกกับความสามารถในการแข่งขันด้านบริการ และกำลังเงินที่เหนือกว่า ทำให้สามารถซื้อเครื่องบินและเทคโนโลยีในการให้บริการที่ดีกว่าได้

ปัญหาของการบินไทย อาจไม่ใช่แค่ปัญหาภายใน แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกด้วย
ปัญหาของการบินไทย อาจไม่ใช่แค่ปัญหาภายใน แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกด้วย

ในอดีต เที่ยวบินจากยุโรปหรือตะวันออกกลางไปยังเอเชียตะวันออกไกล ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย จำเป็นต้องหยุดแวะพักที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ กัวลาลัมเปอร์ หรือสิงคโปร์ ด้วยเหตุผลด้านระยะทางและสภาพภูมิศาสตร์ ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น “ฮับการบิน” ของภูมิภาค และช่วยส่งเสริมธุรกิจของสายการบินในภูมิภาคนี้

แต่เมื่อเทคโนโลยีการบินพัฒนาขึ้น เครื่องบินได้ไกลขึ้น และการเติบโตของสายการบินตะวันออกกลาง ส่งผลให้เส้นทางบินจาก “ฮับ” ในตะวันออกกลาง สามารถบินตรงไปยังประเทศปลายทางโดยไม่ต้องแวะพักเลย (นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของการบินไทย ใช้คำว่า “บินข้ามหัวเราไป”)

นอกจากนี้ สายการบินจากตะวันออกกลางที่แวะพักที่เมืองไทย ยังใช้วิธีขายตั๋วระหว่างกรุงเทพไปยังปลายทางในราคาถูกได้ด้วย เช่น เส้นทางบินจากคูเวตมากรุงเทพ และบินต่อไปมะนิลา สามารถขายตั๋วจากคูเวตมากรุงเทพ และคูเวตไปมะนิลาด้วยราคาปกติ แต่ลดราคาตั๋วจากกรุงเทพไปมะนิลา เพื่อโกยรายได้จากเก้าอี้ว่างได้ ผลของการลดราคาลักษณะนี้ ทำให้การบินไทยแข่งขันเรื่องราคาได้ยากในเส้นทางจากกรุงเทพไปมะนิลาเช่นเดียวกัน

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สายการบินตะวันออกกลาง ชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดย Emirates สามารถครองส่วนแบ่งผู้โดยสารจากยุโรป-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 13% แล้ว ส่วน Qatar มีส่วนแบ่ง 9% และ Etihad 6% (Emirates เผยผลประกอบการครึ่งปี 2015 กำไรพุ่ง 65% จากราคาน้ำมันที่ลดลง)

สายการบินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยเป็นเจ้าตลาดนี้จึงระส่ำอย่างหนัก ส่วนของการบินไทยนั้นเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และมีปัญหาด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม แต่สิงคโปร์แอร์ไลนส์ที่แข็งแกร่งกว่ามาก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่ง 2Baht.com เคยรายงานข่าวไปแล้วว่า สิงคโปร์แอร์ไลนส์จำเป็นต้องจับมือกับลุฟต์ฮันซ่า (Lufthansa) จากเยอรมนี เพื่อปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ รวมถึงต้องหันไปเปิดเส้นทางบินตรงไปสหรัฐอีกครั้ง หลังรายได้จากเส้นทางบินไปยุโรปลดลงมาก

ข้อมูลจาก Gulf Times