รวม 10 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยและไม่ควรทำในเว็บไซต์โรงแรม-รีสอร์ท

ภาพประกอบจาก Hotel Master
ภาพประกอบจาก Hotel Master

Vikram Singh ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวบรวมปัญหาที่พบบ่อย 10 ข้อ ที่เจ้าของโรงแรมมักละเลยในการออกแบบเว็บไซต์ของโรงแรม จนส่งผลให้พลาดโอกาสทางธุรกิจ สูญเสียลูกค้าไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

1) ไม่ใส่ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์

คนจำนวนมากเข้ามายังเว็บไซต์ของโรงแรม เพื่อหาข้อมูลที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ใช้บ่อยๆ อย่างเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของโรงแรม แต่โรงแรมมักไม่สนใจเรื่องนี้ และกลับอยากนำเสนอรูปภาพอันแสนสวยของโรงแรมแทน

เราต้องจำไว้ว่าปัจจุบัน คนเข้าเว็บจากมือถือกันเยอะ ข้อมูลเหล่านี้ต้องหาง่าย มองเห็นได้ทันที ซึ่งเว็บไซต์ควรใส่ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์และสถานที่ตั้งของโรงแรมไว้บนหัวของเว็บไซต์ ในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย

daysinn
ตัวอย่างการแสดงที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์บนหัวของเว็บโรงแรม

2) ใช้สโลแกนที่ดูดีแต่อ่านไม่รู้เรื่อง

โรงแรมมักพยายามสร้างความเท่โดยการใส่สโลแกนหรือ tagline ที่ดูหล่อๆ อย่าง “โรงแรมที่โดดเด่นและชนะรางวัลมากมาย” ซึ่งเป็นวลีทางการตลาดที่ดูลอยๆ และไม่เกิดประโยชน์อันใด

เว็บไซต์ของโรงแรมควรทำหน้าที่ไม่กี่อย่าง นั่นคือ บอกว่าเราคือใคร เราทำอะไร และเราอยู่ที่ไหน เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลสำคัญเหล่านี้ได้เร็วที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาไปถอดรหัสคำพูดสวยหรูว่าหมายถึงอะไรกันแน่

3) ใส่เพลงในโฮมเพจ

ความผิดพลาดที่พบได้บ่อยคือ โรงแรมพยายามสร้างบรรยากาศโดยการใส่เพลง (หรือขั้นกว่าคือใส่วิดีโอ) ที่เล่นอัตโนมัติบนหน้าแรกของเว็บไซต์ เรื่องนี้ไม่เกิดประโยชน์อันใดกับลูกค้า (แถมยังสร้างความรำคาญด้วยซ้ำ) นอกจากนี้ยังเปลืองเวลาโหลดข้อมูลด้วย

สิ่งที่โรงแรมไทยยังทำกันเยอะคือใส่เพลงไว้บนเว็บ แล้วเปิด autoplay
สิ่งที่โรงแรมไทยยังทำกันเยอะคือใส่เพลงไว้บนเว็บ แล้วเปิด autoplay

4) ใส่ใจกับโซเชียลเน็ตเวิร์คมากเกินไป

กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่าเว็บไซต์ต้องฝังไอคอนที่ชี้ไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์คของเรา ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, YouTube แต่คำถามคือลูกค้าที่เข้าเว็บ คลิกลิงก์เพื่อไปดูโซเชียลของเราแล้วมักไม่กลับมาเข้าหน้าเว็บเดิมอีก

เราควรพึงระลึกว่า โซเชียลมีไว้สร้างทราฟฟิกให้คนเข้าเว็บ ไม่ใช่ให้คนเข้าเว็บแล้วออกไปยังโซเชียล

5) ฝังวิดีโอจาก YouTube ผิดวิธี

เว็บไซต์รุ่นใหม่ๆ มักมีวิดีโอแนะนำข้อมูลของโรงแรม เพื่อให้ว่าที่ลูกค้ารับทราบบรรยากาศว่าภายในโรงแรมเป็นอย่างไร

คนทั่วไปเกือบ 100% มักฝากวิดีโอนี้ไว้บน YouTube แล้วนำมาฝังไว้บนเว็บไซต์อีกที แต่มักพลาด ลืมไปว่าวิดีโอบน YouTube เมื่อดูจบแล้วจะมี “วิดีโอที่เกี่ยวข้อง” ติดมาด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์เสียสมาธิไปสนใจวิดีโออย่างอื่นแทน

ดังนั้นเมื่อเรานำวิดีโอจาก YouTube มาฝัง ต้องเอาตัวเลือก “show suggested videos when the video finishes” ออกด้วย เพื่อให้ผู้ชมสนใจแต่วิดีโอของเราเท่านั้น

youtube embed
เอาตัวเลือก Show suggested videos ออกก่อนฝังโค้ด

6) รูปไม่สวย

ยุคนี้รูปสวยมีชัยไปกว่าครึ่ง เราควรลงทุนจ้างช่างถ่ายรูปฝีมือดี ถ่ายภาพบรรยากาศต่างๆ ของโรงแรมในฤดูหรือช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เก็บไว้ใช้งานในโอกาสต่างๆ

อีกเรื่องที่ไม่ควรทำคือซื้อภาพ stock photo มาใช้งาน เพราะโรงแรมอีกหลายแห่งก็เลือกวิธีนี้ ผลคือโรงแรมจำนวนมากมีรูปซ้ำๆ กันไปหมด จนดูไม่มีอะไรแตกต่าง แถมยิ่งดูแย่ในสายตาคนที่ดูออกด้วยซ้ำ

ภาพเบี้ยวผิดสัดส่วน เป็นสิ่งที่โรงแรมไม่ควรทำ
ภาพเบี้ยวผิดสัดส่วน เป็นสิ่งที่โรงแรมไม่ควรทำ

7) ลงเนื้อหาจาก Press Release ทั้งดุ้น

สำหรับโรงแรมที่ใหญ่หน่อย เวลาแถลงข่าวอะไรก็ตาม บริษัท PR ที่จ้างมาจะเขียนเอกสารประชาสัมพันธ์ให้สื่อ (press release) ที่ดูแข็งๆ ใช้คำสวยหรูแต่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง และโรงแรมก็มักง่าย เอาเนื้อหาจาก press release ไปลงเว็บทั้งดุ้น

โรงแรมควรลงทุนกับการเขียนเนื้อหาที่เป็นภาษามนุษย์จริงๆ เพราะกลุ่มเป้าหมายของเราคือแขกทั่วไปที่ไม่สนใจอะไรเรื่องสื่อ สนใจแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จริงๆ เท่านั้น คนเหล่านี้ไม่อยากรู้หรอกว่าเราร่วมทุนกับใคร หรือมีลูกค้ามากเท่าไร แต่ควรแยกข่าวอัพเดตอย่าง เมนูอาหารใหม่ การปรับปรุงห้องใหม่ ไว้ในส่วนของ Blog ที่สื่อสารกับลูกค้าโดยตรง

8) นำเอกสาร PDF มาฝังไว้บนเว็บให้ดาวน์โหลด

ข้อมูลบางอย่างของโรงแรม เช่น เอกสารประชาสัมพันธ์ เมนูอาหาร ข้อมูลเกี่ยวกับบริการสปา มักถูกสร้างขึ้นเป็นไฟล์ PDF เพื่อพิมพ์ลงกระดาษ และโรงแรมก็มักง่าย เอาไฟล์ PDF เดียวกันมาลงไว้ในเว็บให้ลูกค้าโหลดไปอ่านกันเอง

เรื่องนี้ไม่ควรทำ เพราะเอกสาร PDF ดูยากเมื่อเปิดจากสมาร์ทโฟน แถมค้นหาจาก Google ได้ยาก สิ่งที่โรงแรมควรทำคือแปลงเนื้อหาใน PDF ให้เป็นเว็บเพจ HTML ธรรมดาๆ ดูง่ายและติดอันดับ Google ได้ง่ายกว่ามาก เสียเวลาอีกนิดเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

โรงแรมหลายแห่งในบ้านเรา ยังใช้ท่า "เมนูอาหาร.pdf" กันอยู่
โรงแรมหลายแห่งในบ้านเรา ยังใช้ท่า “เมนูอาหาร.pdf” กันอยู่

9) ปุ่ม Book Now ที่ดูซ้ำซ้อน

เว็บไซต์โรงแรมเกือบทุกแห่ง พยายามเรียกร้องความสนใจให้คนจองผ่านปุ่ม Book Now (หรือภาษาไทยมักใช้คำว่า “จองทันที” “จองเดี๋ยวนี้”) ซึ่งพอทุกคนทำแบบนี้กันหมด ปุ่ม Book Now ก็ดูซ้ำๆ ซากๆ และไม่มีความหมายในสายตาของคนเข้าเว็บ

สิ่งที่ควรทำคือสร้างความแตกต่างให้กับวิธีการติดต่อมายังโรงแรม เช่น เพิ่มฟอร์มสำหรับติดต่อกลับ (ที่อย่าขอข้อมูลของผู้ใช้มากจนเกินไป) เป็นต้น

10) ระบบจองห้องพักใช้ยาก

เว็บไซต์โรงแรมยุคใหม่ต้องมี “ระบบจอง” (booking engine) ที่โรงแรมไปเช่าใช้บริการของบริษัทอื่นมาอีกที เราควรเลือกระบบจองห้องพักที่ทันสมัย ใช้งานง่าย เพราะมันถือเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของเรา (ผู้บริโภคไม่สนใจว่าเราใช้ของเจ้าไหน สนใจแค่ว่าใช้ง่ายหรือเปล่า) ดังนั้นถ้าระบบจองห้องของเราเก่าคร่ำครึ ก็ควรอัพเกรดได้แล้ว

เพิ่มเติม: เว็บไซต์โรงแรมทำด้วย Flash

นอกจากนี้ ทาง 2Baht.com ยังขอเสนอเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเว็บเบราว์เซอร์ส่วนใหญ่เริ่มไม่รองรับ Flash แล้ว และการดูจากเบราว์เซอร์บนสมาร์ทโฟนนี่ยังไงก็ไม่รองรับ Flash แน่นอน แต่โรงแรมหลายแห่งในบ้านเรายังทำเว็บด้วย Flash กันอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นว่าลูกค้าไม่สามารถดูเว็บได้ง่ายนักจากสมาร์ทโฟน (หรือในบางกรณีคือดูไม่ได้เลย) โรงแรมไหนที่ทำแบบนี้ควรรีบปรับปรุงเว็บไซต์ของตัวเองโดยเร็ว มิฉะนั้นจะพลาดโอกาสสำคัญไปอีกมาก

เว็บไซต์โรงแรมแห่งหนึ่งในไทยที่หน้าแรกยังเป็น Flash ล้วน
เว็บไซต์โรงแรมแห่งหนึ่งในไทยที่หน้าแรกยังเป็น Flash ล้วน

ข้อมูลจาก Vikram Singh