ในยุคที่สายการบินแข่งขันด้านราคามากขึ้นเรื่อยๆ กฎระเบียบการพกพากระเป๋าเดินทางก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะสายการบินโลวคอสต์ที่ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง ผู้โดยสารอาจถูกชาร์จเพิ่มถ้าต้องโหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่อง บางครั้งการจัดสัมภาระให้ลงตัวในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง (carry-on) จึงอาจเหมาะสมกว่า ทั้งในแง่ความคล่องตัวและค่าใช้จ่าย
ทีมงาน 2Baht ทำงานด้านไอที จึงจำเป็นต้องพกโน้ตบุ๊กติดตัวอยู่เสมอ เมื่อรวมกับแบตเตอรี่ สายชาร์จ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็หนักร่วม 2-3 กิโลกรัมได้ จากที่เคยแบกเป้ ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนมาใช้กระเป๋าล้อลากแบบหิ้วขึ้นเครื่องกันแทน นอกจากเรื่องสุขภาพของหลังแล้ว ยังเอาของจุกจิกแบบเสื้อกันหนาว เสื้อสำรองยามกระเป๋าหาย และอุปกรณ์ส่วนตัวเล็กน้อยขึ้นเครื่องได้มากขึ้น
หลังจากผ่านมาหลายทริป มีโอกาสเปลี่ยนกระเป๋ามาหลายใบ พวกเราเลยอยากแชร์ประสบการณ์การเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางล้อลากสำหรับขึ้นเครื่องมาฝากกันค่ะ ปัจจัยที่ควรพิจารณามีด้วยกันหลายข้อดังนี้
1. ‘ขนาด’ เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง
ขนาดของกระเป๋าเดินทางที่อนุญาตให้ถือขึ้นเครื่อง ขึ้นกับกฎของสายการบินแต่ละแห่ง แต่ละสายการบินกำหนดขนาดกระเป๋าไม่เท่ากัน และมีความเข้มงวดของการตรวจขนาดกระเป๋าแตกต่างกัน (โลว์คอสต์มักจะเข้มงวดหน่อย) ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากกระเป๋า carry-on ของเราใหญ่เกินขนาดที่สายการบินกำหนด เราอาจต้องโหลดกระเป๋าใบนั้นแทน มิฉะนั้นจะไม่ได้ขึ้นเครื่อง เสียทั้งเงินและเวลา ดังนั้นควรเตรียมตัวเรื่องนี้ให้พร้อม
ทางที่ดีหากจะซื้อกระเป๋าใบใหม่ เราขอแนะนำให้พกสายวัดไปด้วย และอย่าลืมวัดให้ถึงตรงส่วนล้อด้วยนะคะ เพราะในใบสเปกกระเป๋าเดินทางอาจวัดเฉพาะตัวกระเป๋า แต่เวลาเดินทางจริง สายการบินอาจให้ทดสอบใส่กระเป๋าเข้ากรอบเหล็กสี่เหลี่ยม ซึ่งถ้ารวมล้อแล้วขนาดอาจเกินได้ วัดด้วยตัวเองชัวร์กว่า
เพื่อให้เหมาะกับผู้อ่านที่อยู่ในเมืองไทย เราก็รวบรวมขนาดสัมภาระขึ้นเครื่องของสายการบินโลว์คอสต์ยอดนิยมมาให้ด้วยเลย (ข้อมูล ณ 20 ม.ค. 59)
- AirAsia – ขนาดไม่เกิน 56 x 36 x 23 ซม.
- Nok Air – ขนาดไม่เกิน 56 x 36 x 23 ซม.
- Thai Smiles – ขนาดไม่เกิน 56 x 45 x 25 ซม.
- Thai Lion Air – ขนาดไม่เกิน 40 x 30 x 20 ซม.
จะเห็นว่าแค่สายการบินในไทยก็มีขนาดกระเป๋าแตกต่างกันอย่างมากแล้ว Thai Smiles ใจดีที่สุด ส่วน Thai Lion Air ให้ขนาดกระเป๋าเล็กที่สุดเลย
2. ‘น้ำหนัก’ ยิ่งเบายิ่งดี จุของได้เยอะขึ้น
เดี๋ยวนี้หลายสายการบินไม่ได้จำกัดแค่ “ขนาด” กระเป๋าเพียงอย่างเดียว แต่ยังจำกัด “น้ำหนัก” ของกระเป๋าที่หิ้วขึ้นเครื่องด้วย (มีเครื่องชั่งพร้อมสรรพ) สายการบินส่วนใหญ่อนุญาตให้ถือสัมภาระขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 7 กิโลกรัม ซึ่งลำพังแค่น้ำหนักของตัวกระเป๋าก็อาจกินไปเยอะแล้ว
ในยุคสมัยนี้ กระเป๋ารุ่นใหม่ๆ ใช้วัสดุสังเคราะห์แบบใหม่ การออกแบบแนวใหม่ที่ช่วยให้น้ำหนักของตัวกระเป๋าเบาขึ้นมาก กระเป๋าพวกนี้มักลงท้ายชื่อรุ่นว่า Lite ตรงนี้เราสามารถตรวจสอบสเปกได้ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละแบรนด์ เพราะมีข้อมูลน้ำหนักให้พร้อมเลย
ตัวอย่างกระเป๋าสุดเบา ได้แก่ กระเป๋าแบรนด์ IT Luggage ที่เคลมว่าเป็นกระเป๋าที่เบาที่สุดในโลก รุ่น Word’s Lightest หนักเพียง 1.5 กก. หรือ Samsonite รุ่น 72H Spinner หนัก 1.8 กก. กระเป๋าพวกนี้เผลอๆ เบากว่า Notebook บางรุ่นด้วยซ้ำ (แนะนำให้หาโอกาสไปลองยกของจริงดูแล้วจะตกใจ)
![IT Luggage รุ่น World's Lightest - ภาพจาก IT Luggage](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/IT-Luggage-22-1045-01-Black-19in-236x438.jpg)
หลายคนอาจสงสัยว่ากระเป๋าที่เบาขนาดนี้จะทนทานแค่ไหน ส่วนมากกระเป๋าแบรนด์ดังๆ มักมาตรฐานการผลิตที่ดีอยู่แล้ว และทดสอบจริงจังว่ากระเป๋าไม่พังแน่ๆ อย่างแบรนด์ Samsonite ด้านล่างนี้ค่ะ
3. ‘ล้อลาก’ เลือกแบบไหนดี 2 หรือ 4 ล้อ
กระเป๋ายุคนี้มักมี “ล้อ” เพื่อให้เราสามารถลากกระเป๋าไปบนสนามบินอันกว้างใหญ่ได้ โดยไม่ต้องแบกของกันหลังแอ่นก่อนวัยอันควร
ถ้าแยกประเภทกระเป๋าตามจำนวนล้อ สามารถแยกได้คร่าวๆ ดังนี้
- กระเป๋าหิ้ว แบบไม่มีล้อ เหมาะกับคนของน้อย น้ำหนักเบา แต่ปัจจุบันอาจหาคนใช้กระเป๋าแบบนี้ได้น้อยลง
- กระเป๋าล้อลากแบบ 2 ล้อ เหมาะแก่การลากแบบเฉียง แต่อาจลากลำบากหน่อย เมื่อต้องเดินในที่คับแคบ ต้องหมุนกระเป๋าตามช่องทางที่มี เช่น การนำกระเป๋าขึ้นเครื่องที่ผู้โดยสารมักแออัดตามทางเดิน ข้อดีของกระเป๋าประเภทนี้คือวางบนพื้นแล้วไม่ไหลไปเอง โดยเฉพาะพื้นเอียง
- กระเป๋าล้อลากแบบ 4 ล้อ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะลากกระเป๋าง่ายกว่าแบบ 2 ล้อมาก ลื่นกว่า หมุนได้รอบทิศทาง เข็นจากด้านหลังได้ด้วย สะดวกต่อการเข็นในที่แคบอย่างทางเดินบนเครื่องบิน แต่ข้อเสียคือมีโอกาสไถลได้สูง ในบางสถานการณ์ เช่น ตอนขึ้นรถบัสจากเกตเพื่อขึ้นเครื่อง คนแน่นพื้นที่น้อย อาจต้องใช้ขาหนีบเอาค่ะ – -’
นอกจากนี้ กระเป๋าแบบ 4 ล้อ ยังมีล้อคู่แบบที่เรียกว่า “Double-wheels” หรือแต่ละมุม มีล้อ 2 ล้อ (ให้นึกภาพรถบรรทุก) ช่วยให้การลากกระเป๋าสะดวกสบายมากขึ้นไปอีก สำหรับกระเป๋าขนาดเล็กที่นำขึ้นเครื่องอาจจะยังไม่จำเป็นเท่าไหร่ แต่กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ควรมีเป็นอย่างยิ่งค่ะ
![ส่วนล้อกระเป๋า TUMI รุ่น Int'l Expandable Carry-On](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/TUMI-wheels.jpg)
4. ‘ช่องเก็บของภายใน’ ใครว่าไม่สำคัญ
เรื่องช่องเก็บของภายในกระเป๋า เป็นอีกเรื่องที่คนมักมองข้าม แต่จริงๆ ก็มีความสำคัญเพราะช่วยให้การจัดของเป็นระเบียบและการหยิบของสะดวกขึ้นมาก กระเป๋าเดินทางทั่วไปมักมีสายรัดสำหรับช่องขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันสัมภาระกระเด็นไปมาในกรณีของไม่เต็มกระเป๋า ส่วนที่ฝามักมีช่องซิปไว้ใส่ของจุกจิก หยิบง่ายฉวยสะดวก สุดท้ายคือช่องเก็บของที่ด้านหน้ากระเป๋า ที่ช่วยให้เราหยิบของบางอย่าง เช่น นิตยสาร เอกสาร ได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดซิปใหญ่ของกระเป๋าเลย
ตัวอย่างด้านล่างคือกระเป๋าแบรนด์ TUMI ซึ่งโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่น ตรงที่มีช่องเก็บของจำนวนมาก เป็นสัดเป็นส่วนดี
![ด้านในกระเป๋า TUMI รุ่น Int'l Expandable Carry-On - ภาพจาก TUMI](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/TUMI-inside.jpg)
นอกจากนี้ กระเป๋าบางรุ่นยังมีซิปสำหรับ “ขยายขนาดกระเป๋า” เพื่อให้เราสามารถเพิ่มพื้นที่บรรจุภายในได้อีกสักหน่อย ถ้ากระเป๋าไม่เต็มก็แล้วกันไป แต่ถ้ามีของเพิ่มเข้ามาแบบไม่คาดฝัน (เช่น มีของฝาก) ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้ในวันกลับ ตรงนี้ถือเป็นลูกเล่นเล็กๆ อีกประการหนึ่งที่อาจต้องพิจารณาด้วย
5. ‘วัสดุกระเป๋า’ เลือกให้เหมาะกับสภาพการใช้งาน
โดยทั่วไปแล้ว วัสดุของกระเป๋าแยกได้ 2 แบบกว้างๆ คือ แบบซอฟต์เคส (Soft Case) ส่วนใหญ่มักใช้ผ้าไนล่อน และแบบฮาร์ดเคส (Hard Case)
ความแตกต่างขึ้นกับการใช้งาน ความชอบและสภาพอากาศเลยค่ะ
- ซอฟต์เคส (Soft Case) มีข้อดีตรงความยืดหยุ่นของตัวกระเป๋า เวลากระแทกจะเป็นรอยได้ยากกว่า แถมกระเป๋าสมัยใหม่มักใช้ผ้าสังเคราะห์ที่ทนทาน น้ำหนักก็เบากว่า แต่อาจมีปัญหาเวลาลุยฝนหรือลุยหิมะ เพราะของข้างในอาจเปียกได้
- ฮาร์ดเคส (Hard Case) มักใช้วัสดุจำพวกโพลีพลาสติก ความยืดหยุ่นอาจน้อยกว่าแบบซอฟต์เคส เวลากระทบอะไรเยอะๆ (เช่น ไหลไปตามสายพาน) อาจมีรอยขีดข่วนได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะเวลาใช้ไปนานๆ ส่วนในแง่ความทนทานคงไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะวัสดุรุ่นใหม่ๆ ทนทานกว่าเดิม น้ำหนักเบาขึ้น แถมข้อดีของฮาร์ดเคสคือกันน้ำได้ดีกว่า และทำความสะอาดได้ง่ายกว่า
เงื่อนไขพิเศษ: ‘ตัวล็อคกระเป๋า’ สิ่งสำคัญถ้าต้องโหลดใต้ท้องเครื่อง
ถึงแม้บทความนี้จะเน้นไปที่กระเป๋าแบบถือขึ้นเครื่อง (carry-on) แต่เราเชื่อว่าอาจมีบางกรณีที่เราต้องนำกระเป๋าใบเดียวกันนี่ล่ะ โหลดใต้ท้องเครื่องแทน ตรงนี้ขอแนะนำว่าควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของสัมภาระในกระเป๋า โดยมีตัวล็อคกระเป๋าที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบบใช้รหัสที่ฝังมากับตัวกระเป๋า หรือซื้อแม่กุญแจมาล็อคซิปเพิ่มเอง
อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 สายการบินก็หันมาสนใจตรวจสอบสัมภาระในกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่องมากขึ้น โดยเฉพาะการบินเข้า-ออกสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นมีกฎว่าเจ้าหน้าที่สามารถปลดล็อคกระเป๋าได้ถ้าต้องสงสัย และถ้ามีล็อคก็สามารถทำลายระบบล็อคนั้นได้ (เจ้าของกระเป๋าบ่นอะไรไม่ได้ด้วย)
ทางออกของเจ้าของกระเป๋าคือซื้อกระเป๋าที่มีล็อคระบบ TSA (Transportation Security Agency) ระบบนี้เราสามารถล็อคกระเป๋าได้ตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่ TSA ของแต่ละสนามบินจะมีเครื่องมือปลดล็อคพิเศษ ที่สามารถไขล็อค TSA ได้โดยไม่ต้องทราบรหัสกระเป๋าของเรา ช่วยป้องกันไม่ให้กระเป๋าของเราเสียหายได้
![ตัวอย่างล็อคที่ผ่านมาตรฐาน TSA จะมีโลโก้สีแดงกำกับ (ภาพจาก Samsonite)](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/what-is-tsa.jpg)
แนะนำตัวอย่างกระเป๋าเดินทางที่น่าสนใจ
มาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วควรเลือกกระเป๋าแบบไหนดี? ทีมงาน 2baht.com จึงเลือกกระเป๋าเดินทางจาก King Power Online มานำเสนอพอให้เห็นภาพสัก 3 รุ่น โดยดูตามฟังก์ชันการใช้งาน งบประมาณ และความสวยงามกันค่ะ
1) TUMI Int’l Expandable Carry-On
![TUMI Int'l Expandable Carry-On](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/TUMI-567375-l1-283x438.jpg)
ขึ้นชื่อว่าแบรนด์ดังอย่าง TUMI ย่อมมั่นใจได้เรื่องวัสดุที่ทนทาน มีช่องเก็บของเยอะ กระเป๋าฮาร์ดเคสรุ่นนี้สามารถใส่โน้ตบุ๊กในช่องด้านหน้าได้ ส่วนช่องด้านในจะมีที่เก็บสูท กระเป๋าสามารถหมุน 360 องศา มี 4 ล้อ แบบ Double-Wheels แข็งแรงเป็นพิเศษ ใช้ตัวล็อคแบบ TSA และยังสามารถขยายความจุได้อีกด้วย
ขนาด H: 22 x W: 14 x D: 9 นิ้ว และเมื่อขยายจะมีความลึกถึง 11 นิ้ว
น้ำหนัก 8.3 ปอนด์
ราคา Shop Online ของ TUMI 595 USD / King Power Online 18,940 บาท
2) Samsonite 72H Spinner 55CM
![Samsonite 475509-L1](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/Samsonite-475509-L1-283x438.jpg)
แบรนด์กระเป๋า Samsonite น่าจะคุ้นหูกันดีที่สุดในบ้านเรา Samsonite ถือเป็นแบรนด์ราคาระดับกลางค่อนไปทางสูง ส่วนกระเป๋าที่คัดมาคือรุ่น 72H Spinner เป็นกระเป๋า Carry-on แบบซอฟต์เคส ตัวโครงสร้างทำจากไฟเบอร์กลาส มี 4 ล้อ ช่องเก็บของเป็นสัดส่วนพอสมควร
ขนาด 55 X 35.5 X 23 ซม.
น้ำหนัก 1.8 กก.
ราคา King Power Online 9,350 บาท
3) Kipling Teagan XS
![Kipling Teagan XS (Shop Online Kipling ราคา 109.9 Euro / King Power Online ราคา 3,880 บาท)](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/Kipling-613137-L1-283x438.jpg)
กระเป๋า Carry-on แบบ 2 ล้อ ที่ดีไซน์ดูเรียบง่ายตามสไตล์ Kipling เหมาะสำหรับสาวๆ ใส่ของจุกจิกไว้ติดตัวยามเดินทาง มีให้เลือกหลายสี อาทิ สีดำ สีเทา สีเดนิม (Dazz True Blue)
ขนาด 50.5 x 36.5 x 21 ซม.
น้ำหนัก 1.9 กก.
ราคา Shop Online ของ Kipling 109.9 Euro / King Power Online 3,880 บาท
คำแนะนำการซื้อกระเป๋าและสินค้าจาก King Power Online
ที่จริงยังมีกระเป๋าเดินทางรุ่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ และหลากหลายราคาตามแต่ความพึงพอใจ ผู้สนใจสามารถเข้าไปเลือกช้อปได้ที่ King Power Online (www.kingpoweronline.com/th/กระเป๋าเดินทาง) และเนื่องจากเป็นสินค้าปลอดภาษี ราคาจึงค่อนข้างถูกกว่าที่อื่นในไทย
ทั้งนี้หากสินค้าใดที่มี “โลโก้เครื่องบิน” อยู่ด้านมุมขวาบน แปลว่าผู้ซื้อจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ ถึงจะมีสิทธิซื้อได้ โดยสามารถช้อปปิ้งออนไลน์ล่วงหน้าก่อนเดินทางได้ 24 ชั่วโมง – มากสุด 60 วัน จากนั้นพิมพ์สลิปการสั่งซื้อสินค้า ไปแสดงที่เคาเตอร์ King Power ที่สนามบินขาออกเพื่อรับสินค้าในวันเดินทาง (แปลว่าต้องหิ้วกระเป๋าใบใหม่ไปช้อปปิ้งที่เมืองนอกด้วยกันนะ)
![King Power ขาออกฝั่ง East](http://2baht.com/wp-content/uploads/2016/01/King-Power-1030.jpg)
สำหรับใครที่กำลังมองหา กระเป๋าเดินทางแบบถือขึ้นเครื่อง (Carry-on bag) ขอแนะนำ King Power Online คลิ๊กได้ที่นี่เลย
ที่มาบางส่วนจาก Forbes