เหตุการณ์ก่อการร้ายที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่โอกาสแบบนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดที่ไหนเมื่อไร ยิ่งถ้าเกิดขึ้นตอนที่ไปเที่ยวต่างบ้านต่างเมือง การรับมือกับเหตุฉุกเฉินย่อมยากลำบากกว่าที่เมืองไทยมาก
เพื่อความปลอดภัยของนักเดินทางชาวไทยทุกท่าน ทางเว็บไซต์ 2Baht จึงรวบรวมกรรมวิธี ขั้นตอน แนวทางปฏิบัติ ว่าเราควรทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุก่อการร้าย ขณะเดินทางไปต่างประเทศ (จริงๆ ก็ใช้กับการก่อการร้ายได้ทุกที่ รวมถึงในบ้านเราด้วย)
เราใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยงานด้านการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินของสหรัฐอเมริกา Federal Emergency Management Agency (FEMA) ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ร่วมกับเอกสารจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น Red Cross และ Ready.gov เว็บไซต์ด้านการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐ
เตรียมตัวล่วงหน้าทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น
ไม่ว่าจะไปที่ไหน การเตรียมพร้อมล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องจำเป็น
- เตรียมแผนการติดต่อสื่อสารกับคนในครอบครัว ในกรณีที่แต่ละคนอยู่กันคนละที่ จะมีวิธีติดต่อสื่อสารกันอย่างไร (หลังเหตุการณ์ฉุกเฉิน โทรศัพท์มักใช้การไม่ได้ แต่การสื่อสารประเภทอื่น เช่น อีเมล SMS อาจใช้งานได้)
- กำหนดจุดนัดพบไว้ล่วงหน้า เช่น ถ้าเกิดเหตุขึ้นให้กลับไปเจอกันที่ล็อบบี้โรงแรม หรือ ถ้าโรงแรมเกิดเหตุ ให้ไปเจอกันที่ไหนแทน
- เมื่อเข้าสู่ตัวอาคารใดๆ สังเกตทางออกฉุกเฉิน และพยายามสร้างแผนที่ของตัวอาคารไว้ในใจแบบคร่าวๆ เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าจะเดินทางออกจากอาคารได้อย่างไร
คำแนะนำกว้างๆ เมื่อเจอเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยทั่วไป (ไม่แยกประเภท)
- ตั้งสติ อยู่ในความสงบ อดทน ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทุกอย่างประดังเข้ามา ทั้งเสียงระเบิด เสียงปืน เสียงกรีดร้อง เราต้องตั้งสติให้ดี
- คิดบวก (stay positive) อย่าแตกตื่น อย่าสิ้นหวัง ต้องมั่นใจว่าเราต้องเอาตัวรอดไปได้
- ติดตามประกาศของเจ้าหน้าที่ และติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ ทีวี รวมถึงอินเทอร์เน็ตและ Social Network
เหตุการณ์ก่อการร้ายที่พบบ่อยในต่างประเทศ ช่วงหลังๆ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ มือปืนติดอาวุธ (อาจมีเป้าหมายเพื่อยิงสังหารเหยื่อ หรือจับตัวประกัน) และการวางระเบิด-การก่อวินาศกรรม ซึ่งแยกเป็นกรณีได้ดังนี้
ทำอย่างไรเมื่อเจอมือปืนบุกกราดยิง
กรณีที่เจอมือปืนหรือบุคคลติดอาวุธเข้ามาในอาคาร (active shooter) และเริ่มต้นยิงคนภายในอาคารแล้ว
- ยึดหลัก 3 ข้อ: Run > Hide > Fight
- Run: หาทางออกจากอาคารให้เร็วและเงียบที่สุด อย่าสนใจทรัพย์สินหรือสิ่งของ เป้าหมายแรกคือออกจากตัวอาคารให้เร็วและปลอดภัยที่สุด เมื่อออกจากพื้นที่อันตรายได้แล้ว ค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่
- ถ้าจำเป็น หาอุปกรณ์ช่วยกำบังตัวจากกระสุนปืน ค่อยๆ หลบจากที่กำบังแต่ละจุด
- เมื่อออกมาจากพื้นที่อันตรายได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในพื้นที่อีก
- Hide: ถ้าไม่พบทางออก ทางออกถูกบล็อค หรือไม่รู้ทางออก ให้หาวิธีซ่อนตัว แทนการเดินหาทางออกไปเรื่อยๆ
- กรณีเข้าไปหลบในห้อง หาวิธีป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายเข้ามาในห้อง เช่น ล็อคประตู หาอะไรขวางประตูไว้
- ปิดไฟ ปิดเสียงโทรศัพท์ เพื่อให้รู้สึกว่าไม่มีคนอยู่ และหลบซ่อนตัวอยู่หลังวัตถุขนาดใหญ่ เช่น โต๊ะ ตู้
- Fight: ถ้าถูกมือปืนพบเข้าหรือไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ ให้พยายามหาอุปกรณ์เป็นอาวุธเพื่อต่อสู้กับมือปืน
- พยายามต่อสู้เพื่อให้มือปืนไม่สามารถโจมตีเราได้ และให้ต่อสู้อย่างรุนแรงที่สุด
- อย่าหยุดนิ่งเป็นเป้า ให้เคลื่อนไหวตลอดเวลา ระหว่างต่อสู้ ถ้าสบโอกาสให้วิ่งหนีทันที
- เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารเข้ามาในพื้นที่ จะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย และเป้าหมายแรกคือหยุดผู้ก่อการร้าย (ก่อนเริ่มช่วยเหลือผู้ประสบภัย) ดังนั้นต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าเราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย โดยชูมือทั้งสองให้เห็นเด่นชัดว่าไม่มีอาวุธ
วิดีโอแนะนำหลักการ Run > Hide > Fight อันนี้ทำดีมาก แนะนำให้ดูเป็นอย่างยิ่ง
เหตุการณ์วางระเบิดโดยผู้ก่อการร้าย
ทำอย่างไรเมื่อได้ยินเสียงระเบิด หรือเกิดเหตุระเบิดในบริเวณอาคาร
- ให้หลบใต้โต๊ะทันทีเพื่อป้องกันสิ่งของหล่นใส่หัว
- เมื่อของหยุดตกใส่แล้ว ให้รีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด อย่าหยุดแวะเอาสิ่งของหรือโทรศัพท์ และไม่ควรใช้ลิฟต์
- เมื่อออกจากอาคารได้แล้ว ให้อยู่ห่างจากตัวอาคาร เพื่อป้องกันเศษกระจกจากหน้าต่างกระเด็นใส่
- ถ้าติดอยู่ในอาคาร ให้รอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ หยุดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น และพยายามแจ้งพิกัดของตัวเองด้วยแสงไฟ (ไฟฉาย ไฟจากมือถือ จะให้ดีไม่ควรใช้ไม้ขีดหรือเทียนเพราะอาจมีก๊าซรั่ว) การเคาะท่อ หรือนกหวีด (ถ้ามี) การตะโกนขอความช่วยเหลือเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อไม่มีทางอื่นแล้วจริงๆ
- ถ้าหากเกิดเหตุระเบิดด้านนอกอาคาร ให้อยู่ภายในอาคาร แต่อยู่ห่างจากหน้าต่าง ลิฟต์ และประตูที่ออกไปสู่ภายนอกอาคาร
การระวังพัสดุระเบิด ควรระมัดระวังพัสดุที่
- ไม่มีชื่อผู้ส่ง หรือส่งมาโดยที่เราไม่ทราบเรื่อง
- ที่อยู่อาจสะกดผิด เขียนด้วยลายมือที่ไม่เรียบร้อย
- มีตราสัญลักษณ์น่าสงสัย เช่น ระบุว่า Personal, Confidential, ห้าม X-Ray
- มีน้ำหนักไม่สอดคล้องกับขนาด มีคราบ สายไฟ หรือแผ่นฟอยล์อะลูมิเนียม
ทำอย่างไรเมื่อได้รับโทรศัพท์ขู่วางระเบิด
- พยายามให้ต้นสายวางสายให้ช้าที่สุด และจดข้อมูลทุกอย่างที่ผู้ขู่วางระเบิดพูดมา
- พยายามถามข้อมูลจากผู้ขู่วางระเบิดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ดูแลอาคารทันที
ติดต่อสถานทูตไทย เพื่อขอความช่วยเหลือ
เมื่อปลอดภัยแล้ว ควรแจ้งญาติพี่น้องที่เมืองไทยด้วยวิธีการที่ทำได้ และถ้าต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อสถานทูตไทยได้
การติดต่อสถานทูตไทยในต่างแดน
- เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในต่างประเทศ การติดต่อสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการขอความช่วยเหลือ
- รายชื่อสถานทูตทั้งหมด ดูได้จากเว็บไซต์ Thai Embassy ของกระทรวงการต่างประเทศ
- ควรจดหมายเลขโทรศัพท์ของสถานทูตไทยในประเทศที่จะไปเยือนก่อนออกเดินทางเสมอ เพราะเหตุฉุกเฉินอาจไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือช่องทางการสื่อสารอื่น
ข้อมูลอ้างอิง
- Red Cross UK
- American Red Cross
- เอกสาร Are You Ready ของ Federal Emergency Management Agency (FEMA)
- Quora: How do I survive a shopping mall massacre or terrorist attack in a city?
บทความที่น่าสนใจ
- ตุรกียังปลอดภัยแค่ไหน หลังประสบเหตุก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง
- กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ เปิดเบอร์โทร. Call Center 24 ชั่วโมง
- รวม 8 เทคนิคการเอาตัวรอดเมื่อเที่ยวบินดีเลย์-ถูกยกเลิก
ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยว เทคนิคการเดินทาง ได้จาก Facebook 2baht.com อีกช่องทางหนึ่งครับ