รวม 8 เทคนิคการเอาตัวรอดเมื่อเที่ยวบินดีเลย์-ถูกยกเลิก

สถิติของการเดินทางด้วยเครื่องบินในสหรัฐอเมริกา ระบุว่ามีเที่ยวบินที่ล่าช้า (delayed) มากถึง 20% ในแต่ละปี และมีเที่ยวบินที่ถูกยกเลิก (cancelled) ราว 2% (สถิติจาก U.S. Department of Transportation)

นั่นแปลว่าเหล่านักเดินทางทั้งหลายคงหลีกเลี่ยงปัญหาเที่ยวบินล่าช้า-ยกเลิกได้ค่อนข้างยาก ทางแก้ไขคงต้องหาวิธีเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ทางเว็บไซต์ 2Baht.com จึงรวบรวมเทคนิคการแก้ปัญหาเมื่อเจอเที่ยวบินดีเลย์หรือถูกยกเลิกมานำเสนอ ดังนี้

ภาพโดย John McGarvey / Flickr
ภาพโดย John McGarvey / Flickr

1) เลือกเวลาบินช่วงเช้า ลดความเสี่ยงไฟลท์ดีเลย์

สาเหตุของปัญหาเที่ยวบินล่าช้า ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาสภาพอากาศ คิดเป็น 2/3 ของเที่ยวบินล่าช้าทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นปัจจัยด้านการซ่อมบำรุงเครื่อง

เนื่องจากเครื่องบินหนึ่งลำถูกใช้บินต่อเนื่องกันหลายเที่ยวในหนึ่งวัน (บางลำอาจใช้บินไป-กลับเส้นทางเดิมถึง 3 รอบในวันเดียว ถ้าเป็นเส้นทางบินระยะใกล้ๆ) ดังนั้นถ้ามีบางไฟลท์ล่าช้า ไฟลท์อื่นๆ ที่ใช้เครื่องบินลำเดียวกันก็จะล่าช้าตามไปด้วย ดังนั้น การเลือกบินในช่วงบ่ายหรือเย็น ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากไฟลท์ก่อนหน้าล่าช้าเยอะตามมา

ทางออกคือเลือกบินตอนเช้าเพื่อลดปัญหาดีเลย์สะสมให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และถ้าเจอแจ็คพ็อตจริงๆ ไฟลท์เช้าดีเลย์หรือถูกยกเลิก เรายังมีโอกาสเปลี่ยนไปนั่งเที่ยวบินอื่นๆ ที่ตามมาในระหว่างวันมากขึ้นด้วย

2) หลีกเลี่ยงการนั่งสายการบินรายเล็ก ที่บินออกจากสนามบินใหญ่

เทคนิคข้อนี้อาจเหมาะสำหรับการบินในประเทศใหญ่ๆ แบบสหรัฐอเมริกา ที่มีสนามบินใหญ่ทำตัวเป็น “ฮับ” การบินกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ของประเทศ (ในขณะที่ประเทศไทย ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ)

ปัญหาของสนามบินใหญ่ที่เป็น “ฮับการบิน” คือมีเที่ยวบินมาลงเยอะ และสนามบินเหล่านี้มักเอื้อประโยชน์ให้กับสายการบินขนาดใหญ่มากกว่า ดังนั้นถ้าเกิดการจราจรทางอากาศของสนามบินใหญ่ๆ มีปัญหาใดๆ สนามบินเหล่านี้มีแนวโน้มจะยอมให้สายการบินรายย่อยหรือสายการบินท้องถิ่นดีเลย์ออกไป เพื่อรักษาตารางบินของสายการบินพี่เบิ้มๆ เอาไว้

ดังนั้นถ้าเราเลือกบินกับสายการบินท้องถิ่น ที่มีเที่ยวบินออกจากสนามบินใหญ่ อาจมีโอกาสโดนดีเลย์ได้เยอะกว่าปกติ แต่ปัญหานี้จะไม่ค่อยเกิดกับสนามบินขนาดเล็ก ที่ไม่ใช่ฮับการบินของภูมิภาค

3) เช็คประวัติการดีเลย์ของแต่ละเที่ยวบิน

เที่ยวบินหนึ่งๆ มีประวัติย้อนหลังหมดว่า บินตรงเวลาหรือไม่ ซึ่งเราสามารถประเมินความเสี่ยงของเที่ยวบินที่จะดีเลย์ในอนาคตได้จากสถิติย้อนหลังเหล่านี้

สถิติย้อนหลังสามารถดูได้จากเว็บไซต์ FlightStats.com ทางทีม 2Baht ลองค้นสถิติการดีเลย์ของเส้นทางบินยอดนิยม กรุงเทพ-นาริตะ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2015 พบว่า

  • เที่ยวบิน TG 642 ของการบินไทย (ออกจากไทย 23:50 ถึงญี่ปุ่น 8:10) มีอัตราการดีเลย์ต่ำมาก บินตรงเวลาถึง 95%
  • เที่ยวบิน TG 676 ของการบินไทย (ออกจากไทย 7:35 ถึงญี่ปุ่น 15:45) มีอัตราการบินตรงเวลาเพียง 54%

จะเห็นว่าจากสถิติย้อนหลัง ถึงแม้เป็นสายการบินเดียวกัน แต่เมื่อมีเวลาบินที่แตกต่างกัน กลับมีอัตราการดีเลย์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สถิติการดีเลย์ การบินไทย

4) ถ้าไม่จำเป็นต้องโหลดกระเป๋า ก็ควรถือขึ้นเครื่อง

เทคนิคข้อนี้ขึ้นกับขนาดกระเป๋าด้วย แต่แนวคิดคือถ้ากระเป๋าเราไม่ใหญ่จนเกินไป ไม่ผิดกฎการบิน การถือกระเป๋าขึ้นเครื่องอาจดีกว่าในแง่การป้องกันปัญหาดีเลย์ เพราะถ้าเครื่องบินมีปัญหาดีเลย์และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนไฟลท์ เราก็สามารถขนกระเป๋าไปได้เลย แต่ถ้าเราโหลดกระเป๋าลงใต้เครื่องไปแล้วเกิดปัญหาดีเลย์ การย้ายไฟลท์จะลำบากกว่ากันมากมาย

5) ถ้าไฟลท์ดีเลย์มาก หาที่นอนเลยดีกว่า

ในกรณีที่ไฟลท์เลื่อนแบบหฤโหดเป็นหลักหลายชั่วโมง และเวลาก็ดึกแล้ว ง่วงแล้ว หมดแรง หาไฟลท์อื่นบินไม่ได้ คำแนะนำคือเราอาจยอมจ่ายเงิน หาโรงแรมนอนดีๆ ไปเลยเพื่อเดินทางใหม่ในวันรุ่งขึ้น

ชีวิตที่มีห้องนอนเป็นหลักเป็นแหล่ง มีห้องน้ำให้อาบน้ำ มีที่เก็บกระเป๋าแบบไม่ต้องกลัวหาย ดีกว่าการนอนบนม้านั่งในสนามบินมาก

ในกรณีที่ไปต่างถิ่นต่างแดน แล้วไม่รู้ว่าจะนอนโรงแรมใกล้สนามบินตรงไหนดี แอพอย่าง HotelTonight ช่วยได้ หรือถ้าบินอยู่ในละแวกเอเชีย เว็บจองโรงแรมยอดนิยมตลอดกาลของคนไทย Agoda ก็เป็นทางออกให้เราได้เสมอ

sleep-in-airport
นอนกันแบบนี้อาจลำบากไปนะ

6) ถ้าไฟลท์เลื่อน ลองโทรเข้าคอลล์เซ็นเตอร์ของสายการบิน

ในกรณีที่ไฟลท์เลื่อนหรือถูกยกเลิก เราจะมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเป็นผู้โดยสารหลายร้อยชีวิต ที่ต้องหาไฟลท์ใหม่เพื่อเดินทางต่อไป สิ่งที่ทุกคนจะทำคือเดินไปที่เคาเตอร์ของสายการบินเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนจำกัด (โดยมากก็แค่ 1-2 คน) ถ้าเราอยู่ท้ายแถว กว่าจะถึงคิวเราคงนานมาก และเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

เทคนิคหนึ่งที่ทำได้คือระหว่างรอคิว ให้เราโทรศัพท์เข้า Call Center ของสายการบินไปด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ย่อมมีจำนวนเยอะกว่า ใช้เวลารอน้อยกว่า และเจ้าหน้าที่จะถูกเทรนให้รับมือกับปัญหาของผู้โดยสารลักษณะนี้อยู่แล้ว

7) ใช้แอพช่วยจองสายการบินอื่นแทน

ในโลกยุคสมาร์ทโฟน มีแอพที่ช่วยจองเที่ยวบินแบบกระทันหันมากมาย ตัวอย่างแอพเหล่านี้คือ TripIt ที่ช่วยวางแผนการเดินทางให้เรา และถ้าเที่ยวบินมีปัญหา แอพจะแจ้งข้อมูลไฟลท์อื่นเป็นทางเลือกได้ด้ว

หรือถ้าอุปกรณ์มีจำกัด อยู่ต่างประเทศ ลงแอพลำบาก การใช้งานเว็บไซต์ Google Flights ช่วยหาเที่ยวบินรอบโลก ก็เป็นทางออกให้เราได้เช่นกัน

หน้าตาแอพ TripIt ช่วยแจ้งได้ว่าไฟลท์ยกเลิก
หน้าตาแอพ TripIt ช่วยแจ้งได้ว่าไฟลท์ยกเลิก

8) ทำใจยอมรับมัน

เทคนิคข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของตัวเราเองล้วนๆ เหมือนดั่งเพลง “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน” เพราะปัญหาเครื่องบินดีเลย์เป็นเรื่องธรรมชาติ ใครๆ ก็เจอปัญหานี้ ต่อให้เรามีเทคนิคหรือตัวช่วยแค่ไหน มันก็ย่อมทำชีวิตและแผนการเดินทางของเราให้ปั่นป่วนอยู่ดี ดังนั้นสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรดีไปกว่าการ “ทำใจ” และตั้งสติเพื่อแก้ไขปัญหา

ถ้าพยายามทุกอย่างแล้วยังไม่ประสบผล ก็พึงระลึกไว้ว่าเรายังมีเพื่อนร่วมไฟลท์ที่ประสบชะตากรรมแบบเดียวกันอีกมาก

ข้อมูลจาก Forbes

บทความที่น่าสนใจ

อ่านบทความเทคนิคการเดินทางอื่นๆ เพิ่มเติม หรือ ติดตามเราได้จาก Facebook “2baht.com” อีกหนึ่งช่องทางครับ