ไม่ว่าจะเชียร์หรือเกลียด เชื่อว่าแฟนบอลชาวไทยทุกคนต้องยอมรับว่าทีม “เซาะกราว” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (Buriram United) ถือเป็นทีมฟุตบอลไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ด้วยผลงานแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก 3 สมัย (2554, 2556, 2557) และเข้าไปเตะชิงแชมป์เอเชียใน เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก เข้ารอบลึกๆ แทบทุกปี
ในส่วนของสนามเหย้า นิวไอโมบายล์สเตเดียม (New i-mobile Stadium) ฉายา “ปราสาทสายฟ้า” ความจุ 32,600 ที่นั่ง สร้างเสร็จในปี 2554 ก็ได้รับการยกย่องในฐานะสนามฟุตบอลที่แฟนบอลเข้ามาเชียร์อย่างล้นหลาม พร้อมด้วยบรรยากาศใกล้ชิดระหว่างกองเชียร์กับพื้นสนาม เพราะสร้างขึ้นเป็นสนามฟุตบอลเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมีลู่วิ่งมาคั่น
สนามฟุตบอลไอโมบายล์สเตเดี้ยม และสนามแข่งรถ Chang International Circuit ที่อยู่ติดกัน ถือเป็นจิ๊กซอชิ้นสำคัญของยุทธศาสตร์ “สปอร์ตทัวริสซึ่ม” ของคุณเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรที่ต้องการผลักดันการท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยกิจกรรมด้านกีฬาตลอดทั้งปี ซึ่งผลงานก็ประสบความสำเร็จดังที่หวัง บ่อยครั้งที่ จ.บุรีรัมย์ มีกิจกรรมด้านกีฬาหรืออีเวนต์บันเทิงต่างๆ จึงมีผู้คนเข้าร่วมอย่างล้นหลามชนิดว่าโรงแรมเต็มทั้งจังหวัด นักท่องเที่ยวต้องไปพักแรมที่จังหวัดข้างเคียงเลยทีเดียว
ล่าสุดเมื่อทีมงาน 2Baht.com มีโอกาสไปเยือน จ.บุรีรัมย์ จึงไม่พลาดที่จะไปดูด้วยตาตัวเองสักครั้งว่า อาณาจักรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ยิ่งใหญ่เพียงใด
การเดินทางไปสนามบุรีรัมย์ยูไนเต็ดไม่ใช่เรื่องยาก เพราะอยู่ใน อ.เมืองบุรีรัมย์เลย ห่างศูนย์กลางเมืองไม่ไกล วิธีการเดินทางแนะนำให้ตั้งต้นที่ วงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 แล้ววิ่งตามถนน 219 มาเรื่อยๆ ผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ มาสักพัก จะเห็นสนาม นิวไอโมบายล์สเตเดี้ยม ตั้งเด่นอยู่ริมถนนฝั่งด้านขวามือ ไม่มีทางที่จะมองไม่เห็นได้แน่นอน (พิกัด Google Maps)
ถ้าไปวันที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลหรือกิจกรรมอื่น สามารถจอดรถหน้าสนามได้ตามสะดวกเลย ตรงจุดที่จอดรถจะเป็นร้านขายของที่ระลึกของสโมสร หรือ Buriram United Mega Store ซึ่งเราจะมาเดินดูกันทีหลัง
ตัวสนามฟุตบอลจะตั้งอยู่ข้างกัน (ไปตอนกลางวันจะร้อนหน่อยนะครับ ควรเตรียมร่มและหมวกไปด้วย) หน้าตาดูใหญ่โตโอฬารดังภาพ
สปอนเซอร์ของทีมคือบริษัท i-mobile เครือสามารถ ผู้ขายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของไทย เลยได้สปอนเซอร์เป็นชื่อสนามด้วย
ทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด มีสมญานามว่า “ปราสาทสายฟ้า” Thunder Castle ซึ่งมีที่มาจากเป็นเมืองปราสาทหิน ผสมกับตัวทีมสโมสรเดิมเป็นสโมสรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงออกมาเป็น ปราสาท+สายฟ้า ในที่สุดครับ
แผนผังสนามแบ่งออกเป็นสแตนด์ 4 ทิศ โดยสแตนด์หลักฝั่งหน้าสนามคือฝั่งตะวันออก ใช้ชื่อว่า Yamaha Stand ตามสปอนเซอร์เช่นกัน
คำอธิบายสแตนด์หรืออัฒจันทร์ด้านต่างๆ โดยสแตนด์ฝั่งตะวันออก (E) เน้นจับกลุ่มผู้ชมทั่วไป ส่วนสแตนด์ฝั่งตรงข้าม (W) เน้นกลุ่มแฟนคลับของสโมสร หรือคนที่อยากสัมผัสบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลอย่างเต็มที่ สแตนด์ด้านข้างหลังโกลทั้งสองฝั่ง (N และ S) เป็นอีกราคาที่มุมมองอาจไม่ดีเท่าฝั่ง E/W แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่ไม่ระบุเลขที่นั่งตอนซื้อตั๋ว
ด้านหน้าสนาม อีกฝั่งที่ไม่ใช่ร้าน Mega Store เป็นห้องน้ำ ร้านอาหาร (ปัจจุบันปิดบริการไปแล้ว) และร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่เปิดบริการในวันธรรมดาด้วย
น่าจะเป็น 7-Eleven แห่งเดียวในไทยที่มีป้ายสโมสรฟุตบอลแปะอยู่ด้วย เราเลยได้เห็น Rilakkuma ยืนคู่กับป้ายปราสาทสายฟ้า สีตัดกันสุดๆ
ตัวสนามบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมทุกวัน ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แถมมีเจ้าหน้าที่พาเข้าชมด้วย การชมสนามต้องเข้าเป็นรอบ รอบละทุกครึ่งชั่วโมง (หยุดพักเที่ยง) เริ่มตอน 9.30 และรอบสุดท้ายตอน 16.00 น. สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ตรงหน้าประตูกลางได้เลย
อย่างที่เขียนไปแล้วว่า สโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เคยเป็นสโมสรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มาก่อน เราเลยยังเห็นอุปกรณ์บางอย่างในสนามใช้โลโก้ของเดิมก่อนเปลี่ยนชื่อสโมสร นั่นคือ Buriram PEA (รูปด้านขวามือ) เทียบกับโลโก้ปัจจุบัน (รูปด้านซ้ายมือ)
ระหว่างรอรอบเวลาชมสนาม เราสามารถเดินดูในห้องจัดแสดงรางวัลของสโมสรก่อนได้ ข้างในก็เป็นถ้วยรางวัลและภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ ของสโมสร
เมื่อถึงเวลา เจ้าหน้าที่จะประกาศเตือนทางโทรโข่งให้เข้าชมสนามกัน สนามของบุรีรัมย์ยูไนเต็ด สร้างสถิติเป็นสนามฟุตบอลมาตรฐาน FIFA ที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 256 วัน หรือประมาณ 8 เดือนกว่าๆ เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งที่สร้างเร็วคือใช้โครงสร้างเป็นเหล็กซะเยอะ ตามแนวทางวิศวกรรมก่อสร้างสมัยใหม่ด้วย
บริเวณใต้สแตนด์ที่นั่ง เห็นโครงสร้างเชิงวิศวกรรมอย่างชัดเจนว่าเป็นโครงเหล็กซะเป็นส่วนใหญ่
ปีนบันไดเข้ามาก็จะเข้าสู่สนาม เห็นตัวสนามหญ้าพร้อมสแตนด์ฝั่งตะวันตกที่มีตัวอักษร Thunder Castle เด่นเป็นสง่า
สนามเดินดูได้ทั้งหมดยกเว้นห้ามเดินลงไปเหยียบหญ้า ซึ่งอันนี้เป็นเหมือนกันหมดทุกสนามในโลก เพราะหญ้าคือหัวใจสำคัญของสนามฟุตบอล ต้องดูแลรักษากันเป็นอย่างดี เคารพกฎกันด้วยนะ
วันที่เราไปเที่ยวชมเป็นวันอาทิตย์ หลังการแข่งขันในวันเสาร์เพียง 1 วัน เลยเห็นเจ้าหน้าที่ต้องมาบำรุงรักษาหญ้ากันอย่างขะมักเขม้น
เช่นเดียวกับการชมสนามฟุตบอลระดับโลกทุกแห่ง เราสามารถนั่งที่นั่งของโค้ชและตัวสำรองที่ข้างสนามได้ด้วย ไม่รู้ว่าเก้าอี้ตัวไหนของคุณเนวิน แต่ย่อมเป็นฝั่ง Home หรือเจ้าบ้านแน่ๆ
ถ่ายย้อนขึ้นไปดูสแตนด์ฝั่ง East ที่เป็นสแตนด์หลักของสนาม
ตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องพาไปดูห้องแต่งตัวของนักกีฬาด้วย แต่รอบของเราเจ้าหน้าที่ไม่ได้พาเข้าไปดู (โดยไม่ทราบสาเหตุ) จึงได้แต่ดูห้องแถลงข่าวหลังการแข่งขันแทน ตรงนี้สามารถถ่ายภาพจำลองตัวเป็นโค้ชหรือผู้จัดการทีมได้เต็มที่
การชมสนามใช้เวลาไม่นาน (ขึ้นกับถ่ายรูปเยอะหรือเปล่าด้วย) เมื่อชมตัวสนามเสร็จแล้วก็ได้เวลามาอุดหนุนของที่ระลึกในร้าน Mega Store ซึ่งก็เน้นเสื้อทีมฟุตบอลซะเป็นส่วนใหญ่
เครื่องกีฬา เสื้อใส่เล่น พวงกุญแจ โปสเตอร์ ของที่ระลึกอย่างอื่นๆ มีครบถ้วน จัดร้านสวยทีเดียว
สำหรับคนที่ซื้อเสื้อฟุตบอลแล้วอยากสกรีนเบอร์เสื้อ ที่ร้านก็มีบริการรับสกรีน โดยราคาแตกต่างกันตามแต่ละเบอร์ เริ่มต้นที่ 100 บาท
การซื้อเสื้อฟุตบอลจะต้องดูแบบเสื้อและเบอร์เสื้อที่แขวนไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเขียนรายละเอียดใส่ฟอร์มให้เรา แล้วค่อยมารับของตรงแคชเชียร์ครับ
ในฐานะที่ผู้เขียนเคยชมสนามฟุตบอลชื่อดังในยุโรปมาแล้วหลายแห่ง ก็ต้องบอกว่าสนาม Thunder Castle นิวไอโมบายล์สเตเดี้ยมของทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับทีมระดับกลางๆ ในพรีเมียร์ลีกเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะมีติดอย่างเดียวก็ตรงอากาศมันร้อนไปหน่อยเท่านั้นเอง (เลยไม่ค่อยได้บรรยากาศยุโรปเท่าไร ฮา)
หลังจากชมสนาม และเห็นความเอาใจใส่ในรายละเอียดระดับนี้ เลยไม่แปลกใจว่าทำไมทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ถึงประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ ทางเราก็ขอเอาใจช่วยให้สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ AFC Champions League ให้ได้ในเร็ววันครับ