10 อันดับสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียงตามรายได้-จำนวนผู้โดยสาร-ฝูงบิน

อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีสายการบินจำนวนมากเข้ามาแข่งขันช่วงชิงผู้โดยสาร คำถามคือ สายการบินใดเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก?

คำถามนี้ตอบแบบฟันธงฉับๆ ได้ยากเพราะนิยามของคำว่า “ใหญ่” สามารถอธิบายได้ในหลายมิติ (metric) และสายการบินแต่ละแห่งก็มีขนาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละมิติการวัด

ในที่นี้ 2Baht.com จะเรียงลำดับสายการบินด้วยปัจจัย 3 ด้านที่แตกต่างกัน นั่นคือ รายได้ (revenue) จำนวนผู้โดยสาร (passenger) และจำนวนเครื่องบิน (fleet size) ซึ่งน่าจะทำให้พอเห็นภาพเบื้องต้นว่าสายการบินระดับโลกแต่ละแห่งมีขนาดที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เริ่มจาก “รายได้” ในเชิงธุรกิจก่อน

10 อันดับสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียงตามรายได้บริษัท

อันดับนี้รวบรวมโดย Wikipedia จากข้อมูลบริษัทด้านการบินที่เปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ต้นสังกัด เรียงตามรายได้ (revenue) ไม่ใช่ผลกำไร (profit) หรือทรัพย์สิน (assets) โดยยึดสถิติของปี 2013

แชมป์ตกเป็นของ…

1. American Airlines Group (รายได้ 40.4 พันล้านดอลลาร์)

บริษัทการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกตกเป็นของ American Airlines Group ซึ่งเกิดจากการควบกิจการของสายการบินขนาดใหญ่ในสหรัฐ 2 สายคือ American Airlines (AA) และ US Airways (US) เมื่อปลายปี 2013 นี้เอง การรวมตัวของสายการบินสองแห่งนี้ทำให้ American Airlines Group ผงาดขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของวงการการบินโลกได้สำเร็จ

ปัจจุบันทั้งสองสายการบินยังแยกการดำเนินการอย่างอิสระ แต่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการควบรวมที่น่าจะเสร็จในช่วงสิ้นปี 2015 นี้ กลุ่มธุรกิจ American Airline Group มีเที่ยวบินในสังกัดมากถึง 6,700 เที่ยวต่อวัน มีพนักงานกว่า 1 แสนคน

ภาพจากเว็บไซต์ American Airlines
ภาพจากเว็บไซต์ American Airlines

2. Lufthansa (รายได้ 39.9 พันล้านดอลลาร์)

ลุฟต์ฮันซา (Lufthansa หรือ LH) สายการบินแห่งชาติของเยอรมนีเป็นสายการบินเก่าแก่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่นอกจากสายการบินหลักแล้ว ปัจจุบันเครือ Lufthansa มีสายการบินในสังกัดหลายแห่ง ได้แก่สายการบินแห่งชาติของเพื่อนบ้านอย่าง Austrian Airlines (OS) กับ Swiss International (AX) รวมถึงสายการบินโลว์คอสต์ Germanwings (4U)

ความสำเร็จของลุฟต์ฮันซามาจากทั้งความเป็นเลิศตามแบบคนเยอรมัน ทำเลที่ตั้งใจกลางยุโรป และวิสัยทัศน์ของสายการบินที่มองการไกล ทั้งการร่วมก่อตั้งพันธมิตร Star Alliance และการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจเดิมให้กลายเป็นบริษัทมหาชนเต็มรูปแบบ

ลุฟต์ฮันซา มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองโคโลญน์ (Cologne) แต่มีฐานบินหลักคือแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt) และเบอร์ลิน (Berlin)

ภาพจากเว็บไซต์ Lufthansa
ภาพจากเว็บไซต์ Lufthansa

3. United Airlines (รายได้ 38.3 พันล้านดอลลาร์)

United Airlines (UA) อดีตสายการบินอันดับหนึ่งของสหรัฐ ที่โดนเบียดร่วงลงมาเพราะการรวมกันของ American Airlines และ US Airways ยังอยู่ในอันดับสามอย่างเข้มแข็งด้วยรายรับมากถึง 38.3 พันล้านดอลลาร์

บริษัทแม่ของ United Airlines คือ United Continental Holdings เกิดจากากรรวมตัวของ United และ Continental Airlines ในปี 2010 เช่นกัน ถึงแม้ว่าธุรกิจหลักของ United จะยังอยู่ในอเมริกา แต่ก็ถือเป็นสายการบินอเมริกันที่รุกเข้ามายังเอเชียและจีนมากที่สุดรายหนึ่ง

ภาพจากเว็บไซต์ United Airlines
ภาพจากเว็บไซต์ United Airlines

4. Delta Air Lines (รายได้ 37.7 พันล้านดอลลาร์)

สายการบินโลโก้สามเหลี่ยม Delta Air Lines (DL) หรือที่คนมักเรียกย่อๆ ว่า Delta ถือเป็นสายการบินเก่าแก่อีกแห่งที่แข็งแกร่งมาก บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1924 มีประสบการณ์ผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว

ตัวบริษัท Delta ในปัจจุบันเกิดจากการซื้อกิจการสายการบินหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยสายการบินรายล่าสุดที่ซื้อกิจการมาคือ Northwest Airlines ในปี 2008

ภาพจากเว็บไซต์ Delta Air Lines
ภาพจากเว็บไซต์ Delta Air Lines

5. Air France-KLM (รายได้ 34 พันล้านดอลลาร์)

รองจากลุฟต์ฮันซาก็เป็นสายการบินยุโรปที่เกิดจากการควบรวมสายการบินแห่งชาติ 2 แห่งคือ Air France (AF) ของฝรั่งเศส และ KLM (KL) ของเนเธอร์แลนด์ ในปี 2004 ซึ่งตอนนั้นทำให้กลุ่มธุรกิจผงาดขึ้นเป็นสายการบินอันดับหนึ่งของโลกในแง่รายได้ อย่างไรก็ตาม ในแง่การดำเนินการแล้ว สายการบินสองแห่งนี้ยังแยกแบรนด์กันอยู่

นอกจากสายการบินแห่งชาติทั้ง 2 สายแล้ว กลุ่ม Air France-KLM ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสายการบินโลว์คอสต์เนเธอร์แลนด์ Transavia และมีหุ้นในสายการบินหลายแห่งทั่วโลก เช่น Alitalia ของอิตาลี และสายการบินอีกหลายแห่งของแอฟริกา

โลโก้ของกลุ่มบริษัท Air France-KLM หน้าตาดังภาพ

airfrance KLM Logo

6. International Airlines Group (รายได้ 24.7 พันล้านดอลลาร์)

ชื่อบริษัท International Airlines Group (ตัวย่อ IAG) อาจไม่คุ้นหูเท่าไรนัก แต่ถ้าบอกว่าบริษัทนี้เป็นเจ้าของสายการบินรายใหญ่ของยุโรป 2 แห่งคือ British Airways (BA) ของอังกฤษ และ Iberia (IB) ของสเปน ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่จะมีรายได้เยอะขนาดนี้

การควบรวม BA และ IB เข้าด้วยกันเกิดขึ้นในปี 2011 โดยบริษัท IAG จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งลอนดอนและสเปน แบรนด์อื่นๆ ในเครือคือ Vueling สายการบินโลว์คอสต์สเปน และบริษัทระบบไอทีเพื่อการจองตั๋วเครื่องบิน Amadeus จากสเปนเช่นกัน

ภาพจากเว็บไซต์ British Airways
ภาพจากเว็บไซต์ British Airways

7. Emirates Airlines (รายได้ 22 พันล้านดอลลาร์)

สายการบินจากตะวันออกกลาง Emirates Airlines หรือที่รู้จักกันในตัวย่อ EK ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนเอเชียในอุตสาหกรรมการบินโลก สายการบินจากดูไบแห่งนี้ต่างจากสายการบินพี่เบิ้มแห่งอื่นๆ เพราะเป็นสายการบินที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลดูไบ 100% และได้รับการผลักดันเต็มที่จากราชวงศ์ดูไบ

ประวัติความเป็นมาของ Emirates ถือว่าสั้นมากเพราะสายการบินเพิ่งก่อตั้งในปี 1985 แต่ด้วยความเป็นชาติเศรษฐีน้ำมัน และการสนับสนุนจากภาครัฐ Emirates จึงผงาดขึ้นมาเป็นสายการบินระดับโลกอย่างรวดเร็ว บริษัทยังขยันสร้างแบรนด์ผ่านการเป็นสปอนเซอร์สโมสรฟุตบอลดังๆ ในยุโรปมากมาย ทั้ง Arsenal, AC Milan, Real Madrid และ Paris Saint-Germain

Emirates ถือเป็นหนึ่งในสายการบินใหญ่ของตะวันออกกลาง คู่กับเพื่อนร่วมชาติแต่คนละรัฐคือ Etihad และเพื่อนบ้าน Qatar Airways

ภาพจากเว็บไซต์ Emirates
ภาพจากเว็บไซต์ Emirates

8. Southwest Airlines (รายได้ 17.7 พันล้านดอลลาร์)

เซาธ์เวสต์ Southwest (SW) เป็นต้นฉบับดั้งเดิมของสายการบินโลว์คอสต์ และเป็นสายการบินโลว์คอสต์เพียงรายเดียวที่ติดเข้ามา Top 10 ในแง่รายได้ บริษัทเริ่มเปิดบริการในปี 1967 โดยตั้งใจเป็นสายการบินโลว์คอสต์อย่างเดียว

สิ่งที่น่าทึ่งคือสายการบินคู่แข่งอื่นๆ เป็นรายการบินระดับโลกที่ให้บริการบินข้ามทวีป แต่ Southwest ยังปักหลักเฉพาะการบินในอเมริกา และประเทศข้างเคียงอย่างเม็กซิโก จาไมกา คอสตาริกา บาฮามาส เท่านั้น (เพิ่งเริ่มบินนอกอเมริกาในปี 2013 นี้เอง)

ภาพจาก Southwest Facebook
ภาพจาก Southwest Facebook

9. All Nippon Airlines (รายได้ 16 พันล้านดอลลาร์)

All Nippon Airlines หรือที่เรียกกันติดปากในชื่อย่อ ANA เป็นสายการบินภาคเอกชนของญี่ปุ่นที่ผงาดขึ้นมาเป็นสายการบินระดับโลก (ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติคือ Japan Air Lines ต้องเผชิญกับปัญหาล้มละลาย)

ANA มีฐานบินหลักอยู่ในญี่ปุ่น แต่ก็ขยายตัวไปยังจีน เกาหลี ฮ่องกง และซิดนีย์ ปัจจุบันนอกจากสายการบินหลักแล้ว บริษัทยังมีหุ้นในสายการบินโลว์คอสต์ของญี่ปุ่น Air Do, Peach Air, Vanilla Air รวมถึงสายการบินในประเทศ ANA Wings และสายการบินเช่าเหมาลำ Air Japan อีกด้วย

ภาพจากเว็บไซต์ ANA
ภาพจากเว็บไซต์ ANA

10. China Southern Airlines (รายได้ 15.9 พันล้านดอลลาร์)

การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินในประเทศจีนเติบโตอย่างมาก จีนมีสายการบินในประเทศหลายราย แต่ที่ใหญ่จนมาติดอันดับโลกได้คือ China Southern Airlines (CZ) ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองกว่างโจวทางตอนใต้ของประเทศ

China Southern Airlines ถือเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียถ้าหากวัดตามจำนวนผู้โดยสารต่อปี บริษัทถือเป็นพี่ใหญ่อันดับหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินจีน (อีกสองรายคือ Air China และ China Eastern Airlines)

นอกจากตลาดจีนแล้ว China Southern ยังมีสายการบินไปยังประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย (รวมถึงไทย) และสายการบินข้ามทวีปไปยังยุโรป-อเมริกาเหนือ

 

ภาพจากเว็บไซต์ China Southern Airlines
ภาพจากเว็บไซต์ China Southern Airlines

ลองเทียบรายได้ของการบินไทยดูเล่นๆ สถิติรายได้ของการบินไทยปี 2013 (ขณะที่เขียน สถิติปี 2014 ตลอดทั้งปียังไม่ออก) คือ 211,605 ล้านบาท ตีกลับเป็นดอลลาร์สหรัฐก็ประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ครับ

10 อันดับสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียงตามจำนวนผู้โดยสาร

ยึดตามข้อมูลผู้โดยสารในปี 2013 ที่รวบรวมโดย Wikipedia (อย่างไรก็ตาม วิธีการนับผู้โดยสารของแต่ละสายการบินก็แตกต่างกันในรายละเอียด ทีมงาน 2Baht แนะนำให้ผู้สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wikipedia ด้วย

  1. American Airlines – ผู้โดยสาร 193.7 ล้านคนต่อปี
  2. Delta Air Lines – ผู้โดยสาร 164.6 ล้านคนต่อปี
  3. United Airlines – ผู้โดยสาร 139.2 ล้านคนต่อปี
  4. Southwest Airlines – ผู้โดยสาร 133.1 ล้านคนต่อปี
  5. Ryanair – ผู้โดยสาร 81.4 ล้านคนต่อปี
  6. China Eastern Airlines – ผู้โดยสาร 79.1 ล้านคนต่อปี
  7. Lufhansa – ผู้โดยสาร 76.3 ล้านคนต่อปี
  8. LATAM Airlines –  ผู้โดยสาร 66.7 ล้านคนต่อปี
  9. China Southern Airlines – ผู้โดยสาร 64.5 ล้านคนต่อปี
  10. easyJet – ผู้โดยสาร 61.3 ล้านคนต่อปี

จะเห็นว่าสายการบิน 4 อันดับแรกเป็นของสหรัฐอเมริกาล้วนๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมการบินของสหรัฐ อันเป็นผลมาจากการเป็นประเทศกว้างใหญ่ และสหรัฐเองไม่ได้ลงทุนในระบบรางรถไฟมากนัก ทำให้ผู้คนนิยมเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นหลักแทน

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วการบินไทยหรือ Thai Airways ของเราล่ะ มีผู้โดยสารต่อปีสักเท่าไรกัน ข้อมูลผู้โดยสารตลอดปี 2014 ที่การบินไทยรายงานคือ 17.3 ล้านคนนะครับ

ในที่นี้เราจะขอกล่าวถึงสายการบินใน Top 10 ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงมาในอันดับข้างต้นเท่านั้น

Ryanair ต้นฉบับโลว์คอสต์ยุโรป

Ryanair (FR) เป็นต้นฉบับของสายการบินโลว์คอสต์ฝั่งยุโรปรายแรก (และรายที่สองของโลกต่อจาก Southwest) บริษัทก่อตั้งในประเทศไอร์แลนด์ เดิมทีเป็นสายการบินแบบปกติ แต่เคยเกือบเจ๊งจนสุดท้ายปรับเปลี่ยนตัวเองโดยนำไอเดียจาก Southwest มาประยุกต์ใช้ จนกลายเป็นสายการบินโลว์คอสต์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปในปัจจุบัน

Ryanair เป็นตัวอย่างสุดขั้วของสายการบินโลว์คอสต์แบบสุดๆ ประหยัดทุกอย่างจนอาจน่าหมั่นไส้ไปบ้าง ไว้โอกาสหน้าจะเขียนเรื่องสายการบินโลว์คอสต์เต็มๆ อีกครั้งหนึ่ง

ภาพจากเว็บไซต์ Ryanair
ภาพจากเว็บไซต์ Ryanair

China Eastern Airlines พี่เบิ้มจากจีน

China Eastern Airlines (MU) เป็นสายการบินจีนอีกแห่งที่น่าจับตา ถึงแม้ในแง่รายได้อาจจะสู้เพื่อนร่วมชาติ China Southernไม่ได้ แต่ในแง่ผู้โดยสารแล้วเหนือกว่าอย่างชัดเจน

China Eastern มีฐานที่มั่นอยู่ในภาคตะวันออกของจีนคือเซี่ยงไฮ้ ที่ผ่านมาบริษัทไล่ซื้อกิจการสายการบินรายย่อยๆ ในจีนอย่าง China Yunnan, China Northwest และ Great Wall Airlines ปัจจุบันบริษัทมีสายการบินลูกหนึ่งแห่งคือ Shanghai Airlines ที่ซื้อมาในปี 2009 แต่ยังไม่ควบรวมกัน 100%

ภาพจากเว็บไซต์ China Eastern Airlines
ภาพจากเว็บไซต์ China Eastern Airlines

LATAM Airlines Group ยักษ์ใหญ่อเมริกาใต้

LATAM Airlines Group เกิดจากการควบรวมของสายการบินใหญ่ 2 สายในอเมริกาใต้คือ LAN Airlines ของชิลี และ TAM Airlines ของบราซิลในปี 2012 ผลคือ LATAM มีสายการบินครอบคลุมทั้งทวีปอเมริกาใต้ โดย TAM รับบินฝั่งตะวันออก (บราซิล) และ LAN บินฝั่งตะวันตก (ชิลี)

นอกจากสองสายการบินหลักแล้ว LATAM ยังมีสายการบินในเครือ LAN เจาะตลาดอเมริกาใต้เป็นรายประเทศ เช่น อาร์เจนตินา โคลอมเบีย อุรุกวัย เม็กซิโก เปรู ปารากวัย

ภาพจากเว็บไซต์ LATAM Group
ภาพจากเว็บไซต์ LATAM Group

easyJet เจ้าพ่อโลว์คอสต์อังกฤษ

ถ้า Ryanair คือเบอร์หนึ่งของโลว์คอสต์ยุโรป ก็ต้องบอกว่า easyJet คือเบอร์สองทั้งในแง่ลำดับการก่อตั้งและปริมาณลูกค้า สายการบิน easyJet ได้รับแรงบันดาลใจจาก Southwest เช่นกัน และใช้แนวทางเดียวกันสร้างสายการบินให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน easyJet มีฝูงบินขนาดใหญ่ด้วยเครื่องบิน 200 ลำ ครอบคลุมทั่วยุโรป มีสายการบินลูกหนึ่งแห่งคือ easyJet Switzerland

ภาพจากเว็บไซต์ EasyJet
ภาพจากเว็บไซต์ EasyJet

10 อันดับสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียงตามขนาดฝูงบิน

ถ้าเราวัด “ความใหญ่” ของสายการบินตามจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการ (ไม่แยกรุ่นเครื่องบิน และนับเฉพาะเครื่องบินโดยสาย ไม่นับเครื่องบินขนส่งสินค้า) สายการบินที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ที่สุดได้แก่

  1. American Airlines – 971 ลำ
  2. Delta Air Lines – 773 ลำ
  3. United Airlines – 702 ลำ
  4. Southwest Airlines – 646 ลำ
  5. China Southern Airlines – 578 ลำ
  6. Air China – 552 ลำ
  7. China Eastern Airlines – 492 ลำ
  8. Lufhansa – 433 ลำ
  9. Air Canada – 363 ลำ
  10. Air France – 350 ลำ

จะเห็นว่าสายการบิน 4 อันดับแรกยังถูกยึดครองโดยสายการบินอเมริกันเช่นเดิม มีเครื่องบินกันเยอะเกิน 600 ลำ ถ้าเทียบขนาดให้เห็นภาพ การบินไทยของเรามีเครื่องบิน 102 ลำ (ข้อมูลเดือน ก.พ. 2015) และกำลังมีแผนจะลดเหลือ 90 ลำ ส่วนสายการบินแถบนี้คือ Singapore Airlines มี 130 ลำ, Cathay Pacific 161 ลำ

ส่วนสายการบินในลิสต์ Top 10 จำนวนเครื่องบินที่ยังไม่ได้กล่าวถึง มี 2 สายคือ Air China และ Air Canada

Air China เจ้าพ่อเมืองหลวงจีน

Air China (CA) ถือเป็นสายการบินใหญ่อีกแห่งในกลุ่ม Big Three ของสายการบินจีน โดยสายการบินแห่งนี้มีฐานสำคัญในนครหลวงปักกิ่ง สัญลักษณ์ของสายการบินเป็นรูปนกฟีนิกซ์ที่ออกแบบโดยอดีตผู้นำสูงสุด เติ้งเสี่ยวผิง

Air China สืบทอดกิจการการบินข้ามประเทศมาจากอดีตสายการบินแห่งชาติจีน CAAC หลังจากนั้นก็ซื้อกิจการ China Southwest และมีหุ้นอยู่ในสายการบินท้องถิ่นของจีนและมาเก๊าด้วย

ภาพจากเว็บไซต์ AirChina
ภาพจากเว็บไซต์ AirChina

Air Canada สายการบินแห่งชาติที่เคยล้มละลาย

Air Canada (AC) สายการบินแห่งชาติของแคนาดา มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี 1936 มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองมอนทรีอัล และฐานบินอยู่ที่โตรอนโต เดิมที Air Canada เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศแคนาดา แต่แปรรูปในปี 1988 บริษัทเคยล้มละลายมาแล้วหนึ่งครั้งในปี 2003 แต่ฟื้นฟูกิจการและกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

เส้นทางการบินส่วนใหญ่ของ Air Canada อยู่ในอเมริกาเหนือและใต้ แต่ก็มีเที่ยวบินมายุโรป ตุรกี จีน และออสเตรเลียด้วย

ภาพจากเว็บไซต์ Air Canada
ภาพจากเว็บไซต์ Air Canada

นอกจากปัจจัยการวัดขนาดของสายการบินทั้ง 3 แบบแล้ว ยังมีการวัดขนาดแบบอื่นๆ เช่น วัดความจุของเครื่องบิน x ระยะทางให้บริการ (Available Seat Kilometres หรือ ASK) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญอีกตัวในธุรกิจการบิน (ข้อมูลปี 2013 อันดับหนึ่งคือ United Airlines) หรือวัดด้วยจำนวนที่หมายปลายทาง (number of destinations) ที่สายการบินนั้นมีเที่ยวบินบริการ เป็นต้น

บทความนี้น่าจะช่วยเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้ผู้อ่านเว็บไซต์ 2Baht.com ทำความเข้าใจอุตสาหกรรมการบินโลกได้พอสังเขป อย่างน้อยก็พอแยกแยะได้ว่าสายไหนเป็นสายการบินยักษ์ใหญ่ หรือสายไหนมีที่มาจากแถบไหน ไว้โอกาสหน้าทีมงานจะทยอยสรุปข้อมูลธุรกิจการบินในประเด็นอื่นๆ ต่อไป ท่านสามารถติดตามข้อมูลอัพเดตได้จาก เพจ 2Baht Facebook และ Twitter @twobaht