สายการบินฝั่งยุโรปประกอบด้วยบริษัทสายการบินใหญ่ระดับ Big Three สามบริษัทที่แบ่งออกเป็น 3 ขั้ว ได้แก่ Lufthansa Group จากเยอรมนี, International Airlines Group ที่เป็นการร่วมทุนของอังกฤษ-สเปน และ AirFrance-KLM ที่เป็นการร่วมทุนของฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์
Lufthansa Group เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดใน Big Three และถือเป็นบริษัทการบินที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปด้วย คนไทยคุ้นเคยกับชื่อสายการบินจากเยอรมนี “ลุฟต์ฮันซ่า” กันมานาน แต่จริงๆ แล้ว Lufthansa Group มีอะไรมากกว่าแค่ตัวสายการบินหลัก Lufthansa มาก บทความนี้จะมาแนะนำข้อมูลของ Lufthansa Group ให้ทราบกัน
ประวัติความเป็นมาของ Lufthansa Group
แน่นอนว่าแกนหลักของ Lufthansa Group คือสายการบินลุฟต์ฮันซ่า ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ (flag carrier) ของประเทศเยอรมนี
Lufthansa เป็นสายการบินเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาเกือบ 100 ปีแล้ว ชื่อ Lufthansa มาจากคำว่า Luft (“อากาศ”) บวกกับ Hansa (“สมาคม”) โดยในอดีตเคยสะกดว่า Deutsche Luft Hansa ก่อนเปลี่ยนมาเขียนติดกันในภายหลัง
ชื่อ Lufthansa ปรากฎตัวในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี 1919 โดยตอนนั้นเป็นบริษัทขนส่งผู้โดยสารทางอากาศที่ใช้ชื่อว่า Deutsche Luft-Reederei (DLR) (จากภาพจะเห็นว่าโลโก้รูปนกกระสาของ Lufthansa ยังใช้แบบเดิมมาตลอดเกือบ 100 ปีนี้)
ส่วนสายการบิน Lufthansa เกิดขึ้นในปี 1926 และเป็นสายการบินแห่งชาติของเยอรมนี มาจนถึงปี 1945 ที่นาซีเยอรมนีแพ้สงครามโลก ถือเป็นจุดสิ้นสุดของ Lufthansa บริษัทแรก
หลังสงคราม เยอรมนีตะวันตก ก่อตั้งสายการบินแห่งใหม่ชื่อ Lufttag ขึ้นมาในปี 1953 และซื้อชื่อของสายการบิน Lufthansa เดิมมาใช้ในปี 1954 ถือเป็นบริษัท Lufthansa ที่สอง และยังดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน
บริษัทแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชนในปี 1994 ปัจจุบันผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย รัฐบาลเยอรมนีไม่ได้เป็นเจ้าของอีกต่อไปแล้ว และในปี 1995 บริษัทก็จัดโครงสร้างองค์กรใหม่เป็น Lufthansa Group แยกบริษัทลูกตามรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน
Lufthansa ถือเป็นสายการบินยักษ์ใหญ่ของยุโรป และมีบทบาทในการร่วมก่อตั้งพันธมิตร Star Alliance ในปี 1997 (สายการบินร่วมก่อตั้งมี 5 ราย ซึ่งการบินไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย)
โครงสร้างบริษัท Lufthansa Group ในปัจจุบัน
หลังปี 2000 เป็นต้นมา Lufthansa เร่งขยายตัวผ่านการซื้อกิจการสายการบินคู่แข่งในยุโรป โดยเริ่มจากซื้อ Swiss International Air Lines ของสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2005, ซื้อหุ้น Brussels Airlines ของเบลเยียมในปี 2008 และซื้อ Austrian Airlines ของออสเตรียในปี 2009
นอกจากนี้ Lufthansa ยังมีสายการบินโลว์คอสต์ชื่อ Eurowings ที่เริ่มซื้อหุ้นในปี 2001 และเข้าถือหุ้นทั้งหมดในปี 2011 แถมก่อนหน้านี้ Eurowings ยังมีแบรนด์ย่อยชื่อ Germanwings ที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เพราะเพิ่งรวมเข้ากับ Eurowings เสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2016 นี้เอง
นอกจากธุรกิจสายการบินแล้ว Lufthansa Group ยังมีธุรกิจด้านบริการการบิน (Aviation Services) อีกมาก แยกย่อยได้เป็น 4 ส่วนธุรกิจคือ
- Lufthansa Technik บริการด้านงานช่างและการซ่อมบำรุงเครื่องบิน (สายการบินอื่นก็มาใช้บริการได้)
- LSG Sky Chefs บริการอาหารสำหรับสายการบิน (airline catering) ถือเป็นบริษัทด้านอาหารสำหรับสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- Lufthansa Cargo สายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศ
- AirPlus International บริการด้านท่องเที่ยวและการเดินทางสำหรับลูกค้าธุรกิจ
สัดส่วนรายได้ของ Lufthansa Group (ปี 2015) ยังมาจากสายการบินหลัก 4 สาย คิดเป็นสัดส่วนราว 75% ส่วนธุรกิจ Aviation Services มีสัดส่วนรายได้ 25%
ข้อมูล ณ ปีงบประมาณ 2015 บริษัท Lufthansa Group มีรายได้ต่อปี 32 พันล้านยูโร (1.2 ล้านล้านบาท) มีผู้โดยสารต่อปี 108 ล้านคน โดยสายการบินหลัก Lufthansa มีผู้โดยสารมากถึง 79 ล้านคนต่อปี (อ้างอิง)
เครือข่ายเส้นทางบินและฮับการบิน
Lufthansa Group ถือเป็นบริษัทการบินที่มีเส้นทางบินกว้างไกลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีเที่ยวบินไปยัง 301 เมืองใน 100 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทุกทวีป ไม่เว้นแม้แต่อเมริกาใต้หรือออสเตรเลีย (ในแง่จำนวนประเทศน่าจะเป็นรองแค่ Turkish Airlines รายเดียว)
ทุกหนึ่งสัปดาห์มีเที่ยวบินของ Lufthansa ออกบินถึง 11,507 เที่ยว
ปัจจุบัน Lufthansa มีฮับการบินในยุโรป 5 แห่ง ซึ่งก็อิงตามสายการบินหลักทั้ง 4 สาย ได้แก่
- เยอรมนี: แฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt) และมิวนิค (Munich)
- เบลเยียม: บรัซเซลส์ (Brussels)
- สวิตเซอร์แลนด์: ซูริก (Zurich)
- ออสเตรีย: เวียนนา (Vienna)
ส่วนตัวสำนักงานของ Lufthansa อยู่ที่เมืองโคโลญ (Cologne) แต่ก็มีแผนจะย้ายไปที่แฟรงค์เฟิร์ต เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ
Lufthansa Group ในเอเชียแปซิฟิก
Lufthansa เป็นบริษัทที่มีธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่มาก ปัจจุบันสายการบินในเครือ บินไปยัง 19 เมืองใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้
ในส่วนของ Lufthansa Technik มีศูนย์บริการหลักอยู่ใน 5 เมืองทั่วเอเชีย และศูนย์ซ่อมบำรุงอีก 9 แห่ง ในประเทศไทยมีทั้งที่กรุงเทพและภูเก็ต
นอกจากนี้ ธุรกิจคาร์โก Lufthansa Cargo ก็บินมาลงหลายเมืองในเอเชีย ส่วนธุรกิจอาหาร LSG Sky Chefts ถือเป็นบริษัทอาหารเพื่อสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีส่วนแบ่งตลาด 19% ให้บริการใน 35 เมืองทั่วเอเชีย (ต้องบอกว่าธุรกิจอาหารของ Lufthansa มีสาขาเยอะกว่าธุรกิจอื่นๆ ในเอเชียของ Lufthansa มาก)
Lufthansa Group ในประเทศไทย
ประเทศไทยถือเป็นเมืองหลักของ Lufthansa ในเอเชียเลยก็ว่าได้ เพราะกรุงเทพเป็นเมืองเดียวในเอเชียที่มีสายการบินของ Lufthansa ครบทั้ง 4 สายบินมาลงที่นี่ นอกจากนี้ก็มีธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Cargo, Technik, Sky Chefs รวมถึงออฟฟิศและสำนักงานอื่นๆ
รวมกันแล้ว Lufthansa มีพนักงานในไทยมากถึง 1363 คน ถือว่าเยอะมากสำหรับสายการบินจากนอกทวีป
ถ้าหากดูข้อมูลเส้นทางบินของสายการบินในเครือ Lufthansa Group ในประเทศไทย ตอนนี้มีสายการบินมาลง 4 ราย ได้แก่ Lufthansa (LH), Swiss (LX), Austrian (OS) และสายการบินโลวคอสต์ Eurowings (EW)
ข้อมูล ณ ปี 2016 มีสายการบินในเครือ Lufthansa บินมาไทยรวม 25 ไฟลท์ต่อสัปดาห์ โดยสายการบินหลักทั้ง 3 สาย (LH/LX/OS) มีให้บริการวันละ 1 เที่ยวบินตลอดสัปดาห์ และ Eurowings อีก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
แต่ในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็น high season ด้านการท่องเที่ยวของฝรั่งแถบยุโรป Lufthansa ก็จะขยายจำนวนไฟลท์เพิ่มเติมเป็น 29 ไฟลท์ต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มส่วนของ Eurowings เป็น 5 ไฟลท์ต่อสัปดาห์ และยังมีสายการบิน Edelweiss ซึ่งเป็นสายการบินลูกของ Swiss เข้ามาให้บริการเพิ่มอีก 3 ไฟลท์ต่อสัปดาห์ด้วย (Edelweiss เป็นสายการบินเช่าเหมาลำ ที่มีขายตั๋วปลีกให้ผู้โดยสารอื่นด้วยในบางครั้ง)
ช่วงหลังๆ เรามักเห็นข่าว Lufthansa อยู่เรื่อยๆ จากการสไตรค์ของพนักงาน ซึ่งภาพก็ออกมาดูลบอยู่พอสมควร แต่ถ้ามาดูข้อมูลของธุรกิจอย่างจริงจังแล้ว ก็ต้องบอกว่า Lufthansa Group เข้มแข็งและยิ่งใหญ่มาก ถ้าวัดกันที่ตัวเลขผลประกอบการ Lufthansa Group อยู่อันดับ 4 ของโลก เป็นรองแค่เพียงกลุ่มสายการบิน Big Three ของฝั่งสหรัฐอเมริกาเท่านั้น