สัมภาระสำคัญที่นักเดินทางควรพกติดตัวอยู่เสมอคือ “ยาประจำตัว” เรื่องนี้ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว แต่คำถามต่อมาคือนอกจากยารักษาโรคประจำตัวของเราเองแล้ว เราควรพกยาอะไรไปอีกบ้าง ถึงจะครอบคลุมอาการเจ็บป่วยทั่วไป โดยที่ยังไม่ต้องบ้าหอบฟาง พกยาปริมาณมากเกินไปจนกินพื้นที่สัมภาระอย่างอื่น
ทีมงาน 2Baht.com ลองสอบถามประเด็นนี้ไปยังแพทย์หลายรายที่เดินทางด้วยกันเป็นประจำ และได้รับคำแนะนำมาดังนี้
คำแนะนำของคุณหมอคือให้จัดยาแยกตาม “กลุ่มอาการ” ที่พบบ่อยทั้งหมด 5 กลุ่ม รวมแล้ว 15 ตัวยา ได้แก่
- แก้ไข้ แก้ปวด แก้เมื่อย อาการภายนอกที่พบบ่อยเวลาเดินทาง
- แก้เมารถ เมาเรือ ซึ่งมักเกิดตอนขึ้นยานพาหนะ
- อาการด้านระบบทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่คือ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
- แก้แพ้ และอาการด้านหูคอจมูก เจอบ่อยเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
- กลุ่มยาอื่นๆ ซึ่งรวมถึงยาเฉพาะสำหรับโรคประจำตัว (ถ้ามี)
หมายเหตุ: ชื่อยาอาจแตกต่างกันไปตามชื่อทางวิทยาศาสตร์หรือชื่อทางการค้าของแต่ละบริษัท ควรตรวจสอบกับเภสัชกรอีกครั้ง
กลุ่มยาแก้ไข้ แก้ปวด แก้เมื่อย
1. PARACETAMOL พาราเซตามอล (500 mg)
สำหรับ : แก้ไข้ แก้ปวด
วิธีทาน : 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
คงไม่ต้องอธิบายกันมากกับ “พาราเซตามอล” ยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยได้ทั้งอาการแก้ไข้ ตัวร้อน และแก้ปวดตามจุดต่างๆ ถือเป็นยามาตรฐานที่ทุกคนควรพกติดตัวอยู่แล้ว
คำแนะนำ การทานยาพาราเซตามอล ควรทานให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว โดยเอาน้ำหนักไปคูณ 10 จะเป็นปริมาณยาพาราเซตามอลที่ควรทาน เช่น ผู้หญิงตัวเล็กหนัก 42 กิโลกรัม ก็ควรทานยา 420 มิลลิกรัม หรือ ทานพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัมเพียง 1 เม็ดเท่านั้น (รายละเอียด)
2. NORGESIC นอร์จีสิก (ยาคลายกล้ามเนื้อผสมยาแก้ปวด)
สำหรับ : เมื่อมีอาการปวดเมื่อยจากการเดินมากๆ
วิธีทาน : 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร
ในทริปที่ต้องใช้วิธีเดินเท้ามากๆ หรือจัดโปรแกรมแน่นจนต้องเดินทั้งวัน อาการปวดเมื่อยจะตามมาจนทำให้วันต่อไปเที่ยวไม่สนุกเพราะขาจะร้าวไปหมด การกินยาคลายกล้ามเนื้อย่อมช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยเหล่านี้ได้ค่ะ
เทคนิคอีกอย่างที่ช่วยคลายเมื่อยได้ดีคือถ้าห้องพักมีอ่างอาบน้ำ ก็สามารถเติมน้ำร้อนเพื่อแช่เท้าสักระยะหนึ่ง ช่วยคลายกล้ามเนื้อจากการเดินมาทั้งวันได้
3. DICLOFENAC ไดโคลฟีแนค
สำหรับ : แก้ปวดเมื่อย เช่น ปวดเข่า ข้อบวม
วิธีทาน : 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร
คำแนะนำ กรณีเป็นโรคกระเพาะให้ใช้ CEREBREX หรือ ARCOXIA แทน
ไดโคลฟีแนคเป็นยาแก้ปวดเมื่อยอีกตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตามถ้าเป็นโรคกระเพาะก็ควรระวังไว้หน่อย
4. VOLTAREN GEL โวลทาเรนเจล
ยาใช้ภายนอก สำหรับทาแก้ปวดเมื่อย
โวลทาเรนเจล เป็นยาทาภายนอก ใช้ทาบริเวณกล้ามเนื้อจุดที่เมื่อยควบคู่ไปกับยากินข้างต้นได้
กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ
5. DRAMAMINE ดรามามีน
สำหรับ : แก้เมารถ เมาเรือ
วิธีทาน: 1 เม็ดก่อนออกเดินทาง 15 – 30 นาที ทานแล้วจะง่วงซึมหรือหลับเลยทีเดียว
อาการเมารถเมาเรืออาจไม่ได้เกิดกับทุกคน ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นคนเมารถเมาเรือง่ายก็ควรมีติดตัวอยู่แล้ว แต่ถึงแม้เราจะไม่ได้เมารถเมาเรือ การพกพายาตัวนี้ไปย่อมจะได้ใช้งานยามเพื่อนร่วมทริปออกอาการ ในกรณีที่รถขึ้นเขา ขับเหวี่ยง หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ
กลุ่มยาระบบทางเดินอาหาร
6. NORFLOXACIN นอร์ฟลอกซาซิน (400 mg)
สำหรับ : แก้ลำไส้หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ เช่น ท้องเสีย
วิธีทาน : 1 เม็ด เช้า-เย็นหลังอาหาร
การไปต่างถิ่นที่ต้องกินอาหารแปลกๆ จนอาจเกิดอาการท้องเสียได้ ส่วนจะรุนแรงแค่ไหนก็ขึ้นกับสภาพการณ์ แต่การท้องเสียย่อมทำให้การเดินทางไกลไม่สะดวกเพราะต้องหาห้องน้ำเข้าเป็นระยะๆ (แถมบางประเทศก็หาห้องน้ำระหว่างทางยากกว่าเมืองไทยมาก) การเตรียมยาแก้ท้องเสียไปด้วยย่อมช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้
7. IMODIUM อิโมเดียม
สำหรับ : ลดการบีบตัวของลำไส้ กรณีท้องเสียรุนแรง
วิธีทาน : 2 เม็ดทันที หลังจากนั้น 1 เม็ดทุกครั้งที่ถ่าย หรือ ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกิน 4-6 เม็ด
8. ULTRACARBON อัลตราคาร์บอน (ถ่านอัดเม็ด)
สำหรับ : ช่วยดูดซึมแก๊ส เมื่อแน่นท้อง ท้องอืด หรือดูดพิษเมื่อท้องเสีย
วิธีทาน : 1-2 เม็ด และไม่ควรทานร่วมกับนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม และยาอื่นๆ (หากจำเป็นควรทานห่างจากยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง)
9. ผงเกลือแร่ ORS
สำหรับ : ชดเชยการสูญเสียน้ำในกรณีท้องเสีย
วิธีทาน : ละลายผงเกลือแร่ผสมน้ำสะอาดดื่มแบบค่อยๆ จิบ (ถ้าหาแก้วน้ำลำบาก สามารถละลายลงในขวดแล้วทานได้)
ผงเกลือแร่ไม่ได้แก้ท้องเสียโดยตรง แต่การท้องเสียจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากจนอ่อนเพลีย สามารถใช้ผงเกลือแร่ช่วยฟื้นฟูร่างกายกลับมาได้
10. SIMETHICONE ไซเมทิโคน หรือ (Air-X) แอร์เอ็กซ์
สำหรับ : แก้ท้องอืด แน่นท้อง
วิธีทาน : 1-2 เม็ด เคี้ยวก่อนอาหาร
นอกจากอาการท้องเสียแล้ว อาการที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารคือท้องอืดหรือแน่นท้อง อันเป็นผลมาจากการกินน้ำอัดลมหรือกินมากเกินไป (สำหรับทริปตระเวณชิมทั้งหลาย) ถ้ารู้ตัวว่ามีอาการลักษณะนี้ได้ง่ายก็ควรพกยากลุ่มนี้ไปด้วย (แถมยากลุ่มนี้ใช้การเคี้ยว ไม่ต้องกินคู่กับน้ำด้วย)
กลุ่มยาแก้แพ้ และหูคอจมูก
11. CETIRIZINE เซไทริซีน หรือ LORATADINE ลอราทาดีน
สำหรับ : แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก
วิธีทาน : 1 เม็ดต่อวัน
อาการแพ้อากาศ หรือแพ้วัตถุบางอย่างจนเกิดอาการคันอาจเกิดได้เสมอ เมื่อแพ้อากาศแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือน้ำมูกไหลไม่หยุด ดังนั้นถ้าแพ้อากาศง่ายก็ควรพกยาแก้แพ้ตัวนี้ไปด้วย
คำเตือน การทานยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม
12. AMOXYCILLIN อะม็อกซีซิลลิน (500 mg)
สำหรับ : รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะคออักเสบ
วิธีทาน : 1 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (3 เวลาหลังอาหาร และก่อนนอน)
นอกจากแพ้อากาศแล้ว ถ้าเป็นหวัดระหว่างเดินทางจนคออักเสบ ก็ต้องมียาแก้อักเสบติดตัวไปเช่นกัน โดยยาแก้อักเสบมาตรฐานคืออะม็อกซีซิลลิน หาซื้อได้ทั่วไปอยู่แล้ว
กลุ่มยาอื่นๆ
13. POVIDINE IODINE โพวิโดน ไอโอดีน หรือ BETADINE เบตาดีน
ยาใช้ภายนอก สำหรับทาแผลสด
อุบัติเหตุภายนอกเกิดขึ้นได้เสมอ ส่วนใหญ่คือการหกล้มจนขาหรือแขนเป็นแผลสด ถ้ามียาแบบเบตาดีนติดตัวไป (พร้อมพลาสเตอร์) ก็สามารถใส่เพื่อทำความสะอาดแผลได้
14. ยาดม ยาอม ยาหม่อง
อันนี้คุณหมอไม่ได้แนะนำว่าตัวไหน ตามแต่ความชอบส่วนตัวเลยค่ะ
15. ยาเฉพาะโรคส่วนตัว
หากเป็นยาที่หาไม่ได้ตามร้านขายยาทั่วไป ยิ่งต้องพกติดตัวไปด้วยพร้อมกับใบสั่งยาและใบรับรองแพทย์
หมายเหตุ
- ข้อมูลเหล่านี้ที่เว็บไซต์ 2Baht.com รวบรวมมา ถือเป็นการแนะนำตัวยาในเบื้องต้นเท่านั้น ควรแจ้งยาที่แพ้กับเภสัชอีกครั้งก่อนจ่ายยา
- กรณีพกยาไปต่างประเทศ อาจจะรบกวนให้เภสัชกรช่วยเขียนฉลากยาเป็นภาษาอังกฤษ และโปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนเดินทาง ว่ายาที่พกไป ไม่เข้าข่ายยาต้องห้ามสำหรับประเทศนั้นๆ ด้วยนะ (กรณีเป็นยาที่หมอสั่งพิเศษ ก็ควรพกใบสั่งยาและใบรับรองแพทย์ไปด้วยนะคะ)
- ตัวอย่างรายชื่อยาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายและห้ามนำเข้ามาในญี่ปุ่น เนื่องจากมีส่วนผสมต้องห้าม เช่น Tylenol Cold, Nyquil, Nyquil Liquicaps, Actifed, Sudafed, Advil Cold & Sinus, Dristan Cold (“No Drowsiness”), Dristan Sinus, Drixoral Sinus, Vicks Inhaler, Lomotil (อ้างอิงจาก สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ Drug Laws in Japan โดย Kansai Gaidai University)
แนะนำแอพดีๆ เสมือนมีเภสัชกรส่วนตัว
ในยุคที่อะไรๆ ก็หาได้จากสมาร์ทโฟนขอเพียงเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เราขอแนะนำแอพดีๆ จาก Ya&You หรือ ยากับคุณ พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) อีกหนึ่งผู้ช่วยที่จะทำให้การหาข้อมูลยาเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ป้อนชื่อยาลงไป แอพก็จะมีข้อมูลการใช้และทานยาให้อย่างละเอียด เสมือนมีเภสัชกรส่วนตัว (Download : Android หรือ iOS)
สุดท้าย 2baht.com ขอให้เพื่อนๆ ท่องเที่ยวกันอย่างสนุก สุขภาพแข็งแรงโดยไม่ต้องใช้ยาที่พกไปนะคะ 🙂
คุณสามารถติดตามสาระความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จาก facebook “2Baht.com” ได้อีกช่องทางหนึ่งค่ะ
หมายเหตุ: ไม่อนุญาตให้คัดลอกหรือทำซ้ำเนื้อหาใดๆ ในบทความนี้ในทุกกรณี ถ้าสนใจเผยแพร่และสนับสนุนเราอย่างจริงใจ กรุณาแชร์ลิงก์กลับมาที่บทความนี้เท่านั้น